- Details
- Category: DES
- Published: Thursday, 04 December 2014 22:46
- Hits: 3842
'ประยุทธ์'เล็งเปลี่ยนชื่อ'ไอซีที' จ่อรื้อกม.เศรษฐกิจดิจิตอล
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาโพสต์ทูเดย์ ฟอรั่ม พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง'เศรษฐกิจดิจิตอล พลิกโฉมประเทศไทย' ที่โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์
ทั้งนี้ นายกฯ กล่าวตอนหนึ่งว่า รัฐบาลจะเร่งปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิตอล 5-6 ฉบับ ให้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ประมาณปลายธ.ค.57 หรือต้น ม.ค.58 รวมทั้งจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล และจะปรับเปลี่ยนชื่อกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) มาเป็น"กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม"ทำหน้าที่ในการประสานนโยบายเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจดิจิตอลเข้าไว้ด้วยกัน
รัฐบาลเตรียมเสนอกฎหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลเข้า สนช.ต้น ม.ค.58
นายพรชัย รุจิประภา รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) เปิดเผยว่า รัฐบาลเตรียมผลักดันร่างกฏหมายเศรษฐกิจดิจิทัล 2 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ประมาณช่วงต้นเดือน ม.ค.นี้ ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน, มีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นประธานด้านเซอร์วิสอินฟราสตัคเจอร์ และมีอธิบดีกรมเศรษฐกิจดิจิทัลทำหน้าที่เลขานุการ เพื่อให้มีการบริหารจัดการที่เป็นเอกภาพ และร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนชื่อกระทรวงไอซีทีเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
นอกจากนี้ รัฐบาลเตรียมเสนอกฏหมายที่เกี่ยวข้องให้ สนช.พิจารณาต่อไป ประกอบด้วย 1.ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2.ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการทำธุรกรรมอิเลคทรอนิกส์ 3.ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 4.ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ 5.ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยส่งเสริมอุตสาหกรรมและกิตการด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และ 6.ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเลกทรอนิกส์
นายพรชัย กล่าวว่า ในระหว่างที่รอร่างกฏหมายผ่านการพิจารณา ทางกระทรวงฯ จะเดินหน้าบูรณาการโครงข่ายพื้นฐานภาครัฐ ไปถึงระดับตำบลทุกตำบล และนำข้อมูลทั้งหมดมาบูรณาการ คาดว่าสิ้นปี 58 จะสามารถดำเนินการได้ 70-80% และจะเสร็จสมบูรณ์ได้ภายในสิ้นปี 59 พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานสถิติแห่งชาติทำการเก็บข้อมูลเป็นพื้นฐานหลักเพื่อนำไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้จะมีเพิ่มประสิทธิภาพการพยากรณ์อากาศให้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อชาวประมงหรือเกษตรกรด้วย
สำหรับ ในปี 58 ได้กำหนดโครงการนำร่อง ประกอบไปด้วย 1.โครงการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศแบบบูรณาการ จัดการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิตของโรงเรียนชายขอบ งบประมาณ 95 ล้านบาท 2.โครงการพัฒนาธุรกิจให้บริการเข้าใช้ระบบวางแผนทรัพยากรองค์กรผ่านระบบคลาวว์สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม งบประมาณ 940 ล้านบาท 3.โครงการพัฒนาNationnal API'S Platform เพื่อรองรับนวัตกรรมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม งบประมาณ 144 ล้านบาท และ 4.โครงการบริการรับฝากภาพCCTV เพื่อป้องกันและติดตามอาชญากรรม งบประมาณ 70 ล้านบาท
ด้านนายสิทธิชัย โภไคยอุดม นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ในฐานะอดีต รมว.ไอซีที กล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิทัลมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจและสังคมในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการค้าขาย อีคอมเมิร์ช ระบบโทรคมนาคม ธุรกรรมทางการเงิน ด้านการศึกษา ด้านความมั่นคง และด้านสุขภาพ
ดังนั้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาใน 2 ส่วนสำคัญ คือ 1.ด้านโครงข่ายพื้นฐานที่จับต้องได้ ซึ่งจำเป็นต้องวางโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติคให้มีความครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมีข้อเสนอว่า ควรจะมีการวางไฟเบอร์ออฟติคมครอบคลุมทุกหมู่บ้านภายใน 1 ปี และเข้าถึงทุกบ้านภายใน 3-4 ปี มีการวางระบบเครือข่ายโทรศัพท์ 3G และ 4G ให้ครอบคลุมและเพิ่มความเร็วให้มากกว่านี้ พร้อมทั้งสนับสนุน Data Center ให้รัฐและเอกชนได้ใช้งานได้ พร้อมทั้งปรับปรุงกฏระเบียบต่างๆให้ข้อมูลดิจิตัลให้มีความปลอดภัย รวมไปถึงปรับปรุงฐานข้อมูลทางราชการให้ทุกหน่วยงานสามารถเข้าถึงข้อมูลราชการได้ และทุกหน่วยงานต้องเรียนรู้การใช้งานเพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน หากไม่ปฏิบัติตามก็ให้มีการกำหนดบทลงโทษไว้ด้วย
