- Details
- Category: ศาสนา
- Published: Sunday, 17 January 2016 21:33
- Hits: 9728
สงฆ์ อึดอัด-เป็นห่วงมส.โดนจาบจ้วง ดีเอสไอ โต้ยึดรถ วัดปากน้ำ
กลุ่มพระสงฆ์ รุ่นใหม่อึดอัดท่าทีนายกฯ กรณีแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช เตรียมออกแถลงการณ์ประกาศจุดยืน ระบุปล่อยให้พระภิกษุบางรูปเคลื่อนไหวจาบจ้วงพระมหาเถระโดยไม่ห้ามปราม หวั่นขัดแย้งบานปลาย ด้านดีเอสไอออกแถลงการณ์ยืนยัน'บิ๊กตู่'ไม่ได้สั่งใช้อำนาจมาตรา 44 สั่งให้บุกตรวจยึดรถโบราณในพิพิธภัณฑ์วัดปากน้ำ เตือนคนแชร์ระวังมีความผิด ชี้ต้นเหตุมาจากกรณีพุทธะอิสระยื่นให้ตรวจสอบรถจดประกอบ ด้านศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯ เตือนดีเอสไอยุติเล่นเกมการเมืองทำลายคณะสงฆ์ เตือนระวังตกเป็นเครื่องมือบางกลุ่มทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่สงฆ์และชาวพุทธ
วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9181 ข่าวสดรายวัน
เมื่อวันที่ 16 ม.ค. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวบนระบบอินเตอร์เน็ต โดยอ้างแหล่งข่าวว่ามาจากกลุ่มไลน์สถาบันปัญญานันทะระบุ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว สั่งการดีเอสไอประสานกำลังทหาร ตำรวจ กว่า 100 นาย เตรียมบุกจู่โจมวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เพื่อสอบสวนปากคำสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และประธานกรรมการมหาเถรสมาคม และยึดรถยนต์โบราณในพิพิธภัณฑ์ โดยประชุมลับและคาดว่าจะเข้าจู่โจมในอีกไม่เกินสองวันข้างหน้านั้น
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอชี้แจงทำความเข้าใจกับสาธารณชนให้ทราบโดยทั่วกันว่า นายกรัฐมนตรี ไม่ได้มีคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ให้ดีเอสไอปฏิบัติการในเรื่องดังกล่าว และดีเอสไอก็มิได้ประชุมลับ หรือเตรียมการจะปฏิบัติการตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด
แถลงการณ์ระบุว่ากรณีที่มีการสร้างข่าวเท็จขึ้นนี้ อาจเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่พุทธะอิสระหรือพระสุวิทย์ ธีรธัมโม วัดอ้อน้อย อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ยื่นเรื่องขอให้ดีเอสไอตรวจสอบการครอบครองรถยนต์ที่นำเข้ามาจากนอกราชอาณาจักรของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ดังที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่แล้ว เนื่องจากอยู่ระหว่างการตรวจสอบรถยนต์จดประกอบที่อาจนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร จำนวนกว่า 5,000 คัน ซึ่งก็รับเรื่องไว้ดำเนินการสืบสวนว่ามีความเป็นมาอย่างไร โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบทางเอกสารกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง อันเป็นขั้นตอนปกติในการปฏิบัติงานและเหมือนกับกรณีอื่นๆ จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ทราบ
แถลงการณ์ระบุต่อว่า ขอแจ้งเตือนไปยังกลุ่มบุคคลที่นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จบนระบบคอมพิวเตอร์ในเรื่องนี้ว่าการกระทำของท่านอาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) (2) ฐาน นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ ผู้อื่นหรือประชาชน หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน จึงขอประชาสัมพันธ์มายังพี่น้องประชาชนทุกท่านเพื่อทราบข้อเท็จจริงและขอให้ใช้วิจารณญาณในการรับข่าวสาร โดยเฉพาะที่ไม่ได้มาจากหน่วยงานราชการ และข้อมูลข่าวสารบนระบบอินเตอร์เน็ต มิฉะนั้นจะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพหรือผู้ไม่ประสงค์ดีต่อบ้านเมือง และการที่ท่านเผยแพร่ต่อซึ่งข้อความที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จ ก็อาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำ ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (5) ฐานเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอม พิวเตอร์อันเป็นเท็จด้วย
วันเดียวกัน พระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จันทสาโร) รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในฐานะเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ล่าสุดคณะสงฆ์ทุกจังหวัดที่เป็นแนวร่วมสนับสนุนให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 จับตาดูท่าทีของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด ในขณะที่กลุ่มฝ่ายค้าน ขอให้คำนึงถึงความถูกต้อง ความสงบของคณะสงฆ์ อย่าได้สร้างเงื่อนไข หรือทำการยั่วยุ ขอให้รัฐบาลทำงานได้อย่างตรงไปตรงมา เดินหน้าตามกฎหมาย
เลขาธิการศูนย์พิทักษ์ฯ กล่าวว่า องค์กรพุทธได้หารือร่วมกัน มีการกำหนดท่าทีใน 3 ประเด็น คือ 1.ให้รัฐบาลมีความชัดเจนในเรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช 2.ให้ดำเนินการตามกฎหมายและประเพณีปฏิบัติ และ 3.หากไม่ดำเนินการตามนั้น ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรวมกันแสดงสังฆมติ
"องค์กรพุทธพร้อมให้เวลารัฐบาลทำงาน ขอให้กำลังใจ แต่ก็จะเฝ้ามองอย่างใกล้ชิด ซึ่งนี่ไม่ใช่การข่มขู่ หรือพูดไม่เหมาะสม แต่ขอให้รัฐบาลยึดความถูกต้องเป็นหลัก ส่วนกรมสอบสวนคดีพิเศษขอให้ยุติการเล่นเกมทางการเมือง ทำแบบนี้จะกลายเป็นเครื่องมือของคนบางกลุ่ม ขอให้เคารพต่อคณะสงฆ์โดยปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา อย่าเป็นเครื่องมือทำลายล้างคณะสงฆ์" เลขาธิการศูนย์พิทักษ์ฯ กล่าว
