- Details
- Category: DES
- Published: Thursday, 01 October 2015 20:32
- Hits: 4290
คุมเข้มประตูดิจิตอล รัฐดัน 'ซิงเกิ้ล เกตเวย์'
มติชนออนไลน์ : วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558
เป็นที่ฮือฮากันไม่น้อยหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เป็นเจ้าภาพหลักไปเร่งรัดดำเนินโครงการ 'เนชั่นแนล ซิงเกิ้ล เกตเวย์'เพื่อดูแลข้อมูลในด้านความมั่นคงปลอดภัยทางอินเตอร์เน็ต
ทั้งจากข้อมูลที่เข้ามาและออกไปจากในและนอกประเทศ ซึ่งเป็นไปตาม 1 ในยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ตามนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล
สำหรับ 'เนชั่นแนล ซิงเกิ้ล เกตเวย์' กระทรวงไอซีที ได้ให้ข้อมูลว่า คือ การเชื่อมต่อโครงข่ายอินเตอร์เน็ตของประเทศเข้าด้วยกัน เพื่อเวลาที่จะเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตกับศูนย์จัดเก็บข้อมูล (เซิร์ฟเวอร์) ต้องเชื่อมต่อผ่านสิ่งที่เรียกว่าประตูเชื่อมต่อ (เกตเวย์) จะส่งผลให้ผู้ที่ควบคุมดูแลเกตเวย์สามารถควบคุมการไหลเข้าไหลออกของข้อมูลในระบบอินเตอร์เน็ต ที่ถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือการควบคุมที่ในระดับเกตเวย์ แทนที่จะควบคุมตามเว็บไซต์ต่างๆ หลังจากข้อมูลได้เผยแพร่ไปแล้ว
ซิงเกิ้ล เกตเวย์ ยังสามารถทำการดักจับ สกัดกั้น หรือบล็อกข้อมูลไม่พึงประสงค์ได้อย่างง่ายดายจากจุดเดียว เช่นดักจับข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย ดักจับเว็บไซต์ข้อมูลที่เกี่ยวกับการหมิ่นสถาบันฯก่อนจะเผยแพร่ออกไป
เนชั่นแนล ซิงเกิ้ล เกตเวย์ ที่กำลังจะออกมาเป็นรูปธรรมเร็วๆ นี้ ดูเหมือนจะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย
นายปรเมศวร์ มินศิริ เจ้าของเว็บไซต์กระปุกดอทคอม และอดีตนายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ให้ความเห็นว่า การมีเนชั่นแนล ซิงเกิ้ล เกตเวย์ จะมีข้อดีตรงที่รัฐบาลจะสามารถควบคุมข้อมูลเข้า-ออกในประเทศได้เป็นอย่างดี ทำให้ประเทศอยู่ในสภาวะที่มีความมั่นคงมาก ส่วนข้อเสียก็เป็นห่วงว่าการที่รัฐบาลเร่งผลักดันนโยบาย เนชั่นแนล ซิงเกิ้ล เกตเวย์ เร็วเกินไปเพื่อมาเสริมกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลและหวังเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จะก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบมากกว่าดี
"ด้านเศรษฐกิจอาจสร้างผลกระทบให้แก่นักลงทุนต่างประเทศในการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย หรือตัดสินใจที่จะเลือกให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางภูมิภาค หรือฮับ ในการปฏิบัติงาน เพราะกังวลในเรื่องการกระทบข้อมูลส่วนบุคคล หรือทำให้ความลับทางธุรกิจจะรั่วไหล จากการที่มีคนนอกสามารถเข้ามาดูหรือดักจับข้อมูลได้ เพราะถึงที่สุดแล้วรัฐบาลก็ไม่สามารถดูแลงานส่วนดังกล่าวได้หมดและต้องจ้างบริษัทอื่นๆ เข้ามาดำเนินการแทน อีกทั้งในด้านกฎหมายทางรัฐบาลก็ให้อำนาจแก่ผู้ที่ทำหน้าที่ดังกล่าวได้อย่างเต็มที่จึงยากที่จะฟ้องร้องภายหลัง ฉะนั้น เมื่อถึงเวลานั้นนักลงทุนอาจเลือกหรือย้ายฐานการปฏิบัติงานหลักไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่มีปัญหาแทน" นายปรเมศวร์กล่าว
