- Details
- Category: DES
- Published: Sunday, 10 September 2017 12:31
- Hits: 5147
นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมคณะกรรมการดิจิทัลฯ เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการดิจิทัลฯ ระยะ 5 ปี
นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมคณะกรรมการดิจิทัลฯ ครั้งที่ 2/60 เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการดิจิทัลฯ ระยะ 5 ปี หนุนกลไกประชารัฐเพื่อเร่งเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ขอให้สื่อช่วยสร้างความเข้าใจ-การรับรู้ของประชาชนก่อนเข้าสู่สู่สังคมดิจิทัล
ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ครั้งที่ 2/2560 ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม
ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรีได้แถลงผลการประชุมว่า การก้าวสู่สังคมดิจิทัลนั้นจะต้องดำเนินการในหลายรูปแบบอย่างเป็นระบบ ทั้งดาต้าเซ็นเตอร์ การขยายเครือข่าย Wifi อินเทอร์เน็ตในทุกหมู่บ้าน โดยจัดทำให้ครอบคลุมงานในทุกมิติให้ได้มากที่สุด สำหรับการติดตั้ง wifi หมู่บ้านจะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนให้เตรียมพร้อมและทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งภาคธุรกิจ เอสเอ็มอี และเกษตรกร ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ในการขยายฐานการจัดจำหน่ายบนอินเทอร์เน็ต เพิ่มมูลค่าสินค้าให้มีความเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจและมีส่วนร่วมกับรายได้ของประเทศในทุกมิติ ซึ่งสิ่งสำคัญจะต้องสร้างการรับรู้และความรู้ความเข้าใจกับประชาชน ว่าโครงสร้างดิจิทัลนั้นส่งผลต่อการปฏิรูปประเทศอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลพยายามเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด แต่สิ่งที่ต้องระวังคือการสร้างความเข้าใจในโอกาสที่จะเข้าสู่การเปลี่ยนผ่าน ที่จะต้องใช้เวลาพอสมควร เชื่อว่าระยะแรกที่เข้าสู่ดิจิทัลจะต้องมีปัญหา เพราะเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนสู่การเปลี่ยนแปลงการใช้งานทั้งหมด จึงจะต้องพัฒนาการเรียนรู้ไปด้วย ว่าเราจะใช้อย่างไร เมื่อถึงเวลาจะได้ใช้ได้ทันที หากประชาชนยังไม่รู้ว่าจะได้ประโยชน์อย่างไรก็ต้องมาเสียเวลากันอีกครั้ง จึงอยากให้สื่อช่วยกันสร้างความเข้าใจด้วย เพราะนายกรัฐมนตรีถือว่าดิจิทัลจะเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศปฏิรูปได้เร็วขึ้น
ด้านนายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้แถลงผลการประชุมที่สำคัญเพิ่มเติมโดยสรุปว่า การประชุมคณะกรรมการดิจิทัลฯ วันนี้มีความคืบหน้าของการดำเนินโครงการสำคัญฯ เช่น ความคืบหน้าในการจัดตั้งบริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN) และการจัดตั้ง บริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2560 โดยนายกรัฐมนตรีเร่งรัดให้ดำเนินการแล้วเสร็จตามกรอบเวลา
ด้านการบริหารกิจการดาวเทียมสื่อสารของประเทศไทย ในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 ภายใต้สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ นายกรัฐมนตรีขอให้เร่งแก้ปัญหา โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นสำคัญ ขณะที่การบริการด้านสุขภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยใช้ประโยชน์จากโครงข่ายเน็ตประชารัฐ ที่ดำเนินการทั้งในส่วนของระบบ Tele-Medicine เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง และการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ระบบ อสม. Online เป็นการดำเนินการร่วมกับภาคเอกชนในการสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์เฉพาะกลุ่มสำหรับหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ และ อสม. เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารให้ อสม. ทั่วประเทศ จำนวน 200,000 คน ระบบ Smart Health ID การเชื่อมโยงข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการขอรับบริการจากโรงพยาบาล โดยการใช้บัตรประจำตัวประชาชนเพียงใบเดียว ซึ่งนายกรัฐมนตรีขอให้ขยายผลการดำเนินการให้ครอบคลุมทั่วประเทศโดยเร็ว
สำหรับ โครงการเน็ตประชารัฐ ปัจจุบันได้วางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไปแล้วกว่า 15,000 หมู่บ้าน จากเป้าหมาย 24,700 หมู่บ้าน ซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่การดำเนินโครงการดิจิทัลชุมชนด้าน e-Commerce โดยใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐที่อยู่ในระหว่างหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อกำหนดแนวทางพัฒนาระบบ e-Market Place กลาง และระบบจัดการร้านค้า (Point of Sale : POS) การพัฒนาระบบ e-Logistics และ e-payment ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอให้ทุกกระทรวงคำนึงถึงผลประโยชน์จากการใช้เน็ตประชารัฐ ในการยกระดับการให้บริการสาธารณะสำหรับประชาชน ด้านการจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand) ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้เห็นชอบในการประกาศเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 ปัจจุบันมีความคืบหน้าในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยที่ประชุมขอให้ดำเนินการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