นายชยพล พงษ์สีดา รอง ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามกรณีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 ว่า ในส่วนสำนักพุทธฯ คงต้องรอดูท่าทีจากฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะในวันจันทร์ที่ 18 ม.ค. ซึ่งนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯมาประชุมร่วมว่าจะสอบถามเรื่องใดมายังสำนักพุทธฯ บ้าง ส่วนกรณีที่ดีเอสไอจะเข้าไปตรวจสอบรถโบราณ ภายในพิพิธภัณฑ์ของวัดปากน้ำภาษีเจริญนั้น เชื่อว่า วัดปากน้ำฯ มีข้อมูลในเรื่องดังกล่าวที่จะนำเสนอชี้แจงอยู่แล้ว
พระครูกาญจนกิจจารักษ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดกาญจนสิงหาสน์ ในนามเครือข่ายองค์กรพระสงฆ์รุ่นใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้เครือข่ายพระสงฆ์รุ่นใหม่ทุกภูมิภาค ที่ทำงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา รู้สึกไม่สบายใจ รู้สึกอึดอัด กรณีที่นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมืองปล่อยให้เกิดปัญหาพระสงฆ์รูปหนึ่งออกมาแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่อพระมหาเถระ คณะสงฆ์เคารพมติในกรณีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ทั้งที่บางเรื่องก็เป็นความอยุติธรรม โดยที่ไม่มีการป้องปรามทั้งที่มีอำนาจอยู่มาก ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งที่จะนำมาซึ่งความรุนแรงในสังคม ดังนั้น เครือข่ายองค์กรพระสงฆ์รุ่นใหม่ จะมีการเคลื่อนไหวแสดงสัญลักษณ์โดยสันติวิธีทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเบื้องต้นมีความเห็นร่วมกันว่า จะออกแถลงการณ์เรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี ในกรณีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชที่ปล่อยให้เกิดปัญหาทั้งที่คณะสงฆ์ก็ปฏิบัติตามกฎหมาย
"เครือข่ายพระสงฆ์รุ่นใหม่ยังเชื่อว่านายกรัฐมนตรีไม่มีส่วนรู้เห็นกับเรื่องนี้ แต่ก็อยากให้ท่านแสดงความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมให้คณะสงฆ์มั่นใจในตัวของท่านมากกว่านี้ รวมทั้งให้ยึดจารีต ธรรมเนียมปฏิบัติ รวมถึงพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม 2535 สู่การปฏิบัติ ไม่ใช่ปล่อยให้มีการกล่าวร้ายต่อพระผู้ใหญ่ทั้งที่ไม่มีข้อเท็จจริงเช่นนี้" พระครูกาญจนกิจจารักษ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชอย่างกว้างขวาง ทั้งกลุ่มที่สนับสนุนและคัดค้านสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งกลุ่มที่สนับสนุนได้แสดงความคิดเห็นออกมา โดยส่วนใหญ่จะชื่นชมวัตรปฏิบัติของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เนื่องจากได้สัมผัสกับตนเอง อีกทั้งมีภาพสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ นั่งคุกเข่ากราบพระเถระที่พรรษาสูงกว่าตามพระธรรมวินัย โดยไม่ยึดถือว่ามีสมณศักดิ์สูงกว่า ซึ่งภาพดังกล่าวมีคนมากดชื่นชอบมากกว่า 500,000 คน มีการแชร์มากกว่า 17,000 ครั้ง ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ยังยึดประเด็นเดิม คือ เรื่องสัมพันธ์กับวัดพระธรรมกาย และเรื่องตรวจสอบรถยนต์โบราณ
นอกจากนี้ ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ขวัญทอง สอนศิริ ได้เผยแพร่ภาพรถโบราณภายในพิพิธภัณฑ์วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ โดยเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า ไปมาแล้ว พระเจดีย์มหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เดินชมอย่างละเอียดทั้ง 5 ชั้น กับกรณีรถยนต์หรู (โบราณ) ที่มีการนำมาผูกโยงเป็นประเด็น โจมตี เจาะยาง สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง) เพื่อให้มีมลทิน อย่างมีเจตนาแอบแฝง สร้างความแตกแยกทางความคิด
โพสต์ดังกล่าวระบุว่ารถยนต์โบราณสามคันหรู นี้ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้รับการถวายมา แต่มิได้เก็บไว้ใช้ หรือสะสมในเอกลาภเหล่านี้ ถือไว้เป็นสมบัติส่วนตัวแต่ประการใด เจ้าคุณสมเด็จนำเอกลาภเหล่านี้ที่มีผู้นำมาถวายไปจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นชั้นที่ 1 พร้อมกับพาหนะโบราณอื่นๆ ในอดีตของคนไทย เช่น เรือโบราณ เกวียน ระแทะ รถม้า เป็นต้น ในพิพิธภัณฑ์นี้ด้วย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้
วันเดียวกัน นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวเรียกร้องคณะสงฆ์สนใจท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ อาจจะไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคณะสงฆ์ จนถึงขั้นตัดสินใจดองเรื่องการเสนอแต่งตั้งสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ขึ้นเป็นพระสังฆราชองค์ที่ 20 เพราะหากนายกรัฐมนตรีตัดสินใจนำชื่อสมเด็จวัดปากน้ำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้เป็นสังฆราชแล้ว อาจถูกพุทธะอิสระที่ประกาศข่มขู่จะตัดขาด คงกลัวผู้นำทางจิตวิญญาณตัดขาด จึงอาจทำให้เลือกตัดสินใจแช่แข็งรายชื่อที่มหาเถรสมาคมเสนอมาเอาไว้ก็ได้
"เมื่อนายกรัฐมนตรีหวั่นเกรงว่า ความขัดแย้งจะบานปลายนั้น นายกรัฐมนตรีควรหาทางยุติปัญหาก่อน โดยจะเลือกไปทำความเข้าใจกับพระสงฆ์ 3 แสนรูปทั่วประเทศ หรือจะไปคุยกับขบวนการ 3 พ ซึ่งเป็นคนพวกเดียวกันให้หยุดการเคลื่อนไหว บางคนยังนั่งอยู่ในทำเนียบรัฐบาล อยู่ใกล้ๆ นายกรัฐมนตรี แต่นายกรัฐมนตรีไม่เตือนการเคลื่อนไหวต้านแต่งตั้งสังฆราชเลย นอกจากนี้ ยังใช้กลไกรัฐให้กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ไปตรวจรถหรูของสมเด็จวัดปากน้ำ ซึ่งแสดงถึงการใช้อำนาจไปกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดมลทินมัวหมอง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยจะเข้ามาตรวจเลย แต่ในช่วงแต่งตั้งสังฆราชก็ขยันขึ้นมา ซึ่งรัฐบาลควรระวังจะเจอการคว่ำบาตรของพระทั้งประเทศ" นายจตุพรระบุ
