WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

dhammakaya


ชงบิ๊กตู่ ใช้ม. 44 ฟันธัมมชโย-มติผู้ตรวจ 
สรุปรับลูก พุทธอิสระ จี้สอบย้อน ถึง'อสส.'สำนักพุทธ
      มติผู้ตรวจการแผ่นดินรับลูก'พุทธอิสระ-เครือข่าย'หลังยื่นร้องให้สอบกรณีซื้อขายที่วัดพระธรรมกาย ได้ข้อสรุประบุพระธัมมชโยทำผิดพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ผอ.สำนักพุทธฯละเลยไม่นำพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชเข้าที่ประชุมมหาเถรสมาคม อีกทั้งอัยการสูงสุดในขณะนั้นก็ละเว้นถอนคำสั่งฟ้อง ชงเรื่องเสนอหัวหน้าคสช.ใช้อำนาจมาตรา 44 ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบรูด ซัดเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายเข้าข่ายปาราชิกตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช

วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9001 ข่าวสดรายวัน


        เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงผลการตรวจสอบกรณีพุทธอิสระหรือพระสุวิทย์ ทองประเสริฐ ธีรธัมโม เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย และนางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ (มปปท.) ร้องเรียนขอให้ตรวจสอบนายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด (อสส.) ในขณะนั้น ที่มีคำสั่งถอนฟ้องคดีที่พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูรณ์ ธัมมชโย) หรือธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ความผิดเกี่ยวกับการลงชื่อตนเองเป็นเจ้าของในการซื้อขายที่ดิน เมื่อปี 2549 และกรณีผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พ.ศ.) และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะเลขาธิการมหาเถรสมาคม (มส.) ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดย มิชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่บรรจุวาระการประชุมเกี่ยวกับการอาบัติปาราชิกของพระธัมมชโย ซึ่งถือว่าไม่เป็นไปตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช 
      นายรักษเกชา กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่า การลงชื่อซื้อขายที่ดินในนามตนเองของพระธัมมชโยนั้น เข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ที่กำหนดว่าหากเป็นทรัพย์สินของวัดก็จะต้องลงทะเบียนของวัดไว้เป็นหลักฐานว่าเป็นทรัพย์สินของวัด แม้ต่อมาพระธัมมชโยจะคืนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นของวัดแต่ก็ล่วงเลยไปถึง 7 ปี ถือว่าการกระทำของพระธัมมชโยครบองค์ประกอบความผิดฐานเป็น เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ฐานทุจริต ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และ 157 แม้ภายหลังจะคืนทรัพย์สินให้วัดก็เป็นเพียงการพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดเท่านั้น ไม่อาจถือว่าทำให้การกระทำที่เป็นความผิดอาญาซึ่งสำเร็จไปแล้ว กลายเป็นไม่มีความผิด
      นายรักษเกชา กล่าวต่อว่า ในส่วนของสำนักพระพุทธศาสนานั้น หลังจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระลิขิต ฉบับลงวันที่ 26 เม.ย., 1 พ.ค. และ 10 พ.ค. 2542 ที่ระบุว่าพระธัมมชโยควรคืนทรัพย์สินให้วัด ซึ่งจะไม่ถือว่ามีโทษเพราะอาจไม่มีเจตนา แต่หากไม่ยอมคืนทรัพย์สินดังกล่าว ถือได้ว่าจงใจเอาทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของตัวเอง ถือได้ว่าพระธัมมชโยไม่เป็นสมณะ ย่อมต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นพระภิกษุ ซึ่งพระลิขิตดังกล่าวถือว่าเป็นกฎหมายตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการให้เป็นไปตามพระลิขิตดังกล่าว แต่ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาและสำนักงานพระพุทธศาสนาไม่ได้ดำเนินการตามพระลิขิต จึงถือได้ว่าสำนักงานพระพุทธศาสนาละเลย ไม่ใส่ใจต่อการประพฤติผิดต่อพระธรรมวินัยของพระสงฆ์
      นายรักษเกชา กล่าวอีกว่า วันนี้ผู้ตรวจ แผ่นดินจึงมีหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้พิจารณาตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานพิจารณาว่าการที่นายพชรมีคำสั่งให้ถอนฟ้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อีกทั้งขอให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 44 ตั้งคณะกรรมการร่วมสองฝ่าย ประกอบด้วยฝ่ายคฤหัสถ์และบรรพชิต เช่น พระเถระชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งมหาเถรสมาคมเห็นชอบ ผู้แทนจากสำนักงานพระพุทธศาสนา ผู้แทนจากสนช. และสปช. ผู้แทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นต้น เพื่อศึกษาประเด็นทางพระธรรมวินัยที่ยังไม่ได้ข้อยุติ และพระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชหรือไม่ เนื่องจากผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าจากการสืบพยานหลักฐานนั้น เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายมีความผิดขัดต่อพ.ร.บ.คณะสงฆ์ และพระลิขิตระบุว่า อาบัติปาราชิก จึงต้องเสนอเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเรื่องดังกล่าวต่อไป

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!