- Details
- Category: DES
- Published: Monday, 18 September 2017 21:57
- Hits: 8111
มั่นใจศักยภาพ-ความพร้อม'จิสด้า' ชัดเจน ปี 61 ดึงทุนญี่ปุ่น '2-3 ราย' ได้แน่นอน
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) หรือ จิสด้าสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถือเป็นองค์กรที่มีนำและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศทั้งที่มีอยู่และที่ได้จากการศึกษา ค้นคว้า วิจัย มาประยุกต์ใช้ตามนโยบายและภารกิจที่สำคัญของประเทศในด้านต่างๆ อย่างครบวงจร เพื่อสร้างความมั่งคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้กับชุมชน สังคม และประเทศชาติในฐานะที่เป็นองค์กรเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศแห่งเดียวในประเทศไทย รวมถึงบทบาทในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อการประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ โดยไม่แสวงหากำไรจากการดำเนินงาน
จิสด้า ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีที่ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ EEC (Eastern Economic Corridor) นั่นก็คือ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ (Space Krenovation Park หรือ SKP) อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศของจิสด้า นั้น ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ส่งเสริมการลงทุน จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ผู้ประกอบการต่างชาติจะมีโอกาสในการศึกษาสิทธิประโยชน์และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ภายในพื้นที่ฯเพื่อนำไปสู่การส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ โดยใช้กลไกทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อพัฒนาให้เป็นฐานอุตสาหกรรมทางด้านการบินและอวกาศที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จิสด้าจะมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องที่เป็น 1 ในซูเปอร์คัสเตอร์ และ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth)ของประเทศ
ด้วยเหตุนี้ สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) จึงนำคณะนักธุรกิจ และนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นกว่า 300 ชีวิต เข้าศึกษาดูงาน ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ของจิสด้า เมื่อวันพุธที่ 13 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่และครั้งสำคัญของ จิสด้า ที่มีโอกาสเปิดบ้านต้อนรับกลุ่มนักธุรกิจญี่ปุ่นจำนวนมากขนาดนี้
จากความภาคภูมิใจของ จิสด้า ซึ่งเป็น 1 ในอุตสาหกรรมที่นักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจนั้น และยังได้รับคำยืนยัน จาก ดร.เชาวลิต ศิลปทอง รองผู้อำนวยการจิสด้าที่ช่วยสะท้อนให้เห็นภาพความสำเร็จเบื้องต้น จากการมาเยี่ยมชมกิจการของจิสด้าว่า “สำหรับความคาดหวังของจิสด้า ภายในปี 2561 จะมีนักลงทุนญี่ปุ่นอย่างน้อย 2-3 ราย ที่จะเข้ามาร่วมลงทุนกับเราแน่นอน”
ความเชื่อมั่นดังกล่าวของ ดร.เชาวลิต ฯ ครั้งนี้ ได้ฉายภาพให้เห็นว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา จิสด้า ได้มีการพัฒนาและเปิดพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ให้เป็นที่ยอมรับของนักลงทุนต่างชาติหลายประเทศ และได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาร่วมทำธุรกิจหลายชาติ อาทิ จีน แคนาดา สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส เป็นต้น แต่ยังไม่มีในส่วนของนักธุรกิจ หรือนักลงทุนของญี่ปุ่นเข้ามาร่วมลงทุนกับเราจริงจัง
“ดังนั้น การมาเยือนอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศในครั้งนี้ จิสด้า คาดหวังว่าญี่ปุ่นจะเห็นศักยภาพและมีโอกาสที่จะเข้ามาร่วมลงทุนกับเรา”
อย่างไรก็ตาม ดร.เชาวลิต ฯ ยังบอกด้วยว่า“ในอนาคต จิสด้าจะจับมือกับดิจิทัล ปาร์ค ไทยแลนด์ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีพื้นที่ติดกับเราโดยในส่วนของเราจะเป็นพื้นที่อินโนเวชั่นปาร์ค ซึ่งมีหลายส่วนงานที่จะต้องมาเชื่อมโยงและพัฒนาร่วมกัน”