ประธาน นปช.กล่าวว่า สิ่งสำคัญขณะนี้คือ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้อธิบายถึงวงการสงฆ์เคยว่างเว้นสมเด็จพระสังฆราชนานถึง 37 ปี ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว การอธิบายแบบนี้เป็นการสะท้อนถึงแนวทางสอดคล้องกับท่าทีดองเรื่องทูลเกล้าฯ แต่การยกตัวอย่างที่รัชกาลที่ 5 ทรงไม่แต่งตั้งพระอนุชาขึ้นเป็นพระสังฆราชนั้น ไม่ได้เกิดจากการขัดขวางจากฝ่ายใด แต่เกรงว่าหากน้องได้เป็นผู้นำศาสนจักรแล้ว จะทำให้โลกติเตียนได้ ดังนั้น การละเว้นแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ในกรณีนี้จึงแตกต่างกับเหตุการณ์ในช่วงนี้ที่พุทธะอิสระกับขบวนการ 3 พ ออกมาขัดขวาง
นายจตุพร กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม รวมทั้งพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย มีความเทิดทูนศรัทธาพุทธะอิสระ ย่อมเป็นสิทธิ์ส่วนตัว ไม่มีใครมาตำหนิได้ เพราะความศรัทธาเป็นความเชื่อของบุคคล แต่ขบวนการ 3 พ ใช้ความศรัทธานี้ ไปทำอะไรก็ได้ เคลื่อนไหวทางการเมืองก็ไม่มีความผิด และยังเหิมเกริมจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงพระพุทธศาสนา คณะสงฆ์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมความศรัทธาของคนทั้งประเทศ แต่นายกรัฐมนตรีกลับนิ่งเฉย ไม่ตำหนิ ตักเตือน ตามกฎหมายความมั่นคง
นายจตุพร กล่าวว่า ขบวนการล้มการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชทำกันอย่างเป็นระบบ สร้างเรื่องยุแหย่ให้วงการสงฆ์ขัดแย้งแตกแยกกัน โดยมีเป้าหมายให้สมเด็จพระราชาคณะของฝ่ายตนเองได้ขึ้นเป็นสังฆราช จึงอาจทำให้พล.อ.ประยุทธ์เริ่มหวั่นเกรงเหตุการณ์จะลุกลามเป็นสงครามศาสนา ส่วนตนเชื่อจะบานปลายกลายเป็นปัญหาใหญ่โต เพราะพวกเคลื่อนไหวขัดขวางนั้นต้องการแก้ไขเปลี่ยน แปลงคณะสงฆ์เสียใหม่ตามที่ตนต้องการ
นายจตุพร กล่าวว่า ตนไม่ได้เป็นลูกศิษย์ของพระวัดปากน้ำ ไม่เคยนุ่งขาวห่มขาวไปปฏิบัติธรรมกับวัดธรรมกาย แต่ออกมาปกป้องหลักการพุทธศาสนา เพราะคนทั้งบ้านเมืองเห็นขบวนการ 3 พ เป็นพวกเดียวกับผู้มีอำนาจ 3 ป จนทำให้บางคนเคลื่อนไหวถึงขั้นจะยื่นคำขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบการเสนอชื่อสมเด็จพระราชาคณะขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช ตามมาตรา 7 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ปี 2535 ว่า เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี หรือ มส. เป็นผู้เสนอชื่อ ซึ่งทำให้เรื่องราวต้องขยายตัวออกไปกันใหญ่โตยิ่งขึ้น เพราะขณะนี้วงการสงฆ์ไม่มีความขัดแย้งกันระหว่างนิกาย และ 2 นิกาย คือ มหานิกายกับธรรมยุติกนิกายอยู่ร่วมกันมาอย่างร่มเย็น รวมทั้งสมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เป็นผู้เสนอชื่อสมเด็จวัดปากน้ำฝ่ายมหานิกายขึ้นเป็นสังฆราช เพราะอาวุโสโดยสมณศักดิ์สูงสุด ซึ่งแสดงถึงการปฏิบัติตามกฎหมายคณะสงฆ์ และแสดงถึงไม่ได้มีความขัดแย้งกันระหว่างนิกายตามการยุแหย่
วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9180 ข่าวสดรายวัน
ฝ่ายต้านยื่นตีความขวางมส. ตั้งสังฆราชไม่ได้ อ้างเป็นอำนาจ'นายกฯ'คณะสงฆ์จับตาดีเอสไอ พบแผนสกัดสมเด็จช่วง 'บิ๊กตู่'อ้างรอเวลาเหมาะ แล้วรบ.ค่อยดำเนินการ
อดีตสปช.'ไพบูลย์ นิติตะวัน' สบช่องเคลื่อนไหวคัดค้านตั้งสังฆราช นัดยื่นดีเอสไอตรวจสอบรถโบราณในวัดปากน้ำยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินตีความกฎหมายว่าด้วยการสถาปนาสังฆราชเป็นอำนาจของมหาเถรสมาคมหรือไม่ ด้านเจ้าคุณประสารเผยคณะสงฆ์จับแผนสกัด จงใจสร้างความมัวหมองให้สมเด็จวัดปากน้ำที่ได้รับเสนอชื่อ เตือนรัฐบาลให้รับฟังเสียงคณะสงฆ์ส่วนใหญ่ ถ้าจงใจซื้อเวลายื้อทูลเกล้าฯ พระสงฆ์ทั่วประเทศจะเคลื่อนไหวออกมาแสดงสังฆมติพร้อมกัน 'บิ๊กตู่'บ่นอุบสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชรูปใหม่ส่อเค้าบาน เผยเรื่องนี้รัฐบาลรอเวลาที่เหมาะสมจะดำเนินการ อย่ามาบังคับ อ้างไม่เคยรู้จักพุทธะอิสระมาก่อน แต่ยอมรับว่ารู้จักกันตอนเป็นทหารทำบุญร่วมกัน ซัดเขียนเป็นนิยายหาว่าเป็นอาจารย์ของ 3 ป.
เมื่อเวลา 17.15 น. วันที่ 15 ม.ค. ที่ตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ให้สัมภาษณ์ถึงการดำเนินการนำรายชื่อพระสังฆราชองค์ใหม่ ขึ้นทูลเกล้าฯ ว่าขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังกลั่นกรองอยู่ ซึ่งเขาต้องทำให้ถูกต้อง อย่าให้ตนไปทะเลาะกับข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งตนไม่ได้ห่วงข้างบน แต่ห่วงคนข้างล่างและประชาชน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งให้โอวาทแก่คณะผู้บริหารและผู้แทนองค์กรในสภาธุรกิจตลาดทุนไทยว่า วันนี้คนไทยมีความสุดโต่ง อะไรก็ทำไม่ได้ ทำให้การบริหารงานเป็นไปได้ยาก มีความแตกแยกทั้งคน และพระสงฆ์ ไม่ว่ารัฐบาลจะตัดสินอย่างไรก็เหมือนจะผิดทุกทาง อย่างพระสงฆ์รูปหนึ่งตนไม่เคยรู้จักมาก่อนเลย แค่เคยรู้จักตอนที่เป็นทหารและเคยทำบุญร่วมกัน นักข่าวก็บอกว่าพระรูปนั้นเป็นพระอาจารย์ของสามป. ซึ่งพระรูปนั้นได้ลงทุนด้วยการออกเงินให้เรียนหนังสือเพื่อจะมาช่วยเหลือรัฐบาล ถ้าเช่นนั้นก็คงเป็นการวางแผนล่วงหน้าเป็น 30 ปี นี่ถือว่าเป็นการช่างเขียน ก็เขียนกันไปเรื่อยเปื่อยเหมือนนิยายประโลมโลก
