- Details
- Category: DES
- Published: Monday, 20 January 2020 16:33
- Hits: 732
เอไอเอส นำเทคโนโลยีสื่อสาร สนับสนุนบริการทางการแพทย์ แก่คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่หลังเขื่อนภูมิพล
คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส นำเทคโนโลยีระบบสื่อสารโทรคมนาคม เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการติดต่อสื่อสารระหว่างทีมพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลสัญญาณโทรคมนาคมระหว่างการลำเลียงช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทางเรือได้อย่างเหมาะสม ภายใต้ “โครงการวิจัยและพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินทางเรือ” เพื่อลดความเสี่ยง เพิ่มความปลอดภัย และสร้างรากฐานการให้บริการสุขภาพ โดยเฉพาะระบบส่งต่อประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินในพื้นที่หลังเขื่อนภูมิพล ต.บ้านนา อ.สามเงา จ.ตาก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สัญญาณการสื่อสารทุกประเภทยังเข้าไปไม่ถึง และพื้นที่โดยรอบก็ยังมีสัญญาณไม่ครอบคลุม ทั้งนี้ โครงการวิจัยของคณะพยาบาลศาสตร์ครั้งนี้ เริ่มต้นด้วยปัญหาของพยาบาลในพื้นที่ระหว่างการให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน ความตระหนักและความต้องการของประชาชน ผู้แทนขององค์กร หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ รวมถึง ทีมนักวิจัยจากคณะพยาบาลศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ นักอุทกศาสตร์ พยาบาลวิชาชีพและนักวิชาการสาธารณสุขในพื้นที่
สำหรับ “โครงการวิจัยการพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินทางเรือ” ในครั้งนี้ เอไอเอส ได้ให้การสนับสนุนเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยยกระดับโครงสร้างพื้นฐานระบบสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการพัฒนาระบบการรักษาพยาบาลประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินในพื้นที่หลังเขื่อนภูมิพล และบริเวณใกล้เคียงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยก่อนหน้านี้ ประชาชนที่เกิดอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง หรือได้รับการบาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุ ต้องได้รับการส่งต่อเพื่อการรักษาอย่างเร่งด่วนในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูง ทั้งด้านบุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย ซึ่งโดยปกติ ขณะที่ยังไม่มีสัญญาณมือถือ ภายหลังพยาบาลวิชาชีพผู้ดูแลพื้นที่ได้ปฐมพยาบาลแล้ว หากจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษานอกพื้นที่ พยาบาลจำเป็นต้องใช้วิทยุสื่อสารถึง 3 ช่วง คุยต่อกันเป็นทอดๆ เพื่อจะติดต่อโรงพยาบาลบนฝั่งได้ และจะต้องใช้เวลาเดินทางตั้งแต่ 1 ถึง 5 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับสมรรถนะของเรือ
จึงนับเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องพัฒนาระบบเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีศักยภาพสูง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสาร ระหว่างพยาบาลในพื้นที่และแพทย์ในโรงพยาบาล และติดตามเฝ้าระวัง ก่อนที่จะส่งต่อการรักษาไปยังโรงพยาบาลที่มีความพร้อมในพื้นที่ใกล้เคียง ช่วยให้ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนั้น ระหว่างการลำเลียงผู้ป่วยทางน้ำพยาบาลสามารถติดต่อกับแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยให้การดูแลผู้ป่วยตามอาการที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมและปลอดภัย
AO1306
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web