- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Wednesday, 26 February 2020 16:47
- Hits: 555
เอ็นไอเอเตรียมผลิตบุคลากรป้อนตลาดนวัตกรรม
พร้อมโชว์โปรแกรมปั้นเด็กเล็ก – เด็กมหา’ลัยหวังดึงกึ๋นเด็กรุ่นใหม่สู่เส้นทางสตาร์ทอัพ
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เร่งพัฒนาเยาวชนไทยให้มีทักษะความสามารถและนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น พร้อมวางโปรแกรมพัฒนาขีดความสามารถด้านดังกล่าวให้เป็นไปอย่างครอบคลุม เริ่มตั้งแต่ระดับปฐมวัยและประถมศึกษาที่มีโปรแกรม STEAM4INNOVATOR และกิจกรรมฐานการเรียนรู้แบบง่าย (Learning Station) พร้อมร่วมมือกับม.มหิดลในการเผยแพร่ไกด์บุ๊คและสื่อการเรียนการสอนให้กับโรงเรียนต่างๆ เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอนเพิ่มเติม สำหรับในระดับมัธยมศึกษา จะมีหลักสูตร STEAM4INNOVATOR @ SCHOOL ซึ่งเปิดสอนเป็นห้องเรียนพิเศษในวันเสาร์ให้กับนักเรียนที่สนใจได้มาเรียนรู้เรื่องธุรกิจนวัตกรรมตลอด 12 สัปดาห์ ตั้งแต่การค้นหาแรงบันดาลใจ ไปจนถึงการสร้าสรรค์ผลงานที่พร้อมจะนำไปพิชชิ่งกับผู้ใหญ่ใจดี ต่อมาในระดับมหาวิทยาลัย และอาชีวศึกษา จะมีโปรแกรมพัฒนาหลากหลาย อาทิ โครงการ Founder Apprentice ที่เป็นการจับคู่นักศึกษากับผู้ประกอบธุรกิจนวัตกรรม เพื่อให้ได้เรียนรู้และทดลองทำงานจริงร่วมกับผู้ก่อตั้งธุรกิจนวัตกรรมนั้นๆ โครงการ Startup Thailand League และการประกวด Thailand Innovation Awards ที่เป็นการประกวดโมเดลธุรกิจสตาร์ทอัพและแข่งขันผลงานนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อพัฒนาสู่การจัดตั้งธุรกิจจริง รวมทั้งกองทุนยุวสตาร์ทอัพที่มุ่งส่งเสริมและพัฒนาให้นักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอกสามารถต่อยอดแนวคิดพัฒนาสู่การลงทุนในการก่อตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยมีเงินทุนให้เปล่ามากถึงรายละ 1,500,000 บาท
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ในการส่งเสริมให้เกิดนวัตกร ผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม รวมทั้งสตาร์อัพให้เพิ่มมากขึ้นในประเทศนั้น กลุ่มเป้าหมายหลักที่ต้องเร่งพัฒนาและบ่มเพาะอย่างจริงจังก็คือ “กลุ่มเยาวชน” เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่เริ่มมีความคิดที่แตกต่าง ความกล้าทดลอง และการนำเสนอสิ่งใหม่ที่ต่างไปจากในอดีต ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นคุณสมบัติที่สอดคล้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมในยุคปัจจุบันที่ต้องอาศัยความแตกต่างและความคิดสร้างสรรค์เป็นตัวขับเคลื่อน นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่าในช่วง 2 -3 ปีที่ผ่านมา เยาวชนไทยเริ่มมีความตื่นตัวและแสดงออกด้านดังกล่าวได้อย่างดีเยี่ยม สังเกตได้จากเวทีต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้นำเสนอผลงาน ความคิด และความสามารถ การผันตัวเป็นสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการตั้งแต่อายุยังน้อย หรือแม้แต่กระทั่งการเริ่มเรียนในหลักสูตร