- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Tuesday, 23 June 2020 17:15
- Hits: 802
เสนอไทยพลิกโฉมสู่นิวนอร์มัลด้วยการวิจัยขั้นแนวหน้า ถึงเวลานักวิจัยรุ่นใหม่ถอดหมวกรวมตัวพัฒนาประเทศ
‘สุวิทย์’ พร้อมหนุนปลดล็อกอุปสรรคขัดการสร้างอนาคต - มอบ สอวช. แม่งานนำกำลังคนหัวกะทิพบนายกเสนอไอเดีย
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุมหารือการขับเคลื่อนการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research in Action) จัดโดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนที่นำทางการวิจัยขั้นแนวหน้ารายสาขาโดยนักวิจัยรุ่นใหม่ อาทิสาขา Quantum Technology, EarthSpace System (ESS), High Energy Physics (HEP) และ Biological Sciences & Life Sciences
ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า ต้องขอบคุณในพลังคนรุ่นใหม่ที่มีความฮึกเหิมในการขับเคลื่อนประเทศผ่านการนำเสนออนาคตประเทศด้วยการวิจัยขั้นแนวหน้า หรือ Frontier Research ซึ่งโครงการการวิจัยขั้นแนวหน้า เป็นการลงทุนเพื่ออนาคตของประเทศด้านองค์ความรู้ การวิจัยและเทคโนโลยี และหากจะขับเคลื่อนประเทศสู่นิวนอร์มัลอย่างแท้จริง การวิจัยขั้นแนวหน้าก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยปรับโฉมไทยไปสู่จุดนั้น ซึ่งเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะทำได้หากทุกฝ่ายร่วมมือไม่แบ่งแยก อาจารย์ นักวิจัย ต้องทำงานร่วมกันแบบไม่มีหมวก ไม่มีสังกัด ต้องมีเป้าหมายร่วมกันคือเพื่อประเทศ โดยเอาความเชี่ยวชาญของตนมาร่วมพัฒนาประเทศแบ่งเป็นคลัสเตอร์องค์ความรู้ ไม่ใช่แบ่งตามสังกัดหน่วยงาน ต้องมาช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรให้ไทยสามารถยืนบนขาตัวเองได้ด้วยทรัพยากรและบุคลากรของประเทศร่วมกับการหาความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็ว
“การตั้งกระทรวงใหม่ขึ้นมาโดยมีการนำมหาวิทยาลัยเข้ามาร่วมด้วยเพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือกันเป็นกระทรวงที่รวมองค์ความรู้ระดับประเทศ เพราะฉะนั้นการทำงานของอาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยรวมถึงสถาบันวิจัยนั้น ต้องเป็นในรูปแบบการเข้ามาร่วมมือกันแบบไม่แบ่งสังกัด ทรัพยากรต้องสามารถใช้ร่วมกันเพื่อพัฒนาประเทศได้ โครงการวิจัยขั้นแนวหน้าที่นักวิจัยรุ่นใหม่นำเสนอครั้งนี้ทำให้เห็นถึงพลังคนรุ่นใหม่ระดับหัวกะทิที่เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาประเทศ โดยปัจจัยความสำเร็จของการวิจัยขั้นแนวหน้าตนมองว่า นอกจากการจับมือกันแน่นของนักวิจัยรุ่นใหม่แบบไม่แบ่งสังกัดแต่แบ่งจัดตามความเชี่ยวชาญความถนัดขององค์ความรู้ที่จะนำมาช่วยประเทศแล้ว ยังต้องผนวกกับความร่วมมือกับต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน โดยกระทรวงมีหน้าที่ช่วยปลดล็อก และช่วยดูว่าอะไรที่เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยในการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่การวิจัยขั้นแนวหน้าได้บ้าง โดยกระทรวงเห็นความสำคัญของโครงการดังกล่าว และได้มอบหมายให้ สอวช. เป็นแม่งานในการนำนักวิจัยรุ่นใหม่พบนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะนับเป็นครั้งที่ 2 หลังจากเคยได้มีโอกาสนำเสนอและยื่นสมุดปกขาวการวิจัยขั้นแนวหน้าต่อนายกรัฐมนตรีมาก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อนำเสนอให้เห็นความสำคัญในการทำวิจัยเพื่ออนาคตประเทศที่ชัดเจนขึ้น และทำให้เห็นภาพว่าการวิจัยขั้นแนวหน้าจะเป็นการพลิกโฉมประเทศสู่นิวนอร์มัลอย่างแท้จริง” ดร. สุวิทย์ กล่าว
