- Details
- Category: ศาสนา
- Published: Friday, 29 May 2015 09:19
- Hits: 6911
ยันหนี้ 95 ล. สร้างวิหารพ่อคูณจริง เกรียงไกรโชว์หลักฐานยืนยัน ท้ากก.วัดบ้านไร่-ตรวจบัญชี เสวนา'พระบ้านบ้าน'สุดคึกคัก
'เกรียงไกร' คนดูแลวิหารหลวงพ่อคูณโชว์หลักฐานหนี้ค่าก่อสร้าง 95 ล้าน ท้ากรรมการตรวจสอบบัญชี ยันมีการกู้เงินจริง มีรายจ่าย มีสำรองจ่ายไปก่อนจริง ด้านผอ. สำนักพุทธฯ โคราชระบุหนี้ 95 ล้าน ถ้าไม่ได้ทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรถือว่าโมฆะ ม.ขอนแก่นติดตั้งแอลอีดี 30 จอ ทั่วร.พ. ศรีนครินทร์ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของหลวงพ่อคูณ ตลอดจนพิธีบำเพ็ญสรีรสังขารที่ผ่านมา ขณะที่ยอดเงินบริจาคมากถึง 51 ล้านจากลูกศิษย์กว่าล้านคน
เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่อาคารผู้ป่วยนอกตึก ก. ชั้นล่าง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถานที่สักการะพระเทพวิทยาคม หรือหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ แห่งวัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุดทด จ.นครราชสีมา คณะกรรมการจัดสถานที่ของร.พ.ศรีนครินทร์ มหา วิทยาลัยขอนแก่น ได้ติดตั้งจอแอลอีดีจำนวน 30 จอ กระจายทั่วบริเวณร.พ.ศรีนครินทร์ เพื่อถ่ายทอดภาพและประวัติหลวงพ่อคูณ
เวลา 09.30 น.ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยรศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย ขอนแก่น พล.ต.ต.จิตรจรูญ ศรีวนิชย์ ผบก.ภ. จ.ขอนแก่น หัวหน้าสำนักงานจังหวัดขอนแก่น ตัวแทนมทบ.ที่ 23 กรมทหารราบที่ 8 สำนัก งานพระพุทธศาสนาจังหวัดขอนแก่น สำนัก งานวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น กก.4 บก.ทล. และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการจัดงานบำเพ็ญกุศลศพ และเคลื่อนสรีรสังขารหลวงพ่อคูณ ประชุมสรุปการจัดงานบำเพ็ญกุศลสรีร สังขารหลวงพ่อคูณ เพื่อรายงานครม.ต่อไป
รศ.ดร.กิตติชัย กล่าวว่า ในการดำเนินงานบำเพ็ญกุศลสรีรสังขารหลวงพ่อคูณ และเคลื่อนสรีรสังขารของท่าน มหาวิทยาลัยขอนแก่น และชาวจังหวัดขอนแก่นดีใจปลื้มใจมากที่สุดที่หลวงพ่อคูณและศิษยานุศิษย์ ไว้วางใจกับชาวขอนแก่นที่ดูแลท่านในช่วงสุดท้าย สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 9 วัน 8 คืนที่ผ่านมา ทุกหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น และทุกหน่วยงานในจังหวัดขอนแก่น ได้อาสามาช่วยงานด้วยใจที่เคารพศรัทธาหลวงพ่อคูณมาช่วยเต็มที่โดยไม่เรียกร้องอะไรทั้งสิ้น เพื่อถือว่าเป็นการทำบุญและกุศลให้กับตัวเอง
วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8947 ข่าวสดรายวัน
พระบ้านๆ - สโมสรศิลปวัฒนธรรม และกรมศิลปากร จัดเสวนาเรื่อง "หลวงพ่อคูณพระบ้านบ้าน" โดยมีนายเกรียงไกร จารุทวี อดีตรองปธ.กรรมการวัดบ้านไร่ ร่วมพูดคุยด้วย ที่มติชนอคาเดมี
อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นกล่าวอีกว่า อีก 3 ปีข้างหน้าซึ่งเป็นงานฌาปนกิจ และขอพระราชทานเพลิงศพที่หลวงพ่อคูณได้เป็นอาจารย์ใหญ่จะต้องทำให้ดีที่สุดและดียิ่งขึ้นต่อไป โดยมีแผนการทำงานนานถึง 3 ปี โดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะร่วมกับจังหวัดขอนแก่นและตำรวจภูธรภาค 4 ใช้ศูนย์บำเพ็ญกุศลครูใหญ่/อาจารย์ใหญ่ที่ศูนย์ประชุมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่นเหมือนเดิม ส่วนวัดที่จะฌาปนกิจสังขารของหลวงพ่อคูณที่พินัยกรรมระบุไว้ว่าเป็นวัดหนองแวง พระอารามหลวง ถ.กลางเมือง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น หรือวัดอื่นๆ ที่เห็นสมควร ซึ่งจะพิจารณาตามความเหมาะสมอีกครั้ง เพื่อให้สมเกียรติกับหลวงพ่อคูณมากที่สุด
"ตอนนี้ขอสรุปงานบำเพ็ญกุศล และเคลื่อนสรีรสังขารหลวงพ่อคูณที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น และชาวจังหวัดขอนแก่นได้ดำเนินการตามวันเวลาที่ผ่านมา จึงต้องมาหาข้อสรุปที่จะรวบรวมและทำรายงานไปถึงครม.ได้รับทราบ" อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นกล่าว
ด้านรศ.นพ.ชาญชัยกล่าวว่า การจัดบำเพ็ญกุศลศพและเคลื่อนสรีรสังขารของหลวงพ่อคูณที่ผ่านมามีสาธุชนที่ศรัทธาและศิษยานุ ศิษย์หลวงพ่อคูณมากกว่า 1 ล้านคน บริจาคเงินทำบุญสรุปถึงขณะนี้ จำนวน 51,799,325 ล้านบาท
รศ.นพ.ชาญชัยกล่าวต่อว่า หลังจากเสร็จสิ้นพิธีบำเพ็ญกุศลศพ และเคลื่อนสรีรสังขารหลวงพ่อคูณมาอยู่ในอ่างเก็บสรีรสังขารในน้ำยา เข้าสู่ขบวนการตามขั้นตอนของภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหา วิทยาลัยขอนแก่น เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เข้าสู่เป็นครูใหญ่/อาจารย์ใหญ่เสร็จสมบูรณ์แล้ว จากนี้อาจารย์ที่ชำนาญการในภาควิชากาย วิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จะเป็นผู้ผ่าและสาธิตให้นักศึกษาแพทย์ปี 2 และปี 3 ได้ศึกษาเรียนรู้ให้ดีที่สุด สรีรสังขารเรียบร้อย ไม่มีการบอบช้ำ มีการเย็บปิดผิวหนังกลับเข้ามาสู่สภาพเดิม เป็นตามไปพินัยกรรมที่หลวงพ่อคูณได้ระบุไว้ให้ดีที่สุด หลวงพ่อคูณได้สร้างบารมีธรรมตามเจตจำนงของท่าน
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานการตรวจสอบทรัพย์สินของวัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา โดยเฉพาะกรณีเรื่องที่นายเกรียงไกร จารุทวี รักษาการรองประธานคณะกรรมการวัดบ้านไร่ และผู้ดูแลวิหารเทพวิทยาคม ได้ชี้แจงถึงกรณีวัดบ้านไร่มีหนี้สินจากการก่อสร้างวิหารเทพวิทยาคมจำนวนกว่า 95 ล้านบาท ซึ่งนายเกรียงไกรได้ทดลองจ่ายไปก่อน พร้อมกับยื่นหนังสือปกเหลืองรายละเอียดต่างๆ ให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินพิจารณาว่าควรจะให้วัดบ้านไร่เบิกเงินจ่ายคืนหรือไม่นั้น
นายบัญชายุทธ นาคมุจลินท์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะรองประธานคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน วัดบ้านไร่ เปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า สำหรับข้อมูลของนายเกรียงไกรนั้นตนได้ตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว แต่โดยหลักการตามที่นาย เกรียงไกรสำรองจ่ายไปก่อนนั้น ต้องถาม นายเกรียงไกรว่าได้มีการทำสัญญาไว้กับวัดบ้านไร่หรือไม่ ถ้าทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรถูกต้องตามกฎหมายแล้วนายเกรียงไกรสามารถขอเบิกเงินคืนได้ แต่ถ้าไม่ได้ทำสัญญา อะไรไว้แล้วมาเรียกร้องให้วัดบ้านไร่ต้องรับผิดชอบ ถือว่าเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือกฎหมาย ถือว่าเป็นโมฆะ และคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินไม่มีสิทธิ์เบิกเงินคืนให้ด้วย ส่วนบัญชีทรัพย์สินต่างๆ ของวัดบ้านไร่โดยเฉพาะบัญชีธนาคาร ช่วงนี้ต้องระงับไว้เป็นบางบัญชี ยกเว้นบางบัญชีที่จำเป็นต้องใช้ อาทิ บัญชีค่าใช้จ่าย ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าจัดพิธีบำเพ็ญกุศล เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินต้องพิจารณาตามความเหมาะสม
ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนคร ราชสีมากล่าวถึงการตรวจสอบทรัพย์สินว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างอดีตกรรมการวัดบ้านไร่ และผู้เกี่ยวข้อง กำลังรวบรวมบัญชีทรัพย์สิน เบื้องต้นพบมีจำนวนมากและกระจัดกระจายไปทั่ว ควรดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอน ตามที่คณะกรรมการวางแนวทางให้ครอบคลุมทั้งหมด โดยจัดแบ่งทรัพย์สินออกเป็น 6 หมวด พร้อมผู้เชี่ยวชาญที่รู้ลึกรู้จริงร่วมกระบวนการด้วย ดังนั้นการเร่งรัดอาจทำให้เกิดข้อบกพร่องได้ ส่วนปัญหาหนี้สินซึ่งเป็นค่าก่อสร้างวิหารเทพวิทยาคม คณะกรรมการไม่มีอำนาจหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องของผู้รับเหมา และอดีตกรรมการวัดชุดเก่า ต้องเจรจาตกลงกันเอง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการวัดต้องรวบรวมข้อมูลหลักฐานไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อแสดงต่อสาธารณชนอย่างโปร่งใส
"ส่วนกระแสข่าวเกี่ยวกับทรัพย์สินหลวงพ่อคูณที่ออกมาในทางลบ เป็นสิทธิส่วนบุคคล สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ควรอยู่ในฐานความจริง ฝากถึงบรรดาลูกศิษย์ใครมีข้อมูล เบาะแสที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน เคยบริจาคอะไรบ้าง ต้องช่วยกันทักท้วง มิใช่กล่าวโทษ ถ้าใช้แต่อารมณ์ ไม่คำนึงถึงเหตุผล จะส่งผลกระทบต่อบุญบารมีหลวงพ่อคูณที่สร้างสั่งสมมานาน ดวงทิพย์วิญญาณคงนอนตายตาไม่หลับ เมื่อลูกหลานขัดแย้งเพราะผลประโยชน์ ขอให้ทุกฝ่ายสำนึกในหลักธรรมพุทธศาสนา กำหนดแนวทางดำเนินชีวิตด้วยความสามัคคี ความซื่อสัตย์ สุจริต เมตตาต่อกัน เพื่อให้ภาพลักษณ์ของหลวงพ่อคูณคงอยู่ตลอดไป" ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครราชสีมา กล่าว
ขณะที่นายธวัช เรืองหร่าย รักษาการไวยาวัจกรวัดบ้านไร่เปิดเผยว่า การบริหารจัดการวิหารเทพวิทยาคมเป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายเกรียงไกรแต่เพียง ผู้เดียว ซึ่งมติของคณะกรรมการวัดบ้านไร่มอบอำนาจหน้าที่ไปแล้ว ไม่เกี่ยวกับเงินส่วนอื่นๆ ของวัดบ้านไร่ ส่วนจะชดใช้หนี้คืนให้หรือไม่นั้นต้องพูดคุยกันในคณะกรรมการวัดบ้านไร่ชุดใหม่ ที่จะแต่งตั้งโดยพระภาวนาประชานาถ หรือหลวงพ่อนุช รักษาการเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่อีกครั้ง สำหรับหนี้สินกว่า 95 ล้านบาทนั้น หลวงพ่อคูณไม่เคยรับรู้ในส่วนนี้ ถึงแม้ว่าจะมีการพูดคุยในที่ประชุมคณะกรรม การวัดบ้านไร่บ้างก็ตาม แต่ท้ายที่สุดก็ไม่มีการทำสัญญาใดๆ ที่ระบุชัดเจนว่าให้วัดต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ เพราะนายเกรียงไกรก็แสดงความรับผิดชอบมา โดยตลอดว่าจะนำเงินรายได้จากการบริหารจัดการวิหารเทพวิทยาคม ซึ่งปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ยเดือนละประมาณ 2 ล้านบาทมาชดใช้คืนที่สำรองจ่ายไปแทน
ทั้งนี้ ที่มาของหนี้สินจำนวน 95 ล้านบาท ที่นายเกรียงไกรอ้างว่าสำรองจ่ายไปแล้ว นั้น มาจากบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการวัดบ้านไร่ครั้งที่ 4/2556 เมื่อ 28 มี.ค.2556 โดยระบุว่า มียอดเงินยืมจากนายเกรียงไกร จารุทวี ที่สำรองจ่ายแทนวัดไปก่อนรวมทั้งสิ้นประมาณ 30 ล้านบาท หักเงินบริจาคเพื่อใช้คืนจำนวน 8 ล้านบาท เหลือประมาณ 22 ล้านบาท หลังจากนั้นได้กู้เงินจากคนที่นายเกรียงไกรรู้จักเป็นเงินจำนวน 50 ล้านบาทเพื่อใช้ก่อสร้างวิหารให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิ.ย. 2556 ซึ่งนายเกรียงไกรได้ใช้อาคารสูง 6 ชั้น เนื้อที่ 200 ตารางวา ตั้งอยู่บริเวณถ.พระราม 3 กรุงเทพฯ เป็นหลักทรัพย์ประกัน โดยคิดอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกสิกรไทยกำหนดในอัตราเงินฝากประจำ 3 เดือน เมื่อวิหารมีรายได้ต่างๆ แล้วทยอยจ่ายคืนจึงเป็นที่มาของหนี้สินจำนวนเงินกว่า 95 ล้านบาทครั้งนี้
นายธวัช กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินบางคนระบุว่าคณะกรรมการวัดต้องล็อกกุญแจกุฏิหลวงพ่อคูณเพื่อป้องกันไม่ให้มีการขนย้ายทรัพย์สินและอัฐบริขารออกไปว่า การล็อกกุฏิของหลวงพ่อคูณที่ผ่านมาก็ไม่เคยล็อกอะไรเป็นพิเศษ นอกจากเวลาท่านอาพาธเข้าร.พ. เพราะในกุฏิไม่มีทรัพย์สินอะไรอยู่แล้ว เท่าที่ตนเห็นก็มีพระพุทธรูปบูชาและอัฐบริขารบางอย่าง เช่น ย่าม, ฟันปลอม และพระยอดธง เป็นต้น ซึ่งทางวัดดูแลรักษาไว้เป็นอย่างดีโดยไม่มีใครคิดเอาไปเป็นของส่วนตัวหรือนำไปหาผลประโยชน์ตามที่ถูกตั้งข้อสังเกต
ขณะที่คณะกรรมการวัดบ้านไร่จำนวนกว่า 10 คน นำโดยพระครูพีรเดชดำรง เจ้าคณะตำบลกุดพิมาน นายธวัฒน์ชัย แสนประสิทธิ์ กำนันตำบลกุดพิมาน นายธวัช เรืองหร่าย รักษาการไวยาวัจกร ได้ตรวจทรัพย์สินที่เป็นครุภัณฑ์ของวัดบ้านไร่และของหลวงพ่อคูณ จากการตรวจสอบภายในห้องมีเตียงนอนหลังเก่าของหลวงพ่อคูณ ส่วนเครื่องใช้ เช่น ผ้าสบง จีวร ประคดเอว หายไป นาย ธวัฒน์ชัยได้ติดตามจนทราบว่าจีวรของหลวงพ่อคูณไปอยู่กับศิษย์ใกล้ชิดคนหนึ่ง ชื่อหมาดำ (ชื่อที่หลวงพ่อคูณตั้งให้) ซึ่งอยู่ต่างจังหวัด นายธวัฒน์ชัยจึงโทรศัพท์ตามขอให้เอากลับคืนมาเพื่อนำมาวางรวมกันข้างรูปเหมือนหุ่นขี้ผึ้ง นอกจากนี้ ยังพบพระยอดธงรุ่น 5 หรือรุ่นท้ายิง จำนวนกว่า 100 องค์ และตะกรุดทองคำอยู่ภายในโถ พร้อมกับฟันปลอม และเครื่องโต๊ะเก้าอี้มุกต่างๆ ยังอยู่ครบ
วันเดียวกันที่ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน (มติชนอคาเดมี) ศิลปวัฒนธรรม เครือมติชน ร่วมกับกรมศิลปากร จัดเสวนาเรื่อง 'หลวงพ่อคูณพระบ้านบ้าน' โดยนายเกรียงไกร จารุทวี อดีตรองประธานกรรมการวัดบ้านไร่ ผู้ดูแลวิหารเทพวิทยาคม และผศ.ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมเสวนา
นายเกรียงไกร กล่าวว่า หลวงพ่อคูณเป็นพระผู้ให้ เงินที่คนมาร่วมทำบุญก็นำมาสร้างร.พ.และโรงเรียน ตามคติธรรมของท่าน คือ ยิ่งเอา มันยิ่งอด ยิ่งสละให้หมด มันยิ่งได้ ท่านจึงไม่มีสมบัติอะไรติดตัว ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย ภายในห้องมีเพียงเตียงไม้กับหมอน และจะมีพระพุทธรูปหลวงพ่อดำที่ท่านจะกราบและสวดมนต์ทุกวัน ท่านทำกิจของสงฆ์อย่างเคร่งครัด ทุกเช้าจะต้องออกบิณฑบาต แม้จะมีญาติโยมมาถวายภัตตาหารก็ไม่รับ ท่านบอกว่าเป็นภิกษุต้องทำตามกฎของพระพุทธเจ้า
นายเกรียงไกรกล่าวอีกว่า เรื่องวิหารเทพวิทยาคมท่านเคยพูดกับตนว่า มึงไม่ทำ ใครจะทำ โดยบอกว่า กูจะเลิกให้เงินชาวบ้านเเล้ว เเต่ต้องให้งานเเละให้ธรรมะง่ายๆ กับชาวบ้าน คำสอนท่านเป็นคำสอนง่ายๆ เหมือน พระพุทธเจ้าสอน ท่านจึงอยากทิ้งธรรมะเอาไว้ ตนจึงนำธรรมะของพระพุทธเจ้า 84,000 ธรรมขันธ์ มาไว้ในวิหาร ซึ่งตอนนี้ปรากฏแล้วว่า ชาวบ้านรอบวัดมีงานทำ มีคติธรรมแฝงอยู่รอบวัด เปิดมาได้ 1 ปีกว่า มีคนเข้าชมแล้วกว่า 1 ล้านคน
นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องเงินที่มีคนมาให้แล้วรั่วไหล ท่านทราบอยู่เเล้ว ท่านบอกว่า ใครเอาไปก็เหมือนน้ำเเข็ง ประเดี๋ยวก็ละลายเเล้ว เเต่ท่านไม่ตำหนิใคร คนปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็ได้ดี เหมือนที่ท่านบริจาคร่างกาย ท่านพูดว่า ถ้าไม่บริจาคจะมีปัญหา เพราะคนที่มาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ มีทั้งคนดี คนไม่ดี คนโลภ กลัวจะหาประโยชน์จากท่าน ที่ผ่านมาท่านไม่เคยสร้างวัตถุมงคลอะไร ยกเว้นที่ลูกศิษย์มาขอบารมีท่านสร้างพระแค่รุ่นเดียวที่จะนำเงินไปสร้างวิหาร
นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า หลวงพ่อคูณเป็นพระบ้านๆ จึงใช้ภาษาชาวบ้าน ครั้งหนึ่งเมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯมาวัดบ้านไร่ แล้วมีคนบอกให้หลวงพ่อคูณพูดเพราะๆ หลวงพ่อจึงนิ่งเสียเพราะไม่รู้จะพูดอย่างไร กระทั่งสมเด็จพระเทพฯ ตรัสถามว่าเหตุใดไม่พูด หลวงพ่อคูณก็ตอบกลับว่า เขาไม่ให้กูพูดกับมึง อีกครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราช ดำเนินมาที่วัดบ้านไร่ แล้วกราบหลวงพ่อคูณ หลวงพ่อคูณได้จับพระหัตถ์พระเจ้าอยู่หัวไว้แล้วเอ่ยว่า สุคโต จำนวน 3 ครั้ง อันมีความหมายถึงให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ซึ่งไม่มีพระสงฆ์องค์ใดเคยสัมผัสเเบบนี้
ด้าน ผศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวว่า รู้จักหลวงพ่อคูณแบบคนข้างนอก รับรู้ว่าหลวงพ่อคูณเป็นพระที่สื่อสารด้วยภาษาบ้านๆ และคิดว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะปกติพระมักมีคำเฉพาะที่ใช้จะดูมีคุณวุฒิ จึงมองว่าหลวงพ่อคูณน่าสนใจ แต่โดยส่วนตัวแล้วไม่เคยกราบไหว้ที่วัด ไม่มีเหรียญบูชา แต่นับถือในฐานะที่หลวงพ่อคูณให้สัมภาษณ์ได้น่าประทับใจ มีลักษณะของความตรงไปตรงมาที่แสดงออกผ่านภาษาที่ใช้ หลวงพ่อคูณตระหนักในพระธรรมวินัยมาก จึงไม่เคยบอกว่าตัวเองวิเศษอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในสังคมที่เชิดชูเรื่องพระอรหันต์ และความเป็นคนพิเศษตลอดเวลา
ผศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวต่อว่า ความเป็นพระของหลวงพ่อคูณจะถูกนำเสนอในลักษณะ ที่เข้าถึงง่ายต่อมวลชน เป็นภาพของความเมตตาและการให้ โดยเฉพาะการที่ท่านกล้าบริจาคร่างกาย แปลว่าแม้แต่ร่างกายของตัวเอง ก็ไม่ยึดติด จึงเป็นการสอนโดยที่ไม่ต้องพูด ท่านเป็นพระธรรมดาที่สุดที่ทำให้เห็นตั้งแต่ต้นจนจบ ที่น่าสนใจคือเรื่องพินัยกรรมของหลวงพ่อคูณที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 2547 เป็นลักษณะที่น่าสนใจสำหรับคนเราเมื่ออายุมากขึ้น เพราะนั่นเป็นปีที่ท่านยังมีสติตลอดเวลา แสดงให้เห็นตัวอย่างของคนที่มีสติ เตรียมพร้อมและกล้าเผชิญกับความตาย แม้จะไม่รู้ว่าตัวเองจะมรณภาพเมื่อใด แต่ท่านนึกถึงอุปสรรคในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้น
"นอกจากนี้ ท่านยังคิดถึงคนที่ไม่มีการศึกษาและเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ จึงสร้างโรงพยาบาลและโรงเรียน เพราะท่านเห็นว่าคนเราจะมีชีวิตที่ดีงามได้ ต้องทำให้คนเติบโตขึ้นอย่างมีการศึกษา เมื่อเจ็บป่วยก็มีที่รักษาพยาบาล ท่านเป็นพระที่มองเห็นชีวิตของผู้อื่น ไม่เหมือนพระบางรูปที่เอาเรื่องความศักดิ์ สิทธิ์มาขายอย่างเดียว แต่ท่านมีความคิดดีงามและทำสิ่งดีงาม" ผศ.ดร.ชาญณรงค์กล่าว