ด้านนวัตกรรมทั้งในและนอกสถานศึกษา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่หลายภาคส่วนควรหันมาให้ความสำคัญและร่วมกันสนับสนุนให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้การพัฒนาขีดความสามารถของเยาวชนเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และสามารถต่อยอดสู่ทักษะด้านนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการในอนาคต NIA ในฐานะหน่วยงานหลักด้านการพัฒนาระบบนวัตกรรมแห่งชาติจึงได้วางกรอบการพัฒนากลุ่มดังกล่าวไว้อย่างครอบคลุม โดยแบ่งเป็นแต่ละระดับ ดังนี้
ระดับปฐมวัย – ระดับประถมศึกษา เน้นการสร้างให้เกิดการเรียนรู้และความเข้าใจในหัวใจสำคัญของการเป็นนวัตกรภายใต้โปรแกรม STEAM4INNOVATOR ซึ่งจะจัดกิจกรรมในโอกาสต่างๆ เช่น วันเด็กแห่งชาติ มหกรรมวิทยาศาสตร์ ผ่านรูปแบบฐานการเรียนรู้แบบง่ายไม่ซับซ้อน (Learning Station) เพื่อให้เยาวชนกลุ่มนี้มีเข้าเกี่ยวกับกระบวนการคิดเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมซึ่งหัวใจสำคัญอยู่ที่การรู้จักปัญหาและการหาทางแก้ไข ซึ่งสามารถไปต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ ฝึกความกล้าแสดงออกต่อไป นอกจากนี้ ยังจะมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดลในการขยายผล Learning Station ที่เคยทำไปแล้ว สู่การทำนิทรรศการเคลื่อนที่ การสอนผ่านไกด์บุ๊คและสื่อการเรียนการสอน ที่ออกแบบกระบวนการเรียนรู้และการวัดผลทักษะต่างๆ ตามหลักวิชาการที่เหมาะสมกับช่วงวัย โรงเรียนที่มีความสนใจสามารถนำอาร์ตเวิร์ค สคริปต์ เอกสาร ฯลฯ ไปใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอนเพิ่มเติมในห้องเรียนได้ อีกทั้งมีแผนร่วมกันส่งเสริมศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งตั้งอยู่ในม.มหิดล ให้เป็นที่เรียนรู้ STEAM4INNOVATOR ของเด็กๆ อย่างสนุกและสร้างสรรค์
ระดับมัธยมศึกษา ในปีที่ผ่านมา NIA ได้มีการพัฒนาหลักสูตรที่ชื่อว่า STEAM4INNOVATOR @ SCHOOL ซึ่งได้เริ่มนำร่องที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย โดยเปิดสอนเป็นห้องเรียนพิเศษในวันเสาร์ให้กับนักเรียนที่สนใจได้มาเรียนรู้เรื่องธุรกิจนวัตกรรมตลอด 12 สัปดาห์ ผ่านกระบวนการของ STEAM4INNOVATOR ตั้งแต่การค้นหาแรงบันดาลใจ การคิดแผนธุรกิจเบื้องต้น การลงมือทำต้นแบบชิ้นงาน (prototype) การนำชิ้นงานไปทดสอบกับลูกค้าจริง หรือแม้แต่กระทั่งการพิชชิ่งจริงกับนักธุรกิจ สำหรับหลักสูตรดังกล่าวได้รับการตอบรับจากสถานศึกษาและผู้เรียนในระดับที่ดีมาก อีกทั้งได้รับการสนับสนุนการเรียนรู้เพิ่มเติมจากหน่วยงานด้านนวัตกรรม ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในปี 2563 นี้ NIA ได้วางแผนขยายโครงการดังกล่าว ด้วยการเปิดโอกาสให้นักเรียนมัธยมจากโรงเรียนอื่นๆ ได้เข้ามาร่วมเรียนรู้หลักสูตร STEAM4INNOVATOR @ SCHOOL เพิ่มขึ้น แต่ยังคงใช้โรงเรียนสามเสนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และการทำกิจกรรม โดยจะเริ่มเปิดคลาสในภาคการศึกษาปลายของปี 2563
