- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Friday, 07 January 2022 11:21
- Hits: 1698
สสส. ร่วมกับเครือข่ายสื่อลดปัจจัยเสี่ยง จัดเวิร์กช้อป ‘เยาวชนนักสื่อสารสุขภาวะ’
สร้างการรู้เท่าทันประเด็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการพนัน
จากสถานการณ์ปัจจัยเสี่ยงประเด็นเหล้าและการพนัน ที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมาธุรกิจทั้ง 2 ประเด็นนี้ เน้นการส่งเสริมการตลาดพุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาชน เพื่อต้องการสร้าง “นักดื่ม-นักเล่น หน้าใหม่” โดยมีการเจาะไลฟ์สไตล์ของวัยรุ่นในรูปแบบของ Sport Marketing, Music Marketing และ Sexy Marketing ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างเกราะในการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน โครงการพัฒนารายการกีฬาต้นแบบปลอดเหล้าและปลอดพนัน ร่วมกับ โครงการพัฒนาเครือข่ายสื่อสุขภาวะประเด็นลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ : สร้างสื่อให้ต๊าซ Touch ใจวัยรุ่น ตอน Live & Music ขึ้น ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา โดยมีนิสิตนักศึกษาให้ความสนใจเข้าร่วมเพื่อพัฒนาความรอบรู้และเทคนิคการผลิตและการสื่อสารด้านการดนตรีและการทำสื่อเพื่อออนไลน์ โดยเชื่อมโยงเข้ากับประเด็นปัจจัยเสี่ยงเรื่องเหล้าและการพนัน เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้สร้างสรรค์ผลงานของตนเอง นำมาปล่อยของในการสื่อสารรณรงค์กับเพื่อนๆ ในวัยเดียวกันอย่างเข้าใจและเหมาะสม ผ่านเวทีการถ่ายทอดสดออนไลน์ มินิคอนเสิร์ต “เบาได้เบา...อย่าให้เล่าเดี๋ยวจะยาว” โดยกิจกรรมในครั้งนี้มีวิทยากรที่มาช่วยสร้างสีสันและแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ ทั้งเจแปน-หกฉากครับจารย์ และ รัฐ-Tatto Colour
นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ได้มาเล่าถึงการพนันกับผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อให้เยาวชนได้รู้จักกับเกมการพนันมากขึ้น ว่า ธรรมชาติของการพนันมักหากินกับ ‘ความเชื่อ และความคิด’ ของคนเรา เชื่อว่าเล่นพนันแล้วจะทำให้รวยเร็ว ซื้อลอตเตอรี่เพราะหวังถูกรางวัลที่ 1 แต่โอกาสถูกจริงมีเพียงหนึ่งในล้าน คิดเห็นแต่ในทางที่ตนจะได้รางวัลจะชนะ ฝากทุกอย่างไว้กับดวง เมื่อได้ไม่ยอมหยุดเมื่อเสียไม่ยอมเลิกเล่น ปัจจุบันคนไทยมีแนวโน้มติดพนันกันมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อตนเองและครอบครัว เป็นแรงกระเพื่อมไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมในที่สุด ซึ่งสิ่งที่น่ากลัวมากที่สุดตอนนี้ คือ ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเรา กำลังจะผลักดันให้คาสิโนถูกกฎหมาย ทั้งบนดินและออนไลน์ ผลที่จะตามมา คือ คนจะติดการพนันมากขึ้น เยาวชนและครอบครัวจะต้องเรียนรู้และเท่าทันปัญหาการพนัน ‘ต้องรู้จักพอ หรือ หยุดให้เป็น’
ด้าน นายชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ ได้มาแชร์ประสบการณ์การทำงานในแวดวงปัจจัยเสี่ยงมานานนับสิบปี ว่า จากการทำงานของเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์พบว่า อัตราการลดการดื่มแอลกอฮอล์แม้จะลดลงในทุกช่วงวัย แต่มีกลุ่มหนึ่งที่ไม่ลดลงเลยคือ ‘กลุ่มเยาวชน’ สิ่งที่น่ากลัวมากที่สุดคือ เด็กเยาวชนมักมีพฤติกรรมของการดื่มแบบทิ้งตัว ซึ่งผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์มีหลายมิติมาก ทั้งมิติความรุนแรงในครอบครัว มิติของการเป็นเหยื่อจากเมาแล้วขับ และที่สำคัญเด็กมักจะถูกสอนมาจากโรงเรียนว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีอันตรายก่อให้เกิดโรคตับ แต่จริงๆ แล้วยังมีอันตรายมากกว่านั้นก่อให้เกิดโรคร้ายอีกกว่า 200 โรค และผลกระทบจากการตายและพิการก่อนวัยอันควรจากการดื่มแล้วขับ ที่มีต้นทุนความสูญเสียกว่า 8 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งยังไม่รวมถึงความต้นทุนที่มิอาจประเมินค่าได้จากความเสียใจของครอบครัวและญาติของเหยื่อดื่มแล้วขับอีกมากมาย