ภายหลังการเสวนาแล้วเสร็จ นายเกรียงไกรกล่าวถึงกรณีนายบัญชายุทธ นาคมุจลินท์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนคร ราชสีมา ในฐานะรองประธานคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินวัดบ้านไร่ ระบุว่า เงิน 95 ล้านบาท ที่นายเกรียงไกรสำรองจ่ายในการก่อสร้างวิหารเทพวิทยาคม หากไม่ได้ทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรถูกต้องตามกฎหมาย ถือว่าเป็นโมฆะ และคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินฯก็ไม่มีสิทธิ์ไปเบิกเงินคืนให้ ว่า ขณะนี้ตนยังไม่ขอออกความคิดเห็นใดๆ จะรอจนกว่าคณะกรรมการจะตรวจสอบทรัพย์สินวัดบ้านไร่ให้แล้วเสร็จ จึงจะออกมาแถลงและแสดงหลักฐานเรื่องเงินดังกล่าว
นายเกรียงไกรกล่าวต่อว่า เงื่อนไขที่ให้ตนไปกู้เงินมีชัดเจนในรายงานการประชุม โดยมีหลักฐานคือคณะกรรมการมีมติอนุมัติให้ตนไปกู้เงิน และค่าก่อสร้างวิหารทั้งหมด 355 ล้านบาท แต่เป็นเงินที่ได้จากการบริจาคกับเงินสร้างพระเพียง 200 กว่าล้านบาท ซึ่งพิสูจน์ได้จากรายการในสมุดบัญชีธนาคาร หากตนไม่สำรองเงินจ่ายออกไปก่อนขณะที่ลงเงินไปแล้ว 200 กว่าล้านบาท ศิลปินกว่า 70 ชีวิต และคนงานอีกประมาณ 600 คน ถ้าหยุดสร้างจะเรียกกลับมาทำได้ง่ายทุกคนหรือไม่ ตนเหมือนผู้จัดการบริษัทที่รับมอบหมายจากผู้ถือหุ้น หากขาดเงินระหว่างการทำงานก็ต้องไปหาเงินมา เพราะไม่มีคณะกรรมการคนไหนช่วยออก
นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ตนอยากให้คณะกรรมการที่เข้ามาตรวจสอบว่าการใช้งบก่อสร้าง 355 ล้านบาท คุ้มค่าและสมควรหรือไม่ ควรประกอบด้วย 1.กรมศิลปากร ให้มาดูเรื่องศิลปะภายในวิหาร 2.วิศวกร ให้มาตรวจสอบเรื่องโครงสร้างและมาตรฐานการก่อสร้าง และ 3.ผู้ชำนาญการด้านบัญชี ให้มาตรวจสอบรายการใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งทุกเดือนตนจะทำบัญชีรายรับและรายจ่ายรายงานให้คณะกรรมการรับรู้ แล้วถ้าจะเบิกเงินให้พนักงานหรือใช้จ่าย ตนก็ต้องทำเรื่องขออนุมัติคณะกรรมการ
"การทำให้หลวงพ่อคูณไม่จำเป็นต้องทำเหมือนธุรกิจ ผมทำด้วยใจและความศรัทธา และคิดว่าเป็นการสร้างสมบัติของชาติไว้ จึงไม่ได้ทำข้อตกลงหรือทำสัญญากับหลวงพ่อคูณ เพราะมันผิดวิสัยที่พูดว่ารักหลวงพ่อ แต่ทางปฏิบัติกลับให้เซ็นสัญญา ผมไม่เคยทำอย่างนั้น เคยแต่แจ้งให้ทราบว่า หลังจากสร้างวิหารแล้ว รายได้มีเท่าไหร่ก็ค่อยทยอยใช้มา แต่ไม่เคยบอกว่าจะต้องให้เมื่อไหร่ หรือต้องส่งดอกเบี้ย ผมไม่ได้สนใจว่าจะได้คืนหรือไม่ แล้วแต่วุฒิภาวะของคณะกรรมการและเจ้าอาวาส แต่คิดดูเอาว่าเป็นธรรมกับผมหรือไม่ แล้วผมได้จ่ายเงินไปจริงหรือไม่" อดีตรองประธานกรรมการวัดบ้านไร่กล่าว