- Details
- Category: ศาสนา
- Published: Thursday, 05 March 2015 23:25
- Hits: 3913
วันที่ 05 มีนาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8863 ข่าวสดรายวัน
บี้'ธัมมชโย'ดีเอสไอออกหมายเรียก องค์กรพุทธกดดันหนัก ยุบกก.ปฏิรูปชุดไพบูลย์
ดีเอสไอออกหมายเรียก'ธัมมชโย'-ผู้เกี่ยว ข้องในวัดพระธรรมกาย พัวพันกับคดีสหกรณ์ยูเนี่ยนคลองจั่น วอนวัดคืนเงินทั้งหมดให้สหกรณ์ตามที่ตกลงไว้ ไม่อยากเห็นการดำเนินคดีกับพระหรือวัด สมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนาเตรียมร้องทุกข์กล่าวโทษพุทธอิสระ ข้อหาหมิ่นสังฆราช เพื่อไทยจี้ไพบูลย์ นิติตะวัน ถอนตัวจากปธ.กรรมการปฏิรูปฯพระพุทธศาสนา ชี้ความคิดสุดโต่ง พูดจาแข็งกร้าว เตือนศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แนะยึดทางสายกลาง ด้านรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ เดินหน้าเรียกร้องยุบคณะกรรมการปฏิรูปฯ ปัดข้อเสนอเปิดทางให้พระสงฆ์แค่ 1-2 รูปเข้าร่วมคณะกรรมการ ชี้ไร้ประโยชน์ เทียบสัดส่วนเสียงข้างมากไม่ได้ แถมคณะกรรมการ ปฏิรูปฯ ไม่เคยยำเกรงคณะสงฆ์ กล่าววาจาคุกคามพระผู้ใหญ่ จับตาท่าทีรัฐบาล 12 มี.ค.นี้ ย้ำหากไม่ทำตามข้อเรียกร้อง คณะสงฆ์-ฆราวาสนัดชุมนุมใหญ่แน่
เมื่อวันที่ 4 มี.ค. พระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จันทสาโร) รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) ในฐานะที่ปรึกษาสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) เปิดเผยว่ายังคงยืนยันหลักการที่ สนพ.และองค์กรพุทธฯต่างๆ เรียกร้องให้ยุบคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตร การปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สปช. เพียงประการเดียวเท่านั้น ถึงแม้จะเริ่มมีกระแสว่าสปช.อาจเตรียมให้คณะสงฆ์เข้ามาร่วมดำเนินการปฏิรูปแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปฯ พระพุทธศาสนา ซึ่งอาตมามองว่าถึงแม้จะให้มีคณะสงฆ์เข้าร่วม แต่คงเป็นได้เพียง 1-2 รูปเท่านั้น จำนวนพระสงฆ์เพียงเท่านี้ไม่สามารถเทียบสัดส่วนกับเสียงข้างมากได้ คงไม่มีประโยชน์หากจะให้คณะสงฆ์เข้าร่วมแต่อย่างใด จึงขอยืนยันให้ยุบคณะกรรมการปฏิรูปฯ พระพุทธศาสนา
"อาตมาเชื่อว่าที่มีข่าวจะให้คณะสงฆ์เข้าร่วมปฏิรูปแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปฯ พระพุทธศาสนา คงไม่เป็นความจริง ด้วยเพราะคณะกรรมการปฏิรูปฯ พระพุทธศาสนา ไม่เคยเคารพยำเกรงต่อคณะสงฆ์ ทั้งยังกล่าววาจาคุกคามพระผู้ใหญ่ รวมทั้งการเสนอให้ตรวจสอบทรัพย์ของพระสังฆา ธิการที่มีตำแหน่งและชื่อเสียงรวมถึงวัด ทั้งนี้ยังคงรอท่าทีจากฝ่ายรัฐบาลอยู่ ซึ่งมีกำหนดวันที่ 12 มี.ค.นี้ หากไม่ทำตามข้อเรียกร้องยังคงจะมีการชุมนุมพระสงฆ์และฆราวาสจำนวนมาก สวดเจริญพระพุทธมนต์ดลใจให้รัฐบาลและสปช.ดำเนินการตามข้อเรียกร้องต่อไป" พระเมธีธรรมาจารย์กล่าว
