- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Saturday, 04 July 2020 19:48
- Hits: 1134
บอร์ดองค์การค้า สกสค. เร่งเยียวยา อนุมัติเบิกจ่ายทันที
ภายหลังจากนายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ปฎิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ได้ลงนามในหนังสือเลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่องค์การค้าของสกสค.จำนวน 961 ราย ตามมติของคณะกรรมการองค์การค้า สกสค. เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้ เนื่องจากขาดทุนในการดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 15 ปี มีผลขาดทุนสะสมมากกว่า 6.7 พันล้านบาท
ล่าสุด ทางเจ้าหน้าที่องค์การค้าที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้าง มีความไม่มั่นใจถึงค่าชดเชยที่จะได้รับ รวมถึงแนวทาง และระยะเวลาในการเบิกจ่าย เพื่อสามารถมีรายได้สำหรับการใช้จ่ายของตนเองและครอบครัว ในเรื่องนี้ นายธนพร สมศรี รองเลขาธิการ สกสค. ในฐานะโฆษกคณะกรรมการ สกสค. ได้ชี้แจงถึงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของ สกสค. เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมว่า ที่ประชุมได้พิจารณาหาแนวทางเร่งรัดการเบิกจ่ายค่าชดเชยบางส่วนเป็นจำนวนเงินคนละ 100,000 บาท ให้กับเจ้าหน้าที่ที่ถูกเลิกจ้างทุกคนโดยเร็วที่สุด โดยจะให้มีการเบิกจ่ายค่าชดเชยได้ภายในวันนี้ (วันที่ 3 กรกฎาคม 2563) ทันที ไม่ต้องรอการเบิกจ่ายในปลายเดือนกรกฎาคมตามวงรอบบัญชีเงินเดือนแต่อย่างใด
“บอร์ดบริหาร และรัฐมนตรีว่าการ ได้แสดงความห่วงใยว่า แม้การเลิกจ้างจะมีผลในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ก็ตาม แต่ระหว่างนี้ หากเจ้าหน้าที่สามารถมีเงินก้อนที่จ่ายให้ล่วงหน้าก่อน จะสามารถนำเงินที่ได้รับนี้ไปจัดสรร หรือบริหารการเงินส่วนตนให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ เป็นการแบ่งเบาภาระ หรืออาจจะช่วยเหลือให้เจ้าหน้าที่บางคนสามารถเริ่มดำเนินกิจการทางธุรกิจได้รวดเร็วมากขึ้น” โฆษกคณะกรรมการ สกสค.กล่าว
นายธนพร กล่าวว่า ทางบอร์ดองค์การค้าของสกสค. ได้หารือกันโดยละเอียด โดยคำนึงถึงสภาพทางเศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบัน และพิจารณาถึงแนวทางที่จะเอื้อประโยชน์สูงสุดให้กับเจ้าหน้าที่องค์การค้าฯ จึงมีมติเห็นชอบในการกำหนดการจ่ายค่าชดเชยออกเป็น 2 ประเภท เต็มจำนวนตามกฎหมายกำหนด โดยใช้เงื่อนไขอายุการทำงานและเงินเดือนล่าสุดเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา โดยกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่มีอายุงานมากกว่า 20 ปี ขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชยรวม 400 วัน หรือประมาณ 13 เดือน และกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่มีอายุงานต่ำกว่า 20 ปี จะได้รับเงินชดเชย 300 วัน หรือประมาณ 10 เดือน
“เจ้าหน้าที่บางคนจะได้รับเงินชดเชยและเงินบำเหน็จรวม 4 ล้านบาทเศษ โดยผู้ที่ได้รับต่ำสุดจะได้รับไม่น้อยกว่า 5 แสนบาท ซึ่งการชดเชยโดยรวมในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่องค์การค้าฯ จะได้รับมากกว่าพนักงานบริษัทเอกชนทั่วไปที่มีการเลิกจ้าง” นายธนพรกล่าว
