- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Tuesday, 30 November 2021 18:53
- Hits: 7351
ม.อ.ตรัง มุ่งสร้างพื้นที่สีเขียว ก้าวสู่ Wellness Campus
ชูแหล่งเรียนรู้พันธุ์ไม้ การออกกำลังกาย ร่วมสร้างสุขภาพและสังคมยั่งยืน
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตตรัง ขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ก้าวสู่วิทยาเขตสุขภาพ หรือWellness Campus ที่มีความเป็นอยู่ที่ดี สุขภาพที่ดี เดินหน้าสร้างพื้นที่สีเขียวปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์อย่างเป็นระบบ ปลูกต้นไม้นานาพันธุ์ดันเป็นแหล่งเรียนรู้ การอนุรักษ์ สถานที่ออกกำลังกาย พร้อมหนุนการใช้โซล่าเซลล์ หวังเป็นโมเดลต้นแบบสร้างสุขภาพและสังคมสู่ความยั่งยืน
รศ.ดร.อุดมผล พืชน์ไพบูลย์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง (ม.อ.ตรัง) เปิดเผยว่า ม.อ. ตรัง วางนโยบายการพัฒนามหาวิทยาลัยสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย จึงดำเนินภายใต้กรอบการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) โดยมุ่งขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ก้าวสู่วิทยาเขตสุขภาพ (Wellness Campus) ที่มีความเป็นอยู่ที่ดี สุขภาพที่ดี
ทั้งนี้ภายใต้กรอบการดูแลเรื่องสุขภาพ ม.อ. ตรัง มีความพร้อมทางด้านทรัพยากรที่มีองค์ความรู้ โดยสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้บุคคลภายนอกมาใช้ประโยชน์ อีกทั้งยังมีศูนย์กีฬาครบครันทั้งเครื่องออกกำลังกาย สระว่ายน้ำ และสนามกีฬาประเภทต่างๆ และกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาพื้นที่รองรับกีฬาประเภทอื่น เช่น เครื่องวิ่ง ปั่นจักรยาน การออกกำลังกายในสวนสุขภาพ เป็นต้น
ขณะที่การพัฒนาทางด้านสิ่งแวดล้อม ได้ปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ให้เป็นระบบ โดยปลูกพันธุ์ไม้พื้นเมืองที่เป็นไม้พุ่ม ไม้ดอก ไม้ยืนต้น และต้นไม้ที่เป็นไม้ป่าตามธรรมชาติ เพื่อปรับถนนรอบวิทยาเขตให้เป็นพื้นที่สำหรับการออกกำลังกาย ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างหารือร่วมกับวิทยาลัยการสาธารณสุขจังหวัดตรังและวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ตรัง เพื่อนำองค์ความรู้การดูแลสุขภาพร่วมกับการใช้ประโยชน์พื้นที่สีเขียวสู่งารเป็นแหล่งฝึกอบรมและเรียนรู้ หรือจัดกิจกรรมต่างๆ
รองอธิการบดีวิทยาเขตตรัง กล่าวว่า ม.อ. ตรัง ได้ดำเนินการเป็นแหล่งอนุรักษ์ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เข้าไปทำฐานข้อมูลของสายพันธุ์พืชต่างๆ พร้อมมีแนวทางร่วมกับกับองค์การบริหารส่วนตำบลควนปริง สร้างทางเดินธรรมชาติหรือป่าในเมืองโดยไม่ส่งผลกระทบกับหม้อข้าวหม้อแกงลิง ซึ่งจะมีป้ายบอกชนิดและสายพันธุ์ เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนสามารถเข้าไปศึกษาและร่วมกันอนุรักษ์
นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยมีแผนจะปรับปรุงพื้นที่บริเวณศูนย์ประชุมฯ เป็นแหล่งพลังงานจากโซล่าเซลล์ รองรับกับการใช้รถไฟฟ้าภายในวิทยาเขต เพื่อใช้พลังงานจากทางธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดและช่วยประหยัดพลังงาน ส่วนเรื่องการบริหารจัดการของเสียภายในวิทยาเขตตรัง ได้ดำเนินการโครงการคัดแยกขยะและบริหารจัดการขยะให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การคัดแยกขยะเพื่อนำไปขายต่อก่อให้เกิดรายได้ รวมทั้งการลดการใช้ทรัพยากรกระดาษ
“การขับเคลื่อนม.อ.วิทยาเขตตรัง สู่การเป็น Wellness Campus โดยเป็นวิทยาเขตที่มีความสุขและสุขภาพดี ซึ่งจะเป็นโมเดลต้นแบบให้กับวิทยาเขตอื่นๆ และเป็นประโยชน์สำหรับทุกภาคส่วน ทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักศึกษาและคณะอาจารย์ เพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคมสู่ความยั่งยืน ซึ่งการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมขณะนี้ เป็นผลงานคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่มี Universal Design Center หรือ UDC เป็นศูนย์กลางให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับสังคมสูงวัย รวมทั้งให้คำปรึกษาการออกแบบบ้านทั่วไปด้วย” รองอธิการบดีวิทยาเขตตรัง กล่าว
A111123