- Details
- Category: ศาสนา
- Published: Wednesday, 25 February 2015 11:07
- Hits: 2592
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8855 ข่าวสดรายวัน
จี้ยุบกก.ชุดไพบูลย์ ใน 15 วัน สงฆ์ฮึ่มเคลื่อนใหญ่ ระบุสุดโต่งมีอคติ-แตกแยก สปช.ปัดวุ่น-สกัดตั้งสังฆราช พศ.ชี้พระลิขิตไม่ใช่พระบัญชา
ขีด15วัน - เครือข่ายองค์กรชาวพุทธยื่นหนังสือผ่านเจ้าหน้าที่ถึงพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ให้ยกเลิกคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตร การปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ภายใน 15 วัน ที่ทำเนียบรัฐบาล |
เครือข่ายชาวพุทธยื่นบิ๊กตู่-เทียนฉาย ยุบกก.ปฏิรูปศาสนา ขีดเส้น15 วันไม่อย่างนั้นเคลื่อนไหวใหญ่ ระบุกก.ชุด'ไพบูลย์ นิติตะวัน'สร้างความแตกแยกแก่สังคมและศาสนา'บิ๊กตู่'ขอให้แยกอาณาจักรกับศาสนจักร ฝ่ายบ้านเมืองจะเข้าไปยุ่งกับพระไม่ได้ จะยุ่งได้ก็ต่อเมื่อทำผิดกฎหมาย เรื่องของพระต้องให้พระแก้ไขกันเอง แต่อย่าปลุกปั่นทำผิดกฎหมายก็แล้วกัน'บิ๊กป้อม'โต้วุ่นผู้ใหญ่ในรัฐบาลเป็นลูกศิษย์พุทธอิสระ'วิษณุ เครืองาม'เรียกถกพศ.-มส. ยันมส.ยังไม่มีมติใดๆ กับธัมมชโย ต้องแยกให้ออกระหว่างพระลิขิตกับพระบัญชาพระสังฆราช การจะทำอะไรต้องรอบคอบและถูกต้อง เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ผอ.สำนักงานพศ.ชี้สังคมสามารถคิดไปได้ว่าการรื้อคดีเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายขึ้นมา เป็นการสกัดสมเด็จช่วง วัดปากน้ำภาษีเจริญ ขึ้นเป็นพระสังฆราช
องค์กรชาวพุทธยื่น'บิ๊กตู่'
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 24 ก.พ. ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เครือข่ายองค์กรชาวพุทธแห่งประเทศ ไทย ประกอบด้วยคณะสงฆ์และฆราวาส นำโดย พระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) และฆราวาส นำโดย นายเสถียร วิพรมหา รักษาการนายกสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนาเข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกฯ และหัวหน้าคสช. โดยมีนายสุขสวัสดิ์ สุวรรณวงศ์ หัวหน้าฝ่ายประสานมวลชนเป็นผู้รับแทน โดยหนังสือดังกล่าวเนื้อหาขอให้ระงับพฤติกรรมการล่วงละเมิดมหาเถรสมาคม (มส.) และพระพุทธศาสนา เนื่องจากองค์กรชาวพุทธกังวลเกี่ยวกับคำสั่งแต่งตั้งกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน
พระเมธีธรรมาจารย์กล่าวว่า เป็นห่วงเพราะเห็นว่าคณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่มาจากบุคคลที่มีความสุดโต่งทางการเมืองและศาสนา ไม่ได้ตั้งใจปฏิรูปพระสงฆ์อย่างแท้จริง แต่มีเงื่อนไขเข้ามาบริหารจัดการกิจการของคณะสงฆ์ ที่ผ่านมาไม่เคยมีรัฐบาลไหนตั้งคณะบุคคลมาเพื่อดำเนินกิจการทางพระศาสนา อีกทั้งคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ยกร่าง พ.ร.บ. คณะสงฆ์ฉบับใหม่ โดยพระสงฆ์ทั่วประเทศ และ มส.ไม่มีส่วนร่วม จึงขอให้นายกฯ พูดคุยกับประธานสปช. เพื่อยกเลิกคำสั่งดังกล่าวภายใน 15 วัน เพื่อระงับการดำเนินการของคณะกรรมการดังกล่าว เพราะทำหน้าที่ได้เพียง 1 เดือน ก็มีปัญหาเกิดความแตกแยก แบ่งฝ่ายมากมาย หากยังมีคณะกรรมการชุดนี้จะยิ่งสร้างความแตกแยกทั้งในสังคมและวงการพระสงฆ์มากขึ้น
พระเมธีธรรมาจารย์กล่าวว่า หากรัฐบาลไม่พิจารณา ก็จะหารือเพื่อเคลื่อนไหวภายใต้กรอบพระธรรมวินัยต่อไป ซึ่งคณะสงฆ์ไม่ได้เป็นห่วงว่าจะถูกตรวจสอบหรือหากคิดว่าคณะสงฆ์ไม่โปร่งใส ก็ยินดีให้ตรวจสอบ หากการตรวจสอบนั้นด้วยความบริสุทธ์ใจ ไม่มีเจตนาแอบแฝง
ให้ยุบกก.ปฏิรูปศาสนายุติแตกแยก
เมื่อถามถึงกระแสวิจารณ์ว่า มส.มีความเชื่อมโยงกับพระธัมมชโยและวัดพระธรรมกาย พระเมธีธรรมาจารย์กล่าวว่า ไม่สามารถแสดงความเห็นได้ เพราะไม่ได้อยู่ในมส. ยืนยันว่าที่มาร้องเรียนต่อนายกฯ วันนี้เพื่อให้ปฏิรูปศาสนาด้วยความบริสุทธ์ใจ อยากให้ผู้เกี่ยวข้องตระหนักว่าหากมีใครจะมาตรวจสอบเรา แต่เราไม่มีส่วนร่วม จะทำให้การตรวจสอบโปร่งใสได้อย่างไร
ต่อข้อถามว่าหากคณะกรรมการชุดนี้ยื่นข้อเสนอให้คณะสงฆ์มีส่วนร่วมด้วย จะดำเนินการอย่างไร พระเมธีธรรมาจารย์กล่าวว่า เหตุผลทั้งหมดอยู่ที่คณะกรรมการฯ เพราะการเข้าไปมีส่วนร่วมของคณะสงฆ์เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่องค์ประกอบสำคัญอยู่ที่บุคคลในคณะกรรมการว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ประชาชนต้องเห็นใจพระสงฆ์ว่าวันหนึ่งมี คนเข้ามาตรวจสอบ มาเขียนกฎหมายให้ให้พระสงฆ์ปฏิบัติ แต่ตัวคณะสงฆ์ไม่มีส่วนร่วม จะให้ปฏิบัติตามได้อย่างไร จึงขอให้ยุบคณะกรรมการชุดนี้ หากไม่อยากให้เกิดปัญหาในวันข้างหน้า เพราะแค่ตั้งยังไม่ถึง 1 เดือนก็มีปัญหามาก เชื่อว่าถ้ายังดำเนินการต่อไปพระสงฆ์ทั้งประเทศจะลุกขึ้นเคลื่อนไหว แต่ตอนนี้ยังไม่ทำอะไรเพราะเกรงใจนายกฯว่าหากเดินทางมาจำนวนคนเกินกว่ากฎอัยการศึกกำหนดอาจเกิดปัญหาได้