โฆษกคณะกรรมการ สกสค.กล่าวด้วยว่า ช่วงระยะเวลา 1 ปี ของคณะกรรมการบริหารองค์การค้า ฯ สกสค. ชุดใหม่ ได้พิจารณาถึงผลการดำเนินงานขององค์การค้าฯ ที่มีต่อเนื่องกว่า 15 ปี ซึ่งมีตัวเลขที่ติดลบต่อเนื่องมาโดยตลอด จึงได้พิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 โดยมีแนวทางเลือกไว้ 3 แนวทาง ได้แก่ 1.การหยุดกิจการ 2.ดำเนินกิจการเช่นเดิมต่อไป หรือ 3.การปรับองค์กรด้วยลดจำนวนพนักงาน
“แนวทางแรกคือการหยุดกิจการเลย แล้วนำทรัพย์สินที่มีออกขายเพื่อชำระหนี้ ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องตกงาน และองค์การค้า ฯ ก็เหมือนจะถูกยุบไปเลย แต่ สกสค. ในฐานะนิติบุคคลขององค์การค้า ฯ ยังคงต้องรับผิดชอบในหนี้ 6,700 ล้านบาททั้งหมด จะได้คืนเพียงมูลค่าทรัพย์สินขององค์การค้า ฯ เช่น ที่ดิน เป็นต้น
แนวทางที่สองยังคงเดินหน้ากิจการต่อไปตามเดิม ซึ่งจะยังคงประสบกับภาวะขาดทุนไปเรื่อย ๆ โดยขาดทุนปีละประมาณ 300-400 ล้านบาท อาจจะทำให้ยอดหนี้สูงถึง 1 หมื่นล้านบาทในระยะเวลาอันใกล้ นั่นหมายความว่า สกสค.ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด และมีครูทั่วประเทศที่นำเงินมาฝากไว้ จะได้รับผลกระทบจากยอดหนี้ที่สูงมากขึ้น และแนวทางที่สามคือการปรับองค์กรด้วยการลดจำนวนพนักงาน โดยที่ประชุมได้พิจารณาอย่างรอบด้าน จึงตัดสินใจเลือกแนวทางที่สาม เพื่อให้องค์กรยังคงอยู่ และคัดสรรบุคคล คิดแผนกลยุทธ์ ปรับทิศทางการดำเนินงาน ให้สามารถดำเนินกิจการ และสามารถแข่งขันในตลาดได้ต่อไป” นายธนพรกล่าว
นายธนพรกล่าวเพิ่มเติมว่า การตัดสินใจดำเนินการปรับลดเจ้าหน้าที่ในช่วงเวลานี้ เนื่องจากช่วงระยะเวลาก่อนหน้า ทางองค์การค้า ฯ มีภารกิจต้องเร่งผลิตหนังสือเรียนประจำปี 2563 และวางแผนการจัดส่งให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อให้การเรียนการสอนไม่สะดุดหรือติดขัด
“เมื่อหนังสือได้ส่งถึงมือนักเรียนเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย และได้พิจารณาเห็นว่าจำนวนพนักงานที่คงเหลือ ประมาณ 25% ของพนักงานทั้งหมดเพียงพอ และสามารถวางแผนเพื่อเตรียมการสำหรับงานในปีถัดในกรอบระยะเวลาที่มีได้ จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการดำเนินการครั้งนี้” นายธนพรกล่าว
สำหรับ พนักงานที่ถูกเลิกจ้าง 961 รายนั้น มีอายุงานโดยเฉลี่ย 25 ปี 5 เดือน และมีเงินเดือนโดยเฉลี่ยเดือนละ 31,287 บาท ซึ่งการพิจารณาค่าชดเชยครั้งนี้ ทาง สกสค. ต้องใช้เม็ดเงินกว่า 423 ล้านบาทเศษ และเมื่อรวมกับค่าบำเหน็จของเจ้าหน้าที่จำนวน 861 ล้านบาทเศษแล้ว ต้องใช้จำนวนเงินโดยรวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 1,285 ล้านบาท และยังคงสิทธิในการพิจารณาค่าการทำงานในวันพักร้อน ซึ่งอยู่ระหว่างการคิดคำนวณเพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งทางองค์การค้าฯ ต้องกู้ยืมเพื่อมาดำเนินการในการจ่ายค่าชดเชยครั้งนี้