ระดับมหาวิทยาลัย และอาชีวศึกษา สำหรับในกลุ่มนี้ต้องให้การส่งเสริมและสนับสนุนในระดับที่เข้มข้น เนื่องจากเป็นวัยที่ใกล้ออกไปทำงานจริง โดย NIA มีหลากหลายโปรแกรมเพื่อพัฒนาเยาวชนในกลุ่มนี้ เช่น โครงการ “FOUNDER APPRENTICE” ซึ่งเป็นการจับคู่นิสิต นักศึกษา และผู้ที่จบการศึกษาใหม่รุ่นละประมาณ 30 ราย กับผู้ก่อตั้งธุรกิจนวัตกรรมเพื่อให้ได้มีโอกาสเรียนรู้ ฝึกฝนทักษะ และทดลองทำงานจริง มองเห็นภาพรวมการทำธุรกิจ ได้เรียนรู้ว่าถ้าจะเป็นเจ้าของกิจการต้องดูแลงานส่วนใดบ้าง ทั้งในเรื่องการวางแผนทำตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการ การเจรจาการค้า รวมทั้งเรียนรู้หลักสูตรและเนื้อหาเกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานจริงในโลกปัจจุบันที่หาไม่ได้จากห้องเรียนทั่วไปเพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ ซึ่งมีที่ปรึกษาให้คำแนะนำใกล้ชิดสร้างความพร้อมในการเติบโตเป็นผู้ประกอบการในอนาคต
ส่วนโครงการต่อมาคือ Thailand Innovation Awards หรือ TIA ซึ่งเป็นการจัดประกวดผลงานนวัตกรรมสำหรับเยาวชน รวมทั้งเป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างเครือข่ายนวัตกรให้กับผู้ที่เข้าร่วมโครงการ และมีกูรูที่จะช่วยดึงศักยภาพความเป็นนักคิด และช่วยปูทางการทำธุรกิจนวัตกรรมในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีโครงการ Startup Thailand League ที่เป็นกิจกรรมประกวดโมเดลธุรกิจสตาร์ทอัพสำหรับนักศึกษาทั่วประเทศ โดยจะมีกระบวนการบ่มเพาะเพื่อช่วยพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการก่อนก้าวสู่การเป็นสตาร์ทอัพจริง รวมถึงโครงการใหม่ล่าสุด คือกองทุนยุวสตาร์ทอัพ หรือ Youth Startup Fund : ซึ่งเป็นการร่วมมือกันทำงานระหว่าง NIA กับกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้นักศึกษา ทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอกสามารถต่อยอดแนวคิดพัฒนาสู่การเป็นสตาร์ทอัพที่สร้างมูลค่าสูงให้กับประเทศ โดยมีเงินทุนให้เปล่ารายละไม่เกิน 1,500,000 บาท เพื่อช่วยเหลือและให้คำปรึกษาในการจัดตั้งบริษัท พัฒนาต้นแบบและดำเนินธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม นอกจาก NIA จะพัฒนาโปรแกรมต่างๆ เพื่อเสริมศักยภาพเยาวชนให้มีทักษะด้านนวัตกรรมที่ดีขึ้นแล้ว ยังมีโปรแกรมที่ชื่อว่า “Trainer’s Lab” เพื่อสร้างเทรนเนอร์ที่เป็นครูและนักจัดกระบวนการทั่วประเทศ (ไม่จำกัดสาขา) ให้มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการ STEAM4INNOVATOR พร้อมนำไปปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอน และสามารถเป็นเครือข่ายที่จะร่วมพัฒนาเยาวชนที่สนใจโปรแกรมต่างๆ ของ NIA ในอนาคตต่อไป ทั้งนี้ เริ่มบ่มเพาะ Trainer รุ่นแรกในเดือนกุมภาพันธ์ และรุ่นที่ 2 ในเดือนมีนาคม รวมทั้งสิ้น 40 ราย ซึ่งคาดว่าหลังจากพัฒนาจนจบโปรแกรมแล้ว ผู้ที่ได้รับการส่งเสริมเหล่านี้จะสามารถนำความรู้และเทคนิคจาก STEAM4INNOVATOR ไปใช้ได้จริง รวมทั้งมีโอกาสเพิ่มพูนความรู้ ทักษะต่างๆ ได้ต่อเนื่องจากการเข้าร่วมกิจกรรมของ NIA ด้วย ดร.พันธุ์อาจ กล่าวสรุป
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-017-5555 เว็บไซต์ www.nia.or.th และ facebook.com/NIAThailand
#สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ #NIA #STEAM4INNOVATOR #YOUTH #JCCOTH
AO2494
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web