พระมหาโชว์ ทสสนีโย กล่าวว่าคณะกรรมการปฏิรูปพระพุทธศาสนาทั้ง 16 คน หลายคนมีส่วนร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งกระทบต่อคณะสงฆ์ตั้งแต่แรก และไม่เคยส่งเสริมพุทธศาสนาอย่างเป็นรูปธรรมไม่ได้ทำงานเพื่อส่งเสริมศาสนาอย่างแท้จริง และยังไม่มีส่วนร่วมจากคณะสงฆ์ จะสร้างโครงสร้างของ พระสงฆ์ แต่คณะสงฆ์ยังไม่ทราบ เมื่อทำเสร็จแล้ว พระคุณเจ้าจะต้องเป็นอย่างที่ร่างขึ้น จึงเท่าเป็นการอาฆาตศาสนามากกว่าจะมาปฏิรูปที่ผ่านมาไม่เคยมีการปฏิรูปเรื่องศาสนา ขณะที่การตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินนั้นสามารถตรวจสอบได้เองมีคณะสงฆ์เป็นนิติบุคคล
พระมหาโชว์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้เห็นว่าขณะที่คนไทยแบ่งฝักฝ่ายเป็นสีต่างๆ ศาสนาจะเป็นที่พึ่งเดียวของสังคม ดังนั้นหากจะปฏิรูปศาสนาควรให้พระสงฆ์มีส่วนรับรู้ รับทราบด้วย ซึ่งในส่วนกฎหมายที่จะต้องเดินหน้า อาทิ กฎหมายอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา กฎหมายธนาคารพุทธ กฎหมายการบริหารกิจการพุทธศาสนา เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้
ด้านนายเสถียรกล่าวว่า ขอให้มีระเบียบปฏิบัติที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์จากที่ใด ขอให้นับถือสถานะของสงฆ์ให้เท่าเทียมกัน
ขีดเส้น"เทียนฉาย"15วัน
จากนั้นเวลา 09.45 น. เครือข่ายองค์กรชาวพุทธเดินทางไปรัฐสภา เข้ายื่นหนังสือต่อนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ผ่าน เจ้าหน้าที่รัฐสภา ขอให้ยุบเลิกคำสั่งสปช. ในการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ที่มีนายไพบูลย์ เป็นประธาน
พระเมธีธรรมาจารย์กล่าวว่า กรรมการชุดนี้ แสดงออกถึงพฤติกรรมที่ขัดแย้งต่อหน้าที่ โดยเฉพาะนายไพบูลย์มีพฤติกรรมล่วงละเมิดต่อ มส. สอดคล้องกับพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของพระสุวิทย์ ธีรธมฺโม หรือพุทธอิสระเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ดังนั้นขอให้สปช.ยุบคณะกรรมการชุดนี้ภายใน 15 วัน ไม่เช่นนั้นทางเครือข่ายฯ จำเป็นต้องออกเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องคุ้มครอง มส.และพระพุทธศาสนา
ประธานสปช.ลั่น"ไม่ยุบ"
ต่อมา นายเทียนฉาย ประธานสปช. ให้สัมภาษณ์ว่า "ผมไม่ทราบเรื่องนี้ เพราะยังไม่เห็นข่าว และไม่เห็นเหตุผลว่าจะยุบไปทำไม เพราะได้มีการตั้งขึ้นมาแล้ว"
"ไพบูลย์"ชงผู้ตรวจการสอบมส.
