- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Wednesday, 19 September 2018 16:37
- Hits: 1951
วิทยาศาสตร์ฯ มธ. ชูผลงานเยาวชน'ไม้เท้าอัจฉริยะ'ช่วยผู้พิการทางสายตาเดินสะดวก บอกจุดอันตราย 3 ระยะ พร้อมส่ง'เสียง - สั่น' เตือนแบบเรียลไทม์
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดตัว'ไม้เท้าอัจฉริยะ' ไม้เท้าโฉมใหม่ เพื่อป้องกันอันตรายสำหรับผู้พิการทางสายตา ที่มาพร้อมเซนเซอร์บอกจุดอันตราย 3 ระดับ พร้อมส่งสัญญาณเตือนในรูปแบบของ 'เสียง-สั่น' แบบเรียลไทม์ คือ แนวดิ่งระยะ 50 เซนติเมตร จะส่งเสียงเตือน หากพบสิ่งกีดขวางในระยะ 120 เซนติเมตร แนวดิ่งระยะ 100 เซนติเมตร จะส่งเสียงเตือน หากพบสิ่งกีดขวางในระยะ 100 เซนติเมตร และแนวราบบริเวณที่มีแหล่งน้ำ จะสั่นเตือนที่ด้ามจับของไม้เท้า กรณีพบแหล่งน้ำบริเวณทางเดิน ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าว เป็นผลงานของเยาวชนจากโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมดังกล่าว อยู่ระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพในผู้พิการทางสายตา (Clinical Test) และยื่นจดอนุสิทธิบัตร
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สาขาวิชาฟิสิกส์ โทร. 02-5644-4440 ถึง 59 ต่อ 2500 หรือติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. โทร. 02-564-4491 ต่อ 2020 เฟสบุ๊คแฟนเพจ www.facebook.com/ScienceThammasat
รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ คณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพด้านอิเล็กทรอนิกส์และสมองกลฝังตัวแก่เยาวชนผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกล จึงได้ร่วมเป็น 1 ในเครือข่ายมหาวิทยาลัย โครงการพัฒนาทักษะด้านอิเล็กทรอนิกส์และการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ สำหรับโรงเรียนในชนบท โรงเรียนพระปริยัติธรรม และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ภายใต้การดูแลของ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนิน ผ่านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ระบบสมองกลฝังตัว การต่อวงจรอิเล็กทรอนิกส์ การสร้างชิ้นงาน 3 มิติ และ Internet of Things
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา คณะฯ ได้ลงพื้นที่ให้คำปรึกษาแก่สามเณรและนักเรียน ครอบคลุม 5 ภูมิภาค ใน 42 โรงเรียน โดยสามารถพัฒนาผลงานต้นแบบที่ตอบโจทย์สังคมได้จริงและมีประสิทธิภาพจำนวนมาก อาทิ ‘เครื่องเตือนภัยน้ำท่วมอัจฉริยะ’ ระบบตรวจวัดระดับน้ำในนาข้าว พร้อมแจ้งเตือนผ่านเอสเอ็มเอส เพื่อหาแนวทางรับมือกรณีเกิดน้ำท่วมขังในหน้าน้ำหลาก’ล็อคเกอร์อัจฉริยะ’ที่สามารถควบคุมและสั่งการเปิด-ปิดได้ในระยะไกลด้วยสมาร์ทโฟน และ’ไม้เท้าอัจฉริยะ” ไม้เท้าสำหรับผู้พิการทางสายตา ที่มาพร้อมเซนเซอร์บอกจุดอันตราย และแจ้งเตือนด้วยระบบสั่น-เสียง เป็นต้น
ดร.เรวัตร ใจสุทธิ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. และที่ปรึกษานวัตกรรม ‘ไม้เท้าอัจฉริยะ’กล่าวว่า ทีมนักเรียนเจ้าของผลงาน ได้คิคค้นและพัฒนา ‘ไม้เท้าอัจฉริยะ’ ไม้เท้าโฉมใหม่สำหรับผู้พิการทางสายตา เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากการเดินชนสิ่งกีดขวาง มาพร้อมเซนเซอร์แจ้งสิ่งกีดขวาง (Sensor) ใน 3 ระดับ คือ แนวดิ่งระยะ 50 เซนติเมตร แนวดิ่งระยะ 100 เซนติเมตร และแนวราบที่มีแหล่งน้ำ พร้อมส่งสัญญาณเตือนในรูปแบบของ “เสียง-สั่น” แบบเรียลไทม์ (Real-time) ในระยะ 120 เซนติเมตร โดยการทำงานของนวัตกรรมดังกล่าว จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเซนเซอร์แจ้งสิ่งกีดขวาง 3 ระดับ และระบบประมวลผลสมองกลฝังตัว โดย “เซนเซอร์แนวดิ่งระยะ 50 เซนติเมตร’ จะทำการ ‘ส่งเสียง’ แจ้งเตือน ในกรณีที่พบสิ่งกีดขวางบริเวณด้านหน้า ในระยะทางน้อยกว่าหรือเท่ากับ 120 เซนติเมตร ‘เซนเซอร์แนวดิ่งระยะ 100 เซนติเมตร’ จะทำการ ‘ส่งเสียง’ แจ้งเตือน ในกรณีที่พบวัตถุกีดขวางบริเวณด้านหน้า ในระยะทางน้อยกว่าหรือเท่ากับ 100 เซนติเมตร และ ‘เซนเซอร์แนวราบบริเวณที่มีแหล่งน้ำ’จะทำการ ‘สั่นเตือน’ ที่ด้ามจับของไม้เท้ากรณีพบแหล่งน้ำบริเวณทางเดิน
ทั้งนี้ นวัตกรรมไม้เท้าอัจฉริยะ สำหรับผู้พิการทางสายตา ใช้เวลาในการศึกษาและพัฒนาเป็นเวลา 6 เดือน โดยมีต้นทุนในการพัฒนาตัวต้นแบบประมาณ 1,800 บาท ซึ่งเป็นผลงานของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด ประกอบด้วย นายศักดา ดีแสง และนางสาวอภิญญา ตาลสาร อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมดังกล่าว อยู่ระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพในผู้พิการทางสายตา (Clinical Test) และยื่นจดอนุสิทธิบัตร โดยภายในปี 2561 นี้ ทีมวิจัยได้เตรียมพัฒนาระบบประมวลผลให้มีเสถียรภาพ และปรับรูปลักษณ์ของไม้เท้าให้มีความสวยงามยิ่งขึ้น ดร.เรวัตร กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สาขาวิชาฟิสิกส์ โทร. 02-5644-4440 ถึง 59 ต่อ 2500 หรือติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. โทร. 02-564-4491 ต่อ 2020 เฟสบุ๊คแฟนเพจ www.facebook.com/ScienceThammasat
Click Donate Support Web