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขา ธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าวันเดียวกันนี้เป็นวันมาฆบูชาซึ่งมีความสำคัญทางพระพุทธศาสนา ตนมีโอกาสทำบุญตักบาตรหน้าวัดมหาธาตุริมแม่น้ำโขงร่วมกับข้าราชการและประชาชนชาวนครพนมจำนวนมาก ทำให้รู้ว่าศาสนาพุทธหยั่งรากลึกลงไปในสังคมไทยอย่างมั่นคง แม้จะมีลมพายุพัดแรงทำให้ระคายเคืองบ้างก็เป็นเรื่องตัวบุคคล แต่ไม่อาจสั่นคลอนพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ทั้งนี้ได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับพระคุณเจ้าหลายรูป ล้วนสนใจเรื่องการปฏิรูปศาสนาของสปช. โดยพระคุณเจ้าทุกรูปต่างไม่สบายใจว่าการปฏิรูปจะทำให้วงการสงฆ์แตกแยกมากขึ้น ทุกรูปกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่านายไพบูลย์ นิติตะวัน ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปฯ มีความคิดสุดโต่ง พูดจาแข็งกร้าว ยิ่งดูการทำงานในอดีตบนเวทีที่มีส่วนสร้างความแตกแยกในบ้านเมืองแล้วหนักใจมาก
"ผมไม่ได้มีประเด็นส่วนตัวอะไรกับนายไพบูลย์ แต่เรื่องศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง สังคมเห็นแล้วว่าหลักคิดของนายไพบูลย์เป็นอย่างไร จะทำให้งานปฏิรูปเดินไปลำบาก และส่งผลต่อการทำงานของสปช. รัฐบาล รวมทั้งคสช.ด้วย จึงอยากขอร้องนายไพบูลย์ให้ถอนตัวจากการเป็นประธานกรรมการปฏิรูปฯ เชื่อว่ายังมีงานด้านอื่นที่คสช.อาจมอบให้ท่านอีกมากมาย ส่วนเรื่องศาสนาควรยึดหลักคิดเรื่องการเดินบนทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทา ดังนั้นขอให้หยุดจะได้เป็นบุญกุศลร่วมกัน" นายชวลิตกล่าว
นายสืบพงศ์ ธรรมชาติ รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สปช. ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยว่า ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งเกิดประเด็นความขัดแย้งในกรณีธรรมกายนั้น เกิดจากความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าคณะกรรมการจะเข้าไปจัดการสอบสวนดำเนินคดีด้วยตนเอง ซึ่งไม่เป็นความจริง เนื่องจากคณะกรรมการไม่มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าว เป็นเพียงผู้ศึกษารวบรวมข้อมูลปัญหากิจการพุทธศาสนาในหลายๆ ด้าน เพื่อเสนอรัฐบาลและนำไปสู่การวางแนวทางปฏิรูปให้พระพุทธศาสนาดำรงคงอยู่ยั่งยืนนานเท่านั้น
นายสืบพงศ์ กล่าวต่อว่า ในการประชุมคณะกรรมการครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมเห็นว่าในประเด็นที่ยังมีความขัดแย้งรุนแรง เช่น กรณีพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชนั้นควรศึกษาและรับฟังความเห็นจากหลายฝ่ายเสียก่อน โดยเตรียมให้คณะสงฆ์เข้ามาเป็นหลักดำเนินการปฏิรูปแก้ไขปัญหาต่างๆ คณะกรรมการไม่ได้กีดกันอย่างที่เข้าใจ อย่างไรก็ตามในประเด็นที่มีการกระทำผิดกฎหมายต้องใช้กฎหมายบ้านเมืองแก้ปัญหา
วันเดียวกัน พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะรองหัวหน้าพนักงานสอบสวนในคดีนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตผู้บริหารสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จำกัด กับพวก 8 คนยักยอกทรัพย์สหกรณ์กว่า 15,000 ล้านบาทเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ได้ออกหนังสือเรียกพระธัมมชโยและกลุ่มพระลูกวัดของวัดพระธรรมกาย ที่ปรากฏรายชื่อรับโอนเช็คจากสหกรณ์ฯคลองจั่นกว่า 800 ล้านบาท เข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนในสัปดาห์หน้า ดีเอสไอจะทยอยเรียกผู้เกี่ยวข้องที่ปรากฏชื่อมาสอบปากคำทุกราย ไม่ใช่แค่พระธัมมชโย ทั้งนี้ในวันที่ 6 มี.ค. คณะพนักงานสอบสวนจะประชุมร่วมกันเพื่อรายงานความคืบหน้าของคดี จากนั้นจะแถลงข่าวในรายละเอียดการเรียกผู้เกี่ยวข้องมาให้การกับพนักงานสอบสวน เบื้องต้นจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. รวมถึงการออกหมายเรียกนิติบุคคลที่ปรากฏชื่อรับเช็คจากสหกรณ์ฯคลองจั่นในช่วงปี 2552-2555 ที่นายศุภชัยเป็นประธานกรรมการบริหารสหกรณ์และเป็นผู้สั่งจ่าย
รายงานข่าวระบุว่า สำหรับการออกหมายเรียกครั้งนี้พนักงานสอบสวนระบุชื่อพระธัมมชโยมาให้การในประเด็นที่ปรากฏชื่อในเช็ครับโอนเงินจากสหกรณ์คลองจั่น เพราะมีการตรวจสอบเอกสารข้อมูลทางการเงิน มีหลักฐานระบุชัดว่าพระธัมมชโยมีชื่อรับเช็คจากสหกรณ์คลองจั่น ทั้งนี้พนักงานสอบสวนชุดเดิมก่อนหน้านี้สอบในประเด็นเช็คจำนวน 15 ฉบับ โดยครั้งนั้นพระธัมมชโยส่งทนายความมาให้การกับพนักงานสอบสวน และชี้แจงในประเด็นเช็ค 15 ฉบับที่โอนมายังพระธัมมชโยและพระในวัดพระธรรมกายอีก 2-3 คน คำให้การยอมรับว่ามีการรับโอนเงินจำนวน 13 ฉบับ เพราะเช็คอีก 2 ฉบับไม่สามารถนำไปขึ้นเงิน จึงมียอดเงินเข้าบัญชีวัดพระธรรมกายและชื่อพระจำนวนกว่า 700 ล้านบาท นอกจากนี้ยังสอบปากคำพระครูปลัดวิจารณ์ที่ปรากฏชื่อรับโอนเงินจำนวน 119 ล้านบาท ซึ่งให้การยอมรับเช่นกันว่ารับเงินจำนวนดังกล่าวมาจริง จากนั้นนำเงินไปสร้างศูนย์ปฏิบัติที่จ.ลพบุรี อีกทั้งยังระบุว่าตอนญาติโยมเอาเงินถวายก็ไม่เคยถามว่านำเงินผิดกฎหมายมาถวายวัดหรือไม่ จึงไม่รู้เงินดังกล่าวมาจากการกระทำผิดหรือไม่
นายโอภาส กลั่นบุศย์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นอยู่ระหว่างเสนอแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง โดยมีประเด็น คือ มีเจ้าของเงินฝากหรือเจ้าหนี้ของสหกรณ์แตกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มผู้ฝากเงินรายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการให้สหกรณ์เข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ เพราะยังมีโอกาสได้รับเงินคืนแม้จะต้องใช้ระยะเวลายาวนานก็ตาม อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มผู้ฝากเงินรายใหญ่ที่ต้องการให้สหกรณ์เข้าสู่กระบวน การล้มละลาย เพราะจะต้องมีการขายทรัพย์สินและนำเงินมาชดเชยรายใหญ่ก่อน แต่กรณีนี้ไม่เป็นผลดีกับผู้ฝากเงินรายย่อย ซึ่งคาดว่าจะได้รับเงินคืนเพียงร้อยละ 5-8 ของเงินฝากในบัญชีเท่านั้น อย่างไรก็ตามเรื่องนี้อยู่ในดุลพินิจของศาล ซึ่งนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 20 มี.ค. นี้
อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ตามแนวทางการฟื้นฟูสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นนั้นต้องหาสภาพคล่องเข้ามาเติมประมาณ 5,000 ล้านบาท น่าจะเพียงพอในการทำธุรกิจและหารายได้กลับคืนสู่สมาชิกต่อไป โดยแหล่งเงินที่วางแผนไว้มี 2 ทางคือ 1.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้ครม.พิจารณาอนุมัติจัดหาแหล่งเงินทุน ให้สหกรณ์กู้ยืม โดยรัฐรับชดเชยดอกเบี้ย และ 2.การฟ้องร้องทางแพ่งเรียกเงินที่ถูกทุจริตไปประมาณ 16,000 ล้านบาทคืนกลับมา สำหรับการดำเนินคดีทางแพ่งเพื่อเรียกร้องเงินคืน สหกรณ์ได้ยื่นฟ้องทั้งสิ้น 5 คดี เป็นเงินเรียกคืนทั้งสิ้น 16,725 ล้านบาท แบ่งเป็นการฟ้องนายศุภชัยและพวก 14,452 ล้านบาท ศาลนัดพิจารณาคดีวันที่ 28 เม.