- Details
- Category: DES
- Published: Tuesday, 26 January 2016 11:42
- Hits: 5528
ชง'บอร์ดดีอี'อนุมัติบรอดแบนด์ 2 หมื่นล.'ไอซีที'สั่ง'กสท-ทีโอที' วางโครงข่าย'เนต'มีค.นี้
แนวหน้า : นายอุตตม สาวนายน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงไอซีที ได้มีการเรียก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มาหารือร่วมกันเรื่องการดำเนินการวางโครงข่ายอินเตอร์เนตวามเร็วสูง(บรอดแบนด์) ตามโครงการยกระดับโครงข่ายโทรคมนาคมของประเทศ มูลค่า 20,000 ล้านบาท โดยในการพูดคุยกันครั้งนี้เป็นการหาความเห็นร่วมกันว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในการวางโครงข่ายไปยังราว 30,000 หมู่บ้าน ที่ปัจจุบันโครงข่ายด้านโทรคมนาคมยังไปไม่ถึง
ทั้งนี้ ในการประชุมได้ข้อสรุปว่าหลังจากนี้จะให้ทั้ง 2 หน่วยงานไปพูดคุยกันเองว่าใครจะดำเนินการในพื้นที่ใดบ้าง โดยจะอ้างอิงจากใน 2 หน่วยงาน ใครมีทรัพยากรหรือโครงข่ายเดิมที่อยู่ใกล้ก็จะต้องไปรับหน้าที่ในการวางโครงข่ายต่อไปยังพื้นที่ใกล้เคียง โดยให้ทั้ง กสท และ ทีโอที นำผลหารือที่ได้นำกลับมานำเสนอต่อกระทรวงไอซีทีอีกครั้งในสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ กระทรวงไอซีทีจะนำเสนอต่อคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(บอร์ดดีอี) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 8 ก.พ.2559 เพื่อขออนุมัติในขั้นตอนสุดท้าย
ในเบื้องต้นราคาค่าใช้บริการเมื่อโครงข่ายไปถึง จะไม่กำหนด แต่จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกลของตลาด ซึ่งเชื่อว่าเมื่อโครงข่ายไปถึงจะมีการแข่งขันในด้านราคาของผู้ประกอบการที่ใช้งานโครงข่าย และจะทำให้ราคาค่าใช้บริการถูกลง
นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ ทีโอที และ กสท จะไปคุยกันว่าใครจะรับผิดชอบในพื้นที่ใดบ้าง โดยโครงข่ายที่จะดำเนินการอาจทำ ใน 2 ระบบ ประกอบด้วยการการพาดสายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงเข้าไปยังพื้นที่ และการใช้คลื่นความถี่ ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 2300 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ของทีโอที และ คลื่นความถี่ย่าน 850 MHz ของ กสท ส่งเข้าไปในพื้นที่ซึ่งจะมีเสารับก่อนแปลงสัญญาณเป็นสายพากเข้าบ้านเรือนประชาชน
พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการ และรักษาการกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ กสท กล่าวว่า นอกจากในเรื่องการวางโครงข่ายไปยังหมูบ้าน ให้ครบทั้ง 70,000 หมู่บ้านในประเทศไทยแล้ว ทาง กสท และ ทีโอที ยังมีการหารือกันถึงความร่วมมือในการเพิ่มศักยภาพเกตเวย์ในการเชื่อมต่อ อินเตอร์เนตออกสู่ต่างประเทศ จากปัจจุบันการใช้งานอินเตอร์เนตอยู่ที่ 500 กิกะบิต และจากสถิติมีการใช้งาน เพิ่มขึ้น 2 เท่าทุกปี โดยเบื้องต้นตั้งเป้าจะเพิ่มศักยภาพการใช้งานอินเตอร์เนต ในสามารถรองรับการใช้งานได้อยู่ในอัตรา 8 เทราบิต