ในยุคของการสร้างยุทธศาสตร์ของประเทศที่ตั้งเป้าเป็น'ครัวของโลก' อุตสาหกรรมการเกษตรเป็นอุตสาหกรรมที่เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากก่อให้เกิดความเชื่อมโยงการผลิตระหว่างภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม โดยการนำวัตถุดิบทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ'อาหาร' ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มีความสำคัญในการดำรงชีวิต และมีความต้องการสูงอย่างต่อเนื่อง
การศึกษา และการเรียนรู้ที่จะพัฒนาในอุตสาหกรรมการเกษตรจึงต้องอาศัยมืออาชีพในการสร้างคนเพื่อไปสร้างงาน ให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศในอุตสาหกรรมเกษตร โดยอาศัย 'ความป็นมืออาชีพ'
สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) หรือ พี ไอ เอ็ม ย้ำความแตกต่างในการเป็น Corporate University หรือ สถาบันการศึกษาที่มีความเชื่อมโยงกับองค์กรธุรกิจ ซึ่งมีจุดเด่นด้วยรูปแบบการเรียนการสอนและองค์ความรู้เฉพาะขององค์กร ด้วยการเปิด คณะอุตสาหกรรมเกษตร สาขาเทคโนโลยีการจัดการฟาร์ม เป็นสาขาแรกของคณะ โดยความร่วมมือจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) ผู้นำด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร องค์กรตัวอย่างจิ๊กซอว์การเป็น'ครัวของโลก' หรือ KITCHEN OF THE WORLD ด้วยวิสัยทัศน์ของ คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านอุตสาหกรรมเกษตร โดยเชื่อว่า “คน' เป็นแรงผลักดันสำคัญของการเติบโตอย่างยั่งยืน
คณะอุตสาหกรรมเกษตร เป็นคณะลำดับที่ 9 ของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ซึ่งเป็นคณะใหม่ล่าสุดที่จะเปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2558 ตามแนวคิดปรัชญา 3 ประโยชน์ ของซี.พี. นั่นคือประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประโยชน์ต่อประชาชน และประโยชน์ต่อบริษัท และในปีนี้ทางคณะอุตสาหกรรมเกษตร เปิดสาขาการจัดการเทคโนโลยีฟาร์มเป็นสาขาแรก เพื่อมุ่งสร้าง DNA นักจัดการฟาร์มให้มีคุณธรรม และมีความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยจุดเด่นของหลักสูตรซึ่งมีการจัดการศึกษาแบบ Work Based Education (WBE) นักศึกษามีโอกาสในการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ ซึ่งสามารถทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้ง กว้างขวาง (High Depth and High Tech) มีการดูแลใกล้ชิดจากคณาจารย์ ครูฝึกในสถานประกอบการ (High Touch) มืออาชีพที่มีประสบการณ์ทางธุรกิจจากองค์กรที่ถือได้ว่าเป็นอันดับ 1 ด้านการเกษตรของประเทศมาร่วมสอน ทั้งภาคทฤษฎีที่เป็นวิชาเฉพาะด้านและภาคปฏิบัติ ทำให้มั่นใจได้ว่าเป็น'การสร้างมืออาชีพด้วยมืออาชีพ'อย่างแท้จริง
ผู้เรียนสามารถเรียนรู้จากในห้องเรียนและฝึกปฏิบัติงานจริงภายในฟาร์มที่มีระบบการจัดการแบบครบวงจร เพื่อให้นักศึกษามีความชำนาญด้านวิชาชีพ รวมถึงเรียนรู้วิถีชีวิตจริงของผู้ที่ทำงานภายในฟาร์ม โดยแบ่งการฝึกงาน ในรูปแบบ 3 เดือนเรียนภาคทฤษฎีและ 3 เดือนฝึกปฏิบัติงานภายในฟาร์มสลับกันไปจนครบ 4 ปี โดยในปีที่ 4 เทอม 2 จะไม่มีการเรียนภาคทฤษฎีในห้องเรียน เหลือเพียงการฝึกปฏิบัติจริงในฟาร์ม พร้อมโจทย์ที่ท้าทาย ให้นักศึกษาได้ฝึกคิดแก้ไขปัญหาเฉพาะด้าน ซึ่งในช่วงปี 1-2 นั้นจะเป็นการฝึกปฏิบัติงานภายในฟาร์มแบบผสมผสานระหว่างฟาร์มสุกรและฟาร์มไก่ แต่ในช่วงปี 3-4 จะเป็นการฝึกปฏิบัติงานแยกตามความถนัดของนักศึกษา โดยการฝึกปฏิบัติงานนั้นก็จะมีการประเมินผลนักศึกษาจากคณาจารย์และครูฝึกปฏิบัติงานซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดในการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาระหว่างการเรียนอีกด้วย
นอกจากนี้ แนวทางในการประกอบอาชีพของนักศึกษาของคณะอุตสาหกรรมเกษตรนั้น ก็มีความหลากหลายตามความสามารถของนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็น นักจัดการฟาร์ม สัตวบาลประจำฟาร์ม สัตวบาลส่งเสริม และนักวิชาการทางด้านการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เป็นตัน ซึ่งทุกอาชีพที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่เป็นอาชีพที่มั่นคง รวมถึงเป็นอาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแทบทั้งสิ้น
ดังนั้น จึงมั่นใจได้เลยว่าคณะอุตสาหกรรมเกษตรที่ PIM นั้น เป็นอีกหนึ่งหลักสูตรทางการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ในการผลิตบัณฑิตที่พร้อมตอบทุกโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรไทย ให้มีความก้าวหน้าต่อไปในอนาคต
สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จะเปิดรับนักศึกษาคณะอุตสาหกรรมเกษตร สาขาเทคโนโลยีการจัดการฟาร์ม รุ่นแรก ในปีการศึกษา 2558 พร้อมทุนการศึกษา และโอกาสในการทำงานกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน)หลังจบการศึกษา สนใจติดต่อ 02-832-0200 ถึง 14 หรือ สามารถสมัครสอบชิงทุนออนไลน์ได้ตั้งแต่วันนี้ที่ www.pim.ac.th
|