ขณะที่นายโกศล เพ็ชร์สุวรรณ์ ประธานคณะกรรมการธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มูลค่าธุรกิจไอซีทีในปี 56 มีมูลค่าถึง 1.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 10% ของจีดีพี ซึ่งเศรษฐกิจทุกภาคส่วนจำเป็นต้องมีเรื่องดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อน
พร้อมกันนี้ได้เสนอให้รัฐบาลต้องหาแนวทางเชื่อมต่อระบบไฟเบอร์ออฟติคของภาครัฐและเอกชนเข้าด้วยกัน เพื่อลดปัญหาการลงทุนซ้ำซ้อน และหาแนวทางให้ค่าบริการโทรคมนาคมไม่สูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ และเสนอแนวคิดการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน นำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะเป็นกองทุนในลักษณะที่ได้หวังผลกำไร แต่จะเป็นกองทุนในการช่วยลดต้นทุนเรื่องของโครงข่ายให้ต่ำลงและให้ประชาชนได้เป็นเจ้าของอย่างแท้จริง
ส่วนเรื่องการจัดตั้งเกตเวย์ก็เสนอให้ตั้งเป็นลักษณะอินฟราสตัคเจอร์ฟันด์ เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามามีส่วนร่วม พร้อมทั้งต้องบริหารจัดการให้เกตเวย์มีความมั่นคงและเกิดประโยชน์สูงสุด
อินโฟเควสท์
นายกฯ หนุนไทยก้าวสู่ระบบศก.ดิจิตอล คาดเสนอกม.ให้สนช.ได้ไม่เกินม.ค.58
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง'เศรษฐกิจดิจิตอล พลิกโฉมประเทศไทย'ยืนยันว่า รัฐบาลจะเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอล เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจและทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ โดยมองว่าเศรษฐกิจดิจิตอลถือว่ามีมูลค่าสูง จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลในเรื่องนี้
"วันนี้ เราต้องทำอย่างไรให้ประเทศเดินหน้าได้รวดเร็ว รายได้และมูลค่าในด้านนี้มหาศาล วันนี้มีคนเคยบอกว่าเราเคยเป็นเสือในอาเซียน แต่เสือตัวนี้ยังหมอบอยู่ แต่เรามีขาที่แข็งแรงพร้อมทะยานออกไปข้างนอก วันนี้เสียเวลาไม่ได้อีกแล้ว" นายกรัฐมนตรี กล่าว
พร้อมระบุว่า รัฐบาลจะเร่งผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิตอลจำนวน 5-6 ฉบับ ให้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ราวปลายเดือน ธ.ค.57 หรือต้นเดือน ม.ค.58 รวมทั้งจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล และจะมีการปรับเปลี่ยนชื่อกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) มาเป็น"กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม"สำหรับทำหน้าที่ในการประสานนโยบายเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจดิจิตอลเข้าไว้ด้วยกัน
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า สิ่งที่รัฐบาลจะดำเนินการคือ จัดทำ Data Center ในการรวบรวมข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการ ทั้งด้านการศึกษา และด้านธุรกิจ เป็นต้น พร้อมกันนี้จะจัดทำเว็บไซต์ที่ให้บริการฐานข้อมูลของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) รวมถึงมีกองทุนสนับสนุนเด็กรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาทำโครงการต่างๆ ในด้านนี้
นอกจากนี้ รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะทำ International Gateway รวมถึงจะมีช่องทางในการสนับสนุนประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้สามารถจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่าการทำธุรกรรมทางการเงิน การจองโรงแรม ตลอดจนร้านอาหารต่างๆ ก็เข้าสู่ระบบดิจิตอลเกือบหมดแล้ว ขณะเดียวกันดิจิตอลยังได้เข้ามาสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ และการประกวดราคาให้มีความสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้นด้วย
อินโฟเควสท์
นายกฯ ลั่นเดินหน้าประมูล 4G ปี 58 ยันไม่ยุบ TOT-CAT แต่หนุนควบรวม
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าจะสามารถเริ่มเปิดประมูลโครงข่ายระบบ 4G ในปี 58 และไม่มีนโยบายที่จะยุบ บมจ. ทีโอที (TOT) และ บมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT) แต่มีแนวคิดจะให้ทั้งสองหน่วยงานไปรวมกันแล้วอยู่ใต้สังกัดกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
พร้อมทั้งเปิดเผยว่า รัฐบาลจะเดินหน้าสร้างโรงงานกำจัดขยะในปีหน้า โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพิจารณารายละเอียด แต่เบื้องต้นจะเริ่มแห่งแรกที่ จ.พระนครศรีอยุธยา