- Details
- Category: สตรี
- Published: Monday, 21 December 2020 17:35
- Hits: 1933
ครบรอบ 10 ปี ‘ข้อกำหนดกรุงเทพ’ TIJ เดินหน้าพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิง
ผลักดันโครงการ ‘Every Steps Together: ก้าวที่ไม่โดดเดี่ยว’
ระดมความร่วมมือจากสังคมให้โอกาสผู้ก้าวพลาดเข้าสู่ตลาดแรงงานองค์กรภาครัฐ-เอกชนกว่า 30 องค์กร ร่วมประกาศเจตจำนงร่วมสนับสนุนเต็มที่ ให้ผู้พ้นโทษเริ่มต้นชีวิตใหม่ ปิดทางการกระทำผิดซ้ำ แก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำอย่างยั่งยืน
TIJ จัดเวทีเสนอนวัตกรรมทางความคิดเพื่อสร้างกลไกความช่วยเหลือผู้ก้าวพลาดย้ำการให้ “โอกาส” จากสังคมคือสิ่งสำคัญที่สุด เปิดมิติใหม่ฝึกอาชีพให้ผู้ก้าวพลาดสู่โลกดิจิทัล ให้ก้าวทันโลกยุคใหม่พร้อมทำงาน-ประกอบอาขีพเลี้ยงดูตัวเอง/ครอบครัวได้
รู้จัก “ข้อกำหนดกรุงเทพ”
“ข้อกำหนดกรุงเทพ” คือ ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา หรือพระองค์ภาฯทรงศึกษาเรื่องนี้และทรงร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยผลักดัน “ข้อกำหนดกรุงเทพ” (Bangkok Rules) กระทั่งได้รับการรับรองจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2553 และให้เกียรติประเทศไทยโดยใช้ชื่อเมืองหลวงประเทศไทยเป็นชื่อเรียกขาน ถือเป็นข้อกำหนดแรกของไทยในเวทีสหประชาชาติอันเป็นสากลและทั่วโลกยอมรับ
ปี 2563 ถือเป็นการครบรอบ 10 ปี การรับรองข้อกำหนดกรุงเทพ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อมุ่งยกระดับมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและผู้กระทำผิดหญิง ให้มีความเหมาะสมด้านเพศสภาพมากยิ่งขึ้น ตรงตามความต้องการเฉพาะด้านสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้หญิง และของเด็กติดผู้ต้องขัง ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) หน่วยงานภายใต้กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ มีส่วนสำคัญในการร่วมกันผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม
ประเทศไทยกับวงจร “การกระทำผิดซ้ำ” และ ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ต้องขังทั่วประเทศกว่า 348,809 คน (ตุลาคม 2563) ซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุดตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปีตั้งแต่ปี 2549 สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 1 ของภูมิภาคอาเซียน มีปริมาณผู้ต้องขังสูงเกือบเทียบเท่ากับประเทศที่มีประชากรมากกว่าประเทศไทยหลายเท่า เช่น อเมริกา จีน อินเดีย และ อินโดนีเซีย เป็นต้น
ขณะที่เรือนจำของประเทศไทยออกแบบมาเพื่อรองรับผู้ต้องขังเพียงแค่ประมาณ 200,000 คนเท่านั้น สะท้อนว่ามีจำนวนผู้ต้องขังเกินกว่าความจุเกือบเท่าตัว ส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องขังคดียาเสพติด (79%) และคดีเกี่ยวข้องกับทรัพย์ (11%) เป็นผู้หญิงกว่า 44,000 คน ผู้ชายกว่า 300,000 คน โดยในแต่ละปีจะมีผู้พ้นโทษออกมากว่า 200,000 คน แต่ภายใน 1 ปีแรกของการพ้นโทษ กว่า 15% หรือ 30,000 คน จะกระทำผิดซ้ำทันที และภายในปีที่ 3 หลังการพ้นโทษ ยอดผู้กระทำผิดซ้ำรวมจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 32% หรือ 64,000 คน
จากการวิจัยของ The Manhattan Institute ซึ่งสำรวจผู้พ้นโทษในประเทศสหรัฐอเมริกาพบกว่าผู้ที่ทำความผิดในคดีลหุโทษ (non-violent offenders) หากสามารถหาอาชีพได้หลังการพ้นโทษในปีแรก จะลดโอกาสการกระทำผิดซ้ำได้ถึง 20%
สำหรับประเทศไทย กว่า 70% ของผู้พ้นโทษ เป็นกลุ่มคนวัยทำงานที่อยู่ในช่วงอายุ 21-40 ปี และจากการสำรวจของ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ที่มีการสำรวจความต้องการของผู้ต้องขังหญิงหลังการพ้นโทษ พบว่า 21.2% มองว่า “การหาอาชีพ” เป็นเรื่องที่ต้องการได้รับการสนับสนุนมากที่สุด
เดินหน้าฝึกอบรมผู้ก้าวพลาดสู่ตลาดแรงงานและเป็นผู้ประกอบการรายจิ๋ว
ด้วยเหตุนี้ TIJ และเครือข่ายจึงได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่อง ในการให้ผู้ต้องหญิงได้มีทางเลือกในการประกอบอาชีพสุจริต ลดโอกาสการกระทำผิดซ้ำ และพร้อมสำหรับการเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังการพ้นโทษโดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมกับภาคราชการในการยกระดับขีดความสามารถของผู้ต้องขังหญิง พร้อมสร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ ภายใต้โครงการ “Every Step Together ก้าวที่ไม่โดดเดี่ยว” ด้วยการสร้าง “ระบบนิเวศธุรกิจ” ที่จะส่งเสริมให้ผู้ต้องขัง และอดีตผู้ต้องขังหญิงมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากที่สุดในการค้นหาและเริ่มต้นอาชีพหลังการพ้นโทษซึ่งรวมถึงการสร้างแรงจูงใจ และหลักประกันให้กับภาคธุรกิจที่พร้อมให้การสนับสนุนด้วย
โดยแบ่งเป็น 1. การส่งเสริมอดีตผู้ต้องขังหญิงสู่ตลาดแรงงานภายในระบบด้วย การฝึกอบรม (Training) อาชีพที่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันโดยกรมราชทัณฑ์ได้จัดตั้ง ศูนย์ประสานงานและส่งเสริมการมีงานทำ (CARE : Center for Assistance to Reintegration and Employment) โดยร่วมมือกับภาคเอกชนให้มีการฝึกทักษะทั้งภายในเรือนจำ และภายในสถานประกอบการ ไปจนถึงการรับลงทะเบียนและบริการจัดหางานให้แก่ผู้พ้นโทษทั้งนี้ภายใต้การเติบโตของยุคดิจิทัลและเทคโนโลยีและความท้าทายของสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เรือนจำต้องปรับโปรแกรมการฝึกอาชีพให้เข้ากับลักษณะตลาดที่เปลี่ยนไป โดยมุ่งเน้นมาที่งานเกี่ยวกับดิจิทัล (Digital Employability) มากขึ้น เช่น แนวทางการสร้าง Content ทางออนไลน์การใช้ platform delivery และ แนวทางการโปรโมทสินค้าออนไลน์ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการ (Incentivize) เพื่อให้มีการจัดจ้างผู้พ้นโทษเข้าทำงาน ได้แก่ มาตรการทางภาษี ปัจจุบันได้มีการอนุมัติมาตรการยกเว้นภาษีนิติบุคคลแก่บริษัทที่รับผู้พ้นโทษเข้าทำงาน
2. การส่งเสริมให้เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดจิ๋ว (Micro entrepreneurship) ซึ่งเป็นการต่อยอดจากความสำเร็จของธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจอาหารทางออนไลน์ ในช่วงโควิด-19 ประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาปกติถึง 20 - 30% (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย) TIJ จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรมราชทัณฑ์ โครงการกำลังใจในพระดำริฯ ริเริ่มโครงการ Street Food Academy ด้วยการออกแบบรถเข็นที่เชื่อมโยงกับนวัตกรรม Online Platform สามารถเข้าสู่ตลาดออนไลน์ได้ให้แก่อดีตผู้ต้องขังที่ผ่านการคัดเลือกและมีความพร้อมที่จะเริ่มต้นธุรกิจอาหารริมทาง โดยมีการให้ความรู้ทั้งด้านสูตรอาหารและความรู้ในการเป็นผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจขนาดจิ๋ว และขนาดเล็ก ได้ด้วยตนเอง
โดยภายในงานยังได้มีพิธีแสดงเจตจำนงร่วมกันระหว่างผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการสร้างโอกาสเพื่อการกลับสู่สังคมแก่อดีตผู้ต้องขังมากกว่า 30 องค์กร ที่ร่วมสนับสนุนโครงการ “Every Steps Together: ก้าวที่ไม่โดดเดี่ยว” อย่างเต็มที่ เพื่อให้โอกาสผู้พ้นโทษเข้าสู่ตลาดแรงงานในรูปต่างๆ ได้แก่ การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลเพื่อส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับผู้พ้นโทษ การร่วมสนับสนุนสินค้าและบริการจากผู้ต้องขังและอดีตผู้ต้องขัง การสนับสนุนเงินทุนเพื่อส่งเสริมการสร้างทักษะและการเริ่มต้นใหม่หลังการพ้นโทษการมีส่วนร่วมในจัดกิจกรรมฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ใกล้พ้นโทษ การปรับนโยบายด้านทรัพยากรบุคคลให้เปิดกว้างต่อการรับผู้พ้นโทษเข้าทำงาน และ การดำเนินการจ้างงานผู้พ้นโทษ โดยเห็นตรงกันว่า กลุ่มคนเหล่านี้คือ ทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญที่สามารถมาช่วยกันพัฒนาประเทศได้
ผลักดันการสร้างนวัตกรรมในเรือนจำสร้างสังคมปลอดภัย
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวว่าการจัดงานครบรอบ 10 ปี ข้อกำหนดกรุงเทพครั้งนี้ เราได้จัดทำโครงการ “Every Steps Together: ก้าวที่ไม่โดดเดี่ยว” เพื่อระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคมให้ “โอกาส” ให้ผู้ต้องขังที่พ้นโทษกลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพและสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยมีปัญหาผู้พ้นโทษกระทำผิดซ้ำสูงมาก ซึ่งต้องมีการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนเพราะการกระทำผิดซ้ำไม่เพียงแต่ส่งผลให้เกิดความแออัดในเรือนจำ ซึ่งจะเป็นวิกฤตสำคัญในยุคโควิด 19 เท่านั้นแต่การกระทำผิดซ้ำยังทำให้ประเทศไทยเสียโอกาส ในด้านทรัพยากรบุคคลที่พ้นโทษมาร่วมพัฒนาสังคม/ประเทศซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกสังคมไทยมองข้ามและไม่มีการให้พื้นที่/โอกาสในการประกอบอาชีพและเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้พ้นโทษ ในการเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างเพียงพอ ทำให้ผู้พ้นโทษจำนวนมาก ไม่มีที่ไป ไม่ได้รับการยอมรับ จนต้องกลับสู่วงจรชีวิตเดิมๆ และกระทำผิดซ้ำกลับสู่เรือนจำอีก
“สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักถึงกันในวันนี้คือ เรื่องการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ปลอดภัย ด้วยการให้ผู้ที่ก้าวพลาดที่มีความสำนึกผิดและกลับตัวเป็นคนดีที่พร้อมเป็นพลังให้กับสังคมได้รับโอกาสนี้จากสังคมอีกครั้ง ดังนั้น โจทย์ของเราในการครบรอบ10 ปี ข้อกำหนดกรุงเทพฯ ในวันนี้ คือ เราจะสร้างส่งเสริมนวัตกรรมในการช่วยเหลือผู้ต้องขังในการกลับสู่สังคมอย่างมีคุณภาพได้อย่างไร ซึ่งเราทราบกันดีว่าเรือนจำเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรจำกัด และยังมีความไม่เท่าเทียม เราต้องการนวัตกรรม ซึ่งคำนี้ไม่ได้หมายถึงแค่สิ่งประดิษฐ์ แต่ยังหมายถึงแนวคิดที่จะนำมาสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นด้วย” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กล่าว
ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวต่อว่าการที่จะไปถึงตรงนั้นได้ ต้องเริ่มจากการปรับ Mindset ของผู้ต้องขังและคนในสังคมว่าเรือนจำที่ไม่ได้ไว้เพียงเพื่อการคุมขัง แต่เป็น “พื้นที่สร้างโอกาส” ให้คนนับหนึ่งใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องเข้าใจร่วมกัน โดยเฉพาะในการให้โอกาสในการทำงานเลี้ยงชีพและครอบครัวซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้พ้นโทษต้องการมากที่สุด และคนที่จะให้ได้คือ คนในสังคมนั่นเอง เพราะเรื่อง “ความยุติธรรมเป็นเรื่องของคนทุกคน” (Justice is everyone matter) และคนทุกคนคือทรัพยากร “เราสามารถเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง” สร้างสังคมที่มีความปลอดภัยอยู่ร่วมกันได้
ชวนสังคมสร้าง “ต้นทุนชีวิต” ให้ผู้ก้าวพลาด/ผู้พ้นโทษ
ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่าการให้โอกาสผู้พ้นโทษเป็นสิ่งที่สังคมต้องเรียนรู้และร่วมมือกัน เราทุกคนต้องร่วมสร้างต้นทุนชีวิตให้แก่ผู้พ้นโทษให้เขารู้สึกมีความภาคภูมิใจในตัวเอง มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ภูมิใจในหน้าที่การงานและที่สำคัญคือให้เขารู้สึกว่าชีวิตเป็นสิ่งที่มีค่าและมีความหมายต้องรู้สึกหวงแหน ให้เขามีเป้าหมายในชีวิต รู้สึกว่าเขามีอะไรเขามีต้นทุนชีวิต และยอมไม่ได้ที่จะเสียมันไป นี่คือหัวใจสำคัญที่เราทุกคนในสังคมต้องรู้สึกร่วมและเห็นอกเห็นใจกัน (Empathy) เพราะที่ผ่านมาเราพบว่าผู้พ้นโทษจำนวนมาก ไม่สามารถสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาได้เลยถ้าสังคมไม่ให้โอกาส ทำให้ผู้พ้นโทษส่วนใหญ่ต้องกลับไปกระทำผิดซ้ำต้องโทษอีกครั้ง เพราะเขารู้สึกว่า “เขาไม่มีต้นทุนชีวิต” แบบที่เราทุกคนมี
“เรื่องนี้เป็นความท้าทายความคิดและการรับรู้ (Mindset and Perception) ของพวกเราทุกคน ในการกล้าที่จะให้โอกาส ผู้พ้นโทษเหล่านี้ กลับมามีที่ยืนในสังคมได้เราต้องช่วยกัน ต้องเปลี่ยนความรู้สึกและสายตาที่เรามองพวกเขาให้เหมือนมองคนปกติทั่วไป เพราะคนเหล่านี้ต้องการมีเพียงแค่โอกาสในการเริ่มชีวิตใหม่เท่านั้น และคำตอบนั้นขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคน ว่าเราอยากเห็นคนดีเพิ่มในสังคม หรือเห็นคนกระทำผิดซ้ำกลับไปต้องโทษในเรือนจำอีก”
ม.ล.ดิศปนัดดากล่าวต่อว่าอยากให้เราทุกคนเห็นภาพตรงกันว่า ผู้พ้นโทษต้องเผชิญด่านสำคัญในเรื่องการสมัครงาน ซึ่งมักจะมีการถามประวัติและคงมีไม่กี่แห่งที่จะให้โอกาส อีกทั้งการจะเป็นผู้ประกอบการก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องมีทุนในระดับหนึ่ง ดังนั้น เมื่อไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่มีโอกาส ไม่มีเกียรติ ก็ไม่มีทางออก และ กลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม ค้ายา เสพยา ติดคุกใหม่ เพราะไม่มีอะไรต้องเสีย นี่คือวงจรและความจริง ที่เราทุกคนควรเห็นร่วมกันว่า เราทุกคนในสังคมมีส่วนสำคัญที่จะปิดและอุดช่องว่างในวงจรนี้ ด้วยการให้โอกาสกับผู้พ้นโทษ ให้สามารถตั้งหลักใหม่กับชีวิตได้
