- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Monday, 29 March 2021 15:05
- Hits: 906
เกม Recharge ชนะเลิศการแข่งขันบอร์ดเกมเล่นสนุกพร้อมเรียนรู้ด้านพลังงาน
ทีม NongPedTheCat : วนวัฒน์ (ซัน), ภัทราพร (แตงกวา), วิธวินท์ (โอม), นพดล (เชฟ)
ทีม NongPedTheCat ได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการ Energy on Board by BANPU B-Sports Thailand ปี 2563 การแข่งขันออกแบบบอร์ดเกมความยั่งยืนด้านพลังงานในโครงการ “Energy On Board” จากผลงานเกม Recharge ผลงานของนักศึกษา มจธ. และทีม ประกอบด้วย นายวนวัฒน์ มณีโชติ (ซัน) นายวิธวินท์ อาชานุภาพ (โอม) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาการออกแบบอุตสาหกรรม นายนพดล จ้าวกวน (เชฟ) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ นางสาวภัทราพร จิวะณโกศลวงศ์ (แตงกวา) นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาการออกแบบสื่อปฏิสัมพันธ์และมัลติมิเดีย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
เกม Recharge:
เป็นบอร์ดเกมที่ผู้เล่นจะได้รับบทบาทเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในมหานครสัตว์อันไกลโพ้น การออกแบบเกมนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่อง Zootopia ที่ต้องตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการขยายตัวของธุรกิจและอุตสาหกรรมในเมือง โดยผู้เล่นจะต้องบริหารจัดการโรงไฟฟ้าและธุรกิจต่างๆ โดยเลือกพื้นที่ พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ผลิตไฟฟ้าส่งไปยังครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรม และธุรกิจต่างๆ ได้อย่างสมดุล มีเสถียรภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด จึงจะเป็นผู้ชนะ
วนวัฒน์ มณีโชติ (ซัน) หนึ่งในสมาชิกจากทีม NongPedTheCat และเป็นหัวหน้าทีม รับผิดชอบเรื่องงานออกแบบ และ UI เล่าให้ฟังว่า “ผมชอบเล่นเกมมาตั้งแต่เด็ก ช่วงอนุบาล ประถม เล่นเกมทุกแนว พอโตมาก็เล่นเกมในคอมพิวเตอร์ แต่เมื่อได้มารู้จักกับบอร์ดเกมตอนชั้นมัธยมจึงรู้สึกว่าบอร์ดเกมมีเสน่ห์ มีความตื่นเต้น เหมือนเกมคอมแต่สามารถจับต้องได้ทำให้รู้สึกตื่นเต้นและสนุก เมื่อทราบว่ามีการแข่งขันนี้จึงชักชวนเพื่อนๆ ที่ก็ชอบเล่นเกมเหมือนกันมารวมตัวกันทำให้สามารถพัฒนาบอร์ดเกมที่นอกจากให้ความรู้แล้ว เกมนี้ยังเล่นแล้วสนุกด้วย
นพดล (เชฟ) และ วนวัฒน์ (ซัน) อธิบายถึงรูปแบบของ “เกม Recharge” ที่ได้ออกแบบตามโจทย์การแข่งขันในครั้งนี้ว่า เราในฐานะผู้พัฒนาเกมจะเป็นมุมมองของผู้ผลิตพลังงาน ที่จะต้องผลิตพลังงาน ใช้พลังงาน และคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เกมนี้มีผู้เล่น 2-4 คน ผู้เล่นจะมีกองทรัพยากร หรือ token ในถุง และจะหยิบ token กองกลาง โดย token จะมี 2 ประเภท คือ token ทรัพยากร และ token โรงไฟฟ้า หากเราหยิบได้จับคู่กันพอดี ก็จะได้คะแนน โดยที่การจับคู่กันเป็นข้อมูลและความรู้ด้านพลังงานจริง ทำให้ผู้เล่นจะได้ความรู้ไปพร้อมกับการเล่นเกม ซึ่งเป็นความรู้ด้านพลังงานระดับมหภาค
นายนพดล (เชฟ) ดูแลเรื่องงานพัฒนาเกม และออกแบบ UI ด้านวิธวินท์ (โอม) ทำหน้าที่หาข้อมูลทำรีเสิร์ชข้อมูลทั้งหมด เพื่อนำมาประกอบเข้ากับเกมให้มีเนื้อหาสาระด้านพลังงานให้กับผู้เล่น และภัทราพร (แตงกวา) ทำหน้าที่ออกแบบอาร์ตเวิร์กทั้งหมด
สิ่งที่ได้จากการแข่งขัน:
“การที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ทำให้พวกเราได้นำองค์วามรู้ในห้องเรียนมาปรับใช้ในการออกแบบเกม Recharge ด้วยเช่นกัน ประสบการณ์และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการแข่งขันถือเป็นตัวอย่างที่ดีมาก เนื่องจากทำให้เห็นภาพและเข้าใจบทเรียนที่ได้เรียนในห้องเรียนบางบทเรียนชัดเจนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นโอกาสที่ดีมากที่ทำให้ได้แสดงศักยภาพของตนเองออกมา รวมไปถึงการนำรีเสิร์ชข้อมูลเชิงลึกมาผนวกรวมเข้ากับบอร์ดเกม ซึ่งมีโอกาสไม่บ่อยที่จะได้ทำอะไรแบบนี้” วนวัฒน์ (ซัน) กล่าว
นพดล (เชฟ) กล่าวเสริมว่า “ได้ใช้องค์ความรู้จากในห้องเรียนมาปรับใช้กับการออกแบบเกมในส่วนของการออกแบบเพื่อการสื่อสารกับผู้เล่น เพื่อให้ผู้เล่นสามารถใช้งานชิ้นส่วนต่างๆ ได้ง่าย และเล่นเกมได้อย่างสนุกที่สุด ซึ่งถือว่าได้ทำงานตรงกับสิ่งที่ตัวเองถนัด อีกทั้งการเข้าร่วมโครงการนี้เหมือนเป็นสนามที่ทำให้มีโอกาสได้ทดลองทำงานจริง ได้รับคำติชมเพื่อกลับไปพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น และเปิดโอกาสให้ได้ท้าทายตัวเอง ได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ”
“จากการแข่งขันเพื่อออกแบบบอร์ดเกมที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเรื่องพลังงาน และได้รับหน้าที่ในการทำรีเสิร์ชข้อมูลแบบเชิงลึก หรือ Deep Research เรื่องพลังงานเพิ่มเติมนั้น ทำให้มุมมองเรื่องพลังงานของผมเปลี่ยนไป และยังทำให้เห็นภาพของการใช้พลังงานที่ชัดเจนขึ้นในมุมมองที่แตกต่างและหลากหลาย เนื่องจากทำให้สามารถเข้าใจมุมมองของผู้ผลิตไฟฟ้าด้วย จากเดิมที่เราเคยมองในมุมมองของผู้ใช้ไฟฟ้าเพียงด้านเดียวมาโดยตลอด” วิธวินท์ (โอม) กล่าว
เกม Recharge ไม่ได้เป็นเพียงแค่บอร์ดเกมที่เล่นเพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียว แต่ยังสอดแทรกไว้ด้วยเกร็ดความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนทางพลังงาน ทำให้ผู้เล่นสามารถเรียนรู้เรื่องพลังงานได้แบบไม่รู้ตัว ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้สามารถให้ความรู้เรื่องพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
A31030
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