- Details
- Category: DES
- Published: Tuesday, 02 June 2015 23:40
- Hits: 2665
ไอซีที ตั้งคณะเจรจาดาวเทียม เร่งหาข้อยุติสถานะไอพีสตาร์
แนวหน้า : นายพรชัย รุจิประภา รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้อนุมัติแต่งตั้งผู้แทนจากกระทรวงไอซีทีจำนวน 3 คน โดยจะให้ผู้ที่รับหน้าที่รักษาการปลัดกระทรวงทำหน้าที่เป็นหัวหน้าการเจรจาของไอซีที เพื่อตั้งเป็นคณะกรรมการเจรจาปัญหาดาวเทียมทั้งหมดที่ไอซีทีดำเนินการร่วมกับ บมจ.ไทยคม โดยขณะนี้รอทางไทยคมส่งผู้แทนมาร่วมอีก 3 คน ก็จะครบองค์ประชุม
ทั้งนี้ เบื้องต้นปัญหาไอซีทีต้องการให้ได้ข้อยุติร่วมกันโดยเร็วที่สุดคือ กรณีของดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ซึ่งยังมีการแก้ไขไม่เรียบร้อย กรณีสัมปทานดาวเทียม หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการดำเนินงานหลังคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีการดำเนินงานให้เป็นไปตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ
โดยเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2558 ที่ผ่านมา มีประเด็นในการดำเนินการ 3 เรื่อง ได้แก่ 1. กรณีเงินค่าสินไหมทดแทนจากการที่ดาวเทียมไทยคม 3 เกิดความเสียหาย จำนวน 6,765,299 ดอลลาร์สหรัฐ มีข้อยุติตามความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดว่า กระทรวงไอซีทีและไทยคมปฏิบัติถูกต้องตามสัญญา 2. กรณีอนุมัติดาวเทียมไอพีสตาร์โดยมิชอบ และ 3. กรณีการอนุมัติแก้ไขสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมฯ ครั้งที่ 5 โดยลดสัดส่วนการถือหุ้นของอินทัช กรุ๊ป หรือ บมจ.ชินคอร์ปฯในครั้งนั้น จากไม่น้อยกว่า 51% เป็นไม่น้อยกว่า 40% โดยกระทรวงไอซีที
"การแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดแนวทางการดำเนินงานตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ คณะกรรมการตามมาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องดาวเทียมไอพีสตาร์ และนำเสนอครม.อีกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาเราและไทยคมก็คุยกันมาหลายรอบแล้ว และมั่นใจว่าภายในครึ่งปีแรกนี้ทุกอย่างจะแล้วเสร็จ"
อย่างไรก็ตามปัญหาของไอพีสตาร์ คือ มีการโต้แย้งมาตลอดว่าไอพีสตาร์ไม่ใช่ดาวเทียมสำรองไทยคม 3 เพราะสเป็คของดาวเทียมต่างกันจึงให้สถานะเป็นดาวเทียมนอกสัญญามาตลอด แต่ในเดียวกัน ก็คือ ไอซีทีก็รับส่วนแบ่งรายได้ที่ไอพีสตาร์ส่งให้ทุกปีในอัตรา 20% ของรายได้จนถึงขณะนี้คาดว่า อยู่ที่ 2,000 ล้านบาทแล้ว ดังนั้น ไอซีที จึงอยากทำให้สถานะของไอพีสตาร์ชัดเจนมากขึ้นคือจะให้เป็นดาวเทียมอีกดวงในสัมทปาน ส่วนส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาสัมปทานที่ต้องจ่ายให้กับไอซีทีก็จะเขียนสัญญาขึ้นมาให้อยู่ในอัตราที่ไม่น้อยกว่าเดิมที่เคยจ่ายให้ไอซีที ซึ่งไอพีสตาร์จะมีสัญญาสัมปทานกับไอซีทีไปจนถึงปี 2564
นายพรชัย กล่าวอีกว่า แนวทางการหารือของคณะกรรมการชุดดังกล่าว เพื่อไปจัดทำแผนกิจการอวกาศนั้นแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1. กำหนดทิศทางการบริหารวงโคจรดาวเทียมที่ปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้น 6 วงโคจร ซึ่งมีทั้งที่ใช้งานอยู่และหมดอายุไปแล้ว โดยคณะกรรมการที่ร่างแผนงานนั้นจะพิจารณาดูว่า จะมีวิธีใดที่ทำให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด 2. แนวทางการจัดการกับดาวเทียมไอพีสตาร์ตามที่เคยมีคำสั่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เคยพิพากษาให้เป็นดาวเทียมนอกสัญญาสัมปทาน เพราะเป็นดาวเทียมที่สร้างมาทดแทนไทยคม 3 ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการสรุปว่า จะทำอย่างไรกับดาวเทียมดวงดังกล่าว จึงต้องการหาข้อสรุปให้ได้เร็วที่สุด และ 3.การจัดทำดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ เพื่อให้บริการความมั่นคงและบริการสาธารณะโดยมอบหมายให้คณะกรรมการกิจการอวกาศแห่งชาติ ไปศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างดาวเทียมภาครัฐ 1 ดวง เพื่อให้บริการความมั่นคง และสาธารณะ