- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Wednesday, 25 September 2019 11:13
- Hits: 3089
METRO EXCHANGE 2019
วิศวะมหิดลเปิดประสบการณ์เรียนรู้...ระบบรางในนิวคาสเซิลและลอนดอน
ภายใต้โครงการ Metro Exchange 2019 เพื่อพัฒนาองค์ความรู้เทคโนโลยีระบบรางระหว่างประเทศไทย-อังกฤษคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย รศ.ดร. ภูมินท์ กิระวานิช และ ผศ.ดร.วเรศรา วีระวัฒน์ อาจารย์ประจำหลักสูตรนานาชาติ สาขาวิชาระบบขนส่งทางราง (Rail Transportation) กลุ่มสาขาวิชาโลจิสติกส์และระบบขนส่งทางราง (CLARE) นำนักศึกษาปริญญาโท 15 คน เดินทางสัมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบราง ณ ประเทศอังกฤษ
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ระบบรางและรถไฟฟ้าได้กลายเป็นทางเลือกของการพัฒนาเมืองของไทยและทั่วโลกที่ตอบโจทย์การประหยัดพลังงานและเวลา พัฒนาคุณภาพชีวิตและเชื่อมโยงโครงข่ายทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยมีโครงการลงทุนสร้างมากมายทั้งรถไฟฟ้าในเมือง รถไฟระหว่างเมือง และรถไฟความเร็วสูง ซึ่งต้องการกำลังคนและผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก โครงการความร่วมมือ Metro Exchange 2019 ระหว่างไทยและอังกฤษมาจากการผนึกกำลังสนับสนุนของ Newton Fund (UK) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (ประเทศไทย) ร่วมกับ 4 หน่วยงาน ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol University), มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล (Newcastle University), ไทน์ แอนด์ แวร์ เมโทร (Tyne and Wear Metro) ผู้ประกอบการรถไฟของอังกฤษ และบีทีเอส (BTS) ผู้ประกอบการรถไฟฟ้าของไทย นับเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่า ที่คณะอาจารย์และนักศึกษาได้เก็บเกี่ยวมาใช้ในการวิจัยและพัฒนาระบบรางของไทยให้ก้าวหน้าต่อไป
ประเทศอังกฤษนับเป็นผู้ที่บุกเบิกการสร้างรถไฟใต้ดินลอนดอน (London Underground) ที่นิยมเรียกว่า ดิอันเดอร์กราวนด์ (The Underground) หรือ เดอะทูบ (The Tube) ซึ่งเป็นระบบรถไฟใต้ดินที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เริ่มเปิดใช้เมื่อวันที่ 10 มกราคม ปี ค.ศ. 1863 มีทั้งรถไฟบนดินและรถไฟใต้ดินอยู่ภายในสายเดียวกัน โดยสายแรก คือ สายเมโทรโพลิตันซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสาย Circle ซึ่งวิ่งรอบโซน1ชั้นในของเมืองและ “สาย Hammersmith & City” ที่วิ่งพาดจากด้านตะวันตกเฉียงใต้ไปยังด้านตะวันออกของเมือง ปัจจุบันระบบรถไฟฟ้าใต้ดินลอนดอนมีทั้งหมด 274 สถานี มีระยะทางรวม 406 กิโลเมตร (253 ไมล์) และมีจำนวนผู้โดยสารประมาณ 1,379 ล้านคน-เที่ยว หรือเฉลี่ย 4.8 ล้านคน-เที่ยวต่อวัน
รศ.ดร.ภูมินท์ กิระวานิช หัวหน้ากลุ่มวิชาโลจิสติกส์และระบบขนส่งทางราง วิศวะมหิดลกล่าวว่า บริษัท เน็กซัส ไทน์แอนด์แวร์ (Nexus Tyne & Wear) ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ด้านปฏิบัติการรถไฟ การพัฒนาปรับปรุงระบบรถไฟของประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546) เป็นต้นมา รถไฟใต้ดินลอนดอนได้ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งขององค์การคมนาคมสำหรับลอนดอน (TfL) ซึ่งควบคุมการบริหารจัดการรถเมล์รถไฟรางเบาสายดอคแลนดส์ รถไฟเหนือดินลอนดอน