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหาร สกสค. ได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ในการแต่งตั้งให้นายอดุลย์ บุสสา ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าฯ โดยมอบหมายภารกิจเร่งด่วนในการจัดทำแผนฟื้นฟูการบริหารจัดการ และแผนการดำเนินธุรกิจขององค์การค้าฯ และให้เสนอคณะกรรมการบริหารองค์การค้า ฯ สกสค.ภายใน 30 วัน โดยแผนที่นำเสนอ หากจำเป็นต้องมีแผนงานด้านบุคลากร และมีการว่าจ้างเจ้าหน้าที่ใหม่เพิ่มเติม ก็ให้สามารถประกาศรับสมัครได้ ซึ่งทางคณะกรรมการจะต้องรอพิจารณาแผนโดยละเอียดอีกครั้ง
100,000 บาท โอนเข้าบัญชีเงินเดือนตามปกติทันที
นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของ สกสค. เพื่อแก้ปัญหาแนวทางเร่งรัดการเบิกจ่ายค่าชดเชยให้พนักงานองค์การค้าของ สกสค.ที่จะถูกเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563
ปลัด ศธ.และโฆษก ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางเร่งรัดการเบิกจ่ายค่าชดเชยบางส่วนเป็นจำนวนเงินคนละ 100,000 บาท ให้กับเจ้าหน้าที่ที่ถูกเลิกจ้างทุกคน โดยจะให้มีการเบิกจ่ายค่าชดเชยให้ในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ทันที ไม่ต้องรอการเบิกจ่ายในปลายเดือนกรกฎาคมตามวงรอบบัญชีเงินเดือนแต่อย่างใด
สิ่งสำคัญที่ผู้ถูกเลิกจ้างต้องเร่งดำเนินการ คือ ทุกคนจำเป็นต้องไปติดต่อที่ฝ่ายบุคคลขององค์การค้าฯ เพื่อเซ็นเอกสารบันทึกการรับเงินเยียวยาจากการเลิกจ้างพนักงานองค์การค้าของ สกสค. ซึ่งจะมีผลให้เงินจำนวน 100,000 บาท ถูกโอนเข้าบัญชีเงินเดือนตามปกติทันที โดยที่เอกสารนี้ไม่ได้มีผลผูกพันกับการดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดี ผู้ถูกเลิกจ้างยังสามารถใช้สิทธิ์เรียกร้องความยุติธรรมตามกฎหมายได้ทุกประการ เพียงแต่ต้องให้เซ็นเอกสารไว้เป็นหลักฐานว่าได้รับเงินไปแล้ว เพื่อจะได้ช่วยเยียวยาผู้ถูกเลิกจ้างเป็นการเร่งด่วน
“บอร์ดบริหาร และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ได้แสดงความห่วงใยว่า ระหว่างนี้หากเจ้าหน้าที่มีเงินก้อนที่จ่ายให้ล่วงหน้าก่อน จะได้นำเงินที่จำนวนนี้ไปบริหารการเงินส่วนตนให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ และขอให้บริหารเงินด้วยความระมัดระวัง เชื่อมั่นว่าจะสามารถพยุงครอบครัวไปได้จนถึงวันที่จ่ายเงินชดเชยและเงินค่าบำเหน็จเต็มจำนวน” โฆษก ศธ. กล่าว
ทั้งนี้ บอร์ดองค์การค้าของ สกสค. มีมติเห็นชอบในการกำหนดการจ่ายค่าชดเชยออกเป็น 2 ประเภท เต็มจำนวนตามกฎหมายกำหนด โดยใช้เงื่อนไขอายุการทำงานและเงินเดือนล่าสุดเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา คือ
กลุ่มเจ้าหน้าที่ที่มีอายุงานมากกว่า 20 ปี ขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชยรวม 400 วัน หรือประมาณ 13 เดือน
กลุ่มเจ้าหน้าที่ที่มีอายุงานต่ำกว่า 20 ปี จะได้รับเงินชดเชย 300 วัน หรือประมาณ 10 เดือน
โดยจะเบิกจ่ายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 และ 12 พฤศจิกายน 2563 ในส่วนของพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง 961 รายนั้น มีอายุงานโดยเฉลี่ย 25 ปี 5 เดือน และมีเงินเดือนโดยเฉลี่ยเดือนละ 31,287 บาท