ขณะที่นายไพบูลย์ สมาชิกสปช. ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สปช. กล่าวว่า หลังจากนี้คณะกรรมการคงไม่ดำเนินการอะไรกับมส. เพราะไม่ใช่หน้าที่ของเรา หน้าที่ของเรามีเพียงศึกษากรณีที่เกิดขึ้นแล้วมีมติออกมาว่าไม่เห็นด้วยกับมส. ขณะนี้การดำเนินการศึกษาของคณะกรรมการถือ ว่าจบแล้ว ส่วนการยื่นสอบมส. ไม่ใช่หน้าที่ของคณะกรรมการ เนื่องจากมส.เป็นองค์กรของรัฐ ส่วนกรรมการมส.เป็นเจ้าพนักงาน จึงเป็นหน้าที่ขององค์กรตรวจสอบ เท่าที่ทราบผู้ตรวจการแผ่นดินบอกว่าอยู่ในอำนาจของเขา ขณะนี้มีประชาชนไปร้องเรียนแล้ว
นายไพบูลย์กล่าวกรณีพระเมธีธรรมาจารย์ ประธานสงฆ์สังฆสามัคคีและกลุ่มเครือข่ายชาวพุทธ ยื่นหนังสือขอให้ประธานสปช. ยุบคณะกรรมการภายใน 15 วัน ไม่เช่นนั้นจะเคลื่อนไหวใหญ่เพื่อปกป้องมส.และพุทธศาสนาว่า เป็นสิทธิของผู้ที่เห็นต่างในการทำหน้าที่ของตน แต่ยืนยันว่าเป็นการทำหน้าที่ในฐานะสปช. ที่ได้รับมอบหมายรับผิดชอบศึกษาวิเคราะห์ปัญหาสำคัญของพุทธศาสนา เมื่อเห็นปัญหาแล้วก็ต้องเสนอให้แก้ไข และเป็นธรรมดาที่คนบางส่วนย่อมมีผลกระทบต่อกลุ่มที่ได้ผลประโยชน์และไม่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเหล่านั้น ส่วนจะให้ตนละเว้นไม่ทำหน้าที่คงไม่ได้ รวมถึงการข่มขู่ใดๆ ก็ไม่มีผลให้การทำงานนี้ต้องสะดุดลง
นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า อยากให้สังคมจับตามองว่าผู้ที่ออกมาคัดค้านเป็นกลุ่มใด ส่วนใหญ่ล้วนได้ประโยชน์จากสถานะทางสงฆ์ที่เป็นอยู่หรือไม่ ซึ่งมีส่วนที่ได้มาทั้งลาภ ยศ สรรเสริญ ที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นการคัดค้านเพื่อไม่ให้มีการเปิดเผย หรือให้มีกฎหมายที่จะมาตรวจสอบทรัพย์สินของวัดก็ย่อมสะท้อนทัศนคติได้แล้ว เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าปัญหาหนึ่งของพระพุทธศาสนาในบ้านเราคือการได้มาของทรัพย์สินที่วัดหรือพระไม่ต้องแสดงต่อสังคมจนเป็นช่องว่าง โดยอ้างว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา ในการจะเปลี่ยนแปลงปิดช่องว่างให้ดีขึ้น ก็ย่อมสร้างความไม่พอใจในการปฏิรูป
อ้างสับสนผอ.พศ.กับโฆษกมส.
นายไพบูลย์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ตนติดตามข่าวก็สับสน เพราะล่าสุด นายพนม ศรศิลป์ ผอ.สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในฐานะเลขาธิการมส. ระบุว่าที่ประชุมมส.เมื่อวันที่ 20 ก.พ. มส.ไม่มีการลงมติใดๆ เกี่ยวกับ พระธัมมชโย ยังไม่ได้พิจารณาด้วยว่าต้องปาราชิกหรือไม่ ซึ่งขัดแย้งต่อคำแถลงของพระพรหมเมธี กรรมการและโฆษกมส. และนายสมชาย สุรชาตรี โฆษกพศ. ที่ออกมาแถลงผลการประชุมมส.ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่า พระธัมมชโยยังไม่ต้องปาราชิกขาดจากความเป็นภิกษุ เพราะได้คืนทรัพย์สินทั้งหมดให้วัดแล้ว ไม่ถือเป็นการขัดต่อพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกลงวันที่ 26 เม.