และครอสเรล (Crossrail) ได้เข้าเยี่ยมชม Newcastle College Rail Academy ตั้งอยู่ใน Gateshead, Newcastle, UK ซึ่งเป็นสถาบันแห่งแรกในประเทศที่เปิด Rail Academy เพื่อผลิตวิศวกรมารองรับอุตสาหกรรมรถไฟ โดยการจัดฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสำหรับโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ บนสภาพแวดล้อมการทำงานจริง ด้วยอุปกรณ์และทรัพยากรมาตรฐานอุตสาหกรรม เพื่อฝึกอบรมช่างเทคนิคและวิศวกรสำหรับการส่งสัญญาณโทรคมนาคมการไฟฟ้า โรงงานและการดำเนินงานที่สำคัญด้านความปลอดภัยทั้งหมด สถาบันมีหลักสูตรการฝึกอบรมอย่างมืออาชีพ และมีความยืดหยุ่นในการออกแบบหลักสูตรตามการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมราง โดยสถาบันฯได้รับการพัฒนาร่วมกับสถาบันทักษะแห่งชาติสำหรับวิศวกรรมรถไฟ (NSARE) และได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการในระดับภูมิภาคและระดับชาติ เช่น Network Rail การเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมทำให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมเรียนรู้กับผู้ประกอบการโดยตรงตลอดระยะเวลาของหลักสูตร
ในการเยี่ยมชมด้านเทคนิค Tyne and Wear Metro มี 6 ส่วนหลัก 1. Operation Control Centre (OCC) ศูนย์ควบคุมการปฏิบัติงาน (OCC) เป็นพื้นที่ส่วนกลางที่สามารถตรวจสอบและควบคุมดูแลสถานที่ทางกายภาพขนาดใหญ่ได้ ซึ่งประกอบด้วยระบบควบคุมการจราจรโดยรวม (TCC), ระบบควบคุมดูแลและเก็บข้อมูล (SCADA), ระบบโทรคมนาคมและระบบควบคุมเครื่องจักรอัตโนมัติ 2. พื้นที่หลัก Main Workshop 3. การทดสอบราง (Test Track) 4. พื้นที่จอดรถไฟฟ้า (Stabling Yard) 5. การกลึงล้อ (Wheel Re-Profiling) และ 6. โรงทำความสะอาดรถไฟ (Wash Plant)
ทั้งนี้ ทีมจากประเทศไทยและผู้เชี่ยวชาญยังแลกเปลี่ยนข้อมูลการพัฒนารถไฟแต่ละเมืองใหญ่ในปัจจุบัน ได้แก่ เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมืองริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล และกรุงเทพมหานครซึ่งนำโดยตัวแทนจากบริษัท BTS และร่วมอภิปรายถึงภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนไปของวิชาชีพการรถไฟและรถไฟใต้ดิน ตลอดจนโอกาสความก้าวหน้าของวิชาชีพนี้ทั้งในภาควิชาการและภาคอุตสาหกรรมให้กับนักศึกษาและนักวิจัยที่เข้าร่วมสามารถนำมาพัฒนาบุคลากรด้านรถไฟ
ในทริปนี้ยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ University College of London โดยดร.ทากุ ฟูจิยาม่า (Dr.Taku Fujiyama) ในเรื่อง “ประสิทธิภาพของรถไฟใต้ดินและการออกแบบระบบ” และได้ศึกษาข้อมูลจาก ARUPs ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้าง ทั้งสะพาน ถนน อาคาร รวมถึงรถไฟ โดยมีสำนักงานใหญ่ที่ London เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากโครงการต่างๆ ของบริษัท ได้เห็นการทำงานของบริษัทก่อสร้างชั้นนำของโลก นอกจากนี้ทีมไทยยังเดินทางด้วยระบบขนส่งหลายรูปแบบ เช่น เครื่องบิน รถไฟ รถบัส เรือและรถไฟใต้ดิน ได้สัมผัสประสบการณ์ตรง เสริมสร้างมิตรภาพและได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทยและอังกฤษไปด้วย
โลกการเรียนรู้ไร้พรมแดนเตรียมวิศวกรเจเนอเรชั่นใหม่และนักวิจัยพัฒนาไทยให้พร้อมรองรับอนาคตด้วยทักษะแห่งศตวรรษที่ 21
AO09426
Click Donate Support Web