- Details
- Category: ศาสนา
- Published: Sunday, 17 January 2016 22:27
- Hits: 10003
วิษณุ ไม่ห่วงตั้งสังฆราช บอกไทยไม่ปรองดอง เพราะสื่อผลักคนเลือกข้าง
'วิษณุ' เผย 'บิ๊กตู่'ไม่ห่วงปมเลือกสังฆราช ให้เวลา 'สุวพันธุ์'พิจารณาปมขัดแย้ง-ธรรมเนียมปฏิบัติหลังมส.ส่งชื่อ 'สมเด็จช่วง' ให้รัฐบาล เล็งเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถามข้อมูล บ่นสื่อหาว่าแทงกั๊ก บอกสังคมไทยไม่ปรองดองเพราะสื่อผลักคนเลือกข้าง
เมื่อวันที่ 17 มกราคม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่ประชุมกรรมการเถรสมาคม (มส.) ได้ส่งมติชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (สมเด็จช่วง) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นผู้ดำรงตำแหน่งพระสังฆราชองค์ใหม่แก่รัฐบาลเมื่อวันที่ 14 มกราคมที่
ผ่านมา เพื่อให้รัฐบาลนำความกราบบังคมทูลฯ ต่อไป ว่า ขณะนี้เรื่องยังมาไม่ถึงตน เพราะอยู่ในขั้นพิจารณาของนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ส่วนข้อทักท้วงต่างๆ ที่ส่งมายังรัฐบาล นายสุวพันธุ์ในฐานะรัฐมนตรีเจ้าสังกัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) จะเป็นผู้รวบรวมและพิจารณาส่วนตนในฐานะกำกับดูแลงานสำนักนายกฯ ก็อาจจะให้คำปรึกษา แต่ขณะนี้นายสุวพันธุ์ยังไม่มาปรึกษาอะไร เพียงแต่โทรศัพท์มาบอกว่าได้รับมติมส.แล้วแต่ขอเวลาศึกษาข้อเท็จจริง ขนบธรรมเนียม ประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมาก่อน
เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรีเคยปรารภหรือเป็นห่วงเรื่องดังกล่าวหรือไม่นายวิษณุ กล่าวว่า “ผมไม่เห็นว่าท่านเป็นห่วงก็เลยไม่รู้” เมื่อถามย้ำว่าแต่เรื่องดังกล่าวถือเป็นประเด็นในสังคมพอสมควร รองนายกฯ กล่าวว่า นายกฯไม่ได้ว่าอะไร หนังสือพิมพ์อาจทำให้เป็นข่าว เพราะมันเป็นข่าวจริง ไม่ได้ว่าอะไร
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากเรื่องมาถึงรองนายกฯ จำเป็นต้องเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็คงจำเป็น เพราะตนคงไม่สามารถทราบข้อมูลต่างๆ ด้วยตัวเองได้ โดยอาจจะเรียกแต่ละหน่วยงานมาคนละครั้งเพื่อแยกกันคุยกัน เพราะหากเรียกมาคุยคนละครั้งแล้วข้อมูลเหมือนกันก็คงหมดเรื่อง
“ก่อนเรื่องจะมาถึงผม ผมอาจจะพูดอะไรเยอะแยะตามภาษาคนไม่ต้องรับผิดชอบอะไร แต่พอเรื่องมาขั้นตอนของผม ผมต้องระมัดระวังคำพูด เพราะเมื่อพูดอะไรขึ้นมา จะเกิดการแปลขึ้นมาทันที เหมือนอยากที่หนังสือพิมพ์บางฉบับลงว่าฝ่ายโน้นว่าแบบนั้นฝ่ายนั้นว่าแบบนี้ ถือหางคนละฝ่าย มันจะถือหางได้อย่างไรพระก็ต้องถือชายจีวร ส่วนนายวิษณุนั้นแทงกั๊ก คือถ้าความเป็นกลางแปลว่าแทงกั๊ก ผมก็ยอมแทงกั๊ก แต่ทีนี้ทำไมคุณต้องไปจับประเด็นว่าสังคม ต้องมีฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ จะต้องเลือกเอาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดให้ได้ ถ้าอยู่กลางๆ ถือว่าแทงกั๊ก แต่แทงกั๊กก็ไม่ถือว่าผิดอะไร ข้อหาแทงกั๊ก แต่คุณดันไปตั้งหลักว่ามีสองฝ่าย แสดงว่าคุณผลักคนให้ไปอยู่ฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ สังคมไทยที่มันไม่ปรองดองก็เพราะเราไปนึกว่ามีคนอยู่สองฝ่าย ทำไมถึงไม่นึกว่ามีฝ่ายที่สาม ที่สี่บ้าง ทำไมคิดว่ามีแต่เหลืองกับแดง ทำไมถึงนึกว่ามีแต่ฝ่ายชอบทักษิณแบบสุดลิ่มทิ่มประตู กับฝ่ายเกลียดทักษิณโดยไม่ลืมหูลืมตา ไม่ฟังอะไรทั้งนั้น ทำไมจึงไม่มีฝ่ายอื่น
เหมือนพระพยอมที่ท่านพูดดีว่ารักใครก็อย่ารักจนหมดใจ เกลียดใครก็อย่าเกลียดจนหมดใจ เผื่อเอาไว้สักนิดหนึ่ง แบบถามคุณบอกว่ามีอยู่สองฝ่ายเท่านั้น ใครมาอยู่ฝ่ายนี้ก็ถือว่าอยู่ฝ่ายนี้ เหมือนที่นายจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บอกว่าใครไม่อยู่ฝ่ายสหรัฐฯ คือฝ่ายอัฟกานิสถาน ทำไมเป็นแบบนั้นล่ะ ทำไมไม่ฝ่ายที่บอกว่ามันไม่ดีทั้งสอง หรือผิดทั้งคู่ หรือถูกทั้งคู่บ้างหรือ” เมื่อถามย้ำว่าแสดงว่าขณะนี้กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าวถึงไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า “ผมว่าไม่ว่ารัฐบาล สมัยไหนก็เอาผมมาเป็นรองนายกฯ เพื่อให้อยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ไม่อย่างนั้นผมคงไปทำอย่างอื่นแล้วล่ะ”
ระบุ “นายกฯ” จำเป็นต้องรู้ข้อมูลทุกเรื่องจากทุกฝ่ายปมสังฆราช ไม่ขอพูดเรื่องเหมาะสมหรือไม่ ไม่ใช่หน้าที่ ลั่นไม่เคยพูดว่าขัดแย้งไม่ทูลเกล้าฯ เพียงบอกขัดแย้งได้ แต่ต้องไม่เกิดการฟ้องร้อง-แตกแยก-รุนแรง ระบุยังไม่จำเป็นต้องเรียกมส.คุยตอนนี้
เมื่อถามว่าข้อมูลที่จะหารือกับทุกหน่วยงานมีอะไรบ้างที่นายกฯจำเป็นต้องรู้ นายวิษณุ กล่าวว่า ถือว่าต้องรู้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่มีการกล่าวหากันเกิดขึ้น ต้องมาพูดกันว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร เพราะบางเรื่องตนเคยรู้ แต่บางเรื่องไม่เคยรู้มาก่อน เช่น ขณะนี้ตนยังไม่เห็นหนังสือร้องเรียนของพระสุวิทย์ ธีรธมฺโม (พระพุทธะอิสระ) เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อยเลย ซึ่งม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีอาจจะส่งตรงถึงนายกฯ เลยก็ได้
เมื่อถามว่าหลายคนระบุว่าทำไมต้องพูดแต่ในส่วนกฎหมาย แต่ไม่พูดถึงหลักความเหมาะสมบ้าง นายวิษณุ กล่าวว่า “ผมไม่มีหน้าที่ต้องพูดเรื่องความเหมาะสมหรือไม่ ที่หาว่าผมแทงกั๊กก็เพราะแบบนี้ คือจะให้ผมไปพูดอย่างอื่นไม่ได้หรอก เพราะหากผมเป็นคนอื่น หน้าที่อื่นก็คงไม่พูดถึงกฎหมาย สบายจะตายไป มันส์ดี แต่พออยู่ในตำแหน่งรองนายกฯ มันมีความรับผิดชอบ ถ้าผมไม่ยึดกฎหมายไว้ ผมตายแน่ ถ้าไม่ยึดหลักเอาไว้ มันจำเป็น คนอื่นจะไปยึดอย่างอื่นก็ยึดไป แต่มันต้องมีคนแบบผม แบบนี้มั้งที่เขาเรียกเนติบริกร”
นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่เคยพูดว่าหากยังขัดแย้งเรื่องการคัดเลือกพระสังฆราชจะไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ตนพูดเพียงว่าขัดแย้งหรือต่อต้านคัดค้านนั้นไม่เป็นไร เพราะไม่สนใจ แต่อย่าถึงขั้นแตกแยก แตกร้าว จนนำไปสู่ความรุนแรงหรือเกิดการฟ้องร้อง แบบนั้นไม่ได้ เพราะหากยังฟ้องร้องกันอยู่ อย่าว่าแต่ตำแหน่งพระสังฆราชเลย ตำแหน่งอื่นก็ไม่ได้เช่นกัน ส่วนถ้าถามว่ามีปัจจัยอื่นอีกหรือไม่ที่รัฐบาลอาจไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ก็มี แต่ตนขอไม่บอก
เมื่อถามว่าจะต้องมีการหารือกับมส.หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า “ขณะนี้ยังไม่เห็นความจำเป็น เพราะมส.ได้ส่งมติมาแล้ว ถือว่าท่านจบในภารกิจส่วนของท่าน หากมีอะไรเพิ่มเติมผมก็ต้องไปคุยกับพศ.แล้วให้พศ.ไปคุยต่อเอา แต่วันหนึ่งอาจจะจำเป็นต้องคุยยกับมส.ก็ได้ เนื่องจากผมกับพระก็ไม่ใช่คนแปลกหน้ากัน จึงไม่แปลกที่จะคุยกันเป็นการส่วนตัว แต่คงไม่ใช่การเชิญมส.มาสอบแน่นอน เพราะแบบนั้นคงไม่ลำบากอะไร อย่างวันก่อนผมก็เจอพระสมเด็จฯ มา 3 รูปในงานต่างๆ แล้ว แต่ท่านก็ไม่ได้ถามอะไรเรื่องนี้"
ไพบูลย์ บอก ไม่ได้ค้าน'สมเด็จช่วง' แค่ขอตรวจสอบ ถ้าโปร่งใสก็ไม่มีปัญหา
เมื่อวันที่ 17 มกราคม นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิกสภาฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีที่ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ก่อนการเลือกพระสังฆราชองค์ต่อไป ว่า ตนไม่ได้ไปยื่นฟ้องคัดค้านการแต่งตั้งสมเด็จช่วงเป็นพระสังฆราชองค์ต่อไป เพียงแต่ขอให้ดีเอสไอเข้ามาตรวจสอบในคดีรถหรูจดประกอบ ที่มีชื่อของสมเด็จช่วงเข้ามาพัวพัน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเกิดความสงบก่อนที่จะมีการแต่งตั้งพระสังฆราช ที่ผ่ามาคนที่ไม่เกี่ยวข้องได้พูดถึงประเด็นดังกล่าวกันค่อนข้างมาก ตนจึงมายื่นที่ดีเอสไอเพราะเห็นว่ามีอำนาจหน้าที่โดยตรง
อีกทั้ง ตนไม่ได้มายื่น เพราะเป็นช่วงที่กำลังจะมีการแต่งตั้งพระสังฆราชองค์ใหม่ หากแต่คดีดังกล่าวได้เกิดขึ้นมานานแล้ว ยังค้างคา และยังมีข้อครหาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง หากคดีนี้มีการตรวจสอบจนได้ข้อยุติก็จะทำให้ทุกอย่างเกิดความโปร่งใสและสิ้นกระแสข้อสงสัยของสังคม รวมทั้งยังเห็นจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายโดยเฉพาะสมเด็จช่วงเอง ถ้าตรวจสอบแล้วไม่ผิดก็เป็นเรื่องที่ดีจะได้ไม่มีปัญหาตอนแต่งตั้ง แต่ถ้าผิดก็ว่ากันตามกระบวนการของกฎหมาย
ส่วนที่มาการติติงว่าตนทำไม่เหมาะสมนั้น ก็เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดต้องสามารถถูกตรวจสอบได้ ซึ่งการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใสนี้มีแต่จะทำให้เกิดความสงบลดความขัดแย้งลงไป