- Details
- Category: DES
- Published: Saturday, 03 October 2015 09:26
- Hits: 6222
กสท.แนะดู'สิงค์โปร์-มาเลเซีย' ทำ'ซิงเกิลเกตเวย์'แบบไม่ละเมิด
แนวหน้า : พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT กล่าวว่า หากประเทศไทยตั้งใจเดินหน้าไปสู่นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน ด้านโทรคมนาคมของประเทศให้มีเสถียรภาพ ราคาแข่งขันได้ เพื่อจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น การให้บริการ อินเตอร์เนชั่นแนล อินเทอร์เน็ต เกตเวย์ (International Internet Gateway:IIG) ต้องการให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ เช่น กูเกิล ไลน์ เฟสบุ๊ก ที่มีการใช้งานสูงสุด จำเป็นต้องสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ซึ่งต้องมาจากปัจจัยหลายด้าน ได้แก่ การสร้างความเชื่อมั่นทางการเมือง นโยบายด้านเศรษฐกิจต้องชัดเจน สิทธิพิเศษด้านภาษีสำหรับผู้ที่จะมาลงทุน การเอื้อประโยชน์เกี่ยวกับการจ้างแรงงานต่างชาติเข้ามา ทำงานในประเทศไทย
ขณะเดียวกัน เรื่องการดูแลความปลอดภัยด้านข้อมูล เนื่องจากประเทศไทยนับเป็นสวรรค์ของนักแฮคเกอร์ ซึ่งคนเหล่านั้นจะอาศัยประเทศไทยเป็นฐานเพื่อโจมตีไปยังประเทศต่างๆ แต่ทว่าการที่รัฐบาลจะสามารถมอนิเตอร์ข้อมูลได้ก็ต้องมีกฎหมายรองรับก่อน เหมือนสิงโปร์ และ มาเลเซีย และการมอนิเตอร์ข้อมูลก็ไมได้เป็นการเฝ้าระวังหรือจับผิดทุกข้อมูลที่วิ่งผ่านแต่จะเป็นการจับเพียงพฤติกรรมที่น่าสงสัยเท่านั้น
ทั้งนี้ สิ่งที่สังคมกำลังถกเถียงกันและออกมาต่อต้านคิดว่ารัฐบาลจะบังคับให้รวม ไอไอจี ที่มีผู้ให้บริการในไทยประมาณ 10 ราย มาใช้เส้นทางเดียวกันนั้น ตนมีความเห็นว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะแต่ละรายต่างก็มีช่องทางไอไอจี หลายเส้นทาง ยกตัวอย่างของ กสท โทรคมนาคม ก็มีประมาณ 6 เส้นทาง โดยเป็นเคเบิ้ลใต้น้ำทั้งหมด ยังไม่นับรวมผู้ให้บริการรายอื่นๆอีก ดังนั้นการจะรวมทุกเส้นทางให้มาวิ่งบนเส้นทางเดียวกันจึงเป็นไปไม่ได้เลย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีผู้ให้บริการมากรายขึ้นแต่ราคาค่าบริการของประเทศไทยก็ยังสูงกว่าประเทศสิงคโปร์ทำให้ผู้ผลิตคอนเท็นต์ไม่สนใจเข้ามาใช้บริการในไทย ดังนั้น กสท โทรคมนาคม เอง จึงมีแนวคิดในการสร้าง ไอไอจี เพื่อให้ผู้บริการไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อน เพราะการสร้างไอไอจี นั้น โดยเฉพาะการทำในรูปแบบเคเบิ้ลใต้น้ำเป็นการลงทุนสูง การลงทุนแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท แต่กำไรต่ำ แต่หากผู้ให้บริการมาเช่าใช้ของ กสท โทรคมนาคม ก็จะสามารถให้บริการในราคาที่ถูกลงได้ อันจะเป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิตคอนเท็นต์ใช้บริการของคนไทยมากขึ้นด้วย โดย กสท โทรคมนาคม ตั้งเป้าหมายว่าภายใน 3 ปี จะสามารถทำราคาค่าบริการได้เท่ากับราคาในสิงคโปร์