- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Thursday, 12 August 2021 00:21
- Hits: 1799
วิศวะมหิดล จัดงาน Born To Be Engineer 2021 ต้อนรับ นศ.ใหม่...สู่วิศวกรระดับโลก
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงาน Born To Be Engineer 2021 ผ่านระบบออนไลน์ โดยมี รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี เป็นประธานเปิดงานร่วมกับทีมผู้บริหาร คณาจารย์จาก 7 ภาควิชา ได้แก่ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม เพื่อต้อนรับนักศึกษาใหม่เข้ามาสู่ครอบครัววิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้นักศึกษาได้พบปะและทำกิจกรรมร่วมกันกับเพื่อนๆ และได้เปิดโลกทัศน์ แลกเปลี่ยนมุมมองถึงเป้าหมายในอนาคต การทำงาน และแนวโน้มการพัฒนาวิศวกรรมและเทคโนโลยีจากบริษัทชั้นนำของประเทศไทย
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวแสดงความยินดีต้อนรับนักศึกษาใหม่สู่ชีวิตที่เบิกบานและมีความหมายในคณะวิศวะมหิดล ว่า วิศวกรเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ กว่า 30 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ได้สร้างสรรค์วิศวกรคุณภาพ เพื่อร่วมพัฒนาประเทศและโลกที่ดียิ่งขึ้น ด้วยวิสัยทัศน์ของการบูรณาการพหุศาสตร์ในงานวิจัยและวิศวกรรมศาสตร์สู่การเป็น World-Class Engineering พรั่งพร้อมด้วยคณะอาจารย์ และเจ้าหน้าที่ซึ่งเปี่ยมประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ ตลอดจนเครื่องมืออุปกรณ์ทันสมัย โดยมุ่งเน้นการวิจัยพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ได้จริงเพื่อสังคมเศรษฐกิจไทยและประชาคมโลก ใน 4 ด้าน คือ 1.) Healthcare Engineering 2.) Digital Engineering 3.) Logistic & Railway Engineering 4.) Sustainable Engineering นอกจากนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล ยังเป็นผู้นำในการพัฒนายกระดับการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ของประเทศไทยสู่ระดับโลก โดยเป็นโมเดลรายแรกที่กำลังนำทุกหลักสูตร เข้าสู่การพิจารณารับรองมาตรฐานสากลจากคณะกรรมการ ABET หรือ Accreditation Board for Engineering and Technology ซึ่งจะนำไปขยายผลต่อในคณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอื่นๆ ของไทยนั้น ภายใต้มาตรฐานสากลนี้คือ ประตูแห่งโอกาสซึ่งเปิดกว้างที่จะทำให้วิศวกรไทยในอนาคตเป็นที่ยอมรับและสามารถทำงานในประเทศและนานาประเทศได้ทั่วโลก
งาน Born To Be Engineer ได้รับเกียรติจาก มร.แจคกี้ ชาง (Jackie Chang) ประธานบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้นำอุตสาหกรรมอีเลคโทรนิคส์ของไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก ได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากความสำเร็จของเดลต้าฯ แก่นักศึกษาคนรุ่นใหม่ ปัจจุบันการดำเนินงานของเดลต้าฯ แบ่งเป็น Power Electronics, Automation & Building Automation และ Infrastructure โดยมีเครือข่าย R&D Lab โรงงานผลิต และสำนักงานในหลายประเทศทั่วโลก พร้อมทั้งได้เผยแนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งเป็นเมกะเทรนด์โลกที่สร้างโอกาสให้วิศวกร ได้แก่ 1.Sustainable Cities & Building 2.Connectivity & E-Commerce 3.Energy Infrastructure และ 4.Manufacturing Expansion ดังนั้น การสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ หรือ บริการจะเป็นไปในทิศทาง Green Solutions ที่ตอบโจทย์วิถีใหม่ขององค์กร สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของโลกที่ยั่งยืน โดยวิศวกรรมจะเป็นฐานอันแข็งแกร่งในการต่อยอดสร้างนวัตกรรมให้แก่โลกของเรา
ในงานบรรยากาศอบอุ่นด้วยมิตรไมตรีและความคิดสร้างสรรค์ เชิญคนรุ่นใหม่ ชอน กัลอัพ นักศึกษาปีที่ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล มาร่วมสนทนาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดีๆ เขาเป็นหัวหน้าทีม Calamari ที่ประกอบด้วยพลังคนหนุ่มสาว 22 คน สร้างผลงานนวัตกรรม “ระบบป้องกันน้ำท่วมอัตโนมัติ (Flood Prevention Protocol)” คว้ารางวัลชนะเลิศระดับโลกจาก Delta Cup 2021 เวทีการแข่งขันนวัตกรรมระบบอัตโนมัติระดับนานาชาติ สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย ท่ามกลางผู้เข้าแข่งขันทั่วโลก 564 ทีม จาก 200 มหาวิทยาลัย ในโอกาสนี้เขายังแบ่งปันแนวคิดในการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยและการรวมพลังเพื่อนๆ นำความรู้ทางวิศวกรรมและเทคโนโลยีมาสร้างสิ่งดีมีประโยชน์เพื่อแก้ไขปัญหาได้จริง สร้างสังคมให้น่าอยู่ ปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมโลกที่ยั่งยืน
A8358
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