เมื่อเวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในรายการ"คืนความสุขให้คนในชาติ จากใจนายก" ตอนหนึ่งว่า ศาสนาวันนี้เริ่มขัดแย้งกันอีกแล้ว กล่าวหาว่าข้างนั้นข้างนี้ ไม่สนใจ เพราะเป็นชาวพุทธ เคารพในพระสงฆ์เสมอมา ในคำสอนพระพุทธเจ้าเสมอมา ไม่สนใจผู้นำแต่ละฝ่ายว่าเป็นใคร ทุกคนอาจมีความปรารถนาดี แต่อย่าลืมว่าเป็นความขัดแย้งที่รุนแรง ในสมัยก่อน โลกใบนี้รบกันเรื่องของศาสนากันมาก สงครามศาสนาตายกันทั้งประเทศ ฉะนั้นรัฐบาลเป็นห่วงเรื่องนี้ เป็นห่วงประชาชนที่ให้ความเคารพนับถือ ภายใต้การนำของแต่ละฝ่ายมากกว่า ใครผิดใครถูกยังไม่กล่าวถึงตรงนั้น ดังนั้น ไปหาทางออกให้ได้ หากยังใช้อารมณ์ ใช้ความรู้สึก กฎหมาย อยู่ตรงไหนไม่รู้ อีกกลุ่มบอกว่าต้องรีบทำ อีกกลุ่มบอกว่าทำแล้วทำไมไม่โปร่งใส แล้วจะไปทางไหน ต้องการความสงบสุขของบ้านเมือง ต้องการดำรงความศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพุทธและพระสงฆ์
นายกฯ กล่าวว่า วันนี้อย่าทะเลาะกันอีกเลยเรื่องแบบนี้ หยุดซะ อะไรเป็นกิจของสงฆ์ ของฆราวาสแยกให้ออก ต่างฝ่ายต้องหาทางออกให้ได้ อย่าให้เสื่อมความนับถือ หม่นหมอง เคารพในกฎหมาย เคารพในการปกครองของพระสงฆ์ เรื่องใครจะทำผิดทำถูกไปหาวิธีการ ไปหาข้อยุติมา อย่ากล่าวอ้างกันไปเรื่อย เพราะกฎหมายมีอยู่ ถ้าเราไม่ทำตามกฎหมายก็ไม่ได้อีก แต่จะทำอย่างไรไม่ให้ทะเลาะกัน วันเวลาที่เหมาะสมเป็นเรื่องของรัฐบาลจะดำเนินการ ไม่ต้องมาบังคับ ไม่อย่างนั้นทุกเรื่อง ก็วางระเบิดเวลาทุกที่ ทุกงาน ไว้ให้คสช. ไว้ให้รัฐบาลเหยียบกับระเบิดทุกวัน จะปฏิรูปได้อย่างไร จะแก้ปัญหาประเทศได้อย่างไร ไปแก้ปัญหากันมาให้ได้ ไม่ได้เข้าข้างใคร
วันเดียวกัน นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 18 ม.ค. ตนจะเข้าพบกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อเร่งให้ตรวจสอบรถหรูของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และสัปดาห์หน้าจะเข้าพบผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อยื่นคำขอให้ตรวจสอบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในฐานะที่เป็นเลขาธิการ มหาเถรสมาคม (มส.) กรณีการเสนอชื่อแต่งตั้ง สมเด็จพระสังฆราช ตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่งในกรณีที่สมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกฯ โดยความเห็นชอบ มส.เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช โดย พศ.ตีความหมายมาตรา 7 ว่าให้ มส.เป็นต้นเรื่อง ดังนั้น จึงต้องร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจวินิจฉัยว่า มส.ทำตามขั้นตอนถูกต้องหรือไม่ เพราะนักกฎหมายอีกฝ่ายมองว่าการตีความกฎหมายมาตรา 7 ต้องให้นายกฯ เป็นต้น เรื่องไม่ใช่ มส.
ด้านพระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ชัดเจนแล้วว่ารายชื่อของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ซึ่งมหาเถรสมาคมมีมติเสนอเพื่อให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช อยู่ที่รัฐบาลแล้ว ดังนั้น ศูนย์พิทักษ์ฯ และคณะสงฆ์จะเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีการดองเรื่องไม่ยอมนำขึ้นทูลเกล้าฯ นานจนผิดสังเกต เช่น นำข้อเรียกร้องของพระ 1 รูป กับฆราวาส 1 คน มาเป็นเงื่อนไข ในการชะลอเรื่องนี้ไว้ มากกว่าเชื่อความเห็นของมหาเถรสมาคม และพระสงฆ์ทั่วประเทศ ก็พร้อมที่จะออกมาเคลื่อนไหว โดยขณะนี้มีคณะสงฆ์กว่า 40 จังหวัดแล้ว ที่ตอบรับจะออกมาร่วมเคลื่อนไหวแสดงสังฆมติในเรื่องนี้
เลขาธิการศูนย์พิทักษ์ฯ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันยังมีกระแสข่าวออกมาว่า เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ จะมีการเข้าตรวจสอบรถยนต์ที่เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ของวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ทั้งที่จากการสอบถามข้อมูลจากทางวัดปากน้ำฯ ก็ทราบว่ารถยนต์ดังกล่าวมีเอกสารถูกต้องทุกประการ อีกทั้งยังเป็นรถที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ของเก่า ร่วมกับของใช้ของคนในสมัยอดีต เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นหลังได้ศึกษา จึงไม่ทราบว่าจะมีการเข้ามาตรวจสอบทำไม หากต้องการตรวจสอบหรือขอข้อมูล ทำไมไม่ส่งเจ้าหน้าที่มาขอข้อมูล และสอบถามข้อเท็จจริง
"จากกระแสข่าวที่ออกมาพบว่าจะมีการแจ้งนักข่าวมาทำข่าวด้วย จึงไม่ทราบวัตถุประสงค์ ที่แท้จริงของดีเอสไอว่าต้องการอะไรกันแน่ หรือเพียงต้องการให้มีภาพออกไป เพียงเพราะต้องการสร้างมลทินให้เกิดกับสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ตามความต้องการของบุคคลบางกลุ่ม และหากผลการตรวจสอบพบว่ามีความถูกต้องทุกประการ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบกับภาพข่าวที่สื่อออกไป" เลขาธิการศูนย์พิทักษ์ฯ กล่าว
พระเมธีธรรมาจารย์กล่าวอีกว่า กระแสข่าวดังกล่าวมาจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ปรารถนาดีต่อคณะสงฆ์ แจ้งมาว่า ดีเอสไอ มีการประชุมลับในเรื่องดังกล่าวและนัดหมายกับสื่อมวลชนมาร่วมตรวจสอบ แล้วออกข่าวให้สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ มีภาพมัวหมอง คนที่ทำ จะเป็นใครก็แล้วแต่ แต่ชัดเจนว่ามีเจตนาสร้างข้อมูลเท็จ เตรียมใช้สื่อขยายความให้คนเห็นผิดจากข้อเท็จจริง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กของกลุ่มพระสงฆ์ทั้งในและต่างประเทศ เช่น เฟซบุ๊ก เจ้าคุณเบอร์ลิน พระโสภณพุทธิวิเทศ เป็นต้น ได้มีการส่งต่อข้อความ โดยระบุว่า ภายใน 1-2 วันนี้ จะมีเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ จะสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ เข้าตรวจวัดปากน้ำภาษีเจริญ ซึ่งเป็นที่จำพรรษาของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ในการตรวจค้น ตรวจยึดรถเก่าในอาคารพิพิธภัณฑ์ภายในวัดปากน้ำภาษีเจริญทั้งหมด พร้อมทั้งมีการกล่าวหาว่า เป็นรถหรูผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นการเล่นเกมก่อสังฆเภทในสยามประเทศ ยื้อเรื่อง สารพัดอ้าง แล้วแตะมือกับกลุ่มแนวร่วมทางการเมืองเดิมๆ พวกสุดโต่ง ดำเนินการป้ายความผิดให้สมเด็จ พระมหารัชมังคลาจารย์
ด้านนายพิศาล แช่มโสภา ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่าเรื่องรถไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ที่อ้างว่าเป็นของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ซึ่งในเรื่องนี้อยากให้ทุกฝ่ายใช้ปัญญาในการคิดพิจารณาว่า ท่านจะต้องซื้อรถทำไม ในเมื่อชาวพุทธที่เลื่อมใสท่านมีอยู่มาก ระดับท่านไม่จำเป็นต้องซื้อ ก็มีพอใช้ปฏิบัติศาสนกิจอยู่แล้ว สำคัญที่คนซื้อถวายว่า ได้รถมาอย่างไร เรื่องนี้ก็พิสูจน์ได้ไม่ยาก ทั้งนี้ เห็นว่าอย่านำการเมืองเข้ามาแทรกแซงในกิจการพระพุทธศาสนา ด้วยวิธีการที่ไม่สะอาด แค่นี้พระพุทธศาสนาและพระสงฆ์ก็มีความรู้สึกที่แย่พออยู่แล้ว
รายงานข่าวจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ แจ้งว่า จากกรณีที่มีข่าวว่าดีเอสไอจะเข้าไปตรวจสอบกรณีพระเถระผู้ใหญ่ครอบครองรถหรูหลีกเลี่ยงภาษีนั้น ในช่วงวันหยุดนี้ดีเอสไอจะยังไม่มีการตรวจสอบใดๆ แต่จะรอให้นายไพบูลย์ ซึ่งนัดเข้ายื่นหนังสือร้องให้สอบกรณีดังกล่าวในวันที่ 18 ม.ค. เวลา 09.30 น.นี้ก่อน เพื่อดูรายละเอียดว่ามีเรื่องอะไรบ้าง ก่อนจะดำเนินการต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าขณะนี้สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ยังคงมีการปฏิบัติศาสนกิจอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเดินทางเป็นประธานในพิธีมอบสัญญาบัตร พัดยศ และผ้าไตร แก่ พระสังฆาธิการที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรแก่พระสงฆ์ในเขตปกครองคณะสงฆ์หนเหนือ ที่วิทยาลัยสงฆ์พุทธชินราช จ.พิษณุโลก โดยมีพระสงฆ์เข้าร่วมพิธี กว่า 500 รูป
หลังเสร็จสิ้นพิธี สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ กล่าวให้โอวาทว่า พระสงฆ์ต้องตั้งใจปฏิบัติตามระเบียบ แบบแผน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เพื่อสร้างพระพุทธศาสนาให้งดงาม ทั้งต้องคอยระวังภัยต่อพระศาสนาด้วย รัฐบาลต้องการปรองดองสมานฉันท์ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เพราะอำนาจของศีลธรรมทางพระพุทธศาสนา และทางมหาเถรสมาคม ก็มีมติดำเนินโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 เพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดในประเทศนี้ และทางคณะสงฆ์จะมีการดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าโครงการนี้จะสิ้นสุดในปี 2560 ก็ตาม โดยการดำเนินการโครงการนี้วัตถุประสงค์ เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเพื่อสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในประเทศ ทั้งเพื่อประโยชน์สุขแห่งประชาชน
ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการมองไกล ทางยูทูบ โดยยืนยันว่า วงการสงฆ์ทั้งฝ่ายธรรมยุติกนิกาย และมหานิกาย ไม่มีความขัดแย้ง ตามการยุแหย่ของพุทธะอิสระ และพวกที่เคลื่อนไหวต่อต้านการแต่งตั้งสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20
นายจตุพร ย้ำว่าทั้งสองนิกายอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขมาตลอด และการประชุมของมหาเถรสมาคม (มส.) เมื่อวันที่ 5 ม.ค. สมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เป็นผู้เสนอให้สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ฝ่ายมหานิกายขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ จึงแสดงให้เห็นชัดเจนว่า วงการคณะสงฆ์ไร้ความขัดแย้งตามที่พุทธะอิสระพยายามเสี้ยมให้ประชาชนหลงเชื่อ
นายจตุพรกล่าวว่าดังนั้น มีความชัดเจนแล้วว่า มส.ได้เสนอชื่อสมเด็จช่วง ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่มีความอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ตามกฎหมายคณะสงฆ์ ปี 2505 แก้ไขในปี 2535 ให้รัฐบาลเรียบร้อยแล้ว โดยพล.อ.ประยุทธ์มีสิทธิ์ตรวจสอบเอกสาร แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้ง แต่ในขณะนี้ท่าทีของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายเริ่มเปลี่ยนไป เมื่อพุทธะอิสระและพวกออกมาขู่ว่า ถ้านายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้งสมเด็จช่วงเป็นสมเด็จพระสังฆราชต้องขาดกัน จนเสียงเริ่มอ่อนและอธิบายว่า ถ้ามีการคัดค้านก็ยังไม่เสนอแต่งตั้ง
"วงการสงฆ์รู้ดีว่า การปฏิบัติตามกฎหมายเป็นอย่างไร แต่มีคนได้เสี้ยมกันว่า มีความขัดแย้ง 2 นิกาย พระฝ่ายธรรมยุตเป็นผู้เสนอฝ่ายมหานิกายในที่ประชุม มส. เมื่อ 5 ม.ค.นั่นเอง จึงแสดงว่า วงการสงฆ์มีความสงบเรียบร้อยมานาน ไม่แตกแยก หากอ้างว่า มีคนคัดค้านจะไม่เสนอ แล้วใครคัดค้าน ก็พระอาจารย์ของนายกรัฐมนตรี ที่ประกาศตัดขาดจากศิษย์ แต่ศิษย์เงียบไม่แสดงความชัดเจน ถ้าอ้างกันเช่นนี้ ต้องรู้ว่ารัฐบาลทำหน้าที่เป็นทางผ่านเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง ถ้าถ่วงรั้งไว้จะเข้าข่ายการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ม. 157 ชาวพุทธแจ้งความบ้างจะยุ่งกันแน่" นายจตุพรกล่าว
วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9179 ข่าวสดรายวัน
ถึงรบ.แล้ว มติมส.ตั้งสมเด็จช่วง 'วิษณุ'แจงไม่กำหนด ระยะเวลา'ทูลเกล้าฯ' สุวพันธุ์นัดถกอีกรอบ คณะสงฆ์-สำนักพุทธ
รมต.สำนักนายกฯ'สุวพันธุ์'เผยรัฐบาลได้รับมติมหาเถรสมาคมเสนอชื่อ"สมเด็จช่วง'ขึ้นเป็น'สมเด็จพระสังฆราช"แล้ว ระบุขั้นตอนถูกต้อง วันที่ 18 ม.ค.นี้จะนัดหารือคณะสงฆ์- สำนักพุทธฯอีกครั้ง ด้าน'วิษณุ'รอรมต.สำนักนายกฯชงเรื่องมา จะใช้ความคาดหมายของประชาชน-กฎหมายเป็นส่วนประกอบโดยไม่กำหนดระยะเวลาว่าจะช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับกุศโลบาย รวมทั้งไม่ยึดกระแสคัดค้านด้วย เผยเบื้องหลังมติมส.เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต"สมเด็จพระวันรัต"เสนอ"สมเด็จวัดปากน้ำ"เองให้ที่ประชุมพิจารณาเพียงรูปเดียว
เมื่อวันที่ 14 ม.ค. นายพนม ศรศิลป์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้ สำนักพุทธฯ ได้ส่งเรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตามมติมหาเถรสมาคม (มส.) เสนอถึงยังนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักพุทธฯแล้ว เพื่อเสนอต่อไปยังนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในการเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป ส่วนรายนาม สมเด็จพระราชาคณะที่มหาเถรฯ มีมติเสนอนั้น สำนักพุทธฯ ไม่สามารถเปิดเผยรายนามได้ สำนักพุทธฯมีหน้าที่ดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมายเท่านั้น โดยมหาเถรฯ ยึดการพิจารณาและเสนอนาม สมเด็จพระราชาคณะ ตามมาตรา 7 ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม 2535 เป็นหลัก
นายชยพล พงษ์สีดา รอง ผอ.สำนักพุทธฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามกรณีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 20 กล่าวว่า หลังจากนี้ คณะกรรมการจะติดตามความคืบหน้าการเสนอเรื่องสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชจากรัฐบาลเป็นระยะ รวมถึงจะต้องตอบข้อซักถามของรัฐบาลในประเด็นต่างๆ ซึ่งขณะนี้ ตนทราบว่านายสุวพันธุ์ จะหารือกับสำนักพุทธฯ ในวันที่ 18 ม.ค.นี้ ใน 2-3 ประเด็น เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริง รวมถึงประเพณีปฏิบัติที่ผ่านมาและกรณีข้อท้วงติงของกลุ่มผู้คัดค้าน ซึ่งสำนักพุทธฯ พร้อมที่จะรายงานข้อเท็จจริงดังกล่าว
ด้านพระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรณีที่มีผู้เรียกร้องให้รัฐบาลตีความขั้นตอนการเสนอรายชื่อสมเด็จพระราชาคณะ เพื่อทูลเกล้าฯสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้น เป็นกระบวนการเพื่อสร้างเรื่องให้เกิดเงื่อนไข กวนน้ำให้ขุ่น เพื่อต้องการให้กระบวนการในการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ต้องล่าช้า ทั้งที่ขั้นตอนต่างๆ ที่ทางมหาเถรฯ ดำเนินการนั้น เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนเดียวกันกับเมื่อครั้งที่มีการเสนอรายชื่อสมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร ขึ้นทูลเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยขณะนี้ชัดเจนแล้วว่าทางสำนักพุทธฯ ได้เสนอรายชื่อสมเด็จพระราชาคณะ ตามมติมหาเถรฯ เมื่อวันที่ 5 ม.ค.2559 ไปยังรัฐบาลแล้ว และหากพบว่ารัฐบาลมีการดองเรื่อง พระสงฆ์ทั่วประเทศก็พร้อมที่จะนัดรวมตัวกันแสดงสังฆมติให้รัฐบาลได้เห็นพลัง ซึ่งขณะนี้มีกระแสตอบรับจากพระสงฆ์จำนวนมาก เหมือนกับเมื่อครั้งที่จะนัดรวมตัวกัน เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวทางของคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมติมหาเถรสมาคม วาระพิเศษ เมื่อวันที่ 5 ม.ค.2559 ในการพิจารณาเสนอรายชื่อสมเด็จพระราชาคณะ เพื่อทูลเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ที่ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ส่งเรื่องไปยังรัฐบาล ในการประชุมวันดังกล่าวมีกรรมการมหาเถรสมาคมเข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 17 รูป โดยมี 3 รูป ไม่ได้เข้าร่วมประชุม คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เนื่องจากถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย, สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดสัมพันธวงศาราม เนื่องจากอาพาธ และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสุทัศนเทพวราราม เนื่องจากอาพาธ ซึ่งระหว่างการประชุม สมเด็จ พระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นผู้เสนอรายชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เพียงรูปเดียว และที่ประชุมก็มีมติเป็นเอกฉันท์
เมื่อเวลา 09.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่านายพนม ศรศิลป์ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ส่งหนังสือแจ้งต่อนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เพื่อรายงานผลการประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) วาระลับพิเศษเสนอนามสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ตามพ.ร.บ. คณะสงฆ์ 2505 แก้ไขเพิ่มเติม 2535 เพียงรูปเดียวเพื่อส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 ว่า เรื่องยังส่งไม่ถึงมือตน แต่จะส่งถึงมือนายสุวพันธุ์แล้วหรือไม่ตนไม่ทราบ เท่าที่ทราบเพียงว่าผอ.พศ. จะลงนามก่อนส่งมายังรัฐบาลในวันเดียวกันนี้ เมื่อส่งมาที่รัฐบาล นายสุวพันธุ์จะเป็นผู้รับไว้ก่อนที่จะทำความเห็นเสนอมายังตนเพื่อให้ทำความเห็นส่งต่อไปยังนายกฯ ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยไม่มีการกำหนดกรอบเวลาดำเนินการ
นายวิษณุกล่าวว่า ตามหลักการรัฐบาลต้องนำขึ้นกราบบังคมทูลเมื่อใด คงต้องดูความเหมาะสมหลายๆ อย่าง ตนยืนยันว่ารัฐบาลทำตามหน้าที่ประกอบด้วย 3 ประการคือ ตามกฎหมาย ตามประเพณี และตามความคาดหมายของประชาชน และการทำหน้าที่ก็ต้องแล้วแต่ความเหมาะสมนั้นๆ อาทิ หน้าที่ของคณะสงฆ์จะต้องคำนึงถึงพระธรรมวินัยมาก่อนกฎหมาย คำนึงถึงกฎหมายแล้วจึงถึงจารีตประเพณี ซึ่งหากมส.ได้ประชุมไปแล้วจริง ส่งมติมาจริงก็ถือว่ามส.ทำหน้าที่ของท่านเสร็จแล้ว จากนั้นจึงมาเป็นหน้าที่ของรัฐบาล โดยเมื่อเรื่องมาถึงรัฐบาลจะต้องใช้กฎหมาย ประเพณีที่เคยปฏิบัติ และใช้ความคาดหมายของประชาชนมาเป็นตัวประกอบ เนื่องจากรัฐบาลบริหารประเทศจะต้องคำนึงถึงความถูกต้อง ความพอใจ ความยอมรับของประชาชน ส่วนถ้าขัดหลักการแล้วสิ่งใดจะชนะนั้นกฎหมายย่อมชนะแน่นอน
ผู้สื่อข่าวถามว่าสำหรับรายชื่อผู้ที่จะได้รับการสถาปนาซึ่งถือเป็นมติของมส.และทางพศ.ส่งมาให้รัฐบาลนั้นจะสามารถเปิดเผยได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่น่าจะเป็นความลับแต่อย่างใด เมื่อมติของมส.หากลงแล้วจริงดำเนินการส่งมาก็ไม่น่าจะเป็นความลับแล้ว เพราะพระสงฆ์ที่เข้าประชุมมีถึง 17 รูปด้วยกัน หากสื่อมวลชนไปสอบถามพระท่านคงไม่โกหก สำหรับรายชื่อเมื่อมาถึงรัฐบาลแล้วก็ต้องถูกเปิดเผยไม่ใช่เรื่องลับ
เมื่อถามถึงกรณีมีการยื่นคัดค้านโดยลงชื่อสนับสนุนมาจำนวนมาก นายวิษณุกล่าวว่า ตนขอตอบย้ำอีกครั้งว่ารัฐบาลไม่ได้ถือว่ากระแสคัดค้านมาเป็นหลัก เพราะไม่ว่าจะมีการแต่งตั้งใดๆ ย่อมมีคนคัดค้านเป็นธรรมดา แต่ถ้าขืนเอาการคัดค้านนั้นเป็นหลัก ก็ไม่ต้องตั้งใคร ทั้งนั้น แต่จะต้องดูด้วยว่าผลของการคัดค้าน นั้นนำไปสู่สิ่งใด หากนำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อย รัฐบาลก็ต้องทำให้สงบเรียบร้อยก็ที่จะดำเนินการ
"รัฐบาลไม่ถือเอาเรื่องคัดค้านเป็นใหญ่ เพราะการคัดค้านจะมีอยู่เสมอ การค้านนั้นนำไปสู่ผลอะไรถ้าค้านแล้วนำไปสู่ความไม่เข้าใจ แตกแยก ไม่สงบ รัฐบาลก็ต้องจัดการทำให้เรื่องเหล่านั้นบรรเทาเบาบาง ส่วนจะใช้วิธีใดคงไม่ขอตอบเพราะรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลใดก็ตามจะไม่นำเรื่องไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม คนยังวิพากษ์วิจารณ์ ต่อต้าน เกิดความไม่สงบ ขึ้นกราบบังคมทูลเป็นอันขาด แต่เมื่อเกิดเรื่องขึ้นแล้วจะทำอย่างไร บางครั้งก็มีอยู่หลายวิธีที่จะทำได้ ซึ่งผมไม่ขอพูดอะไรต่อไปเพราะถ้าพูดลึกลงไปขนาดนั้นจะกลายเป็นการเปิดเผยวิธีการให้โลกรู้ เพราะถ้ารู้เขาก็จะเกิดการรู้เราคงไม่ต้องทำอะไรกันต่อ ทั้งนี้เมื่อเรื่องมาถึงรัฐบาลแล้วไม่มีกรอบกำหนดว่าจะต้องนำขึ้นกราบบังคมทูลเมื่อไหร่ ซึ่งนายกฯได้พูดแล้วว่าจะต้องให้เรื่องสงบเสียก่อน ซึ่งผมกับนายกฯ ไม่ได้พูดขัดกันแต่อย่างใด โดยผมกับนายกฯได้พูดคุยกันถึงเรื่องนี้โดยละเอียดตลอดเวลา ทุกอย่างจะเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ได้หนักใจ" นายวิษณุกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชนั้นถือเป็นเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาลหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า หากตนตอบคำถามดังกล่าวก็อาจถูกตีความเป็นอย่างอื่น เพราะถ้าตอบว่าไม่เร่งด่วนก็จะถูกตีความว่าจะดองเรื่อง แต่ถ้าบอกว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนก็จะถูกตีความว่าจะอาศัยทีเผลอแล้วเสนอทันที เป็นการเชิญแขกทั้งสองคำตอบ ดังนั้นขอให้เป็นกุศโลบาย ซึ่งคำนี้มาจากคำว่ากุศลบวกอุบาย ซึ่งรัฐบาลจะต้องรู้สำหรับกุศโลบายนี้
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า เป็นไปได้ทุกอย่างเพราะที่ผ่านมาเมื่อครั้งสถาปนาสมเด็จ พระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ใช้เวลาห่างจากการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสังฆราช(วาสน์ วาสโน)วัดราชบพิธฯรวม 8 เดือน เมื่อครั้งตั้งพระสังฆราชวัดราชบพิธห่างจากการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสังฆราช(ปุ่น ปุณณสิริ)วัดพระเชตุพนฯประมาณ 6 เดือน และเมื่อครั้งตั้งสมเด็จ วัดโพธิ์ห่างจากวันที่สิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสังฆราช(จวน อุฏฐายี)วัดมกุฏกษัตริยาราม 7 เดือน อย่างไรก็ตาม ในอดีตเมื่อครั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 7 ของไทยสิ้นพระชนม์ได้ใช้เวลาห่างจากองค์ก่อนหน้านั้น 37 ปี และเมื่อผ่านไป 2 รัชกาล (รัชกาลที่ 5-6) จึงได้สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชวัดบวรนิเวศและเมื่อท่านเป็นได้ 2 ปีก็สิ้นพระชนม์ หลังจากนั้นทิ้งไปอีก 11 ปีจึงได้สถาปนาสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระญาณสังวร ดังนั้น หากจะเอาตามประเพณีแล้วก็มีทุกแบบ จึงจะมาอ้างว่าต้องเร็วหรือช้าไม่ได้ เพราะในทุกคราวต่างมีเหตุผลด้วยกันทั้งนั้น จึงต้องดูความเหมาะสม อย่างไรก็ตามผู้ที่ดำรงรักษาการสามารถปฏิบัติพระราชภารกิจทุกอย่างได้ทั้งหมด
"กรณีที่ยังมีกระแสคัดค้านนั้นจะต้องมีการหาทางแก้ปัญหาว่าขัดข้องอะไร จำเป็นอะไรที่จะต้องตั้งหากยังมีความขัดแย้งอยู่ การรักษาการต่อไปแล้วจะเกิดความไม่สะดวกอย่างไร เป็นปัญหาอย่างไร ถ้ารักษาการต่อไปจะเกิดความเข้าใจผิดหรือแตกแยกอย่างไร เมื่อเทียบกับการตั้งแล้วจะเกิดอะไรทั้งหมดนี้ต้องนำมาดูแล้วทำความเข้าใจ แล้วในความเป็นจริงต้นเหตุเป็นความผิดของใคร เมื่อวันนี้ข้อคัดค้านสมเด็จวัดปากน้ำก็ต้องดูว่าเพราะอะไร ซึ่งรัฐบาลอาจจะยังทราบไม่แท้จริงก็ได้และตนยังไม่เห็นหนังสือพุทธะอิสระที่ยื่นว่าตั้งข้อกล่าวหาอย่างไร เพราะม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักฯ ยังไม่ได้ส่งมาให้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงในข้อกล่าวหานั้นเสียก่อน" นายวิษณุ กล่าว
