- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Sunday, 27 September 2020 18:35
- Hits: 4339
ครูตั้น ดันศรีสะเกษโมเดล ขยายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
ครูตั้นชู 'ศรีสะเกษ' ต้นแบบพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พร้อมดึงพลังจากทุกภาคส่วน พัฒนาการศึกษาในพื้นให้เต็มศักยภาพ เดินหน้าสั่งการปลดล็อคข้อจำกัด เพื่อสร้างคุณภาพทางการศึกษา
เมื่อวันศุกร์ที่ 25 กันยายน 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน "TEP FORUM SISAKET: พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยพลังคนศรีสะเกษ" พร้อมทั้งร่วมเวทีล้อมวงสนทนากับภาคีการเรียนรู้ศรีสะเกษ ในหัวข้อ "จะร่วมกันเปลี่ยนแปลงการศึกษาศรีสะเกษให้ทันโลกได้อย่างไร" โดยมีนายเจตน์ โศภิษฐ์พงศธร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ, นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ศึกษาธิการจังหวัด ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู และนักเรียน ร่วมให้การต้อนรับและเข้าร่วมงาน ณ หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การจัดการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ถือเป็นการจุดประกายให้สถานศึกษาเริ่มปรับตัว ปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้ทันยุคทันสมัย ตามบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยจังหวัดศรีสะเกษ เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ ด้วยการมีส่วนร่วมในการทำงานของทุกภาคส่วน
นอกจากนี้ การจัดการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีกฎหมายและพระราชบัญญัติที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้สถานศึกษาสามารถดำเนินงานด้านต่าง ๆ ที่มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวมากขึ้น ทั้งในด้านงบประมาณ หลักสูตร และการพัฒนาครู เป็นต้น
โดยกระทรวงศึกษาธิการ ก็มีแนวทางในการปลดล็อกกฎระเบียบต่างๆ ให้มีความทันสมัยและไม่เป็นข้อจำกัดในการพัฒนาการศึกษา ในขณะเดียวกัน ครูก็มีความเข้าใจและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตนเอง ให้มีทักษะสอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้เราทุกคนได้เห็นความเปราะบางของการศึกษา ที่อาศัยการเรียนในห้องเรียนเป็นส่วนใหญ่ แต่ครูก็มีความตื่นตัวและพัฒนาตนเองให้มีทักษะด้านดิจิทัลมากขึ้น ส่วนนักเรียนก็มีความพร้อมที่จะเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ ไปพร้อมกัน
“ผมขอฝากให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา บูรณาการการทำงานร่วมกัน สิ่งสำคัญ คือ การวางรากฐานและช่วยกันพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ให้เกิดผลสำเร็จ เพราะการบริหารจัดการการศึกษาอยู่ในมือของพวกเราทุกคน”
ทั้งนี้จังหวัดศรีสะเกษได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 8 จังหวัด ในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาในพื้นที่ ซึ่งสามารถนำมาเป็นต้นแบบในการขยายผลไปยังจังหวัดอื่น ๆ หากทุกภาคส่วนในจังหวัดร่วมมือร่วมใจกัน ก็จะสามารถพัฒนาจังหวัดให้มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยได้
“การรวมพลังการศึกษาระหว่างสายสามัญ อาชีวศึกษา การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และการอุดมศึกษา ความเชื่อมโยงของทุกภาคส่วน จึงเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่" รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
ในการเสวนา นายณัฏฐพล ยืนยันที่จะปลดล็อคข้อจำกัดต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ศธ. โดยเฉพาะกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนการศึกษา เช่น ยกเลิกข้อจำกัดประเภทโรงเรียนที่ไม่อนุญาตให้นักศึกษาฝึกงานเป็นครูผู้ช่วยสอน เป็นต้น รวมถึงรับเรื่องหาแนวทางในการพิจารณาผลงานครู เพื่อการปรับวิทยฐานะ
นอกจากนี้ นายณัฏฐพล ยืนยันที่จะผลักดันการศึกษาเพื่อสร้างคุณภาพในการระบบการศึกษาทั้งหมด โดยพิจารณาศรีสะเกษโมเดลให้เป็นต้นแบบการศึกษาในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ
"ส่วนของภาครัฐ ผมเป็นคนรับผิดชอบที่จะไปดำเนินการ ซึ่งทางกระทรวงต้องปรับเปลี่ยนแนวทาง แต่ทั้งนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน และภาคสังคมอย่างเข้มแข็งเช่นกัน" นายณัฏฐพล กล่าว
โอกาสนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือ การพัฒนาสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ สถานศึกษานำร่อง รุ่นที่ 1 จำนวน 49 โรงเรียน และรุ่นที่ 2 เพิ่มเติม 69 โรงเรียน และมีแผนดำเนินการให้ครบ 400 โรงเรียนในปี 2465
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