- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Tuesday, 24 November 2020 23:22
- Hits: 2326
มหิดลบีซีไอแล็บ จากประเทศไทยคว้ารองแชมป์โลก รางวัลเหรียญเงิน ใน Cybathlon 2020
ประเภท BCI คลื่นสมองเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ แค่คิด...ก็ขับรถได้
ศักยภาพของคนไทยแสดงให้โลกประจักษ์อีกครั้ง...เมื่อทีมมหิดล บีซีไอแล็บ (MAHIDOL BCILAB) โดย เกรียงไกร เตชะดีหนุ่มพิการผู้แข่งขัน (Pilot) จากประเทศไทยคว้าเหรียญเงิน จากการแข่งขันไซบาธอน2020 (Cybathlon) ประเภทคลื่นสมองเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ควบคุมการแข่งรถ (BCI) แค่คิด...ก็ขับรถแข่งได้ทำสถิติเวลา 2 นาที 56 วินาที เฉือนอิตาลี ผู้ชนะเลิศไปเพียง 4 วินาทีเท่านั้น ภายใต้การริเริ่มสนับสนุนของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และที่ปรึกษาทีมมหิดล บีซีไอแล็บ กล่าวว่า รางวัลเหรียญเงินนี้ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของคนไทยบนเวทีโลก พลังการทำงานเป็นทีมและแสดงความก้าวหน้าในเทคโนโลยี BCI หรือสัญญาณสมองเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ในการควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ของเราไม่แพ้ชาติอื่นๆ เลย ศักยภาพของผู้พิการมิใช่เพียงเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี แต่เราสามารถยกระดับให้เป็นผู้ร่วมพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีเพื่อผู้พิการได้ด้วย ไซบาธอน (Cybathlon) จัดทุก 4 ปี เปรียบเสมือน “โอลิมปิกทางเทคโนโลยีเพื่อผู้พิการ” โดยทีมนวัตกรจากทั่วโลกได้มาประลองการออกแบบนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีสุดล้ำสำหรับผู้พิการ เป็นอนาคตของอุตสาหกรรมการแพทย์และมนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ BCI คลื่นสมองเชื่อมกับคอมพิวเตอร์ในการควบคุมสั่งการต่างๆ สรีระอุปกรณ์ แขนเทียม ขาเทียม หุ่นยนต์ช่วยเดินหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่น่าตื่นตาตื่นใจ ความเป็นมาของ Cybathlon จัดครั้งแรกในปี 2016 และครั้งนี้ Cybathlon 2020 จัดโดยเจ้าภาพเมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีผู้สมัครเข้าแข่งขัน 77 ทีม จาก 30 ประเทศทั่วโลก
เกรียงไกร เตชะดี (ปาล์ม) หนุ่มพิการตั้งแต่คอลงมา วัย 26 ปีทีมมหิดล บีซีไอแล็บ (MAHIDOL BCILAB) ผู้คว้ารองแชมป์โลกใน ประเภทควบคุมการแข่งรถด้วยคลื่นสมองเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ (Brain-Computer Interface Race: BCI) กล่าวว่า การแข่งขัน Cybathlon 2020 ครั้งนี้ มีรู้สึกตื่นเต้นและภูมิใจมากครับ ที่คว้าเหรียญเงินมาได้ สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับแก่นานาชาติ เทคนิคในการควบคุมรถ ในการแข่งของผม คือ มีสติ ความเชี่ยวชาญและใช้สมาธิ ให้คลื่นสมองควบคุมรถแข่งเคลื่อนที่สู่เป้าหมายในระยะทาง 500 เมตร ภายในเวลา 4 นาที เลี้ยวซ้าย-เลี้ยวขวา และเปิดไฟตามต้องการสมาธิของผมอาจแปลกกว่าคนอื่น ตรงที่บรรยากาศรอบตัวไม่ต้องเงียบสงัด ผมชอบให้มีการเคลื่อนไหวบ้างเป็นปกติ ก็สามารถใช้สัญญาณสมองและคอมพิวเตอร์ควบคุมการแข่งรถได้ดี การได้รางวัลครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณทีมงานทุกคน ที่ทำงานหนักและร่วมกันพัฒนานวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่ง Cybathlon เป็นแรงบันดาลใจให้ผมอยากจะเป็น Developer หรือ โปรแกรมเมอร์ครับ เพื่อจะได้นำประสบการณ์และความรู้จาก Cybathlon มาพัฒนาสิ่งที่ใช้งานได้จริงสำหรับผู้พิการในประเทศไทยต่อไปครับ