ด้านนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีรองผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ระบุได้ส่งรายงานมติที่ประชุมกรรมการเถรสมาคมที่เสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เพื่อให้นายกฯนำขึ้นทูลเกล้าฯสถาปนาเป็นพระสังฆราชองค์ใหม่ว่า หนังสือดังกล่าวส่งมาถึงตนเรียบร้อยแล้ว โดยเป็นมติของที่ประชุมกรรมการมส.เมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่เห็นชอบนามของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อให้รัฐบาลนำความกราบบังคมทูลต่อไป โดยเป็นมติที่เห็นชอบร่วมกันของกรรมการมส.ทุกรูป ไม่มีข้อขัดแย้งหรือมีปัญหาในมส.ซึ่งในการประชุมดังกล่าวมีกรรมการ 3 รูปที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุม คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) เจ้าอาวาส วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วีระ ภัททจารี) เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ขั้นตอนต่อจากนี้ ตนจะต้องรวบรวมข้อมูลครบถ้วนรอบด้านที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ก่อนจะส่งให้นายกรัฐมนตรี จะต้องมีข้อมูลทุกประเด็นให้เพียงพอในการพิจารณาในส่วนอำนาจหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการต่อไป โดยตั้งแต่สัปดาห์หน้า ตนจะหารือเพิ่มเติมกับพศ. รวมถึงอาจต้องหารือกับคณะสงฆ์ และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และอาจมีข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติม เพราะทุกๆ เรื่องที่เกี่ยวกับกระบวนการนำความขึ้นกราบบังคมทูล ก็จำเป็นต้องมีข้อมูลครบและรอบด้านให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาก่อน อย่างไรก็ตาม ตนยังบอกไม่ได้ว่าจะดำเนินการเรื่องนี้นานแค่ไหนหรือจะเสร็จภายในเดือน ม.ค.นี้หรือไม่ ทั้งนี้ขอยืนยันว่าเราทำทุกอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา ไม่มีอะไรคลุมเครือ และอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง
"เมื่อรัฐบาลได้รับเรื่องมาแล้วก็ต้องดำเนินการ จะทิ้งไว้เฉยๆ ไม่ได้ ตอนนี้อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีมีอยู่อย่างเดียวคือจะกราบบังคมทูลหรือไม่ อย่างไร แค่นี้เอง ซึ่งนายกฯพูดมา 2 ครั้งแล้วว่ามีเหตุผลของท่านอยู่ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ฉะนั้นการที่จะทำให้เกิดความเหมาะสมและรอบคอบนายกฯ ก็อยากเห็นข้อมูลให้รอบด้านทั้งหมดก่อน ส่วนเสียงคัดค้านนั้น เมื่อถึงจุดจุดหนึ่งก็ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรต่อไป" นายสุวพันธุ์กล่าว
นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า ที่จริงแล้ว การประชุมมส.เมื่อวันที่ 5 ม.ค. เป็นการประชุมนัดพิเศษ ซึ่งเคยเกิดมาแล้วหลายครั้งในกรณีที่มีเรื่องสำคัญหรือเป็นเรื่องที่ควรประชุมก่อนจะถึงวาระปกติ โดยการประชุมวาระปกติของกรรมการมส.จะมีขึ้นในวันที่ 10, 20 และ 30 ของเดือนนั้นๆ แต่วันที่ 10 ม.ค.เป็นวันหยุดราชการ จึงต้องมาประชุมในวันจันทร์ที่ 11 ม.ค.เพื่อรับรองการประชุมนัดพิเศษเมื่อวันที่ 5 ม.ค. ทุกอย่างถือว่าผ่านกระบวนการมาอย่างถูกต้องตามระเบียบ ตามประเพณีปฏิบัติของคณะสงฆ์ อย่างไรก็ตามหลังจากรับเรื่องมาแล้ว กฎหมายไม่ได้บอกว่ารัฐบาลมีอำนาจพิจารณาในเรื่องของคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ ทั้งนี้การพิจารณาให้รอบด้านในเรื่องต่างๆ ไม่ได้มีกรอบเวลาว่าต้องเสร็จเมื่อใด รัฐบาลไม่ได้อ้างเรื่องการหาข้อมูลเพื่อจะไม่เสนอชื่อ ยืนยันว่าเราทำตามข้อเท็จจริงที่มี
เมื่อถามว่าจะส่งเรื่องให้ถึงมือนายกรัฐมนตรีได้ทันภายในสิ้นเดือนม.ค.นี้หรือไม่ นายสุวพันธุ์กล่าวว่า ตอบไม่ได้ว่าจะถึงมือเมื่อไหร่ เอาเป็นว่าตอนนี้ความรับผิดชอบอยู่ที่ตนในฐานะกำกับดูแล พศ. เมื่อเห็นว่าได้ข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์แล้วก็จะส่งถึงนายกรัฐมนตรี แต่หากตนยังเห็นว่าต้องการสิ่งใดเพิ่มอีก ก็อาจต้องไปหารือกับฝ่ายต่างๆ เท่าที่จะทำได้
เมื่อถามย้ำว่าจากนี้ไปจะไม่มีอะไรเป็นเรื่องลับแล้วใช่หรือไม่ นายสุวพันธุ์กล่าวว่า จะบอกอย่างนั้นก็ไม่ได้ แต่จะไม่มีอะไรที่คลุมเครือ อะไรที่พูดไม่ได้ก็จะบอกว่าพูดไม่ได้ แต่อะไรที่พูดได้ ตนก็จะเล่าให้สังคมรับทราบโดยอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงทั้งหมด
ต่อข้อถามว่า กังวลหรือไม่ต่อกระแสต่อต้านในขณะนี้ นายสุวพันธุ์กล่าวว่า เรารอดูและประเมินเป็นระยะๆ จากประสบการณ์ของตนคงดูว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง การจะทำอะไรแต่ละอย่างนั้นต้องดูและเข้าใจพัฒนาการของเขาก่อนว่าเรื่องที่กำลังเกิดมีเหตุปัจจัยอะไร มีอะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง และควรจะเดินแบบไหน เพราะเจตนาของตนมีอย่างเดียวคือทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง ยั่งยืน มั่นคงอยู่กับสังคมไทย ไม่มีความเสียหาย เรื่องนี้ต้องใช้เวลา ขอให้ดูกันไปก่อน
ผู้สื่อข่าวถามว่าในเรื่องนี้จะต้องพิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 หรือไม่ นายสุวพันธุ์กล่าวว่า นายกฯมีนโยบายชัดว่าการใช้มาตรา 44 จะทำเมื่อจำเป็นเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินหรือการแก้ปัญหามีความราบรื่น จึงเชื่อว่าถ้าจะใช้ นายกฯต้องเห็นสถานการณ์ไปถึงจุดจุดนั้นแล้วจึงจะนำมาพิจารณา