- Details
- Category: DES
- Published: Thursday, 23 July 2015 09:12
- Hits: 4490
ก.ไอซีที ชู'ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน' ขจัดความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สร้างสังคมคุณภาพ เดินหน้าประเทศไทยก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) มีนโยบายหลักในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ ด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) โดยกระทรวงไอซีทีได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ในชุมชนต่างๆ หลากหลายรูปแบบ กระจายอยู่ทั่วประเทศไทยแล้ว 1,980 แห่ง ให้เป็นแหล่งสร้างความรู้ความเข้าใจ และวิธีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและรอบด้าน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน
นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที กล่าวว่า กระทรวงไอซีทีตระหนักถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล จึงมุ่งเน้นการพัฒนาคนในทุกภาคส่วนของสังคมให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากดิจิทัล เพื่อรองรับการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ทั้งระบบ และให้ความสำคัญกับนโยบายพัฒนาประเทศไทยให้เป็นสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ มุ่งลดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล ด้วยการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนทั่วประเทศ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2550 จนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ตามอัธยาศัย เพิ่มโอกาสและช่องทางการเข้าถึงสารสนเทศเชิงสร้างสรรค์ให้แก่ชุมชน
สำหรับ กลไกในการทำงานร่วมกับชุมชนของกระทรวงไอซีที คือ การพัฒนาคน ซึ่งเน้นการสร้างผู้ดูแลศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนให้เป็นวิทยากรชุมชน เพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการนำความรู้และทักษะที่ได้รับจากการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไปถ่ายทอดและใช้ ICT เป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้ เพิ่มช่องทางการตลาด ต่อยอด และพัฒนาอาชีพของคนในชุมชน รวมทั้งเป็นผู้ดำเนินการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนสามารถให้บริการชุมชน และเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาที่เป็นไปตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
กระทรวงไอซีที ได้ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน จำนวน 1,980 แห่ง ซึ่งพิจารณาจากจำนวนศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปีงบประมาณ 2550-2556 โดยดำเนินการเก็บข้อมูล ในไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ 2557 (กรกฎาคม-กันยายน 2557) ด้วยการให้ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนประเมินตนเองตามแบบฟอร์มที่กำหนด และได้มีการประเมินผล ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2557 ปรากฏว่า มีศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน จัดทำแบบสอบถาม ติดตาม และประเมินผลแล้ว จำนวน 971 แห่ง แบ่งเป็น ภาคกลาง 250 แห่ง ภาคะวันออกเฉียงเหนือ 340 แห่ง ภาคเหนือ 264 แห่ง และภาคใต้ 117 แห่ง
ทั้งนี้ ได้มีการจัดแบ่งผลการประเมินศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน เป็น 4 ระดับ ดังนี้ 1.ระดับ A เปิดให้บริการ เป็นประจำเกือบทุกวัน มีคณะกรรมการบริหารจัดการศูนย์ มีผู้ดูแล มีกฎระเบียบ และมีจำนวนการเข้าใช้บริการปานกลางถึงมาก คิดเป็น 4.74% 2.ระดับ B คือ เปิดให้บริการเป็นประจำ แต่ไม่ทุกวัน มีคณะกรรมการบริหารจัดการศูนย์ มีผู้ดูแล มีกฎระเบียบ และมีจำนวนการเข้าใช้บริการน้อยถึงปานกลาง คิดเป็น 26.78% 3.ระดับ C เปิดให้บริการ 4-5 วันต่อสัปดาห์ มีคณะกรรมการบริหารจัดการศูนย์บ้าง มีผู้ดูแล มีกฎระเบียบในบางศูนย์ และมีจำนวนการเข้าใช้บริการน้อย คิดเป็น 59.11% และ 4.ระดับ D เปิดให้บริการ 1-3 วันต่อสัปดาห์ ส่วนใหญ่ไม่มีคณะกรรมการบริหารจัดการศูนย์ ไม่มีผู้ดูแล ไม่มีกฎระเบียบ มีจำนวนการเข้าใช้บริการน้อยมาก หรือไม่ระบุจำนวนการเข้าใช้บริการ หรือไม่สามารถรายงานได้ คิดเป็น 7.72% และศูนย์ที่ไม่เปิดบริการ คิดเป็น 1.65% ซึ่งผลการประเมินด้านการใช้ประโยชน์ พบว่า มีการใช้ค้นคว้าข้อมูลมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ ใช้ฝึกทักษะการใช้งาน ติดตามข่าวสารต่างๆ ทำการบ้าน รับส่งอีเมล และใช้ในการฝึกอบรม ตามลำดับ
“กระทรวงไอซีทีกำลังเร่งดำเนินการสำรวจ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานของศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทยให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2558 เพื่อให้ทราบสถานะและระดับการดำเนินงานของชุมชน ในการบริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน เพื่อให้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้าถึงประชาชน และประชาชนได้รับประโยชน์จากศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนมากที่สุด” นายพรชัยฯ กล่าว
“ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน” เป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนทุกกลุ่มให้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะของรัฐได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม พัฒนาประเทศไทยให้ก้าวสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ตามนโยบายรัฐบาล
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย