- Details
- Category: DES
- Published: Wednesday, 14 August 2019 18:03
- Hits: 2791
15 ปี ICT SILPAKORN
การพัฒนาหลักสูตรเพื่อพัฒนาคนสู่ธุรกิจสื่อดิจิทัลคอนเทนต์
หลังจากที่เปิดสอนมาครบรอบ 15 ปี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร (ICT SILPAKORN) ได้มีการจัดนิทรรศการเพื่อรวบรวมผลงานในด้านต่างๆ ของศิษย์เก่าที่มีประสบการณ์การทำงานจากบริษัทชั้นนำของประเทศ ทั้งงานด้านโฆษณา ภาพยนตร์ แอนิเมชั่น เกม รวมทั้งผลงานอื่นๆ ในธุรกิจดิจิทัลที่เป็นของคนไทยและต่างชาติ นอกจากนี้แล้วยังมีแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร (ICT SILPAKORN) เปิดสอนมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2546 ใน 3 สาขาวิชา ได้แก่ 1.สาขาวิชาธุรกิจดิจิทัล เป็นการผสมผสานศาสตร์ทางการบริหารจัดการกับศาสตร์ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ 2.สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการออกแบบ มี 3 วิชาเอกคือ การออกแบบแอนิเมชั่น การออกแบบเว็บและสื่อโต้ตอบ และการออกแบบเกม 3.สาขานิเทศศาสตร์ มี 3 วิชาเอก ได้แก่ เอกการสื่อสารธุรกิจ การสื่อสารมวลชน และภาพยนตร์
ผศ.ณัฐพร กาญจนภูมิ รักษาการแทนรองคณบดีฝ่ายบริหาร เปิดเผยว่า จุดเด่นของ ICT SILPAKORN คือการบูรณาการทั้ง 3 สาขาเข้ามารวมกัน เพื่อสร้างบัณฑิตให้นักศึกษามีความเชี่ยวชาญทางด้านศิลปะและสามารถเขียนโปรแกรมได้ด้วย ทุกหลักสูตรนักศึกษาจะได้รู้พื้นฐานเหมือนกันหมด พอขึ้นชั้นปีที่สูงขึ้นจะเริ่มเรียนวิชาเฉพาะทางมากขึ้น สำหรับการพัฒนาหลักสูตรหรือแนวทางการเรียนนั้นได้มีการพัฒนาร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ เพื่อจะได้ทราบว่าต้องการบุคลากรแบบไหน จึงทำให้ตลอดเวลา 15 ปีที่เปิดสอนคณะนี้มาได้พัฒนาและสร้างคนสู่ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ จำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศมีความต้องการบุคลากรที่จบในสาขาต่างๆ ตัวอย่างเช่น ในสาขาการออกแบบแอนิเมชัน มีการเติบโตสูงและได้รับความสนใจจากอุตสาหกรรมในต่างประเทศ โดยเฉพาะงานที่มีโปรดักชั่นค่อนข้างใหญ่ที่ต้องใช้บุคลากรที่มีความสามารถจำนวนมาก ดังนั้น ICT SILPAKORN จึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนและตลาดแรงงาน โดยทุกปีได้มีการเชิญศิษย์เก่าและผู้ประกอบการเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาหลักสูตร เพราะการนำประสบการณ์จริงจากผู้เรียนว่าสามารถนำความรู้ไปใช้ในการทำงานได้อย่างไรบ้าง หรือต้องการให้มีการพัฒนาหลักสูตรไปในทิศทางใด เพื่อให้เกิดประโยชน์กับรุ่นน้องมากที่สุด นอกจากนี้แล้วแนวความคิดของผู้ประกอบการที่รับนักศึกษาเข้าไปทำงาน เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าหลักสูตรของ ICT SILPAKORN ได้สร้างประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรมได้มากน้อยแค่ไหน และจะต้องมีการพัฒนาในเรื่องใดบ้าง เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ธุรกิจสื่อดิจิทัลได้มากที่สุด