นายปรเมศวร์ให้ความเห็นอีกว่า ข้อเสียในด้านความมั่นคง แม้รัฐบาลจะสามารถตรวจสอบหรือดักจับข้อมูลทางความมั่นคงได้จากจุดเดียว แต่ในทางกลับกัน การที่มีศูนย์เกตเวย์ที่จุดเดียวแทนที่จะกระจายไปทั้งประเทศ อาจมีปัญหาได้ ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ หรือก่อการร้ายต่างๆ เพราะถ้าศูนย์มีปัญหา เท่ากับว่าระบบอินเตอร์เน็ตทั้งประเทศเป็นอัมพาต อีกทั้งยังเป็นเป้าอย่างดีสำหรับผู้ไม่หวังดีในการก่อการร้าย เพราะทำสำเร็จอย่างการวางระเบิดหรือตัดระบบไฟ ทั้งประเทศก็จะได้รับผลกระทบในการใช้งานอินเตอร์เน็ตทันที
"เดิมทีในอดีตก่อนหน้านี้สหรัฐอเมริกาเคยดำเนินโครงการ เนชั่นแนล ซิงเกิ้ล เกตเวย์ มาก่อนแล้ว เป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์ในด้านความมั่นคงของประเทศ แต่ท้ายสุดเมื่อทำแล้วศาลของสหรัฐเองจึงมีคำสั่งให้ยกเลิก เนื่องจากในทางปฏิบัติไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าสามารถป้องกันด้านการก่อการร้าย หรือใช้ในการรักษาความมั่นคงได้จริง" นายปรเมศวร์ระบุ
ขณะที่ นายบัณฑิต ว่องวัฒนะสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์เนต โซลูชั่น แอนด์ เซอร์วิส โพรวายเดอร์ จำกัด หรือไอเอสเอสพี ให้ความเห็นในฐานะภาคเอกชนที่ให้บริการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารข้อมูลในการให้บริการอินเตอร์เน็ตครบวงจรว่า นโยบาย เนชั่นแนล ซิงเกิ้ล เกตเวย์ ที่รัฐบาลจะนำมาใช้สกัดกั้นเว็บไซต์ หรือข้อมูลต่อเพื่องานด้านความมั่นคง ผ่านเกตเวย์แห่งเดียว เป็นนโยบายที่ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดว่าสามารถทำได้จริงไหม และท้ายสุดรัฐบาลจะมอบหมายให้ใครดูเกตเวย์อินเตอร์เน็ตทั้งประเทศ และมีศักยภาพมากพอในการจัดการเรื่องความคล่องตัว หรือกราฟิก ในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตของทั้งประเทศผ่านเกตเวย์เดียวได้มากน้อยแค่ไหน
"เมื่อเทียบกับปัจจุบันที่มีหลายเกตเวย์กระจายความคล่องตัวในการเชื่อมต่อ ซึ่งในมุมของผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตทั่วไปอาจมีความไม่พอใจได้หากการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเพื่อใช้งานเกิดความล่าช้า รวมทั้งอาจสร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วไป ทั้งบุคคล หรือองค์กรได้ เนื่องจากซิงเกิ้ล เกตเวย์ สามารถดักตรวจสอบ เข้าดู หรือดักจับข้อมูลต่างๆ ที่อาจเข้าข่ายกระทบเรื่องสิทธิส่วนบุคคลได้" นายบัณฑิตระบุ
พร้อมให้ความเห็นถึงผลกระทบต่อภาคธุรกิจว่า อาจมีผลกระทบบ้างในทางอ้อมแก่ผู้ประกอบการให้บริการเกตเวย์อยู่แล้ว ซึ่งได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้องจากทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่คงไม่มีทางเลือกในการยุติการให้บริการ หรือโอนสิทธิขาดในการดูแลเข้าถึงข้อมูลให้แก่รัฐ ตามนโยบายรัฐบาล
"ทั้งนี้ เห็นว่าปัจจุบันผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ไอเอสพี) ก็ได้ตรวจสอบข้อมูลที่ไม่เหมาะสมพร้อมระงับการเผยแพร่อยู่แล้ว โดยการแก้ปัญหาที่ถูกจุดเองส่วนตัวยังเห็นด้วยว่าควรเริ่มเข้มงวดกับทางผู้ใช้บริการมากกว่าทางผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต" นายบัณฑิตกล่าวทิ้งท้าย