จากการเชื่อมโยงของ 2 หน่วยงานใหญ่ดังกล่าว ดร.เชาวลิต ฯ เชื่อมั่นว่า นี่คือเสน่ห์ที่จะดึงดูด และจูงใจให้นักลงทุนมองเห็นถึงโอกาสของการต่อยอดทางธุรกิจและอุตสาหกรรมได้อย่างหลากหลาย
“การเดินทางมายังอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ของนักธุรกิจและนักลงทุนรอบนี้ ผมมั่นใจว่า พวกเขาจะเห็นความพร้อมของเราครบทุกมิติ”
ซึ่งนอกจากเราจะมีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานแล้ว เรายังมีความพร้อมในเรื่องของเทคโนโลยี บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง รวมถึงข้อมูลต่างๆ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่การต่อยอดทางธุรกิจและอุตสาหกรรมให้กับพวกเขาได้ประสบความสำเร็จ
ดร.เชาวลิต ฯ ยังบอกอีกว่า “นักลงทุนญี่ปุ่นกลุ่มนี้ จะนำโอกาสและสิ่งที่ได้รับจากการศึกษาดูงานในครั้งนี้ ไปบอกต่อให้กับกลุ่มบริษัทที่มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับเราในประเทศญี่ปุ่นได้เห็นว่า อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ มีองค์ประกอบที่หลากหลายที่น่าสนใจและเหมาะสมที่จะใช้เป็นฐานสำหรับการเข้ามาลงทุนได้”
“เพราะในส่วนของเราจะมี Aerospaceมีอุตสาหกรรมอวกาศยานรวมไปถึงธุรกิจและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆที่ต้องใช้เทคโนโลยีจากดาวเทียมเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งประเทศญี่ปุ่นเองถือเป็นมหาอำนาจทางด้านเทคโนโลยีเหล่านี้เช่นกันดังนั้น จึงทำให้ผมมั่นใจว่าการมาของนักลงทุนชาวญี่ปุ่นครั้งนี้ เราน่าจะได้รับข่าวดีตามมาในไม่ช้าอย่างแน่นอน”
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาจิสด้าได้ร่วมมือกับญี่ปุ่นในแง่ของงานเชิงวิจัยระบบดาวเทียมนำทาง โดยญี่ปุ่นถือเป็นประเทศแรกที่เข้ามาร่วมงานวิจัยและพัฒนากับเราอย่างจริงจัง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการที่จะดึงดูดให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนกับเราได้
“สำหรับ รูปแบบการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นจากนี้ไปนั้น จะมี 2 อย่างที่เรามองว่าน่าจะมีความเป็นไปได้ โดยอย่างแรกเป็นการให้เขานำนวัตกรรมของเขามาขยายผล ซึ่งจะต้องให้ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพไปร่วมทำงานกับเขา เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกันและอย่างที่ 2 คืออยู่ในรูปของการร่วมธุรกิจกัน โดยจิสด้าจะเป็นผู้สนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในการสร้างโอกาสให้ไปถึง Global Value Chain”ดร.เชาวลิต ฯ กล่าว
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ด้วยความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี เครื่องมือและกลไกในการทำธุรกิจ รวมถึงการเอื้อประโยชน์ในด้านกฎเกณฑ์การลงทุนจากหน่วยงานของภาครัฐทุกหน่วย จะมีการเชื่อมโยงและประสานความร่วมมือเป็นอย่างดี เพื่อเปิดประตูบ้านให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นได้ขยายฐานการลงทุนมาสู่ประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ รวมไปถึงสิทธิประโยชน์ภายใต้กรอบ EECและองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ของไทย ที่เดินหน้าพัฒนา และเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมของตัวเองให้มีความแข็งแกร่งมาอย่างต่อเนื่อง
เฉกเช่นเดียวกับ จิสด้า ตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าทีมงานภายใต้การนำของ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการจิสด้าและทีมงานทุกคน ไม่เคยหยุดพักที่จะหยุดคิด หรือหยุดพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้กลายเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมจากเทคโนโลยีอวกาศ ดังนั้น จิสด้า จึงเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งของรัฐที่พวกเราทุกคนได้มองเห็นถึงศักยภาพ และความสำคัญที่รัฐบาลจะใช้เป็นกลไกในการดึงดูดให้นักธุรกิจและนักลงทุนชาวต่างชาติได้หลั่งไหลเข้ามาร่วมงานเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกสายนี้
และจิสด้าในวันนี้ จึงเป็น 1 ในอุตสาหกรรมดาวเด่นของรัฐบาลที่พวกเราต้องติดตามผลงาน เพราะมีโอกาสสร้างชื่อในตลาดระดับโลกได้อย่างแน่นอน...