- Details
- Category: DES
- Published: Saturday, 16 May 2015 14:40
- Hits: 2476
ก.ไอซีที เดินหน้า Data Center เร่งดึงต่างชาติย้ายฐานลงทุนเข้าไทย
นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินงานด้านรูปแบบธุรกิจและการลงทุนของศูนย์ข้อมูลในประเทศ (Data Center) ว่า ได้กำหนดแนวทางการจัดการศูนย์ข้อมูลภาครัฐ เพื่อให้ระบบงานภาครัฐอยู่ในศูนย์ข้อมูลที่มีมาตรฐานและมีความมั่นคงปลอดภัย โดยแบ่งตามความสำคัญของระบบงานและกำหนดผู้รับผิดชอบในการดำเนินการศูนย์ข้อมูลที่แตกต่างกัน 3 ประเภท ดังนี้ 1. ระบบข้อมูลด้านความมั่นคงของประเทศ เช่น กลาโหม การคลัง ทะเบียนราษฎร์ เป็นต้น ดำเนินการโดยหน่วยงานเจ้าของข้อมูล 2. ระบบข้อมูลสำคัญ เช่น ระบบภายในหน่วยงาน (เงินเดือน การประเมินผลงานพนักงาน) ทะเบียนพาณิชย์ สาธารณสุข ประกันสังคม เป็นต้น ดำเนินการโดยหน่วยงานกลาง และ 3. ระบบข้อมูลทั่วไป เช่น ระบบบริการประชาชน เว็บไซต์ภาครัฐ เป็นต้น ดำเนินการโดยภาคเอกชน
คณะทำงานศูนย์ข้อมูลในประเทศ ได้กำหนดแนวทางการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลภาครัฐ โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนสามารถลงทุนสร้าง Data Center เพื่อให้บริการภาครัฐ ซึ่งคณะทำงานฯ ได้กำหนดรายละเอียดมาตรฐานศูนย์ข้อมูลสำหรับให้บริการภาครัฐ โดยมีสาระสำคัญ เช่น ต้องมีมาตรฐานในระดับ 3 (Tier III) ขึ้นไป มีพื้นที่สำหรับให้บริการศูนย์ข้อมูล ระหว่าง 2,000-3,000 ตารางเมตร และมีค่าประสิทธิผลการใช้ไฟฟ้าภายในศูนย์ข้อมูล (Power Usage Effectiveness : PUE) ไม่เกิน 1.9 เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพในการให้บริการ และเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมศูนย์ข้อมูลอีกด้วย
นอกจากนี้ คณะทำงานฯ ได้พิจารณาแนวทางในการส่งเสริมการลงทุน เช่น บริษัทที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และการสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า ซึ่งจะต้องดำเนินการคู่ขนานไปกับการดำเนินการด้านมาตรฐาน โดยพิจารณาจากมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ความพร้อมด้านการใช้งาน (Availability) วัสดุอุปกรณ์และพลังงานสีเขียว (Green) และคลาวด์ (Cloud)
ศูนย์ข้อมูลในประเทศ หรือ Data Center ถือเป็นหัวใจสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพตามนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) โดยที่ผ่านมาการลงทุนของภาครัฐในเรื่องของศูนย์ข้อมูล มีการจัดทำแบบเป็นเอกเทศ ขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ส่งผลให้เกิดงบประมาณในการลงทุน และมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการค่อนข้างสูง รวมทั้งระบบบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ของภาครัฐหลายแห่งยังขาดมาตรฐานและความไม่พร้อมในการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้วางนโยบายด้านการจัดการ แผนการดำเนินงาน การกำหนดมาตรฐาน รวมทั้งสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก ทั้งบริษัทคนไทยและต่างชาติ โดยขณะนี้มีบริษัทต่างชาติหลายรายสนใจที่จะย้ายฐานเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งเป็นศูนย์กลางในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)”นายพรชัยฯ กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย