- Details
- Category: ศาสนา
- Published: Tuesday, 03 March 2015 10:40
- Hits: 2845
วันที่ 03 มีนาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8861 ข่าวสดรายวัน
สงฆ์สหรัฐ ร่วมจี้ยุบกก.ไพบูลย์ ชี้ปฏิรูปพุทธ-มีอคติ 'พุทธอิสระ'มอบตัว ฝ่าฝืนกฎอัยการศึก
'สมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐ'ร่วมออกโรง จี้ยุบคณะกรรมการปฏิรูปฯ พุทธศาสนา เรียกร้องให้ดำเนินการ 'ไพบูลย์'ปธ.กรรมการ กับ'พุทธอิสระ'ฐานคุกคามจาบจ้วงมหาเถรฯ และผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ขณะที่ พระธรรมทูตภาคใต้ ก็แถลงไม่เห็นด้วย เสนอตั้งคณะกรรมการที่ได้รับการยอมรับจากคณะสงฆ์ สังคม ประชาชน ส่วนมหาจุฬาฯ และกลุ่มนักวิชาการเพื่อพุทธศาสนา ขีดเส้น 12 มี.ค. นี้ ยกเลิกกรรมการชุดไพบูลย์ ด้านพุทธอิสระโผล่มอบตัวกองปราบฯ คดีฝ่าฝืนกฎอัยการศึก กรณีนำม็อบบุกวัดปากน้ำภาษีเจริญ ก่อนแจ้งความกลับเอาผิด'ธัมมชโย' ข้อหาฉ้อโกง แต่งกายเลียนสงฆ์
เมื่อวันที่ 2 มี.ค. สมัชชาสงฆ์ไทยในประเทศสหรัฐอเมริกา ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เรื่องขอให้ปฏิเสธคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และพฤติกรรมของพระสุวิทย์ ธีรธัมโม หรือพุทธอิสระ ว่าด้วยสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐ อเมริกา ได้ติดตามข่าวการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปฯ พระพุทธศาสนา สปช. และมีพระภิกษุบางรูปพระพฤติตนไม่เหมาะสม ได้ร่วมมือกันดำเนินการอย่างมีอคติ และไม่มีความจริงใจ ปราศจากความเคารพ รวมทั้งมิได้ทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย
สมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา จึงขอเรียกร้องดังต่อไปนี้ 1.ขอให้ประธานสปช. ยุบคณะกรรมการปฏิรูปฯ ดังกล่าว แล้วตั้งคณะกรรมการปฏิรูปฯ ชุดใหม่ ที่มีความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์อย่างแท้จริง 2.ให้ดำเนินการต่อนายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปฯ ชุดดังกล่าว และพุทธอิสระ ที่คุกคามจาบจ้วงก้าวร้าวต่อมหาเถรสมาคม และผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิรูปพระพุทธศาสนาให้เหมาะสม ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เพื่อความเป็นธรรม อันจะรักษาความมั่นคงของพระพุทธศาสนาให้เป็นสถาบันหลักของชาติสืบไป
พระครูสิริอรรถวิเทศ เลขาธิการสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกากล่าวว่า คณะกรรมการสมัชชาสงฆ์ฯ ลงความเห็นร่วมกัน คือ ปฏิเสธการทำงานของคณะกรรมการ ปฏิรูปฯ พระพุทธศาสนา โดยให้ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ที่มีความรู้ความเข้าใจพระพุทธศาสนาและการทำงานของพระสงฆ์มากกว่านี้ และเน้นให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ปรับปรุงต่อไป อย่างไรก็ตาม เราปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกองค์กรมีจุดอ่อนจุดด้อย แต่ทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาร่วมกันได้อย่างสันติ หาแนวทางร่วมกัน ดีกว่าที่จะมาเบียดเบียนกัน หรือมุ่งทำลายฝ่ายที่มองต่างจากพวกตน
ขณะเดียวกัน พระธรรมทูตอาสา 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ออกแถลงการณ์ เรื่องหยุดสร้างความแตกแยกให้บ้านเมือง โดยระบุว่าพระธรรมทูต 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จ.ยะลา จ.ปัตตานี จ.นราธิวาส จ.สงขลา และ จ.สตูล ได้ร่วมกันทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาในพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อปกป้องพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ในพื้นที่ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ได้พบเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่นับครั้งไม่ถ้วน และได้ติดตามการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปฯ พระพุทธศาสนา ไม่พบเห็นแนวทางที่แก้ไขความรุนแรงในพื้นที่
แถลงการณ์ระบุต่อว่า หากปล่อยให้คณะกรรมการชุดนี้ดำเนินการต่อไป คงไม่แตกต่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้น ขอให้สปช.ยุบคณะกรรมการปฏิรูปฯ พระพุทธศาสนา แล้วให้แต่งตั้งคณะกรรมการที่ได้รับการยอมรับจากคณะสงฆ์ สังคม และประชาชนโดยรวม ขึ้นมาทดแทน อีกทั้งขอเรียกร้องให้มีมาตรการปฏิรูปที่ครอบคลุมศาสนาอื่นๆ อย่างเหมาะสม และแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง รวมทั้งขอยืนยันปกป้องพระพุทธศาสนาในพื้นที่เสี่ยงภัย พร้อมเคลื่อนไหวกับองค์กร กลุ่มต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการปฏิรูปฯ ชุดดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สถานการณ์พระพุทธศาสนาในประเทศไทย สร้างความวิตกกังวลไปยังชาวไทยพุทธในหลายประเทศ โดยล่าสุดเครือข่ายชาวพุทธแห่งประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิกใต้ ออกแถลงการณ์ถึงรัฐบาลไทย ให้สปช.ยุบคณะกรรมการปฏิรูปฯ พระพุทธศาสนา ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ คณะศิษยานุศิษย์หลวงตา มหาบัว ญาณสัมปันโน ทำหนังสือถึงนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ออกแถลงการณ์เรียกร้องดังนี้ 1.ในการร่างรัฐธรรมนูญ ขอให้บัญญัติว่า "การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์" และขอให้แก้ไข พ.ร.บ. คณะสงฆ์ มาตราอื่น ให้บัญญัติตามพระธรรมวินัยว่า "ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา" มิใช่ "ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์"
2.คัดค้านการออกกฎหมายปกครองสงฆ์ที่ขัดต่อพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ดีแล้ว เพื่อมิให้เกิดสังฆเภทอันเป็นกรรมหนักที่สุดในพระพุทธศาสนา การจะตั้งองค์กรใดมาควบคุมย่อมไม่สำคัญเท่ากับได้คนดีมาปกครองประเทศ ได้พระดีมาปกครองสังฆมณฑล เพราะเราไม่สามารถทำให้ทุกคนเป็นคนดี ไม่สามารถทำให้พระทุกรูปเป็นพระดีได้ ประเทศไทยมีองค์กรจำนวนมากทั้ง ปปง. ป.ป.ช. สตง. ก็ยังไม่สามารถปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมืองและข้าราชการได้ ดังนั้น การเอาองค์กรประเภทนี้เข้ามาก้าวล่วงเรื่องของสงฆ์ ซึ่งมีพระธรรมวินัยเป็นองค์แทนของพระศาสดา ก็ย่อมสุ่มเสี่ยงจะเกิดปัญหาใหม่ที่บานปลายหนักยิ่งขึ้น
ส่วนพระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ในฐานะที่ปรึกษาสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มเครือข่ายชาวพุทธ และพระธรรมทูตทั่วโลก ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนเดียวกัน รวมทั้งยินดีที่จะร่วมปฏิรูปพระพุทธศาสนา โดยให้รัฐบาลรับฟังความคิดเห็นคณะสงฆ์ในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน จากนี้ไปคณะสงฆ์ไทย พระธรรมทูตทั่วโลก เครือข่ายชาวพุทธทั่วโลก จะแสดงจุดยืนจนถึงเวลาที่ได้กำหนดไว้ คือวันที่ 11 มี.ค. และจะรอผลในวันที่ 12 มี.ค. เรื่องยกเลิกคณะกรรมการปฏิรูปฯ พระพุทธศาสนา
ขณะที่คณะกรรมการสโมสรนิสิต มหา วิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาเขตขอนแก่น และคณะกรรมการสภานิสิตมหาจุฬาฯ วิทยาเขตขอนแก่น ออกแถลง การณ์ขอให้ยกเลิกคณะกรรมการปฏิรูปฯ พระพุทธศาสนา โดยระบุว่าไม่ปฏิเสธการปฏิรูป เพราะคณะสงฆ์ก็พยายามเสนอการปฏิรูป โดยการปรับแก้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ หลายครั้งแล้ว แต่ติดปัญหาทุกครั้ง ขณะเดียวกันก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการดำเนินการของคณะกรรม การปฏิรูปฯ พระพุทธศาสนา ที่เหมือนกับมีวาระซ่อนเร้นที่จ้องจะทำลายคณะสงฆ์ และการปฏิบัติของประธานคณะกรรมการปฏิรูปฯ พระพุทธศาสนา ไม่ได้เป็นไปตามแนวทางที่เคารพต่อพระธรรมวินัย
จึงกลัวว่า ปัญหานี้บานปลาย และคณะสงฆ์แตก แยกยิ่งไปกว่านี้อีก จึงขอแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียกเลิกคณะกรรมการปฏิรูปฯ ชุดดังกล่าว ตามกรอบเวลาที่ สนพ.กำหนด
ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปฯ พระพุทธศาสนา สปช. กล่าวว่า วันอังคารที่ 10 มี.ค. จะสัมมนารับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ทั้งคณะสงฆ์ และประชาชน รวมถึงนักวิชาการ เพื่อแสดงความเห็น และหาแนวทางการปฏิรูปคณะสงฆ์ จะเป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา การสัมมนาจะจัดอย่างน้อย 3 ครั้ง เพื่อให้ครอบคลุมในทุกๆ ด้าน ก่อนสรุปนำเสนอ สปช.ต่อไป
ส่วน พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิ การคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวถึงกรณีที่นายไพบูลย์ เชิญผู้แทนจาก ปปง. ร่วมหารือคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ออกเช็คเงินสดให้เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย 8 ฉบับ จำนวนเงิน 348 ล้านบาท วัดพระธรรมกาย 6 ฉบับ จำนวนเงิน 436 ล้านบาท และจ่ายให้พระลูกวัด อีก 119 ล้านบาท โดยเสนอให้ปปง. ดำเนินคดีทางเพ่ง และอายัดทรัพย์สินของผู้ที่เกี่ยวข้อง ว่า ปปง.จะเร่งดำเนินการตามที่ได้เสนอมา เนื่องจากเป็นคดีที่มีความซับซ้อน อาจต้องใช้เวลาดำเนินการผ่านกระบวนการกฎหมาย หากตรวจสอบพบว่ามีทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด จะเร่งเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการธุรกรรม เพื่อพิจารณาดำเนินคดีต่อไป
วันเดียวกัน ที่กองบังคับการปราบปราม พระสุวิทย์ หรือพุทธอิสระ เข้ามอบตัวต่อ ร.ต.อ.พัฒนพงษ์ ศิริเจริญนำ พนักงานสอบสวน กก.1 ป. กรณีที่คณะนิสิต มจร. วิทยาเขตอุบลราชธานี แจ้งความกล่าวหา กระทำการขัดขืนกฎอัยการศึก ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ห้าม มิให้มั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และคุกคามมหาเถรสมาคม
ขณะเดียวกัน พุทธอิสระแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย หรือนายไชยบูลย์ สุทธิผล เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานในประการที่อาจทำให้ผู้อื่น หรือประชาชนได้รับความเสียหาย แต่งกายเลียนแบบสงฆ์ หรือนักบวชในศาสนาโดยมิชอบ และข้อหาฉ้อโกง โดยหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความซึ่งควรแจ้ง โดยการหลอกลวงนั้นได้มาซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 208 และ 341
รวมทั้งดำเนินคดีกับเจ้าคณะปกครอง คือเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี และกรรมการมหาเถรสมาคม ในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานในประการที่อาจทำให้ ผู้อื่น หรือประชาชนได้รับความเสียหาย และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และ 157 และดำเนินคดีกับมหาเถรสมาคม ฐานไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ซึ่งบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. คณะสงฆ์ มาตรา 15 (ตรี) คือไม่ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม ไม่รักษาหลักพระธรรมวินัย
พุทธอิสระ กล่าวว่า การมอบตัวดังกล่าว เพื่อไม่ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ รัฐบาล และคสช.ลำบากใจ และเพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาว่าสองมาตรฐาน จึงแสดงความจำนงเข้าพบพนักงานสอบสวนเอง ส่วนมูลเหตุคงมาจากที่ได้เดินทางไปวัดปากน้ำภาษีเจริญ โดยในวันนั้นมีผู้มาถวายสังฆทาน จึงเป็นเหตุให้กล่าวอ้างเพื่อแจ้งความดำเนินคดี
นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบสำนวนคดีที่นายพชร ยุติธรรมดำรง อดีตอัยการสูงสุด มีคำสั่งเปลี่ยนชุดพนักงานอัยการเเละถอนฟ้องคดีพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังเอาทรัพย์สินไปเป็นของตนโดยทุจริตเมื่อปี 2549 ว่า ภายในวันที่ 3 มี.ค. จะนำเรื่องนี้ขออนุญาตนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด เพื่อขอตรวจดูสำนวนในคดีนี้อีกครั้ง ก่อนจะชี้แจงในรายละเอียดต่อไป เมื่อตรวจดูสำนวนแล้วก็จะทราบถึงเหตุผลในคำสั่งของอดีตอัยการสูงสุด เพราะก่อนการลงนามในครั้งนั้น จะต้องอธิบายถึงเหตุผลในคำสั่งที่ออกไป