ทั้งนี้ จากการได้เชิญศิษย์เก่ามาร่วมประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็นต่อการพัฒนาหลักสูตรในอนาคต ส่วนใหญ่ระบุว่าหลักสูตรนี้ตอบโจทย์ความต้องการของการตลาดแรงงานและภาคธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยการเรียนจากหลักสูตรนี้สามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานได้ถึง 90% แต่ต้องมีการปรับเรื่อง หลักสูตรนี้น่าจะเจาะลึกถึงรายละเอียดและมีความหลากหลาย เพื่อนำมาใช้ในการทำงานได้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้แล้วยังสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการจัดหลักสูตรว่า ศิษย์เก่าที่เรียนจบมีโอกาสได้นำเอาความรู้จากหลักสูตรนี้มาประยุกต์ใช้ในการทำงานด้านแอนิเมชั่นให้กับภาพยนตร์ทั้งในและต่างประเทศด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิก จึงมั่นใจว่าหลักสูตรนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการทำงานด้านการผลิตภาพยนตร์อยู่หน้าคอมพิวเตอร์ โดยไม่ต้องออกไปทำงานที่กองถ่าย ซึ่งอาจไม่ตอบโจทย์ของคนรุ่นใหม่ที่ไลฟ์สไตล์การทำงานได้เปลี่ยนไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ศิษย์เก่าได้ระบุว่าการเรียนการสอนต้องมีการปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตร ที่สำคัญอาจารย์ผู้สอนก็จำเป็นต้องอัพเดทข้อมูลใหม่ๆ ตลอดเวลา เพื่อก้าวตามโลกที่เปลี่ยนไป และทำให้การเรียนการสอนมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
ทางด้านแนวคิดของผู้ประกอบการที่รับนักศึกษาจาก ICT SILPAKORN มีมุมมองว่า สามารถผลิตบุคคลากรได้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับภาพยนตร์ งานโฆษณา งานเบื้องหลังต่างๆ ซึ่งตลาดยังต้องการบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ และเห็นว่านักศึกษาที่รับมามีทักษะการทำงานดี โดยเฉพาะงานทางด้านศิลปะ ทั้งนี้ ต้องการให้สถาบันปลูกฝังแนวคิดที่ดี มีความรับผิดชอบ สามารถทำงานเป็นทีมได้ ที่สำคัญต้องเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว และมีความเป็นมืออาชีพในสายงานที่ทำ
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มั่นใจว่า ICT SILPAKORN เป็นสถาบันที่มีศักยภาพสูงในการผลิตนักศึกษาเพื่อรองรับตลาดด้านดิจิทัลมีเดีย แต่สิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขคือการทำงานเป็นทีม เนื่องจากในอุตสาหกรรมดิจิทัลมีเดีย การทำงานต้องอาศัยทีมเวิร์คเพื่อให้งานเดินหน้าต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้แล้วต้องการให้สถาบันการศึกษาและนักศึกษาตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ของตนเอง เพราะธุรกิจต้องการคนที่พร้อมทำงาน มีความเป็นมืออาชีพและทำงานได้จริง ดังนั้น นักศึกษาต้องเตรียมความพร้อมและสถาบันการศึกษาควรมุ่งเน้นทั้งภาคปฏิบัติควบคู่ไปกับงานวิชาการ
สำหรับความโดดเด่นสำคัญที่ผู้ประกอบการเห็นว่าการเรียนการสอนของ ICT SILPAKORN มีครบองค์ประกอบทั้งด้านการดีไซน์และการเขียนโปรแกรม ทำให้นักศึกษามีความสามารถทั้งการคิดคอนเซ็ปต์ ออกแบบและการสร้างสรรค์ผลงาน จากการประเมินคุณภาพการทำงานพบว่ามีความพร้อมทำงานได้ทันที สามารนำความรู้ที่เรียนไปประยุกต์ใช้ในงานได้หลากหลาย ทำให้นักศึกษาสามารถแข่งขันกับเวทีต่างประเทศได้ สิ่งสำคัญ มหาวิทยาลัยศิลปากรมุ่งเน้นในการปลูกฝังให้นักศึกษามีคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อพัฒนาคนดีให้เป็นคนเก่งในสังคม
AO08224
Click Donate Support Web