WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ก้าวตาม'พินัยกรรม' ยึดเจตนา'พ่อคูณ' 

 

มติชนออนไลน์ :

      นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่อีกครั้งของพุทธศาสนิกชนไทย เมื่อพระเทพวิทยาคม หรือ "หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ" เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ละสังขาร เมื่อเวลา 11.45 น. วันที่ 16 พฤษภาคม 

       มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา ถึงทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ "หลวงพ่อคูณ" ทั้งบัญชีวัด เงินบริจาค และเงินส่วนตัว รวมทั้งสิ่งปลูกสร้าง เครื่องรางของขลัง เครื่องใช้ส่วนตัว และบางอย่างที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้นั้น จะเป็นอย่างไรต่อไป 

      โดยมีการเปิดพินัยกรรมที่ "หลวงพ่อคูณ" ทำไว้ล่วงหน้า 2 ฉบับ โดยฉบับแรก ทำเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2536 ฉบับที่สอง ทำเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2543

       'ธงชัย ลืออดุลย์' พ่อเมืองโคราช ไขข้อข้องใจว่า พินัยกรรมฉบับล่าสุดของ "หลวงพ่อคูณ" ทำเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2543 ขณะนั้นท่านมีอายุ 77 ปี มีพยานรับรอง 4 คน คือ 1.รศ.สุขชาติ เกิดผล รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) 2.นายประทีป วงษ์กาญจนรัตน์ 3.นายธวัช เรืองหร่าย ไวยาวัจกรวัดบ้านไร่ และ 4.นายเนาวรัตน์ สังการกำแหง นิติกร 8 (ชำนาญการ) มข. ร่วมลงลายมือชื่อ และมอบหมายให้นายอำเภอด่านขุนทด ศึกษาธิการอำเภอด่านขุนทด และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มข. ร่วมเป็นผู้จัดการศพ มีอำนาจดำเนินการให้เป็นไปตามพินัยกรรม

      "ผมมีคำสั่งให้ศึกษาธิการอำเภอ ขณะนี้เป็นผู้อำนวยการสำนักพุทธศาสนาจังหวัดนครราชสีมา และนายอำเภอด่านขุนทด ร่วมตรวจสอบทรัพย์สินทั้งหมด เพื่อเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามข้อกฎหมาย และให้สังคมรับทราบเพื่อความโปร่งใส" พ่อเมืองโคราชระบุ ทั้งนี้ เนื้อหาในพินัยกรรมระบุว่า 

 

1.ให้มอบศพแก่มหาวิทยาลัยขอนแก่นภายใน 24 ชั่วโมง หลังมรณภาพลง เพื่ออุทิศร่างเป็นอาจารย์ใหญ่ให้กับคณะแพทยศาสตร์

 

2.ให้ทำพิธีสวดพระอภิธรรมที่คณะแพทยศาสตร์ 7 วัน ตั้งแต่วันที่มรณภาพลง 

 

3.เมื่อสิ้นสุดการศึกษาค้นคว้าของภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นแล้ว ให้จัดงานแบบเรียบง่าย ละเว้นการพิธีสมโภชใดๆ และห้ามขอพระราชทานเพลิง โกศ และพระราชพิธีอื่นๆ เป็นกรณีพิเศษเป็นการเฉพาะ กระทำพิธีเช่นเดียวกับการจัดพิธีศพของอาจารย์ใหญ่นักศึกษาแพทย์ประจำปีร่วมกับอาจารย์ใหญ่ท่านอื่น แล้วเผา ณ ฌาปนสถานวัดหนองแวง พระอารามหลวง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น หรือวัดอื่นใดที่คณะแพทยศาสตร์เห็นสมควรและเหมาะสม โดยทำพิธีเผาให้เสร็จสิ้นที่ จ.ขอนแก่น

 

4.อัฐิ เถ้าถ่าน และเศษอังคารทั้งหมด ให้นำไปลอยที่แม่น้ำโขง จ.หนองคาย ตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม

 

ตรงตามบันทึกที่มีคำกล่าวของหลวงพ่อคูณว่า

      "...เมื่อกูตายแล้ว กูกลัวว่าศพของกูนี่แหละ จะเป็นภาระยุ่งยากของลูกหลาน จะเกิดความสับสนวุ่นวาย เพราะคนที่มาหากู ฝากตัวเป็นศิษย์มีมากมายหลายประเภท มีทั้งดี ทั้งเลว ละโมบ โลภมาก มาแสวงหาผลประโยชน์ต่างๆ นานา โดยไม่กลัวบาปกรรม...อ้างตัวว่าเป็นหลาน เป็นพี่ เป็นน้อง แต่ก็เปล่าด๊อก ถ้าเป็นพี่เป็นน้องของกูอย่างปากว่าจริงๆ ก็จะไม่มาสร้างความวุ่นวายยุ่งเหยิงให้เกิดขึ้นแน่ กูจึงขอให้โรงพยาบาลมารับศพไปภายใน 24 ชั่วโมง และหลังจากสิ้นสุดการศึกษาค้นคว้าแล้ว ก็ให้จัดพิธีบำเพ็ญกุศลเช่นเดียวกับศพของอาจารย์ใหญ่..."

      เป็นการยึดถือความเรียบง่ายตามแนวทางที่ 'หลวงพ่อคูณ'ปฏิบัติมาทั้งชีวิต แม้ละสังขารไปแล้วก็ยังไม่ปรารถนาให้เป็นภาระยุ่งยากแก่ผู้ใด 

     แต่เหตุการณ์ที่ปรากฏสร้างความวิตกแก่พุทธศาสนิกชนบางส่วนว่า เจตนาตามพินัยกรรมอาจไม่สามารถบรรลุได้ทั้งหมด เนื่องจากหลังการละสังขาร มีคณะลูกศิษย์พยายามขอให้นำสรีระหลวงพ่อคูณไปบำเพ็ญกุศลที่วัดบ้านไร่ ก่อนส่งมอบให้ตามพินัยกรรม แม้ความพยายามจะไม่เป็นผล แต่น่าจับตามองว่าพินัยกรรมที่หลวงพ่อคูณทิ้งไว้จะปฏิบัติตามได้ทั้งหมดหรือไม่

        'รศ.สุขชาติ เกิดผล'รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะแพทยศาสตร์ มข. หนึ่งในพยานรับรองพินัยกรรม เชื่อว่าสรีระสังขารของ 'หลวงพ่อคูณ'จะปฏิบัติตามพินัยกรรมได้อย่างไม่มีปัญหา การที่มีคนออกมาเรียกร้องขอความยืดหยุ่นให้ตั้งศพหลวงพ่อนานกว่านี้ คงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากระยะเวลาการดองศพ มีขั้นตอนตามหลักวิทยาศาสตร์ หากถูกเก็บไว้นานกว่านี้จะทำให้กล้ามเนื้อทั้งหลายสลายไป จะนำไปใช้ในการเรียนการสอนยากขึ้น

      "มีขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนอยู่แล้ว คงไม่มากไปกว่า 7 วัน และนำไปสู่ขั้นตอนอื่นๆ ต่อไป ในอดีตเคยมีเคสที่เก็บศพไว้นานเกินไปทำให้กล้ามเนื้อสลายไป ฉะนั้น ผมเชื่อว่าคณะแพทยศาสตร์คงทำตามขั้นตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังขารหลวงพ่อ อายุมากแล้ว กล้ามเนื้อฝ่อไปมาก ถ้าช้าไปกว่านี้คงไม่ได้อีกแล้ว" รศ.สุขชาติอธิบาย

      รศ.สุขชาติบอกว่า ด้วยความเคารพต่อ'หลวงพ่อคูณ'เป็นไปได้ว่าร่างของ'หลวงพ่อคูณ'จะให้ระดับอาจารย์แพทย์เป็นผู้ทำการผ่าแยกชำเเหละอวัยวะให้นักศึกษาดูเพื่อการศึกษาเเละเรียนรู้เป็นเรื่องๆ ไป เพื่อให้เกียรติแก่สังขารท่าน น่าจะเป็นทางที่ดีที่สุด

ส่วนของการสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านนั้น รศ.สุขชาติระบุว่า "ตอนที่รับศพมาก็ชี้แจงชัดเจนแล้ว คงไม่มีปัญหาอะไร เมื่อสังขารมาถึงขอนแก่นแล้วทุกอย่างน่าจะราบรื่น" รศ.สุขชาติกล่าว

ด้าน'เนาวรัตน์ สังการกำแหง'นิติกร 8 (ชำนาญการ) มข. อีกหนึ่งในพยานรับรองพินัยกรรม ยืนยันว่าจะทำตามพินัยกรรม หลังครบพิธีกรรมทางศาสนา 7 วัน สรีระสังขารจะถูกนำไปศึกษาทางการแพทย์ ตามเจตนาที่ท่านเขียนไว้ทุกอย่าง 

"เจตนารมณ์ของหลวงพ่อคูณนั้นชัดเจนมาก ก่อนที่ท่านจะทำพินัยกรรม ท่านกำหนดกรอบมาแล้วว่าท่านต้องการแบบไหน หลังจากนั้นเราก็ระบุไป แล้วนำกลับไปให้ท่านอ่านและดูให้เรียบร้อย ซึ่งท่านก็ปรับแก้อยู่ 2-3 ครั้ง ก่อนจะเสร็จสิ้น ทุกข้อหลวงพ่อเป็นผู้กำหนดและลงนามอย่างนั้นจริงๆ ไม่มีการผิดเพี้ยน นอกเหนือกรอบที่ท่านต้องการ"

