- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Thursday, 09 January 2020 16:01
- Hits: 635
ศธ. - กศน. จับมือ สวทช. อพวช. และซีมีโอ หนุน Good Partnerships พัฒนาวิทย์คนไทยทุกช่วงวัย
นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือ MOU : Good Partnerships การพัฒนาการเผยแพร่ความรู้วิทยาศาสตร์ ระหว่าง กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการสำนักงาน กศน. กับ ผศ.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) นางชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย นางพรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาของซีมีโอ (SEAMEO STEM-ED) และนายสุกิจ อุทินทุ ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอ (SEAMEO SEPS) ซึ่งเป็นพันธมิตรที่มีบทบาทสำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลอง) เอกมัย และ นายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศธ. นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ. นายพะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศธ. ผู้บริหารศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาทั่วประเทศ และหน่วยงานพันธมิตร ครู บุคลากร และนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมจำนวนมาก
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า กระทรวงศึกษาธิการขานรับแนวนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ และกำหนดเป็นจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อการพัฒนาและเตรียมคนไทยทุกช่วงวัยเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 พร้อมปรับปรุงรูปแบบการเรียนรู้ มุ่งสู่ระบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีด้านวิศวกรรม คณิตศาสตร์ โปรแกรมเมอร์ และภาษาต่างประเทศ ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561 – 2580)
ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่รับผิดชอบการพัฒนาการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย ในรูปแบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ได้มีนโยบายขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ของ กศน. สู่ยุคดิจิทัล เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานดี 6 อย่าง (Good) ได้แก่ Good Teacher การพัฒนาครู กศน. และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมการศึกษาและเรียนรู้ Good Place การพัฒนาสภาพแวดล้อมให้สวยงาม สะอาด ทันสมัยเอื้อต่อการเรียนรู้ Good Activity การส่งเสริมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น หลากหลาย น่าสนใจ ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ Good Partnership การเสริมสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย สามารถทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง Good Innovation การพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาเพื่อประโยชน์ต่อการจัด การศึกษาและกลุ่มเป้าหมาย และ Good Learning การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ทุกช่วงวัย
การลงนาม MOU ในครั้งนี้ จึงเป็นนิมิตรหมายอันดี ที่ กศน.จะได้ร่วมขับเคลื่อนงานกับเครือข่ายพันธมิตรทั้ง 4 แห่ง ที่มีความโดดเด่นและเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาและเผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศและภูมิภาคอาเซียน สอดคล้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพ Good Partnership เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แก่กลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ ผ่านศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ทั้ง 20 แห่ง ไม่ว่าจะเป็น อพวช. ที่มีบทบาทด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจ และความตระหนักรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ผ่านนิทรรศการและกิจกรรมการเรียนรู้, สวทช. เป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนา ตลอดจนวางรากฐานในการพัฒนากำลังคน ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, ศูนย์ SEAMEO STEM-ED ร่วมพัฒนาศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งในด้านสะเต็มศึกษา
และศูนย์ SEAMEO SEPS ที่เป็นเสมือนคลังความรู้ ศูนย์กลางข้อมูล ตลอดจนการศึกษาวิจัย และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นั้น โดยมีภารกิจที่สำคัญ ในการร่วมกันพัฒนาและปรับปรุงสื่อนิทรรศการ ไปจนถึงกิจกรรมเรียนรู้ในศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาทั่วประเทศ ให้สอดคล้องกับแนวนโยบายภาครัฐ การเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน ตลอดจนยกระดับศักยภาพของบุคลากร ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาทั่วประเทศ ให้มีศักยภาพในการเผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น และร่วมทำผังแม่บทการพัฒนาภาพลักษณ์ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ให้มีความทันสมัย เหมาะสมกับเป็นแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน
"ขอแสดงความขอบคุณและชื่นชมหน่วยงานพันธมิตร ทั้ง 4 แห่ง ที่จะร่วมบูรณาการขับเคลื่อนองค์ความรู้และกิจกรรมวิทยาศาสตร์เข้าสู่วิถีชีวิตคนไทยทุกช่วงวัย ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยไม่ต้องเดินทางเข้ามาถึงใจกลางเมือง ผ่านศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ของสำนักงาน กศน. ทั้ง 20 แห่งในภูมิภาคต่าง ๆ พร้อมกับพัฒนารูปแบบการเรียน และกิจกรรม ตลอดจนการศึกษาวิจัย ที่จะช่วยวางรากฐานในด้านวิธีคิด วิธีเรียนรู้ พฤติกรรม และการนำองค์ความรู้ไปใช้ เพื่อพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป" รมช.ศึกษาธิการ กล่าว
นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการ กศน. กล่าวว่า สำนักงาน กศน. มีจุดเน้นการดำเนินงานประจำปี 2563 ในการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์เน้นให้ความรู้วิทยาศาสตร์อย่างง่ายแก่ประชาชน รวมทั้งพัฒนาสื่อนิทรรศการและรูปแบบการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ที่มีความทันสมัย ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจในการพัฒนาและเผยแพร่ความรู้วิทยาศาสตร์ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับพันธมิตรทั้ง 4 หน่วยงาน ได้แก่ การจัดนิทรรศการหมุนเวียน แบ่งเป็น นิทรรศการหมุนเวียนขนาดเล็ก เรื่อง ‘สูงวัยใกล้ตัว’ และ ‘รอบตัวเรา’ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาทั้ง 20 ศูนย์ เป็นเวลาแห่งละ 3 เดือน และนิทรรศการหมุนเวียนขนาดใหญ่ เรื่องคณิตศาสตร์รอบตัวเรา ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ยังจัดอบรมบุคลากรเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับภาษาคอมพิวเตอร์ Coding, เกม Battle of the Number, KidBrigth ตลอดจนการสื่อสารวิทยาศาสตร์ การจัดกิจกรรมเรียนรู้ และแนวทางพัฒนางานของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ขอแสดงความขอบคุณเครือข่ายพันธมิตร ที่มาร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาวิทยาศาสตร์แก่ประชาชนคนไทยทุกช่วงวัย ให้เป็นเรื่องสนุก ง่าย และนำไปใช้ได้จริง ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพและอยู่ในสังคมโลกปัจจุบันได้อย่างมีความสุข
นางพรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาของซีมีโอ กล่าวตอนหนึ่งว่า ขอแสดงความชื่นชมในวิสัยทัศน์ของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางกนกวรรณ วิลาวัลย์) ที่มองเห็นพลังของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เข้าสู่โรงเรียน และเข้าถึงประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งกลไกหนึ่งที่ได้ดำเนินงานร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาทั่วประเทศ ก็คือ การจัดเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ (National Science Museum) เป็นการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านเรื่องราวของหนัง ที่สร้างความสนุกสนาน ตื่นเต้น ไปจนถึงความน่ากลัว ในขณะเดียวกันก็ช่วยกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจสู่การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในห้องเรียนด้วย ซึ่งในปีที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านคนแล้ว จึงขอขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานพันธมิตรที่มาร่วมงานในครั้งนี้ ที่เห็นความสำคัญของการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่มีความจำเป็นอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตในยุคปัจจุบัน
นายสุกิจ อุทินทุ ผู้อำนวยการศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอ กล่าวว่า สังคมโลกปัจจุบันเริ่มให้ความสำคัญกับกระแสการเรียนนอกระบบมากขึ้น และจะไม่ใช่เรียนเพื่อความเก่งเพียงอย่างเดียว คนที่จะอยู่ได้ในโลกอนาคต ต้องเป็นคนดี ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ของสังคม ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สามารถนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนที่อยู่ ซึ่งศูนย์ซีมีโอเซ็ปส์มีความพร้อมที่จะร่วมมือพัฒนาการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ พร้อมสอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าสู่กิจกรรมและสื่อการเรียนรู้อย่างสมดุลต่อไป
ผศ.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องของวิทยาศาสตร์ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนไทยเข้าถึงได้โดยง่าย เพื่อนำไปใช้ในการเรียนรู้ การดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพ ไปจนถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชน โดยเชื่อว่าพลังความร่วมมือของทั้ง 5 หน่วยงาน โดยเฉพาะศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาทั้ง 20 แห่ง ที่จัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านนิทรรศการและกิจกรรมการศึกษาในชุมชนและพื้นที่ต่าง ๆ ผสานกับบทบาทและจุดเด่นของหน่วยงานพันธมิตร จะสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจต่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างทั่วถึง
นางชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า ในฐานะเป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน ในขณะเดียวกันก็จะช่วยกระตุ้นและส่งเสริมการผลิตนักวิทยาศาสตร์ให้กับประเทศมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีความขาดแคลนเป็นอย่างมาก ซึ่งประเทศจะพัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ต้องอาศัยกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะช่วยขับเคลื่อนศักยภาพของประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศอย่างยั่งยืน
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web