พงศกร เวชการ ผู้จัดการ ทีมมหิดลบีซีไอแล็บ และนักศึกษาปริญญาเอก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ทีมชาติไทยประสบผลสำเร็จบนเวทีโลก มาจาก 3 ประการคือนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ออกแบบมามีประสิทธิภาพและเหมาะสมใช้งานได้จริง, ผู้แข่งขันมีทักษะความเชี่ยวชาญ รวมทั้งสมรรถนะของทีม ในงาน Cybathlon นอกจากจะได้มาประลองนวัตกรรมใหม่ๆ จากนานาประเทศแล้ว ยังเป็นที่พบปะของนวัตกร, ผู้ใช้และผู้ผลิตด้วย เช่น มีเสียงสะท้อนจากผู้ใช้แขนเทียม อยากให้นักวิจัยและผู้ผลิตปรับลดเสียงตื้ดๆ ที่เกิดจากการทำงานของมอเตอร์แขนเทียม นอกจากนี้ Cybathlon 2020 ไม่ได้มุ่งเทคโนโลยีที่เกินจริง Hi-Tech หรือ Low-Tech แต่มุ่งสร้าง Right Tech คือเทคโนโลยีที่สามารถใช้ได้ในชีวิตจริงและเกิดประโยชน์จริง เบื้องหลังการแข่งขัน Cybathlon แต่ละประเทศ คือทีมงานจากหลายสาขาที่ทำงานหนักร่วมกัน ตั้งแต่นักวิจัย นวัตกร วิศวกรไฟฟ้า เครื่องกล ผู้เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์ จนถึงนักกายภาพ นับเป็นพลังที่จะเปลี่ยนแปลง ขับเคลื่อนอนาคตและสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตในสังคมไทยและสังคมโลก
Cybathlon ได้สร้างความฮือฮาให้โลกโดยกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมและวิจัยใหม่ๆ เพื่อช่วยให้ผู้พิการและผู้ป่วยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ พัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ใช้กับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้พิการจากโรคภัยและการบาดเจ็บ ทั้งนวัตกรนักวิจัยได้มาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เทคโนโลยี โดยหลังการแข่งขันไซบาธอนจบ 1 ปีจะมีการเผยแพร่องค์ความรู้ส่วนหนึ่งออกสู่สาธารณะอีกด้วย
ผลการแข่งขัน CYBATHLON 2020
โอลิมปิกแห่งเทคโนโลยีเพื่อผู้พิการ
|
ประเภท | เหรียญทอง | เหรียญเงิน | เหรียญทองแดง |
1. |
ประเภทควบคุมสั่งการด้วยคลื่นสมอง เชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ (BCI - Brain Computer Interface Race) |
ทีม WHI ประเทศ อิตาลี |
ทีม MAHIDOL BCILAB ประเทศ ไทย |
ทีม Neurobotics ประเทศ รัสเซีย |
2. |
ประเภทใช้เทคโนโลยีแขนเทียม เพื่อปฏิบัติภารกิจ (Powered Arm Prosthesis Race) |
ทีม Maker Hand ประเทศ โครเอเชีย |
ทีม SoftHand Pro ประเทศ อิตาลี |
ทีม e-OPRA ประเทศ สวีเดน |
3. |
ประเภทจักรยานที่ใช้อุปกรณ์กระตุ้น กล้ามเนื้อขาด้วยระบบไฟฟ้า (FES : Functional Electrical Stimulation Bike Race) |
ทีม PULSE Racing ประเทศ เนเธอร์แลนด์ |
ทีม ImperialBerkel ประเทศ อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ |
ทีม Cleveland ประเทศ สหรัฐอเมริกา |
4. |
ประเภทควบคุมวีลแชร์ ซึ่งมีต้นกำลัง ขับเคลื่อนเพื่อขึ้นบันไดและตะลุยวิบาก (Powered Wheelchair Race) |
ทีม HSR enhanced ประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ |
ทีม Caterwil ประเทศ รัสเซีย |
ทีม Fortississimo ประเทศ ญี่ปุ่น |
5. |
ประเภทใช้เทคโนโลยีขาเทียม วิ่งวิบากและปฏิบัติภารกิจ (Powered Leg Prosthesis Race) |
ทีม Circleg ประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ |
ทีม NeuroLegs ประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ |
ทีม Contur 2000 ประเทศ โปแลนด์ |
6. |
ประเภทแข่งขันเดินผ่านสิ่งกีดขวาง โดยใช้อุปกรณ์แรงเสริมสำหรับ ผู้พิการไขสันหลัง (Powerd Exoskeleton Race) |
ทีม Angel Robotics 1 ประเทศ เกาหลีใต้ |
ทีม TWICE ประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ |
ทีม Angel Robotics 2 ประเทศ เกาหลีใต้ |
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