นายอินทัช อินทสระ เยาวชนจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ร่วมส่งเสียงสะท้อนจากผลกระทบเรื่องเหล้า ที่อยากจะบอกต่อไปยังสังคม ว่าการขายเหล้าไม่ควรขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และไม่ควรขายให้กับคนเมาที่ขาดสติ “ร้านเหล้า หรือเมืองท่องเที่ยวบางครั้งก็ไม่เคร่ง เขาปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าร้านได้ และในวันนั้นเมื่อสอบเสร็จ ผมกับเพื่อนก็นัดกันไปกินดื่มฉลองกัน ก่อนแยกย้ายกันที่ร้านเหล้า ผมนัดไปดูผลสอบด้วยกัน พอผมกลับถึงบ้านรู้ข่าวว่าเพื่อนขับรถมอเตอร์ไซค์เสยกับรถสิบล้อที่จอดอยู่บนถนน ทั้งๆ ที่สวมหมวกกันน็อกยังเสียชีวิตเลย เพราะฤทธิ์ของเหล้าทำให้เพื่อนผมจากคนที่เคยขับขี่ระวัง คืนนั้นเขาขับเร็วมาก เหตุการณ์ครั้งนั้นทำผมขยาด เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้น ผมว่าผมคงรับมันไม่ไหว”
เช่นเดียวกับนายรอมฎอน แสแลแม จ.ยะลา หนึ่งในเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม ได้เล่าถึงประสบการณ์การทำงานอาสากู้ภัยกู้ชีพว่า ปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นบ่อเกิดของทุกปัญหาในสังคม “ในช่วงของงานเทศกาลรื่นเริง หรือ เฉลิมฉลอง จะมีเคสมากมายให้อาสากู้ชีพกู้ภัยต้องเข้าไปช่วยเหลือ คืนนั้นผมต้องไปช่วยคนดื่มแล้วขับประสบอุบัติเหตุ แม้เขาจะไม่ได้เป็นอะไรมาก เพียงแค่บาดเจ็บ แต่จากการที่ผมทำงานเสริมเพื่อสังคมด้านกู้ชีพกู้ภัยมากตั้งแต่มัธยมปลาย ผมเจอเหตุการณ์ร้ายๆ บนถนนจากดื่มเหล้ามาเยอะ ผมจึงชวนพี่เขาคุยว่าระหว่าง การฆ่าคน การข่มเขงคน และการดื่มเหล้า พี่ว่าอะไรอันตรายที่สุด ตอนแรกเขาทำหน้างง ผมเลยเฉลยว่า การดื่มเหล้าอันตรายที่สุด เพราะจะทำให้เราขาดสติ ไปทำร้ายคนอื่น ก่อเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้ ที่สำคัญเหล้าอาจฆ่าชีวิตเราได้จากการดื่มแล้วขับไงพี่ แล้วเขาก็ตอบกลับมาแบบนิ่งๆ ว่า จริง!!! วันนี้พี่ก็เกือบไม่ได้มาคุยกับน้องแล้ว”
ด้าน นายวัชระ นึกไฉน CEO – Muse Master Group Co.,Ltd. ผู้แต่งเพลง Demo เพื่อแสดงในเวทีมินิคอนเสิร์ต “เบาได้เบา...อย่าให้เล่าเดี๋ยวจะยาว” ได้เชิญชวนน้องๆ ให้นำประสบการณ์จากเวทีในครั้งนี้ มาเป็นพลังในการทำสิ่งที่ดีๆ ดีกว่าไปยุ่งเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ “การแต่งเพลง ก็คล้ายการเล่าเรื่อง เราใช้เสียงดนตรีสื่ออารมณ์ในเรื่องที่จะเล่า แต่ละคนจะมีสไตล์ที่แตกต่างกัน งานเพลงที่เราเขียน จะต้องเป็นเรื่องเล่าที่เราชอบมันเสมอ เป็นเรื่องที่เราภูมิใจที่จะเล่า ไม่ว่าใครจะชอบงานเราหรือไม่ ขอแค่เราไม่ล้มเลิกกับเพลงที่เรายังเขียนไม่จบ บางทีมันอาจจะมีช่องทาง หรือคนใหม่ๆ ที่เข้ามาช่วยทำให้เพลงของเราจบ จงร้อง เขียน ถ่ายทอดในสิ่งที่ตัวเองรู้สึก สิ่งที่ตัวเองชอบจริงๆ จงใช้เวลาและพลังของเราในการสร้างสิ่งนี้ ดีกว่าไปหมกมุ่นกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งบุหรี่ เหล้า และการพนัน เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ช่วยขจัดอารมณ์เศร้า อารมณ์เครียด หรือช่วยให้เรามีความสุขที่แท้จริงได้ สำหรับวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ ถ้าอย่างระบายหรือแสดงออกอะไรขอให้เป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ดีที่สุด”
A1110