'เนาวรัตน์'บอกต่อว่า เมื่อท่านละสังขารไป ท่านก็เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง ที่ต้องเป็นไปตามที่ท่านกำหนดไว้ ทางมหาวิทยาลัยก็ทำตามและมีสิทธิเท่าที่ได้รับ ส่วนคนที่จะทำก็คือคนที่ท่านระบุไว้ว่าจะให้ใครเป็นคนทำ 

      "ในแง่กฎหมายให้สิทธิท่านหมดไว้ตั้งแต่แรก ฉะนั้นต้องเป็นไปตามนั้น ส่วนใครจะไม่ทำตาม อาจจะด้วยความรู้สึกรัก ศรัทธา อยากจะให้ขั้นตอนเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น ผมคิดว่าเป็นการทำนอกเหนือเจตนารมณ์ของท่าน คงไม่ถูกในแง่ของข้อกฎหมาย และเจตนารมณ์ท่านที่เราต้องเคารพ" เนาวรัตน์ยืนยัน

    ส่วน'ดร.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล' คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น บอกว่า ที่หลายฝ่ายกังวลเรื่องการเปิดให้ศิษยานุศิษย์และประชาชนผู้มีจิตศรัทธา เข้าสักการะสรีระสังขารหลวงพ่อคูณ ในช่วงการดองสรีระ 1 ปี เป็นการไม่เหมาะสม อาจมีการหาผลประโยชน์และอาจสร้างความเสื่อมเสียเกียรติให้กับ'หลวงพ่อคูณ'ที่ต้องให้คนเห็นร่างไร้จีวรนั้น เรื่องนี้คณะแพทย์ปรึกษาหารือมาตลอดตั้งแต่เมื่อครั้ง'หลวงพ่อคูณ'ตัดสินใจบริจาคร่างกาย ทางคณะแพทย์ตัดสินใจสร้างอ่างแก้วดองร่าง'หลวงพ่อคูณ'เป็นการเฉพาะ จากปกติจะถูกเก็บไว้ในอ่างแก้วรวมกับร่างอาจารย์ใหญ่ท่านอื่นๆ โดยจะนำร่าง 'หลวงพ่อคูณ' ไปเก็บไว้ที่ห้องปฏิบัติการกายวิภาค ชั้น 4 ของคณะแพทย์ และจะมีการวางไว้บนแท่นที่ยกสูงเป็นการเฉพาะ 

"ส่วนการจะเปิดให้ศิษยานุศิษย์และผู้มีจิตศรัทธาเข้าสักการะหรือไม่นั้น ต้องหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องและรับฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง เพื่อไม่ให้กระทบต่อเกียรติของหลวงพ่อคูณ และเป็นไปตามพินัยกรรม" ดร.ชาญชัยระบุ

       ด้าน'ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ'อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายในแง่กฎหมายว่า ตามกฎหมายแล้วต้องปฏิบัติตามพินัยกรรม เพราะถือเป็นคำสั่งเสียของผู้ตาย ผู้ที่เป็นทายาทต้องปฏิบัติตาม หรือคนอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่ทายาทก็ต้องเคารพในเจตนารมณ์ของ'หลวงพ่อคูณ'เช่นกัน 

      "ที่ท่านบริจาคร่างกายให้คณะแพทยศาสตร์ก็เป็นการใช้อำนาจจัดการศพ ผู้ที่เป็นเจ้ามรดกหรือผู้ที่ถึงแก่ความตายมีสิทธิที่จะจัดการมรดก และในการจัดการมรดกนี้ส่วนหนึ่งคือการจัดการศพของตน การสั่งเสียไว้ก่อนตายทำให้ทายาทผูกพันที่จะต้องจัดการศพตามนั้น คนที่ไม่ใช่ทายาท หากเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องก็ต้องเคารพต่อเจตนาของผู้ตายแบบเดียวกัน"

    หากไม่ปฏิบัติตามพินัยกรรม อาจารย์กิตติศักดิ์ตอบว่า ถ้าไม่ปฏิบัติตาม ผู้ที่เป็นทายาทหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในฐานะที่เป็นผู้จัดการศพต้องเป็นผู้รับผิดชอบ กรณี'หลวงพ่อคูณ'ไม่มีทายาทโดยธรรม ตีความได้ว่าตั้งให้คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น เป็นทายาทโดยพินัยกรรม ไม่ใช่คุณหมอที่เป็นพยาน ถ้า ม.ขอนแก่น ตกลงรับก็ต้องปฏิบัติตามนั้นไปตลอด 

      หากไม่ได้นำอัฐิและเถ้าถ่านไปลอยอังคาร แต่นำมาให้ประชาชนสักการะจะมีความผิดไหม ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ตอบว่า ผู้ที่มีส่วนได้เสียสามารถฟ้องให้เอาไปลอยได้ โดยทายาทก็ต้องปฏิบัติตามท่าน

     พุทธศาสนิกชนน่าจะคลายกังวล หวังว่าทุกฝ่ายจะปฏิบัติตามเจตนารมณ์สุดท้ายของ "หลวงพ่อคูณ" อย่างครบถ้วน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!