ดังนั้น นับแต่นี้ไปคงต้องเฝ้าติดตามว่า โครงการ ‘เนชั่นแนล ซิงเกิ้ล เกตเวย์’จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างไร
ดัน‘ซิงเกิ้ล เกตเวย์’ ให้‘กสท-ทีโอที’จัดการโครงข่าย
แนวหน้า :'ประจิน'แจง'ซิงเกิ้ล เกตเวย์'เป็นเพียงแนวคิด แต่ยอมรับอาจจะให้'กสท-ทีโอที' เป็นผู้ทำโครงการนำร่องก่อน ย้ำเน้นให้บริการ ไม่ใช่การเข้าไปควบคุมการใช้อินเตอร์เนต
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2558 พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เป็นเจ้าภาพหลักไปเร่งรัดดำเนินโครงการ “เนชั่นแนล ซิงเกิ้ล เกตเวย์” เพื่อดูแลข้อมูลในด้านความมั่นคงปลอดภัยทางอินเตอร์เนต ว่า ตอนนี้ยังเป็นเพียงแนวคิดที่จะให้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท กับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ดำเนินการร่วมกันโดยนำโครงข่ายของสองบริษัทมาร่วมกันให้บริการดังกล่าว
“เราอาจจะมีโครงการนำร่องเป็น ซิงเกิล เกตเวย์ เพื่อการพาณิชย์ เพื่อให้การรวมสินทรัพย์กับขีดความสามารถในการให้บริการโครงข่ายระหว่าง กสท กับ ทีโอที เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ให้บริการ แต่ย้ำว่ายังเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น ยังไม่ได้ถึงขั้นตอนนำไปปฏิบัติ” พล.อ.อ.ประจิน กล่าว
ส่วนเรื่องของการนำเข้าและส่งออกข้อมูลอินเตอร์เนตภายในประเทศ ในปัจจุบันยังเป็นการดำเนินการในลักษณะปกติ ยังไม่ได้มีข้อกำหนด หรือยุบรวมแต่อย่างใด
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า กระทรวงไอซีทีกับหน่วยงานของ กสท รายงานการลงทุนของบริษัทใหญ่ที่มีศักยภาพในเรื่องข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ บิ๊ก ดาต้า พบว่า บริษัทที่มีศักยภาพ มักจะไปลงทุนในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ดังนั้นไทยอยากเปิดโอกาสให้บริษัทที่มีศักยภาพ เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น
ในส่วนของ ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เรากำลังเร่งรัดให้ พื้นที่เชียงใหม่และภูเก็ตให้สิทธิประโยชน์พิเศษด้านการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้ หรือการใช้ที่ดินต่างๆ และเราจะทำให้โครงสร้างพื้นฐานของเรามีความพร้อมในการให้บริการแทนที่ทุกบริษัทจะมาลงทุน เราก็จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โครงข่ายให้เป็นทางเลือกให้เขาดูว่าการลงทุนจะได้ประโยชน์มากน้อยเพียงใด
“แนวคิดซิงเกิล เกตเวย์นั้นอยู่ระหว่างการปรึกษา เพราะขั้นตอนเยอะ และเรากำลังมีการปรับแผนของแคท และกสท ในการทำงานดาต้าร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและผู้ลงทุนรายใหม่ๆ และจะรีบดำเนินการ” พล.อ.อ.ประจิน กล่าว
ก่อนหน้านี้ มีกระแสคัดค้านเนชั่นแนล ซิงเกิ้ล เกตเวย์ ขณะที่ นายอุตตม สาวนายน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร(ไอซีที) ออกมาชี้แจงแล้วว่า โครงการดังกล่าวอยู่ในขั้นของการพิจารณายังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม พร้อมยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของทางเศรษฐกิจไม่ได้ต้องการที่จะคุกคามสิทธิพื้นฐาน และไม่ใช่เหตุผลด้านความมั่นคง