- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Sunday, 10 November 2019 21:51
- Hits: 1111
ศธ.นำร่องโรงเรียนสองภาษากว่า 2 พันโรงปี 63 เตรียมงบหนุนต่อปี 64 มุ่งวางรากฐาน-พัฒนาเด็กไทยดีขึ้น
รมว.ศธ. ระบุ ปี 2563 นำร่องโรงเรียนสองภาษากว่า 2,000 โรงเรียน เริ่มตั้งแต่ชั้นปฐมวัย ส่วนปีการศึกษา 2564 เตรียมงบฯรองรับหนุนโครงการนี้ต่อเนื่องแล้ว เป้าหมายเพื่อวางรากฐานทักษะภาษาเด็กไทยให้ดีขึ้น รองรับการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็ว หลังนานาชาติ-ไอเอ็มเอฟ มั่นใจไทยมีศักยภาพ
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 โดยหลายประเทศได้พูดถึงประเทศไทยว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพ รวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ได้มีการพูดถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยด้วย
ขณะเดียวกัน ก็มีหลายประเทศ ที่ได้พูดถึงปัญหาที่ประเทศไทย จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไข เช่น เรื่องการจัดการศึกษาที่ยังต้องปรับปรุง เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็ตรงกับแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่กำลังดำเนินการพัฒนาเรื่องดังกล่าวอยู่
“ทั้งนี้ ศธ.หวังว่า การวางรากฐานด้านการศึกษาในเรื่องต่างๆ จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานได้ เพราะในอนาคตประเทศจะต้องเตรียมตัวเรื่องการลงทุนที่จะมีเพิ่มมากขึ้นจากการเปิดประเทศ ดังนั้นคนของเราก็จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน ทั้งทักษะอาชีพ และทักษะด้านภาษา” รมว.ศธ.กล่าว
นอกจากนี้ รมว.ศธ. ยังกล่าวอีกว่า สำหรับการพัฒนาทักษะด้านภาษานั้น ตนตั้งใจว่าในระยะเวลาสั้น โรงเรียนประจำอำเภอจะต้องสอน 2 ภาษา ซึ่งในปัจจุบันก็มีหลายโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนในลักษณะนี้ แต่อาจจะยังขาดความเข้มข้น ไม่สามารถเห็นผลเชิงประจักษ์ได้
“หากมีการจัดสรรงบประมาณลงทุนไปในส่วนของการสอนภาษาที่ 2 มากขึ้น จะส่งผลให้การวางฐานเรื่องทักษะภาษาของเราดีขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากงบฯของ ศธ.ที่มีในปัจจุบันยังไม่สามารถขับเคลื่อนได้ในทุกโรงเรียนทั่วประเทศ แต่ผมจะพยายามที่จะขับเคลื่อนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” รมว.ศธ. กล่าว
รมว.ศธ. ย้ำว่า การขับเคลื่อนโครงการนี้ จะเริ่มที่กลุ่มโรงเรียนประจำอำเภอ ประมาณ 2,000 แห่ง ในปีภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ก่อน ซึ่งจะจัดการเรียนการสอน 2 ภาษา ตั้งแต่ชั้นปฐมวัยเป็นต้นไป ส่วนการดำเนินงานในปีการศึกษา 2564 ได้เตรียมงบฯ เพื่อรองรับเรื่องนี้แล้ว
ส่วนของอาชีวศึกษา ก็จำเป็นต้องพัฒนาทักษะอาชีพ และทักษะภาษาควบคู่กันไป ซึ่งเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะสรุปข้อมูลการจัดกลุ่มวิทยาลัยให้เข้ากับกลุ่มธุรกิจต่างๆ มาให้ตนเองดู เพื่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมที่มีคุณภาพในแต่ละสายงานให้เป็นหลัก ส่วนการจัดวิทยาลัยจะมองถึงบริบทในพื้นที่ด้วย เพราะต้องมีสถานที่ฝึกงานที่ใกล้เคียง ซึ่งจะเป็นการใช้งบฯที่ตรงกับความต้องการ และยังสามารถผลิตแรงงานได้อย่างมีคุณภาพ
จากข้อมูลดัชนีความสามารถภาษาอังกฤษคนไทยร่วงต่อเนื่อง 3 ปี โดยอยู่ในระดับต่ำมาก (Very Low Proficiency) ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 74 ของโลก แม้ดีกว่ากัมพูชา และเมียนมา แต่ด้อยกว่า มาเลเซีย จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย
หากเทียบเป็นรายภาคของประเทศไทย ภาคเหนือ และภาคกลาง จะมีความสามารถทางภาษาอังกฤษ สูงกว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้เล็กน้อย ขณะที่กรุงเทพฯ มีความเชี่ยวชาญทักษะภาษาอังกฤษมากที่สุดของประเทศ รองลงมาคือ นนทบุรี เชียงใหม่ ชลบุรี และขอนแก่น ตามลำดับ
******************************************
กด L Ike - แบ่งปัน เพจเวลา Corehoon-Powerเพื่อติดตามเคล็ดลับข่าวสารเทรนด์และ บทวิเคราะห์ดีๆอัพเดตทุกวันคัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
คลิกบริจาคเว็บสนับสนุน