- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Tuesday, 26 October 2021 16:05
- Hits: 845
ม.อ. เร่งสร้างความเข้าใจ เผยผลพิสูจน์วัตถุไม่ยืนยันเป็น ‘อ้วกวาฬ’
ระบุใบรับรองแค่สาร ‘ไขมัน’ แนะส่งผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะตรวจสอบ
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) โดยสำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการทดสอบ เผยผลตรวจพิสูจน์จากเครื่อง FOURIER TRANSFORM INFRARED SPECTROMETER ไม่ยืนยันวัตถุที่ชาวประมงค้นพบเป็น ‘อ้วกวาฬ’ ระบุใบรับรองเป็นสารไขมันเท่านั้น และต้องตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ โดยมีเกณฑ์พิจารณาทั้งจากแหล่งพบ กลิ่น สีและลักษณะของเนื้อสาร ต่อไป
รองศาสตราจารย์อาซีซัน แกสมาน ผู้อำนวยการสำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการทดสอบ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า สำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการทดสอบ ซึ่งเป็นหน่วยงานของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่รับตรวจสอบตัวอย่างจากผู้ที่พบวัตถุต่างๆ โดยล่าสุด ชาวประมงพื้นบ้านในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่เป็นผู้ค้นพบระบุว่าเป็น ‘อ้วกวาฬ’ หรือลักษณะคล้ายกับอำพันทะเล เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งจากวิเคราะห์โดยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ ระบุผลตรวจว่าเป็นสารประกอบของ ‘ไขมัน’ เท่านั้น แต่ไม่ได้ให้การรับรองว่าเป็น ‘อ้วกวาฬ’ แต่อย่างใด จึงต้องส่งไปตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะอีกครั้ง
สำหรับ การตรวจสอบการค้นพบที่ระบุว่าเป็น ‘อ้วกวาฬ’ ในครั้งนี้ ทางสำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการทดสอบได้ใช้เครื่อง FOURIER TRANSFORM INFRARED SPECTROMETER ที่สามารถวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีจากสารอินทรีย์ในตัวอย่างที่หลากหลาย ทั้งที่เป็นของแข็งและของเหลวโดยใช้สารสกัดสำคัญจากพืช เช่น สมุนไพร สารเคมีในกลุ่มสารอินทรีย์ ตรวจสารตกค้างจากผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับวิเคราะห์หาหมู่ฟังก์ชันของสารที่สกัดมาจากตัวอย่างที่ส่งมาทดสอบ โดยการวิเคราะห์เบื้องต้นไม่ได้วิเคราะห์เชิงลึกจนสามารถพิสูจน์สารสำคัญที่บ่งบอกและอ้างอิงได้ว่าเป็นอำพันทะเลหรือไม่ ซึ่งพบว่า มีไขมันเป็นสารที่มีปริมาณมากที่สุดในตัวอย่างการทดสอบครั้งนี้
ปัจจุบัน ทางสำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์ฯ มีเครื่องมือประเภทอื่นที่สามารถวิเคราะห์สารที่เป็นองค์ประกอบที่หลากหลายและให้ข้อมูลที่ละเอียดมากขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับความประสงค์ของเจ้าของตัวอย่าง แต่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลอ้างอิงและเทียบเคียงเพื่อยืนยัน และสิ่งที่สำคัญคือ เกณฑ์การพิจารณาของผู้ซื้อ แหล่งที่พบ และกลิ่น สี และลักษณะของเนื้อสารที่มีส่วนในการกำหนดราคาหากเป็นอำพันทะเลจริง ซึ่งเป็นวัตถุที่มาจากการสำรอกหรือขับถ่ายจากวาฬหัวทุย มีองค์ประกอบของคลอเรสเตอรอล ไขมัน และสารประกอบอื่นที่เมื่อเก็บไว้นานจะมีกลิ่นหอม เป็นของหายากราคาแพงใช้เป็นวัตถุดิบหัวน้ำหอม ส่วนใบรับรองจากการวิเคราะห์องค์ประกอบอาจมีส่วนพิจารณาในการซื้อขายได้เช่นกัน
รองศาสตราจารย์อาซีซัน กล่าวว่า เครื่อง FOURIER TRANSFORM INFRARED SPECTROMETER และเป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือจำนวนหลายร้อยรายการ ที่สำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการทดสอบ ให้บริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์แก่หน่วยงานทั้งภายนอกและในมหาวิทยาลัย โดยเน้นด้านเคมีประยุกต์ การวิเคราะห์โครงสร้าง ชีวโมเลกุล การทดสอบยางและการเตรียมตัวอย่างที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล ด้วยบุคลากรที่มีคุณภาพ มีผลการทดสอบที่ถูกต้อง เที่ยงตรงเชื่อถือได้ และมีความปลอดภัย โดยได้รับการตรวจประเมินจากหน่วยงานภายนอกจนได้รับรับการรับรอง มอก. 2677-2558 และ ISO 9001
A10818
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