ย. 2542 แต่อย่างใด ยิ่งสร้างความสับสนต่อสังคม แต่ขอตั้งข้อสังเกตว่า พระพรหมเมธีเป็นโฆษก มส. น่าจะเป็นตัวแทนมส. ขณะที่นายพนมเป็นเพียงเลขาฯ มส. จึงเห็นควรชี้แจงต่อสังคมว่า ท่านใดที่พูดไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในการประชุมมส. ทั้งที่เป็นเรื่องที่โฆษกมส.ที่เป็นภิกษุสงฆ์ออกมาแถลงเองทั้งสิ้น ทั้งนี้ตนทำหนังสือถึงมส.เพื่อขอรายงานการประชุม ล่าสุดมาศึกษารายละเอียดแล้ว
นายไพบูลย์กล่าวว่า ส่วนการเชิญตัวแทนสำนักงานปปง.มาชี้แจงการตรวจสอบเส้นทางทางการเงินของพระธัมมชโย และวัดพระธรรมกาย พบว่ามีข้อมูลหลายส่วนชี้ชัดว่า เส้นทางการเงินของพระธัมมชโยมีข้อสงสัยหลายจุด เลยขอให้ ปปง.เร่งอายัดบัญชีเงินของพระธัมมชโย และวัดพระธรรมกายไว้ก่อน จนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น ทั้งนี้เพื่อปกป้องรักษาประโยชน์จากความเสียหายของผู้ที่ฝากเงินไว้กับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เพราะพบว่ายังมีเงินในบัญชีของพระธัมมชโยอีกกว่า 300 ล้านบาท และมีเงินในชื่อวัดพระธรรมกายอีกกว่า 400 ล้านบาท
ไม่ยอมรับทำให้สงฆ์แตกแยก
เมื่อถามว่าบางฝ่ายระบุว่ากรรมการชุดนายไพบูลย์ทำให้สงฆ์แตกแยกแบ่งฝ่าย นายไพบูลย์กล่าวว่า ต้องถามว่าใครกันแน่ที่ทำให้คณะสงฆ์แตกแยก ยืนยันว่าไม่ใช่กรรมการชุดนี้แน่ เพราะเราแค่ศึกษาปมปัญหาที่เคยมีอยู่ และยังเกิดขึ้นอยู่ เมื่อเจอปัญหาต้องแก้ไขให้ถูกต้อง และเรื่องสงฆ์แตกแยก เป็นปัญหาที่มีอยู่ก่อนแล้ว แต่พยายามปกปิดกันต่างหาก พอถูกยกปัญหาใหญ่เกี่ยวกับทรัพย์สินของวัดที่ถูกนำมาใส่ชื่อของบุคคล ก็หันมาใช้ข้ออ้างเรื่องนี้ว่า ทำให้สงฆ์แตกแยก ทั้งที่ข้อเท็จจริงไม่มีความเกี่ยวเนื่องกัน แต่เป็นการฉวยโอกาสนำมาอ้าง เพื่อบิดเบือนประเด็นในการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องเท่านั้น
"ขอให้ดูพระสงฆ์ส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เดือดร้อนใดๆ เลย เพราะท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ หากมีความบริสุทธิ์ใจจริงและยึดมั่นในพระธรรมวินัย พระดีๆ ส่วนใหญ่ก็ไม่มีเห็นท่านใดเดือดร้อน เพราะรู้เจตนาว่าเราต้องการแก้ไขปัญหาเพื่อปกป้องพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืน ไม่ได้ปกป้องบุคคลเป็นการเฉพาะ" นายไพบูลย์กล่าว
ไม่ได้สกัดกั้นรักษาการสังฆราช
นายไพบูลย์กล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่าการตรวจสอบมส.และพระธัมมชโย มีวาระซ่อนเร้นเป็นขบวนการทางการเมืองว่า โดยหลักการในฐานะสปช.ต้องปฏิบัติหน้าที่ปฏิรูปด้านต่างๆ ของสังคม ยืนยันว่าการทำหน้าที่ตรวจสอบพระธัมมชโย ไม่ได้สกัดกั้นรักษาการพระสังฆราชเพื่อขึ้นทำหน้าที่เป็นพระสังฆราช แต่ทำหน้าที่เพื่อศึกษาแนวทางการปฏิรูปพระพุทธศาสนา ทั้งโครงสร้างและกฎหมาย โดยนำกรณีพระธัมมชโยเป็นกรณีศึกษา เนื่องจากเข้าข่ายทั้งกรณีการถือที่ดินและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก และการเผยแพร่คำสอนที่ไม่เป็นตามแนวทางพระพุทธบัญญัติ
มส.ย้ำไม่มีมติใดๆ กับ"ธัมมชโย"
นายพนม ศรศิลป์ ผอ.สำนักงาน พศ. เปิดเผยว่า จากการที่ตนในฐานะเลขาธิการมส. ชี้แจงเกี่ยวกับการประชุมมส. วันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า มส.ไม่ได้มีมติเกี่ยวกับพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธัมมชโย) หรือหลวงพ่อธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระราชภาวนาวิสุทธิ์ รวมทั้งมส.ยังไม่ได้พิจารณาด้วยว่าปาราชิก หรือไม่ปาราชิก มีแต่เพียงการรายงานผลการชี้แจงที่นายสมเกียรติ ธงศรี ผอ.สำนักเลขาธิการ มส. ที่นำมติมส.ปี 2549 เกี่ยวกับกรณีวัดพระธรรมกายที่นำไปชี้แจงยังคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สปช. มารายงานให้มส.รับทราบเท่านั้น จึงขอเน้นย้ำว่ามส.ไม่ได้มีมติชี้เรื่องดังกล่าวออกมาแต่อย่างใด รวมทั้งมส.ก็ไม่ได้โหวตว่า พระเทพญาณมหามุนี ปาราชิกหรือไม่ ขอยืนยันว่าการประชุมมส. วันดังกล่าวไม่ได้มีการเปิดโหวต อีกทั้งไม่มีแบ่งฝ่ายว่าฝ่ายมหานิกาย หรือธรรมยุต ซึ่งคณะสงฆ์มีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียวกัน
เล็งดำเนินคดีจาบจ้วงสมเด็จช่วง
พระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์ มจร. ในฐานะที่ปรึกษาสมาคม นักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า การเคลื่อนไหวขององค์กร พุทธและสนพ.ครั้งนี้ ขอยืนยันว่าทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีอะไรแอบแฝง รวมทั้งไม่ได้ปกป้องวัดพระธรรมกาย อาตมาไม่เคยไปวัดพระธรรมกาย แต่เป็นการปกป้องคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนาโดยรวม เนื่องจากที่ผ่านมามีการสอบถามอาตมาว่า พอตรวจสอบวัดพระธรรมกายแล้ว องค์กรพุทธหรือสนพ. ก็ออกมาเหมือนกับปกป้องวัดพระธรรมกาย ขอยืนยันว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น ทางคณะตั้งใจทำเพื่อคณะสงฆ์โดยรวม ส่วนการติดตามการยื่นหนังสือต่อนายกฯ และสปช.ให้ยกเลิกคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สปช. ทางองค์กรพุทธและสนพ.ให้เวลาพิจารณา 15 วัน จากนั้นจะติดตามผลอีกครั้ง สำหรับกรณีจาบจ้วงไม่ให้เกียรติต่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) วัดปากน้ำภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชนั้น ทางองค์กรพุทธและสนพ.จะหารือกันอีกครั้งว่าจะดำเนินมาตรการกฎหมายอย่างไรต่อไป
"วิษณุ"แจงขอบเขตอำนาจรัฐบาล
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ซึ่งนายกฯ มอบหมายให้ดูแลกรณีที่มีความเห็นแตกต่างหลังจากมส.ไม่ลงโทษปาราชิกพระธัมมชโยว่า เรื่องนี้นายกฯ และหัวหน้าคสช.เห็นว่ามีหลายมิติ ทั้งมิติด้านศาสนา ด้านกฎหมาย และด้านมวลชน จึงมอบหมายตนช่วยดูแลร่วมกับนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ซึ่งกำกับดูแลสำนักงานพศ. และอาจต้องทำงานประสานกับคณะกรรมการ ปปง. รวมทั้งกระทรวงยุติธรรม
นายวิษณุกล่าวว่า ช่วงบ่ายวันนี้เชิญผู้แทนสำนักงานพศ.มาให้รายละเอียดว่าที่มาของเรื่องนี้เป็นอย่างไรบ้าง ต้องชี้แจงให้เข้าใจก่อน ว่าบทบาทของรัฐบาลนั้นบางเรื่องเป็นหน้าที่ ซึ่งรัฐบาลต้องทำ 100% บางเรื่องรัฐบาลไม่ได้มีอำนาจเต็มที่ ซึ่งอาจใช้อำนาจผ่านองค์กร แต่บางครั้งเรื่องขององค์กรอิสระ รัฐบาลเข้าไปยุ่งเกี่ยวไม่ได้ และประเด็นนี้เป็นเรื่องทางศาสนาที่มีกฎหมายรองรับ มส.เป็นผู้ปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ครม.จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวมากไม่ได้
นายวิษณุกล่าวอีกว่า วันนี้พูดกันมากเรื่องปาราชิก ซึ่งคนที่จะบอกว่าปาราชิกได้หรือไม่นั้น ทางพระต้องเป็นผู้ชี้เนื่องจากเป็นการลงโทษทางศาสนา ยกตัวอย่างเวลาจับได้ คาหนังคาเขาว่าพระเสพเมถุน ตำรวจทำได้เพียงคุมตัวไปหาเจ้าคณะเพื่อทำการสึก และ เจ้าคณะต้องชี้ก่อนว่าพฤติกรรมเช่นนี้เป็นปาราชิกหรือไม่ ส่วนเหตุแห่งปาราชิกมี 4 เหตุ บางเหตุไม่ใช่เรื่องที่บ้านเมืองจะไปวินิจฉัย เช่น การอวดอุตริมนุสธรรม แต่ถ้าพระไปฆ่าคน หรือลักทรัพย์ หรือเสพเมถุน ทางบ้านเมืองอาจวินิจฉัยได้ ซึ่งเราดูได้ถึงเหตุแห่งปาราชิกก่อน แต่โดยสรุปแล้วพระจะเป็น ผู้ชี้ขาด ฝ่ายบ้านเมืองได้เพียงแต่รวบรวมหลักฐานให้เท่านั้น สุดท้ายถ้าชี้ว่าปาราชิกหรือไม่แล้วจบอยู่แค่นั้น รัฐบาลคงไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไร นอกจากชี้ว่าปาราชิกแล้วไม่ยอมสึกก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องนี้มีประเด็นว่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับสหกรณ์ยูเนี่ยนคลองจั่น หรือมีเรื่องอื่นๆ เข้ามา รัฐบาลต้องติดตามอยู่แล้ว หากพบว่าเงินรั่วไหลไปทางไหนต้องเข้าดำเนินการต่อไป ถ้าไม่มีเรื่องนี้มาอาจจะจบไปได้ ยืนยันว่ารัฐบาลจะเข้าไปเกี่ยวก็ต่อเมื่ออยู่ในอำนาจของรัฐบาลเท่านั้น
ปฏิรูปต้องไปพร้อมปรองดอง
ผู้สื่อข่าวถามว่าปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ตนรับทราบ แต่ขณะนี้ยังพูดอะไรไม่ได้ อย่างที่บอกคือมีหลายมิติ โดยเฉพาะเรื่องศรัทธาของประชาชนที่มองข้ามไม่ได้ เพราะฝ่ายหนึ่งอยากเห็นวงการสงฆ์บริสุทธิ์ไม่มัวหมอง กับอีกฝ่ายหนึ่งมีศรัทธาว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็จะเชื่ออย่างนั้น จึงทำให้เกิดเรื่องมวลชนเข้ามา ซึ่งเราไม่ต้องการให้เรื่องนี้เป็นชนวนของความแตกแยก และจะทำหน้าที่อย่างดี การปฏิรูปต้องทำไปพร้อมกับการสร้างความปรองดอง ถ้าทำแล้วจะทำให้เกิดความแตกร้าวขึ้นมาต้องระมัดระวัง เพราะเรื่องของศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก แต่ไม่ว่าจะละเอียดอ่อนแค่ไหนถ้ามีมูลความผิดทางกฎหมายต้องดำเนินการในส่วนนี้ไป