การพิจารณาค่าชดเชยครั้งนี้ สกสค. ต้องใช้เงินกว่า 423 ล้านบาท และเมื่อรวมกับค่าบำเหน็จของเจ้าหน้าที่กว่า 861 ล้านบาทแล้ว ต้องใช้เงินรวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 1,285 ล้านบาท นอกจากนั้นยังคงสิทธิในการพิจารณาค่าการทำงานในวันพักร้อน ซึ่งอยู่ระหว่างการคิดคำนวณเพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งทางองค์การค้าฯ ต้องกู้ยืมเพื่อมาดำเนินการจ่ายค่าชดเชยครั้งนี้
ปลัด ศธ. กล่าวต่อไปว่า คณะกรรมการบริหารองค์การค้า ฯ สกสค. ชุดใหม่ ได้พิจารณาผลการดำเนินงานขององค์การค้าฯ ต่อเนื่องกว่า 18 ปี ซึ่งมีตัวเลขที่ติดลบมาโดยตลอด จึงได้พิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด โดยมีแนวทางเลือกไว้ 3 แนวทาง ได้แก่
การหยุดกิจการ แล้วนำทรัพย์สินที่มีออกขายเพื่อชำระหนี้ ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องตกงาน และองค์การค้าฯ ก็เหมือนจะถูกยุบไปเลย แต่ สกสค. ในฐานะนิติบุคคลขององค์การค้าฯ ยังคงต้องรับผิดชอบในหนี้ 6,700 ล้านบาททั้งหมด จะได้คืนเพียงมูลค่าทรัพย์สินขององค์การค้าฯ เช่น ที่ดิน เป็นต้น
ดำเนินกิจการเช่นเดิมต่อไป ซึ่งจะยังคงประสบกับภาวะขาดทุนไปเรื่อย ๆ ปีละประมาณ 300-400 ล้านบาท อาจจะทำให้ยอดหนี้สูงถึง 1 หมื่นล้านบาทในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่ง สกสค.ในฐานะหน่วยงานตันสังกัด และมีครูทั่วประเทศที่นำเงินมาฝากไว้ จะได้รับผลกระทบจากยอดหนี้ที่สูงมากขึ้น
การปรับองค์กรด้วยลดจำนวนพนักงาน
ที่ประชุมได้พิจารณาอย่างรอบด้าน จึงตัดสินใจเลือกแนวทางที่ 3 เพื่อให้องค์กรยังคงอยู่ และคัดสรรบุคคล คิดแผนกลยุทธ์ ปรับทิศทางการดำเนินงาน ให้สามารถดำเนินกิจการ และสามารถแข่งขันในตลาดได้ต่อไป
นายธนพร สมศรี รองเลขาธิการ สกสค. ในฐานะโฆษกคณะกรรมการ สกสค. กล่าวว่า การตัดสินใจดำเนินการปรับลดพนักงานและเจ้าหน้าที่ในเวลานี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ทางองค์การค้าฯ มีภารกิจต้องเร่งผลิตหนังสือเรียนประจำปี 2563 และวางแผนการจัดส่งให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อให้การเรียนการสอนไม่สะดุดหรือติดขัด
เมื่อหนังสือส่งถึงมือนักเรียนเป็นที่เรียบร้อย และพิจารณาเห็นว่าจำนวนพนักงานที่คงเหลือ ประมาณ 25% ของพนักงานทั้งหมดเพียงพอ สามารถวางแผนเพื่อเตรียมการสำหรับงานในปีถัดไปในกรอบระยะเวลาที่มีได้ จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการดำเนินการครั้งนี้
ส่วนการขับเคลื่อนองค์การค้าฯ ต่อไปนั้น คณะกรรมการบริหาร สกสค. ได้แต่งตั้งให้ นายอดุลย์ บุสสา ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าฯ โดยมอบหมายภารกิจเร่งด่วนในการจัดทำแผนฟื้นฟูการบริหารจัดการ และแผนการดำเนินธุรกิจขององค์การค้าฯ นำเสนอคณะกรรมการบริหารองค์การค้าฯ สกสค.ภายใน 30 วัน ซึ่งหากจำเป็นต้องมีแผนงานด้านบุคลากร และมีการว่าจ้างเจ้าหน้าที่ใหม่เพิ่มเติม ก็ให้สามารถประกาศรับสมัครได้ โดยทางคณะกรรมการจะต้องรอพิจารณาแผนโดยละเอียดต่อไป
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