- Details
- Category: สตรี
- Published: Thursday, 05 May 2022 23:18
- Hits: 2356
99 พรรษา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นพระเชษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 และ 9 และทรงเป็นสมเด็จพระปิตุจฉาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10
ประสูติเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เป็นพระธิดาพระองค์แรกในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระนามแรกประสูติตามที่โรงพยาบาลตั้งถวายคือ May Songkla ซึ่งเป็นเดือนประสูติ ต่อมาเมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามว่า หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้รับประกาศเฉลิมพระเกียรติยศขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา
ในวโรกาสสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ทรงเจริญพระชันษาครบ 6 รอบ ในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการสถาปนา เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายใน มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฎว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ทรงสำเร็จการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี จากมหาวิทยาลัยโลซานน์ ทรงได้รับ Diplôme de Chimiste A ขณะที่ทรงศึกษาที่คณะวิทยาศาสตร์นั้น ยังทรงศึกษาหลักสูตรสังคมศาสตร์ Diplôme de Sciences Sociales Pédagogiques อันประกอบด้วยวิชาต่างๆ ในสาขาวิชาการศึกษา วรรณคดี ปรัชญา และจิตวิทยาด้วย
ตลอดชนมชีพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจมากมายเพื่อแบ่งเบาพระราชภาระพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยทรงรับโครงการต่างๆ ไว้ในพระอุปถัมภ์มากมาย ทั้งทางด้านการศึกษา สังคมสงเคราะห์ การแพทย์และสาธารณสุข การต่างประเทศ ศาสนาและอื่นๆ
ทรงมีความสนพระทัยงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขเป็นพิเศษ ด้วยทรงมีพระดำริว่า ปัญหาสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลเป็นเรื่องสำคัญ จึงทรงรับสืบทอดงานทางด้านนี้ต่อจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี คือ มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) หรือ หมอกระเป๋าเขียวที่ชาวบ้านเรียกกัน
ทรงเป็นประธานมูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ทรงก่อตั้งขึ้นร่วมกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยทรงลงพระนามขอจดทะเบียนก่อตั้งมูลนิธิด้วยพระองค์เอง พร้อมทั้งได้พระราชทานเงินทุนประเดิมร่วมกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในการก่อตั้งอีกด้วย มูลนิธิขาเทียมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำขาเทียมให้แก่ผู้พิการขาขาดที่ยากไร้ในชนบทโดยไม่คิดมูลค่า และค้นคว้า วิจัย พัฒนาชิ้นส่วนขาเทียมจากวัสดุภายในประเทศเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ อันเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ในประเทศและลดมูลค่าการขาดดุลการค้าลงด้วย และทรงดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิถันยรักษ์ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีอีกด้วย
และทรงเป็นประธานมูลนิธิหม่อมเจ้าบุญจิราธร (ชุมพล) จุฑาธุช ซึ่งมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการให้ทุนการศึกษาแพทย์ตามโครงการแพทย์ชนบท ให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาพยาบาลที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และให้ทุนการศึกษาสำหรับผู้ที่จะสมัครเป็นอาจารย์วิชาการพยาบาล
ในปี พ.ศ.2529 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงรับ “กองทุนหมอเจ้าฟ้า” ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไว้ในพระอุปถัมภ์ และได้พระราชทานเงินจากทุนการกุศลสมเด็จย่า และทุนการศึกษา กว. สมทบเข้ากองทุนเป็นประจำทุกปีเสมอมามิได้ขาด เพื่อให้อาจารย์แพทย์ไปศึกษาฝึกอบรมยังต่างประเทศ และเป็นทุนอุดหนุนการศึกษาจัดสรรให้นักศึกษาที่เรียนดีแต่ขัดสนสำหรับนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาอีก 5 คณะในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้แก่ คณะทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ และสัตวแพทยศาสตร์
นอกจากนี้ ยังทรงรับมูลนิธิและกองทุนการกุศลต่างๆ ทางด้านสาธารณสุขไว้ในพระอุปถัมภ์อีกหลายหน่วยงาน ได้แก่ มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย กองทุนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเพื่อพัฒนาการพยาบาล ศิริราชมูลนิธิ มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ มูลนิธิช่วยการสาธารณสุข มูลนิธิส่งเสริมสวัสดิภาพสตรีและเยาวชน มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ มูลนิธิช่วยการสาธารณสุข สมาคมพยาบาลสาธารณสุขไทย มูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลราชานุกูล มูลนิธิสงเคราะห์เด็กพิการทางสมองและปัญญา โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ มูลนิธิโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มูลนิธิโรงพยาบาลเลิดสิน
นอกจากนี้ เมื่อปี พ.ศ.2545 ยังโปรดเกล้าฯ ให้ทีมสัตวแพทย์ 4 คน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามเสด็จไปออกหน่วยเคลื่อนที่กับ พอ.สว. เพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาโรคสัตว์และการดูแลสัตว์เลี้ยงแก่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ได้แก่ เชียงราย น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พะเยา และพิษณุโลก
เนื่องในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2566 จะเป็นวาระครบรอบ 100 ปี วันประสูติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประเทศไทยจึงได้เสนอพระนามให้องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ องค์การยูเนสโก (UNESCO) พิจารณาประกาศยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก เพราะพระองค์ทรงประกอบพระกรณียกิจนานัปการด้วยพระปณิธานแนวแน่ที่จะทำประโยชน์เพื่อประชาชนชาวไทย และสังคมโลก ทั้งยังทรงยึดมั่นในคุณค่าของมนุษย์ และศักยภาพของการพัฒนาจึงทรงอุปถัมภ์กิจการทั้งปวงที่เกี่ยวกับด้านการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ การแพทย์และการสาธารณสุข สังคมสงเคราะห์ ด้านสัมพันธไมตรี การสื่อสารและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การศาสนาและศิลปวัฒนธรรม ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนและพสกนิกรชาวไทย ซึ่งองค์การยูเนสโกได้พิจารณาแล้ว และมีประกาศรับรองพระนามให้ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นบุคคลสำคัญของโลก เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ซึ่งทางรัฐบาลไทยจะร่วมมือกับภาคเอกชนจัดงานฉลองวาระดังกล่าวต่อไป
ตลอดระยะเวลา 84 ปี ที่ทรงมีพระชนม์ชีพอยู่นั้น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจมากมายแก่ประเทศชาติ ในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพครบ 99 พรรษา ขอเชิญปวงพสกนิกรชาวไทยได้ร่วมสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงพระกรณียกิจในด้านต่างๆ เพื่อความสุขแก่พสกนิกรชาวไทยทั่วไปทุกคน
A5120