- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Tuesday, 20 July 2021 12:24
- Hits: 848
สภานโยบายการอุดมศึกษาฯ เร่งสนับสนุนการวิจัย พัฒนา และเตรียมความพร้อมผลิตวัคซีนโควิด-19 ของไทย
เดินหน้าพลิกโฉมการอุดมศึกษาด้วย Higher Education Sandbox
สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ จัดการประชุม ครั้งที่ 2/2564 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ ตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) เป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรี (ดร.วิษณุ เครืองาม) เป็นรองประธานคนที่หนึ่ง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) (ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์) รองประธานคนที่สอง
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการสภานโยบายฯ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รองนายกรัฐมนตรีดอนฯ ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการเชื่อมโยงกับการทำงานของกระทรวง อว. โดยเฉพาะการผลิตวัคซีน และยารักษาโรคโควิด-19 ของไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความเร่งด่วนและสำคัญต่อความมั่นคงด้านสาธารณสุขของประเทศและชีวิตของประชาชน ขณะนี้มีโครงการพัฒนาวัคซีนของไทยเองกว่า 20 ชนิด หลายโครงการมีความคืบหน้ามาก เช่น โครงการของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (mRNA) อยู่ระหว่างการทดลองในมนุษย์ และโครงการของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Protein Subunit) กำลังจะทดลองในมนุษย์ และในสถาบันวิจัยอีกหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล สภากาชาดไทย องค์การเภสัชกรรม และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีดอนฯ ได้สั่งการให้ อว. นำข้อคิดเห็นของที่ประชุมไปดำเนินการ พร้อมกำชับให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เพื่อช่วยแก้ไขวิกฤตของชาติให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยกัน
นอกจากนี้สิ่งที่ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมคือเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานในด้านฐานการผลิต ต้องมีการเตรียมการตั้งแต่วันนี้ ไม่ให้กระบวนการผลิตล่าช้า ซึ่งฐานการผลิตนี้ไม่เพียงแต่ใช้รองรับการผลิตวัคซีน mRNA หรือ Protein Subunit เท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นฐานการผลิตที่จะรองรับการผลิตวัคซีนหรือยาชนิดอื่นในอนาคตได้ ซึ่งในปัจจุบันมีสมุนไพรหลายชนิดที่สามารถนำไปวิจัยและพัฒนาเพื่อต่อยอดในการผลิตยาได้ อาทิเช่น ฟ้าทลายโจร กระชายขาว ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องเข้าไปศึกษาถึงโอกาสในการผลิตยาเหล่านี้ให้มีความชัดเจนขึ้น เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในประเทศ อีกส่วนที่สำคัญคือการการพัฒนาบุคลากร เนื่องจากการผลิตวัคซีนหรือยาในรูปแบบใหม่อาจเป็นเรื่องที่บุคลากรในประเทศยังไม่คุ้นเคย จึงต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถพร้อมที่จะเข้าไปทำ
สำหรับความก้าวหน้าวาระแห่งชาติการพัฒนาเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG Economy Model ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า เป็นอีกประเด็นที่รองนายกรัฐมนตรีดอนฯ เน้นย้ำให้ทุกส่วนร่วมกันดำเนินการอย่างเต็มที่ ซึ่งการขับเคลื่อนเรื่องนี้ต้องเดินคู่กันสองมิติ ทั้งในด้านการดูแลรับผิดชอบตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน และในมุมการมองบีซีจีเป็นเอกภาพ เป็น 3 ส่วนที่ผนึกเข้าด้วยกัน ในขณะเดียวกันต้องให้ความสำคัญในการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ ตอบโจทย์ในระดับสากล เนื่องจากในปัจจุบันผู้นำระดับโลกให้ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ต้องมีแนวทางสร้างความตระหนักในเรื่องนี้ สร้างการรับรู้ตั้งแต่ระดับชุมชน เยาวชน สังคม และต้องไม่ลืมคำนึงถึงความยั่งยืนด้วย
นอกจากนี้สภานโยบายฯ ยังได้มีมติเห็นชอบต่อ (ร่าง) กรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. พ.ศ. 2566 – 2570 โดย (ร่าง) กรอบนโยบายฯ ดังกล่าว จะเป็นการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์หลักครั้งสำคัญของประเทศด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยประกอบด้วย 6 จุดมุ่งเน้นของนโยบาย (High-priority Policy) ดังนี้ (1) ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง โดยใช้การพัฒนาตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) (2) ประเทศไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มุ่งเน้นคุณค่าและความยั่งยืน สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ (3) ประเทศไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป และอาหารที่มีคุณค่าและมูลค่าสูง โดยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 1 ใน 10 ของโลก (4) ผู้สูงอายุมีศักยภาพและโอกาสอย่างเต็มที่ในการพึ่งตนเอง มีคุณค่าและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สังคม เพื่อรองรับสังคมสูงวัย (5) ประเทศไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้า ล้ำยุคสู่อนาคต สำหรับการยกระดับอุตสาหกรรม ธุรกิจ และการบริการที่มีอยู่แล้ว และพัฒนาอุตสาหกรรม/ธุรกิจใหม่ และ (6) ประเทศไทยสามารถสร้างกำลังคนสมรรถนะสูงและเป็นศูนย์กลางกำลังคนระดับสูงของอาเซียน โดยการพลิกโฉมระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และสอดรับกับปรัชญาการอุดมศึกษาไทย
