- Details
- Category: DES
- Published: Saturday, 08 August 2015 11:32
- Hits: 4045
เชื่อ‘ทีโอที-กสท’ไม่ก่อหวอดล้ม 4G เคลียร์ข้อพิพาทฟ้องร้องได้
แนวหน้า : เชื่อ‘ทีโอที-กสท’ไม่ก่อหวอดล้ม 4G l เคลียร์ข้อพิพาทฟ้องร้องได้ ‘อุ๋ย’ยึดกรอบประมูลพ.ย.
เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2558 ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ร่วมปาฐกถาเรื่อง “ดิจิทัล อิโคโนมี กับการพัฒนาประเทศไทย” ในโอกาสวันสื่อสารแห่งชาติ NET 2015 ที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ประเทศไทยมีความพยายามใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาเศรษฐกิจ ในด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมพบว่าไทยสามารถทำได้น่าพอใจ แต่ขณะที่บางด้านยังไม่มีทิศทางที่แน่ชัด รัฐบาลจึงกำหนดนโยบายเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่มีความชัดเจน รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขึ้นมารองรับ ความต้องการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น โดยจะพยายามทำให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวถึงแผนการประมูลคลื่นความถี่ 4G ในย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) และ 900 MHz ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่าทุกอย่างต้องเดินไปตามแผนเดิม เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล (ดิจิทัล อีโคโนมี) และมั่นใจว่ากระบวนการประมูลจะไม่มีการฟ้องร้องจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจใดๆ หรือองค์กรใด
“โดยส่วนตัวไม่เชื่อว่าทีโอที กับ กสท จะฟ้องเรียกร้องสิทธิ์ในความถี่ที่เกิดขึ้นหลังสัมปทาน เพราะเรื่องนี้เป็นไปตามกฎหมายกสทช.และอยู่ในแผนของรัฐบาลที่อนุมัติกรอบการประมูลไปแล้ว ดังนั้นจึงมั่นใจว่าไม่น่าจะมีเหตุการณ์อะไรมาขัดขวางกระบวนการ” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
ขณะที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า หลังจากได้หารือกับม.ร.ว.ปรีดิยาธร เบื้องต้นเกี่ยวกับการประมูลคลื่น 4G นั้น โดยรอง
นายกฯรับปากว่า กระบวนการการรับคืนคลื่นความถี่ 5 MHz จาก บริษัท กสทโทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CATที่ไม่ได้มีการใช้งานโดยแม้จะต้องผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) และนำเรื่องเข้าคณะกรรมการร่วมทุนฯแต่มั่นใจว่ากระบวนการทุกอย่างจะเสร็จทันตามกำหนด และได้คลื่นมาประมูลครบเป็น 30 MHz
ขณะเดียวกัน กสทช.ได้ประสานยังนายพรชัย รุจิประภา รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) โดยจะหารือกันในสัปดาห์หน้าเกี่ยวกับภาพรวมของบริหารและจัดสรรคลื่นความถี่ทั้งหมดตั้งแต่ย่าน 470-2600 MHz และหาทางเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฟ้องร้องของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ (สรท.) ทั้งสององค์กร