ชี้โอกาสให้ผู้ก้าวพลาดใช้ทักษะความเป็นมนุษย์ฝึกฝน AI
ด้านคุณจรัล งามวิโรจน์เจริญ Chief Data Scientist & VP of Data Innovation Lab บริษัทเซอร์ทิส กล่าวว่าในฐานะที่ทำงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมานานและได้ทราบถึงความยากลำบากของผู้ก้าวพลาดที่พ้นโทษในการหางานทำซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะสังคมไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการให้โอกาสผู้พ้นโทษมากนักซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และทำความเข้าใจกันและกัน อย่างไรก็ตามเป็นที่น่ายินดีว่า เมื่อโลกของเราได้ก้าวสู่ยุคดิจิทัล งานจำนวนมากสามารถทำผ่านออนไลน์และทำงานอยู่เบื้องหลังและทำได้ทุกที่ อีกทั้งงานที่เป็นงานซ้ำๆ (Routine)ในปัจจุบันกำลังถูกแทนที่ด้วย AI (Artificial Intelligence) ซึ่งกว่า AI จะฉลาดและทำงานเองได้ ต้องอาศัยการฝึกฝน (Training) จากมนุษย์ (Human Supervise) โดยเฉพาะในงานด้านกระบวนการประมวลผลทางภาษาให้เป็นธรรมชาติ (Natural Language Processing :NLP) ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้พ้นโทษทำได้
“AI ไม่สามารถแยกแยะอารมณ์ของภาษาด้านบวกด้านลบด้วยตัวเองได้ และต้องการสอนจากมนุษย์ (Label Data) ซึ่งงานดังกล่าวเป็นงานที่เหมาะกับผู้พ้นโทษ เพราะสามารถทำได้จากทุกที่ทางออนไลน์ เป็นงานเบื้องหลังที่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยประวัติและตัวตน ทั้งนี้ไม่ว่า AI จะเติบโตมากแค่ไหน แต่มนุษย์ก็ยังมีทักษะที่เป็นจุดแข็งที่ AI ไม่สามารถแทนที่ได้ นั่นก็คือ ทักษะการสื่อสาร (Communication) ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทุกคนทำได้ และมีอยู่ในตัวอยู่แล้ว รวมถึงผู้พ้นโทษด้วย ขอเพียงแค่ให้โอกาสพวกเขาเท่านั้น” คุณจรัล กล่าว
ทั้งนี้ภายในงานยังมีการเสนอแนวทางและนวัตกรรม การสร้างโอกาสจากธุรกิจระดับชุมชน โดย คุณจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และ การสร้างกลไกทางเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการเปิดโอกาสให้ผู้พ้นโทษ โดย ดร. เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กระทรวงการคลังรวมถึง การสร้างนวัตกรรมและเครื่องมือทางการเงินและแหล่งทุนสำหรับนวัตกรรมทางสังคมสำหรับผู้พ้นโทษ โดย คุณรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต)
นอกจากนี้ยังได้มีการจัดนิทรรศการประสบการณ์จริง (Experiential Exhibition) ที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เข้าชมเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางใหม่ในการฝึกทักษะแก่ผู้ต้องขังหญิงในปัจจุบัน และการออกร้านโดยกลุ่มธุรกิจภาคสังคมและผู้พ้นโทษคู่ขนานกับกิจกรรมในห้องประชุมพร้อมทั้งมีการจัด Mini workshop การฝึกอาชีพสมัยใหม่เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ใกล้พ้นโทษ 1.สร้างอาชีพ YouTuber ด้วยมือถือเครื่องเดียว โดย ครูแม่อาย YouTuber เงินล้าน 2.เทคนิคการเปิดร้านบนแอปสั่งอาหาร โดย Robinhood 3.การโปรโมทสินค้าให้ติดตลาดออนไลน์ โดย ดีแทคเน็ตอาสาพร้อม Mini Concert จากคุณนนท์ ธนนท์ The Voice ด้วย
A12628
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