- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Monday, 28 December 2020 12:06
- Hits: 1642
ม.มหิดลช่วยแรงงานชาวเมียนมาสู้วิกฤติ Covid-19
เป้าหมายหนึ่งของกระบวนการพัฒนาตามแนวทาง SDGs หรือการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติคือ “Inclusiveness” หรือการนับรวมให้ทุกกลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลายได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่มีความเท่าเทียมกันซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดทางด้าน “พหุวัฒนธรรมศึกษา” ที่อยู่ในหลักสูตรปริญญาโทนานาชาติ ASEAN Studies for Sustainable Development (MASD) และหลักสูตรปริญญาเอกนานาชาติ Multicultural Studies (พหุวัฒนธรรมศึกษา) ของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ส่งเสริมการศึกษาเรื่องอาเซียนจากมุมมอง SDGs ขององค์การสหประชาชาติ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.มรกตไมยเออร์ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียมหาวิทยาลัยมหิดล (RILCA) ได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยภายใต้เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยวิจัย (RUN) ในการศึกษาการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติในไทย-อาเซียนสมรรถนะทางพหุวัฒนธรรมและการใช้สื่อออนไลน์ของแรงงานโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.มรกตไมยเออร์ได้ร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร. แพทย์หญิงพัชรีเลิศฤทธิ์คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยผลักดันให้มีการเปิดสอนหลักสูตรปริญญาโทนานาชาติ ASEAN Studies for Sustainable Development (MASD) ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์สถาบันวิจัยประชากรและสังคม (IPSR) และโครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา (IHRP) มหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งเปิดโอกาสให้นักศึกษาจากกลุ่มประเทศอาเซียนได้เข้ามาเรียนร่วมกันเพื่อร่วมพัฒนาให้เกิดความเข้าใจอันดีและการพัฒนาที่ยั่งยืนนอกจากนี้ RILCA ได้ส่งเสริมแนวคิดดังกล่าวผ่านการดำเนินงานหลักสูตรปริญญาเอกพหุวัฒนธรรมศึกษา(นานาชาติ) ที่ส่งเสริมให้ทุนนักศึกษาจากอาเซียนพลัสและการให้บริการภาษาและวัฒนธรรมอาเซียนของศูนย์การแปลและบริการทางภาษา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.มรกตไมยเออร์อธิบายว่า “สังคมพหุวัฒนธรรม” ในประเด็นที่ RILCA พยายามผลักดันตามเป้าหมายของSDGs ตลอดเวลาที่ผ่านมาคือการให้องค์ความรู้ทางด้านการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมสมรรถนะทางพหุวัฒนธรรมและที่สำคัญคือความเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายทั้งในเรื่องชาติพันธุ์แรงงานข้ามชาติความแตกต่างทางเพศและวัยรวมถึงความซับซ้อนต่างๆที่คนในสังคมควรให้ความสนใจทั้งด้านสิทธิขั้นพื้นฐานและโอกาสทางสังคมเศรษฐกิจและทำความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า ”สมรรถนะทางพหุวัฒนธรรม” เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
ซึ่ง “สมรรถนะทางพหุวัฒนธรรม” หมายถึงความสามารถในการเข้าใจและการแสดงออกทางสังคมทั้งโดยวาจา การกระทำ และการสื่อสารออนไลน์ของกลุ่มคนในสังคมที่มีความหลากหลายทั้งต่างที่มาและความแตกต่างอื่นๆ เช่น พลเมืองไทยแรงงานข้ามชาติกลุ่มคนที่มีความแตกต่างทางชาติพันธ์ุเพศและวัยที่แสดงการยอมรับความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีซึ่งกันและกันเอื้ออาทรและช่วยเหลือกันโดยไม่ถูกดูหมิ่นเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน
พี่น้องแรงงานจากอาเซียนมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจึงควรได้รับโอกาสและการยอมรับทางสังคมให้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีเทียบเท่าคนไทยแต่ยังพบปัญหาจากการไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการรับบริการพื้นฐานต่างๆได้เท่าที่ควรเนื่องจากอุปสรรคทางด้านภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มแรงงานชาวเมียนมาที่ประสบภาวะวิกฤติจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ที่จังหวัดสมุทรสาครในปัจจุบันโดยมหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับ กรมสุขภาพจิตกระทรวงสาธารณสุขสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์และมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ได้ร่วมให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นโดย RILCA ได้ร่วมให้ความช่วยเหลือทางด้านภาษาและวัฒนธรรมโดยร่วมจัดทำเอกสารคู่มือการปฏิบัติตัวในภาวะวิกฤติ Covid-19 ตลอดจนโปสเตอร์และคลิปวิดีโอแนะนำต่างๆเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์เป็นภาษาพม่านอกจากนี้ยังได้ช่วยจัดกระบวนการพบผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกับหน่วยงานดังกล่าวเพื่อหาแนวทางการดำเนินงานช่วยเหลือพี่น้องแรงงานชาวเมียนมาและให้บริการล่ามภาษาพม่าร่วมกับนักจิตวิทยาของหน่วยงานที่ลงพื้นที่ปฏิบัติงานช่วยเหลือแรงงานชาวเมียนมารวมทั้งกิจกรรมอื่นๆเพื่อช่วยบรรเทาภาวะวิกฤติ Covid-19
“แม้ช่วงก่อนประสบภาวะวิกฤติ Covid-19 คนไทยมีความสนใจท่องเที่ยวประเทศเมียนมากันมากแต่พบว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังพูดและเข้าใจภาษาพม่ากันได้น้อยในขณะที่แรงงานชาวเมียนมาพูดภาษาไทยกันได้ค่อนข้างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานชาวเมียนมาในจังหวัดสมุทรสาครซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมอาหารทะเลและอุตสาหกรรมการประมงโดยเป็นแรงงานข้ามชาติกลุ่มใหญ่ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยนานแล้วและส่วนใหญ่ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือสื่อสารนอกจากนี้ยังพบสตรีมีครรภ์และเด็กๆอยู่เป็นจำนวนมากในกลุ่มแรงงานชาวเมียนมาที่ประสบภาวะวิกฤติ Covid-19 โดย RILCA ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านภาษาและวัฒนธรรมอาเซียนและการวิจัยเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติในหลากหลายมิติเช่นพหุวัฒนธรรมการศึกษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมได้มีโครงการจะใช้พรีเซ็นเตอร์ที่เป็นชาวเมียนมาร่วมด้วยผู้เชี่ยวชาญของ RILCA ในการจัดทำคลิปวิดีโอแนะนำเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ และกิจกรรมอื่นๆซึ่งในปัจจุบันทำเป็นภาษาพม่าและภาษาไทยต่อไปจะขยายผลไปใช้เป็นแนวทางช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวในกลุ่มอื่นๆอาทิแรงงานชาวกัมพูชาซึ่งมีจำนวนมากเช่นกันในประเทศไทยโดยมหาวิทยาลัยมหิดลจะทำหน้าที่เป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” เพื่อเป็นที่พึ่งทางปัญญาสู่สังคมพหุวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและยั่งยืนเพื่อบรรลุเป้าหมายแห่งวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนค.ศ.2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) ขององค์การสหประชาชาติต่อไป” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.มรกตไมยเออร์กล่าวทิ้งท้าย
A12936
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