- Details
- Category: การศึกษา
- Published: Wednesday, 01 August 2018 15:11
- Hits: 1990
วิศวลาดกระบัง จับมือ Infineon จัดสัมมนาสตาร์ทอัพ เรื่อง'การออกแบบและพัฒนา LSVE ยานยนต์ไฟฟ้าความเร็วต่ำ'
คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับ Infineon ผู้นำเซมิคอนดักเตอร์ของโลกจากเยอรมนี จัดงานสัมมนาสตาร์ทอัพ “การออกแบบและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าความเร็วต่ำ” (KIAEC Automotive Electronics Seminar Series : Low Speed EV Development) โดยมี ดร.สมภพ ผลไม้ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย รศ.ดร.วีระเชษฐ์ ขันเงิน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า , ดร.วีทิต วรรณเลิศลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี จาก Teletronics และ นายชาง ดี (Zhang Di) วิศวกรอาวุโสของ Infineon เป็นวิทยากร โดยมีผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพชิ้นส่วน อะไหล่และยานยนต์เข้าร่วมงาน ณ ศูนย์ EIDTs คณะวิศวลาดกระบัง
ดร.สมภพ ผลไม้ (Sompob Polmai) หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า กล่าวว่า ยานยนต์ไฟฟ้าความเร็วต่ำ (LSEV) : Low-Speed Electric Vehicles เป็นยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก เหมาะกับการในระยะทางใกล้ ๆ เช่น ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า มอเตอร์ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งทุกวันนี้หลายภาคส่วนได้ให้ความสำคัญและตื่นตัวกับการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ซึ่งการสัมมนาการออกแบบและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าความเร็วต่ำ ครั้งนี้เป็นหนึ่งกิจกรรมของศูนย์อิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ KMITL – Infineon Automotive Electronics Cooperation (KIAEC) ที่มีเป้าหมายคือสร้างงานวิจัย และ ทรัพยากรบุคคลให้มีทักษะและความสามารถ เพื่อรองรับการพัฒนาอีโค่คาร์ รถยนต์ไฟฟ้าไปจนถึงยานยนต์สมัยใหม่ในยุคหน้า
วัตถุประสงค์ของการจัดงานเพื่อ ถ่ายทอดองค์ความรู้ แก่สตาร์ทอัพและผู้ประกอบการยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ได้เรียนรู้พื้นฐานทางเทคนิคที่สำคัญของการออกแบบระบบขับเคลื่อนกำลัง (Power Train) ของยานยนต์พลังงานไฟฟ้าความเร็วต่ำ และด้านอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ ที่ครอบคลุมทั้งด้านการออกแบบผลิต และการตลาด รวมทั้งตัวอย่างการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จในประเทศย่านเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจะตอบสนองกับความต้องการและมีประโยชน์ต่อท้องถิ่น เนื่องจาก ยานยนต์ไฟฟ้าความเร็วต่ำใช้ชิ้นส่วนเกรดอุตสาหกรรมทั่วไปไม่ใช่เกรดเฉพาะสำหรับยานยนต์ทำให้ผู้ผลิตรายย่อยสามารถเข้าถึงตลาดได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้การพัฒนาในอุตสาหกรรมใช้เวลาไม่นาน รวมทั้งรถยนต์ไฟฟ้าความเร็วต่ำมีราคาไม่สูงจึงทำให้ผู้บริโภคจับต้องได้ง่าย และความเร็วที่จำกัดสามารถวิ่งในชุมชนได้อย่างสบายใจ ปลอดภัยกว่า ลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุได้อีกทางหนึ่ง
ด้าน ดร.วีทิต วรรณเลิศลักษณ์ (Weetit Wanalertlak) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี จากบริษัท Teletronics จำกัด ได้แนะนำระบบควบคุมในยานยนต์ และการระบบขับเคลื่อนแรงดันต่ำ การควบคุมมอเตอร์แบบต่าง ๆ ว่า ระบบ Low Speed ที่เกิดขึ้นประเทศจีนและอินเดียส่วนใหญ่การเลือกใช้จะคำนึงถึงความทนทานและราคาเป็นหลัก เช่น ใช้แรงดันไฟฟ้าแบตเตอรี่ไม่เกิน 100V, การเลือกใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แบบระดับอุตสาหกรรมทดแทนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ระดับยานยนต์ ซึ่งแม้ว่าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 2 ส่วนนี้จะมีความแตกต่างเรื่องระดับอุณภูมิโดยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรมทั่วไปจะทนอุณภูมิได้ต่ำกว่าเล็กน้อย แต่รายละเอียดการทำงานส่วนใหญ่คล้ายกัน และ สำหรับประเทศไทยที่มีแนวโน้มจะหันมาผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ใช้เอง ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ การเลือกใช้หรือออกแบบควรให้มีความเหมาะสมกับสภาพการใช้งาน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้พลังงาน และมีความปลอดภัย โดยอาจปรับเปลี่ยนการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในอุตสาหกรรมทั่วไปมาเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ระดับยานยนต์ เพื่อให้เข้ากับมาตรฐานในระดับสากลต่อไป
ขณะที่ นายชาง ดี (Zhang Di) วิศวกรอาวุโสของ Infineon ซึ่งมีประสบการณ์ในการช่วยพัฒนาผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้าความเร็วต่ำในประเทศจีน อินเดีย และฟิลิปปินส์ ได้ถ่ายทอดความรู้ รูปแบบการดำเนินโมเดลทางธุรกิจ และโอกาสทางการตลาดให้แก่ผู้เข้าอบรม เพื่อเป็นประโยชน์ในการพัฒนาธุรกิจ LSEV ให้เติบโตและประสบผลสำเร็จในประเทศไทย ตัวอย่างในประเทศจีนจากความเจริญก้าวหน้าของเมืองและชนบท ทำให้เกิดความต้องการรถไฟฟ้าความเร็วต่ำ หรือ LSEV พุ่งสูง ถึง 41.6% ในปี 2016 จากจำนวน 1.23 ล้านคัน เพิ่มขึ้นเป็น 1.74 ล้านคันในปี 2017 อย่างไรก็ตามทางหน่วยงานรัฐได้พัฒนาการควบคุมมาตรฐานที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้นสำหรับการผลิตLSEV ทั้งนี้คาดว่าในปี 2022 การผลิต LSEV จะอยู่ที่ประมาณ 3.37 ล้านคัน ซึ่งมีผู้นำในตลาดหลัก ได้แก่ BYVIN , YOGOMO และ SHIFENG Group ซึ่งในอนาคตบางบริษัทก็จะพัฒนาเข้าสู่อุตสาหกรรม รถไฟฟ้า Micro ความเร็วสูง ต่อไป