ด้าน ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า จากการนำเสนอการวิจัยขั้นแนวหน้ารายสาขาของนักวิจัยรุ่นใหม่ทำให้เห็นภาพชัดขึ้น โดยก้าวต่อไปต้องโฟกัสภาพของประเทศไทยว่าเราจะเดินในทิศทางไหน ทั้งนี้ มองว่าเส้นทางของการเกิดการวิจัยขั้นแนวหน้ามีพื้นฐานเริ่มมาจากวิทยาศาสตร์ และพัฒนาเป็นการวิจัยขั้นแนวหน้าผ่านการบ่มเพาะให้เกิดเทคโนโลยีขั้นสูง และขับเคลื่อนออกสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งการจะให้เกิดเส้นทางดังกล่าวได้ต้องมีการสร้างระบบนิเวศน์ (ecosystem) ที่เหมาะสม ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญคือกำลังคนระดับมันสมองที่ต้องเข้ามาช่วยกันพัฒนา
สำหรับความสำคัญของการวิจัยขั้นแนวหน้านั้น ดร. กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวรายงานในที่ประชุมว่า หากถามว่าทำไมประเทศไทยจึงต้องลงทุนด้านการวิจัยขั้นแนวหน้า สอวช. และนักวิจัยรุ่นใหม่เห็นร่วมกันว่า งานวิจัยขั้นแนวหน้าจะช่วยสร้างความรู้ ความเป็นเลิศ และความสามารถในการสร้างเทคโนโลยีขั้นสูงที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนวัตกรรมไทย สร้างอุตสาหกรรมอนาคตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นผู้ส่งออกเทคโนโลยีและนวัตกรรม อีกทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพในการรับมือภัยคุกคามอันเกิดจากภาวะวิกฤตและเทคโนโลยีที่แปรเปลี่ยนสู่ความสามารถพึ่งพาตัวเองได้ และหลังจาก สอวช. ได้มีการนำนักวิจัยรุ่นใหม่ยืนสมุดปกขาวต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อช่วงปลายปี 2561 แล้ว การวิจัยขั้นแนวหน้าได้ถูกผลักดันให้บรรจุเป็นวัตถุประสงค์หนึ่งของการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ใน พรบ. สภานโยบาย อววน. พ.ศ. 2562 มาตรา 54 และยังได้รับการบรรจุเป็นแผนงานสำคัญของนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. และแผนด้าน ววน. พ.ศ. 2563 – 2570 ทั้งนี้ แผนงานการวิจัยขั้นแนวหน้าและการวิจัยพื้นฐานที่ประเทศไทยมีศักยภาพ ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกองทุน ววน. ประจำปี 2563 จำนวน 757 ล้านบาท และกรอบงบประมาณประจำปี 2564 จำนวน 1,587 ล้านบาท พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เป็นหน่วยบริหารแผนงานการวิจัยขั้นแนวหน้าฯ และจัดการทุน และขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำกรอบยุทธศาสตร์และแผนที่นำทางการวิจัยขั้นแนวหน้ารายสาขา ซึ่งแบ่งเป็น 3 ด้านหลักๆ คือ 1. Physical Sciences & Engineering แบ่งเป็น Quantum Technology Earth-Space System และ High-Energy Physics 2. Biological Sciences & Life Sciences และ 3. Social Sciences, Humanities & Arts
นอกจากนี้ จากการทำงานร่วมกันของ สอวช. กับประชาคมวิจัย และทีมนักวิจัยรุ่นใหม่ซึ่งมาจากหลากหลายมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยและหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. เห็นว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จในการเกิดการวิจัยขั้นแนวหน้าของไทย คือ กำลังคนและผู้เชี่ยวชาญ กรอบและโจทย์วิจัยที่เหมาะสมและท้าทาย เงินทุนสนับสนุนที่ต่อเนื่อง ระบบบริหารจัดการและการติดตามประเมินผลที่เหมาะสมกับการวิจัยขั้นแนวหน้า ที่ใช้เวลานานและมีความเสี่ยงสูง การเชื่อมโยงกับภาคเอกชน การสื่อสารให้สังคมเข้าใจถึงบทบาทและความสำคัญของการวิจัยขั้นแนวหน้า และความร่วมมือกับทีมวิจัยและองค์กรวิจัยขั้นแนวหน้าของโลก
AO6444
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web