ที่ประชุมยังได้เห็นชอบต่อ หลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการ และกลไกการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) เพื่อนำไปจัดทำประกาศสภานโยบายฯ พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษาเพื่อปฏิบัติหน้าที่แทนสภานโยบายฯ และให้นำเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการ และกลไกการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ซึ่ง ดร.กิติพงค์ ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับรูปแบบการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา จากกระแสการเปลี่ยนแปลงและประเด็นอุบัติใหม่ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และวิถีชีวิต ที่มีนัยต่อบทบาทและแนวทางการพัฒนากำลังคนของสถาบันอุดมศึกษาที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้ทันกับกระแสดังกล่าว เพื่อให้ประเทศไทยมีกำลังคนทั้งด้านปริมาณและคุณภาพที่เพียงพอและสามารถตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที โดยตัวอย่างมาตรฐานการอุดมศึกษาที่เป็นข้อจำกัดในการพัฒนานวัตกรรมการอุดมศึกษา เช่น การจำกัดจำนวนหน่วยกิตในการเทียบโอนเข้าสู่การศึกษาในระบบซึ่งขัดต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและระบบคลังหน่วยกิต การกำหนดคุณสมบัติของผู้สอนและผู้รับผิดชอบหลักสูตร และการจำกัดจำนวนชั่วโมงสอนของอาจารย์พิเศษ ซึ่งจะไม่เอื้อต่อการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้การผลิตกำลังคนให้ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งหลักเกณฑ์การจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม มีกลุ่มเป้าหมาย คือ สถาบันอุดมศึกษา หรือสถาบันการศึกษาอื่นทั้งภาครัฐและเอกชนที่จัดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาที่ต้องดำเนินการภายใต้มาตรฐานการอุดมศึกษา และเป็นการจัดการศึกษาเพื่อนำไปสู่การให้ปริญญา ทั้งระดับอนุปริญญา ปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา รวมถึงการจัดการศึกษาที่ไม่มุ่งปริญญา แต่สามารถเทียบโอนเพื่อนำไปสู่การให้ปริญญาในภายหลังได้ และประเด็นสำคัญคือต้องผลิตบัณฑิตที่ตอบโจทย์นโยบายหรือยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ตาม กระทรวง อว. กำลังดำเนินการปรับปรุงมาตรฐานการอุดมศึกษาเพื่อให้เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมการผลิตบัณฑิตมากขึ้น ซึ่งจะมีผลกับสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งต่อไป
ในส่วนการช่วยเหลือ SMEs ได้มีการรายงานให้ที่ประชุมทราบถึงความก้าวหน้าในการจัดตั้ง “มูลนิธิกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม (Innovation Fund Foundation for Industry)” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุน SMEs ในการพัฒนาหรือประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถศักยภาพในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยทั้งในระดับภูมิภาคจนถึงระดับชาติ ตลอดจนสร้างโอกาสทางการแข่งขันให้ภาคอุตสาหกรรมเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้จะดำเนินการในลักษณะกองทุนจากเอกชนเพื่อช่วยเอกชน โดยการระดมเงินทุนจากการบริจาคของธุรกิจขนาดใหญ่ จำนวนไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท และภาครัฐจะมีการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ในระยะ 3 ปีแรก ในอัตราส่วน 50 : 50 ซึ่งจะสนับสนุนเมื่อภาคเอกชนได้สนับสนุนงบประมาณเข้ากองทุนนวัตกรรมแล้ว นอกจากนี้ สำหรับบริษัทที่บริจาคเงินเข้ากองทุน จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อให้สามารถนำไปหักค่าใช้จ่ายได้ไม่ต่ำกว่า 2 เท่า ระยะเวลา 3 ปี
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้เห็นชอบต่อนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทุนพัฒนากำลังคนการอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาประเทศ โดยนโยบายดังกล่าว จะช่วยให้ทิศทางการจัดการทุนพัฒนากำลังคนอุดมศึกษาของประเทศมีเอกภาพและการบริหารจัดการมีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีการกำหนดทิศทางการจัดสรรทุนที่ชัดเจนเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง และความต้องการของประเทศได้อย่างทันเวลา ผ่านการคำนึงถึงการให้ทุนที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้และทักษะความสามารถจากผู้รับทุน
A7581
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