- Details
- Category: DES
- Published: Tuesday, 02 October 2018 16:54
- Hits: 3729
'เน็ตประชารัฐ'จากสายไฟเบอร์ สู่โอกาสของคนไทยทั้งประเทศ
“เมื่อรัฐบาลได้ลงทุนสร้างโครงข่ายเน็ตประชารัฐให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านแล้ว ก็ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์ นำมายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างกิจกรรมในชุมชน สร้างโอกาส สร้างรายได้ สร้างความเป็นธรรมเพื่อปรับเปลี่ยนประเทศให้ดีขึ้น ช่วยให้ประเทศหลุดพ้นกับดักความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวมถึงช่วยกำจัดความยากจนด้วย”
เป็นความตั้งใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่อยากเห็นการพัฒนาประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จึงเป็นที่มาของโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ที่รัฐบาลตั้งเป้าขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ (เน็ตประชารัฐ) เชื่อมโยงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ (ASEAN Digital Hub) และขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต
โครงการเน็ตประชารัฐ
เป็นการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสื่อสัญญาณสายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) และจัดให้มีจุดบริการอินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย (Wi-Fi) โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายกับผู้ใช้บริการ หมู่บ้านละ 1 จุด
เจาะพื้นที่ที่ไม่มีใครเข้าไปให้บริการอินเทอร์เน็ต เพราะไม่คุ้มค่าใช้จ่าย หรือเรียกว่า Zone C มีอยู่จำนวน 40,432 หมู่บ้าน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมติดตั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตเสร็จเรียบร้อยพร้อมใช้งานแล้ว 24,700 หมู่บ้าน ส่วนที่เหลืออีก 15,732 หมู่บ้าน สำนักงาน กสทช. กำลังเร่งดำเนินการ
สำหรับ 24,700 หมู่บ้าน ที่มีโครงข่ายอินเทอร์เน็ตพร้อมแล้ว รัฐบาลเตรียมจะติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อป้องกันไฟกระชากหรือไฟตก จัดกิจกรรมให้ความรู้แก่ครู กศน. ผู้นำชุมชน ผู้ประกอบการ และผู้ที่สนใจ เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐ
นอกจากนี้ จะประเมินผลสำเร็จของโครงการจากการสำรวจความคิดเห็นของคนในพื้นที่ และดูแลบำรุงรักษาโครงข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง
ใครที่อยากรู้พิกัดหมู่บ้านเน็ตประชารัฐ สามารถค้นหาได้ที่นี่ https://goo.gl/XbmHcE
แต่...ประเทศไทยยังมีพื้นที่ Zone C+ ซึ่งนอกจากจะเป็นพื้นที่ที่ไม่มีใครเข้าไปให้บริการอินเทอร์เน็ตแล้ว ยังยากลำบากต่อการเข้าถึงอีกด้วย ส่วนนี้ครอบคลุม 3,920 หมู่บ้าน ซึ่ง สำนักงาน กสทช.กำลังดำเนินการอยู่เช่นกัน
โครงการ ASEAN Digital Hub
เป็นการเชื่อมต่อโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศให้มีความจุเพียงพอรองรับความต้องการของประเทศไทยและเพื่อนบ้าน ลดค่าบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตต่างประเทศ และส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของอาเซียน
ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดหาอุปกรณ์เพิ่มความจุโครงข่ายเชื่อมโยงไปยังชายแดน ส่วนการขยายความจุโครงข่ายเคเบิ้ลใต้น้ำระหว่างประเทศของระบบที่มีอยู่ ล่าสุดดำเนินการแล้วเสร็จ 980 Gbps จากทั้งหมด 1,770 Gbps ที่เหลือกำลังเร่งดำเนินการ
ไม่เพียงเท่านั้น...จะมีการก่อสร้างโครงข่ายเคเบิ้ลใต้น้ำระหว่างประเทศเส้นใหม่ ความจุรวม 200 Gbps ซึ่งมาเลเซียสนใจร่วมลงทุน และกำลังรอทางจีน กัมพูชา และเวียดนาม ว่าจะเข้าร่วมด้วยหรือไม่
โครงการขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต
เป็นการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและปรับปรุงโครงข่ายที่เป็นเทคโนโลยีแบบเก่าให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไปยังโรงเรียน ไม่น้อยกว่า 3,196 แห่ง และโรงพยาบาลของรัฐ ไม่น้อยกว่า 812 แห่ง ที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าถึง และขยายความจุอินเทอร์เน็ตให้กับโรงพยาบาล รวม 20 แห่ง
ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแผน และมีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี
นายกรัฐมนตรีย้ำว่า... 'เน็ตประชารัฐ' เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยพลิกโฉมหน้าประเทศไทย โดยเฉพาะการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีความแข็งแกร่งโดยคาดว่า จะมีร้านค้าออนไลน์/ร้านค้าประชารัฐเกิดขึ้นราว 10,000 แห่ง มีสินค้าและบริการจากชุมชน 50,000 รายการ สร้างรายได้ให้แก่หมู่บ้าน ๆ ละ 300,000 บาทต่อปี มีผู้ประกอบการ SMEs 3 ล้านราย และเกิดการจ้างงาน 10 ล้านคน ทำให้เศรษฐกิจชุมชนหมุนเวียนได้อย่างยั่งยืน
Click Donate Support Web