ด้านสถานะการดำเนินการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่เป้าหมาย USO สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้รายงานสถานการณ์ดำเนินการบริการอินเทอร์เน็ต USO พื้นที่ชายขอบ (Zone C+) ในพื้นที่ประมาณ 3,920 หมู่บ้าน และพื้นที่ห่างไกล (Zone C) ประมาณ 15,732 หมู่บ้าน ซึ่งสามารถลงนามในสัญญาโครงการฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2560 โดยนายกรัฐมนตรีขอให้เร่งรัดดำเนินการ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต
พร้อมกันนี้ ในเรื่องโครงการติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคมของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีการเสนอเพื่อขออนุมัติ รฟท. ดำเนินการโครงข่ายเคเบิลใยแก้วของตัวเอง แบบโครงข่ายปิด (Private Network) และจัดให้มีระบบสำรองโครงข่าย (Redundant Network) โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกับบริษัท NBN โครงการเน็ตประชารัฐ และศูนย์ดิจิทัลชุมชน เป็นอันดับแรก เพื่อให้ระบบโครงข่ายและอุปกรณ์ทั้งหลายได้ใช้อย่างบูรณาการมีความคุ้มค่า ไม่เกิดความซ้ำซ้อน และลดต้นทุน โดยนายกรัฐมนตรีขอให้คำนึงถึงความคุ้มค่าในการดำเนินการ และเน้นการใช้ประโยชน์ของโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564) ซึ่งกระทรวงดิจิทัลฯ ได้สรุปผลการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลฯ ตาม พ.ร.บ. การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 โดยได้มีการทบทวนแผนพัฒนาดิจิทัลฯ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. การพัฒนาดิจิทัลฯ และเป็นการดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ. การพัฒนาดิจิทัลฯ พ.ศ. .... โดยมีความสอดคล้องกับ (ร่าง) กรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2560-2564) รวมทั้งได้ทบทวนและยกร่างแผนปฏิบัติการดิจิทัลฯ ระยะ 5 ปี เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล โดยแปลงวิสัยทัศน์ระยะยาวตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งนายกรัฐมนตรีขอให้เน้นการบูรณาการทำงานร่วมกับทุกกระทรวง รวมทั้งบูรณาการการทำงานตามกลไกประชารัฐร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชนและภาคประชาชน
พร้อมกับที่ประชุมเห็นชอบในกรอบหลักการของ (ร่าง) แผนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ระยะ 5 ปี (2560-2564) เพื่อให้คณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ดำเนินการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบสำหรับใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนต่อไปด้วย
นอกจากนี้ ด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ(Smart City)กระทรวงดิจิทัลฯ โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ได้เสนอโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ระยะ 5 ปี ตั้งเป้าหมายปีแรก ในพื้นที่ตัวแทนภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และมีแผนจะขยายให้ครอบคลุมในพื้นที่ 77 จังหวัดภายใน 5 ปี โดยที่ประชุมเห็นชอบในหลักการของกรอบการดำเนินการและกรอบวงเงินงบประมาณ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมที่สร้างสรรค์โดยคนไทย ลดการพึ่งพิงเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน นอกจากนั้นยังให้ความเห็นชอบในมาตรการเร่งการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากท่อร้อยสายใต้ดินที่มีอยู่แล้วในหลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีระยะทางกว่า 2,500 กิโลเมตร
“การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ Smart City ที่ประชุมให้ความเห็นชอบแนวทางการพัฒนานำร่อง 7 จังหวัด ที่จะเป็น Smart City ซึ่งจะเริ่มดำเนินการจากนี้เป็นต้นไป ประกอบด้วย กรุงเทพมหานครจะทำในส่วนที่เป็นพหลโยธินนำร่องไปก่อน ส่วนอีก 6 จังหวัดคือ ภูเก็ต ที่ได้ทำ Smart City ด้านการท่องเที่ยวไปแล้วและได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักท่องเที่ยว และจะเดินหน้าทำต่อที่เชียงใหม่และขอนแก่น โดยนายกรัฐมนตรีให้ขยายไปที่ EEC อีก 3 จังหวัดคือ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ซึ่งจะเริ่มดำเนินการทั้ง 7 จังหวัดตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าว
ที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลฯ ยังได้เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้านรวมสองคณะ คือคณะกรรมการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมกับแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตาม พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 รวมถึงระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารกองทุนฯ เพื่อเป็นการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐด้วย
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก(ข้อมูลจากฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการดิจิทัลฯ)