- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Tuesday, 11 November 2014 20:06
- Hits: 4521
เผยความคืบหน้าหลักสูตรใหม่ นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์เรียน MBA ร่วมกับศศินทร์ ย้ำหลังเปิด AEC สถาบันการศึกษาต้องสนับสนุนให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
ศศินทร์เผยความคืบหน้าการเสนอหลักสูตรเรียนร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถึงแนวโน้มให้นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ สามารถเรียน MBA กับศศินทร์ได้ในปี 2558 ย้ำหลังเปิด AEC สถาบันการศึกษาต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งเรื่องสังคม วัฒนธรรม และความร่วมมือทางด้านการค้าและการลงทุน เพื่อให้รวมตัวกันได้อย่างยั่งยืนและปลอดภัย
ศาสตราจารย์ ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการเปิดหลักสูตรร่วมกัน ระหว่างศศินทร์กับบางคณะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า ขณะนี้แนวคิดเรื่องเปิดการเรียนการสอนคณะวิศวกรรมศาสตร์กับหลักสูตร MBA ของศศินทร์ ได้ผ่านความเห็นชอบจากทางบัณฑิตวิทยาลัยเรียบร้อยแล้ว คาดว่า จะสามารถเปิดสอนได้ใน ปีหน้า ซึ่งเป็นครั้งแรกของหลักสูตรที่ผู้เรียนจะได้รับสองปริญญา ที่สำคัญยังเป็นหลักสูตรที่ทำให้นิสิตมีโอกาสได้เรียนสาขาบริหารธุรกิจ การตลาด และการเงินควบคู่ไปกับหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ ถือว่าเป็นจุดเด่นของการศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ในฐานะสถาบันการศึกษาจะต้องให้ความสำคัญกับ 3A คือ
1. ASEAN Political-Security Community (APSC)ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนเป็นเป้าหมายในการรวมตัวของประเทศสมาชิกอาเซียนสู่สังคมที่ประเทศสมาชิกมีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน มีเสถียรภาพ มีสันติภาพ และมีความปลอดภัยมากขึ้นในชีวิตและทรัพย์สิน อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาด้านต่างๆ รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยนำความร่วมมือและความตกลงของอาเซียนด้านการเมืองและความมั่นคงที่ได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว มาต่อยอดให้มีผลเป็นรูปธรรมและมีแบบแผนมากยิ่งขึ้น ด้วยกลไกและเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาและข้อขัดแย้งที่เกี่ยวกับความมั่นคงในภูมิภาค ทั้งระหว่างรัฐสมาชิกกับรัฐสมาชิกด้วยกันเอง จะต้องแก้ไขโดยสันติวิธี และปัญหาภัยคุกคามรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งประเทศหนึ่งๆไม่อาจแก้ไขได้โดยลำพังอย่างมีประสิทธิภาพ
2.ASEAN Economic Community (AEC)ประชาคมการเมือง-ความมั่นคงอาเซียนเป็นเป้าหมายในการสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของอาเซียน โดยมุ่งเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว ลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก และบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลกได้อย่างสมบูรณ์
3. ASEAN Socio-Cultural Community (ASCC)ประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน มีเป้าหมายหลักในการอำนวยให้ประชาคมอาเซียน มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมีสังคมที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เอื้ออาอร แบ่งปัน มีความเป็นอยู่ที่ดี มีพัฒนาการในทุกด้าน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
ทั้งนี้ วัฒนธรรมเป็นเรื่องสำคัญมากในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะวัฒนธรรมด้านอาหาร จุฬาฯ จะมีงานวิจัยและพัฒนาในเรื่องอาหารฮาลาล ซึ่งเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม 4 จังหวัดภาคใต้ของไทย รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านทั้ง มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน อินโดนีเซีย จึงต้องศึกษาเรื่องที่มีความสอดคล้องกันระหว่างการตลาด วัฒนธรรม รวมทั้งเรื่องสุขภาพ เพราะการตลาดยุดใหม่ต้องเน้นเรื่อง Culture Touch ต้องนำวัฒนธรรมของท้องถิ่นเข้ามาเป็นส่วนประกอบด้วย ไม่ควรมุ่งเน้นเฉพาะเรื่องกำไรและขาดทุนแต่อย่างเดียว การรวมตัวกันจะต้องอยู่ภายใต้ความปลอดภัย และความยั่งยืนด้านต่าง ๆ คือเสาหลักของ ASEAN Community เนื่องจากทั้ง 3A เป็นโครงสร้างที่สำคัญการอยู่ร่วมกันในสังคมอาเซียน ศศินทร์จะเน้นการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในภูมิภาค
ศาสตราจารย์ ดร.เกื้อ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ศศินทร์ยังเน้นการทำวิจัยร่วมกับจุฬาฯ เช่น การเชื่อมโยงงานวิจัยด้านบริหารธุรกิจกับงานวิจัยด้านประชากรศาสตร์ ด้านทรัพยากรมนุษย์ ด้านแรงงาน ด้านผู้สูงอายุ ที่หลายหน่วยงานของจุฬาฯ ดำเนินการอยู่ เนื่องจากประชากรในอาเซียนกว่า 600 ล้านคน อยู่ในวัยแรงงานประมาณ 60% ในขณะที่ยุโรปเริ่มเป็นสังคมผู้สูงอายุ เพราะมีประชากรกลุ่มนี้เกือบ 30% หากนักลงทุนในประเทศดังกล่าวเข้ามาเปิดตลาดในอาเซียน ความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ที่สำคัญจะต้องจ้างแรงงานที่จบการศึกษาในภูมิภาคนี้ ศศินทร์จึงให้ความสำคัญกับงานวิจัยด้านทรัพยากรมนุษย์เพิ่มเติมขึ้น โดยจะนำความรู้ด้านการบริหารจัดการ การตลาด และด้านการเงินเข้าไปร่วมในการวิจัย ซึ่งจะทำให้งานวิจัยมีแง่มุมต่างๆ และเกิดประโยชน์มากขึ้น
ทั้งนี้ ได้จัดเพิ่มการสอนวิชาประชากรศาสาตร์เชิงธุรกิจเป็นวิชาเลือกเพิ่มเติมอีกหนึ่งวิชา สำหรับ ความร่วมมือการวิจัยด้านอื่นๆกับจุฬาฯ ก็จะเป็นความร่วมมือกับศูนย์บริการวิชาการของจุฬาฯ ที่น่าสนใจมากคืองานวิจัยเกี่ยวกับผู้สูงอายุ งานวิจัยด้านอาหารและน้ำ ด้านการแพทย์ ด้านพลังงานทางเลือก ด้านวัสดุศาสตร์ เป็นต้น งานวิจัยเหล่านี้สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆได้ ในขณะเดียวกันศศินทร์ได้นำศาสตร์ทางด้านการตลาดและการเงินเข้าไปเชื่อมโยงกับงานวิจัยเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่นำงานวิจัยไปใช้ต่อยอดการทำธุรกิจได้ทันที
สอบถามข้อมูลข่าวเพิ่มเติมได้ที่
วรารัตน์ วงศ์ประทีป,Assistant Head of Marketing and Communications
[email protected] หรือ 02-218- 3853-4
แพรวทิพย์ ด่านวราวิจิตร, Marketing and Communications Coordinator
[email protected] หรือ 02-218-3853 ,081-808-5910
www.sasin.edu, www.facebook.com/sasinbusinessschool, www.twitter.com/SasinThailand