ย. นี้ ยื่นฟ้องสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนรัฐประชา จำกัด คดีผิดสัญญาตั๋วใช้เงิน 1,340 ล้านบาท ยื่นฟ้องวัดพระธรรมกายและพระราชภาวนาวิสุทธิ์หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาส ซึ่งรับเงินบริจาคมาจากนายศุภชัย 814 ล้านบาท ศาลนัดพิจารณาคดีวันที่ 16 มี.ค.นี้ และยื่นฟ้องพระครูปลัดวิจารณ์ ธีรางกุโร พระลูกวัด 119 ล้านบาท ศาลนัดพิจารณาคดีวันที่ 28 เม.ย. นี้ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ราชการไม่อยากเห็นการดำเนินคดีกับพระหรือวัด จึงอยากให้วัดพระธรรมกายคืนเงินทั้งหมดให้แก่สหกรณ์ ตามที่ตกลงกับคณะกรรมการสหกรณ์ไว้ เพราะวันนี้แม้จะมีการรับปากแล้วว่าจะคืนแต่ก็ยังไม่ดำเนินการ ถ้านัดคืนเงินให้สหกรณ์จริงวันไหนตนพร้อมไปเป็นพยานรับมอบเงินคืนด้วยตัวเอง ยิ่งไม่คืนหรือทิ้งเวลานานเท่าไรวัดก็จะยิ่งถูกสังคมตรวจสอบหนักยิ่งขึ้น ถ้าวัดพระธรรมกาย เจ้าอาวาส และพระลูกวัดที่รับเงินบริจาครวม 933 ล้านบาทจากอดีตผู้บริหารสหกรณ์ที่ทุจริตกลับคืนให้สหกรณ์เชื่อว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สมาชิกได้ทันที" นายโอภาสกล่าว
นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยความคืบหน้ากรณีที่พระสุวิทย์ ธีรธัมโม หรือพุทธอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม เข้ายื่นหนังสือต่อนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด เพื่อขอให้พิจารณาตรวจสอบกรณีการถอนฟ้องคดีและขอให้รื้อฟื้นคดีพระธัมมชโยขึ้นมาพิจารณาใหม่อีกครั้งว่า เบื้องต้นพนักงานอัยการบันทึกการรับเรื่องหนังสือดังกล่าวไว้เป็นหลักฐาน จากนั้นนำเอกสารเสนอไปยังนายตระกูลเพื่อขอให้พิจารณาสั่งการต่อไป ต้องรอดูก่อนว่าอัยการสูงสุดจะมีคำสั่งให้ดำเนินการอย่างไรบ้าง ส่วนจะตั้งเป็นคณะทำงานอัยการหรือไม่ยังไม่สามารถระบุได้ คาดว่าน่าจะพิจารณาเสร็จสิ้นภายในสัปดาห์นี้
นายเสถียร วิพรมหา รักษาการนายกสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) เปิดเผยว่าในวันที่ 6 มี.ค. เวลา 10.00 น. สนพ.นำโดยตนและพระมหาโชว์ ทัสสนีโย ที่ปรึกษาสนพ. จะเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษที่กองปราบปราม ต่อกรณีที่พุทธอิสระกระทำการที่อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มาตรา 44 ทวิ และมาตรา 44 ตรี หรือไม่ เนื่องจากพุทธอิสระมีการแสดงออกทั้งผ่านทางเฟซบุ๊ก และยังเดินทางไปยังวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ซึ่งเป็นวัดที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช จำพรรษาอยู่ โดยมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทั้งนี้ในพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 44 ทวิ ระบุว่าผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายสมเด็จพระสังฆราช ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 44 ตรี ระบุว่า ผู้ใดใส่ความคณะสงฆ์หรือคณะสงฆ์อื่น อันก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือความแตกแยก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