- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Thursday, 25 July 2019 19:29
- Hits: 3113
สกศ.ประชุมสร้างความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับบทบาทการพัฒนาเด็กปฐมวัย
นางสาวสมรัชนีกร อ่องเอิบ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประเด็น“ความร่วมมือแห่งอนาคต : ความท้าทายของระบบราชการ ๔.๐ (Collaboration for the Future : Challenges for Government 4.0)” เพื่อรองรับบทบาทด้านการพัฒนาปฐมวัย ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ สมชาติ โตรักษา ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และ อาจารย์มานพ กองอุ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพมหานคร สำนักงาน ก.พ.ร. ฯลฯ
ที่ผ่านมา สกศ. ได้ดำเนินการด้านเด็กปฐมวัย โดยจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาเด็กปฐมวัย (๐ – ๕ ปี) ระยะยาว พ.ศ. ๒๕๕๐ -๒๕๕๙ ภายใต้นโยบายและยุทธศาสตร์ดังกล่าว กำหนดให้มีคณะกรรมการด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับชาติ ซึ่งต่อมาระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๕๑ กำหนดให้มีคณะกรรมการพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ (ก.พ.ป.) ขึ้น โดยมี สกศ. ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ และผลงานสำคัญที่เกิดขึ้น ได้แก่ ๑. มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ซึ่ง ครม. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๒ ๒. โครงการวิจัยพัฒนาสมรรถนะตามวัยของเด็กปฐมวัย (๐ – ๕ ปี) ร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ประเทศไทย และ ๓. รายงานการวิจัย การศึกษาและพัฒนาด้านระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลเด็กปฐมวัย โดย ก.พ.ป. หมดวาระลงเมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๖๒
ทั้งนี้ เมื่อ ก.พ.ป.หมดวาระลง ประกอบกับมี พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒ เกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ที่ดูแลด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย เรียกว่า คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย มีหน้าที่ในการจัดทำนโยบายระดับชาติด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย บูรณาการการพัฒนาเด็กปฐมวัยของหน่วยงานของรัฐ องค์กรส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ให้เป็นไปตามนโยบายระดับชาติด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย และแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย ฯลฯ สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ที่ http://www.onec.go.th/index.php/book/BookView/1698
นางสาวสมรัชนีกร อ่องเอิบ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้กำหนดให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดตั้งสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนของ สกศ. ที่ต้องดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ ในการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จำนวน ๘ คน ให้ครบตามองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย และกระบวนการสรรหา (คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย จำนวน ๑๖ คน ประกอบด้วย กรรมการโดยตำแหน่ง ๘ คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ๘ คน) ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ
“ถือเป็นบทบาทหน้าที่ที่เกิดขึ้นใหม่ของ สกศ. ตามที่กฎหมายกำหนด จึงจำเป็นต้องมีการวางโครงสร้างและแผนการดำเนินงานให้ครอบคลุม ครบวงจร และมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้ครบทุกด้าน และครบทุกมิติ จึงได้จัดการประชุมครั้งนี้ขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนการดำเนินงานของ สกศ. ต่อไป” นางสาวสมรัชนีกร กล่าว
นางพิจารณา ศิริชานนท์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร กล่าวว่า พ.ร.บ การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ. ศ. ๒๕๖๒ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๒ โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการ ทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลกิจการต่าง ๆ ของคณะกรรมการ ต้องรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำนโยบายระดับชาติ ด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย และแผนการพัฒนาเด็กปฐมวัย พิจารณาในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ของคณะกรรมการ อำนาจหน้าที่นี้จึงนำมาสู่การประชุมเรื่องของความร่วมมือแห่งอนาคตความท้าทายของระบบราชการ ๔.๐ เพื่อรองรับบทบาทด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย “การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการพัฒนาระบบราชการตามกรอบแนวคิดของระบบราชการ ๔.๐ มุ่งเน้นการทำงานของหน่วยราชการที่จะต้องเปิดกว้างเชื่อมโยงถึงกันในส่วนที่เป็นข้อมูลต่าง ๆ การทำงานนี้ต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง องค์กรต้องมีขีดสมรรถนะสูง ทันสมัย อาศัยปัจจัยหลักคือต้องประสานพลังจากทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง ด้วยการทำงานที่ต้องปรับเข้าสู่ดิจิทัล ภายใต้หลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี” นางพิจารณา กล่าว
ติดตามข่าวสารได้ที่ Website: www.onec.go.th FB Page: เด็กไทยในฝัน โดยสภาการศึกษา
Click Donate Support Web