เมื่อถามว่าการปฏิรูปสงฆ์ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า การปฏิรูป 11 ด้านไม่มีเรื่องคณะสงฆ์ แต่ปรากฏว่าด้านที่ 11 คือด้านอื่นๆ มีความหมายรวมหลายเรื่องทั้งดนตรี ศิลปะ กีฬา เมื่อมีสปช.ขึ้นมาแล้วมีการตั้งกรรมาธิการปฏิรูปศาสนา ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน สปช. เป็นประธาน มาดูเรื่องนี้คงไม่ได้หมายความว่าจะปฏิรูปศาสนา แต่จะปฏิรูปวงการศาสนาที่หมายรวมถึงพุทธบริษัท ภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา และวัตรปฏิบัติของสงฆ์ แต่ว่าจะทำอะไรก็ตาม หัวใจของสปช.คือการปฏิรูปแต่ต้องควบคู่ไปกับการสร้างความปรองดอง หากปฏิรูปแล้วเกิดความขัดแย้งต้องระมัด ระวัง ที่พูดไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้ สามารถ ทำได้แต่ต้องทำด้วยความระมัดระวัง ทั้งการใช้คำพูด การแสดงออกที่ไม่ถูกใจคน เพราะแท้ที่จริงแล้วการปฏิรูปต้องทำให้ถูกใจคนทั้งหมด ดังนั้นจึงขอให้ตนทำงานสักระยะหนึ่งร่วมกับรมต.สำนักนายกฯ ก่อน
รัฐบาลยุบกก.ชุดไพบูลย์ไม่ได้
ต่อข้อถามว่ารัฐบาลต้องเข้าไปตรวจสอบการทำงานของมส.ด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า คงไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ฝ่ายบ้านเมืองจะเข้าไปตรวจมส.ได้อย่างไร เพราะแม้แต่มติของมส. ก็ไม่ต้องขึ้นศาลปกครองแต่อย่างใด เมื่อถามถึงข้อสังเกตการโยงสมเด็จพระมหารัชมังคลา จารย์ วัดปากน้ำภาษีเจริญ ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของพระธัมมชโย เข้ากับเรื่องวัดพระธรรมกาย เป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ แต่คนตรวจสอบเรื่องนี้มีอยู่ ตนมีหน้าที่กำกับดูแลอย่างเดียว แต่คนตรวจสอบอาจมองแค่มิติเดียว เช่น เรื่องวินัย แต่ตอนนี้มีเรื่องของกฎหมายเข้ามาจึงต้องดูทุกมิติ เพราะจะเกิดผล กระทบอย่างมาก หากทำโดยไม่ระมัดระวัง
เมื่อถามว่าเครือข่ายชาวพุทธให้เวลารัฐบาล 15 วัน ต้องยุบคณะกรรมการปฏิรูปฯ ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน นายวิษณุกล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ แต่สปช.ตั้งขึ้นมา 18 คณะ รัฐบาลจะไปยกเลิกไม่ได้ ที่จริงแล้วการปฏิรูปเรื่องนี้มีอยู่แต่ต้องทำให้ดี ถ้าลงลึกเกินไปก็จะถูกมองเป็นอย่างอื่นได้ เมื่อถามว่ารัฐบาลจะพูดคุยกับพศ.กับวัดพระธรรมกาย เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อสาธารณะหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ใครจะพูดก็พูดไป หน้าที่ของรัฐบาลมีอยู่ ไม่ต้องห่วง รัฐบาลสนใจอยู่แล้วจึงเข้ามาดูแล
"บิ๊กตู่"ให้แยกอาณาจักร-ศาสนจักร
ต่อมาเวลา 13.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. แถลงภายหลังประชุมร่วมระหว่างครม.และคสช. ถึงกรณีความขัดแย้งทางศาสนา หลังจากมส.ไม่พิจารณาปาราชิกของพระธัมมชโยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายว่า เรื่องดังกล่าวขอให้แยกคำว่าอาณาจักร ซึ่งหมายถึงประชาชนคนไทยและศาสนจักร ซึ่งหมายถึงพระสงฆ์องค์เจ้าออกจากกัน แต่ละองค์กรมีกฎหมายคุ้มครองอยู่แล้ว ในส่วนของพระมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องและพ.ร.บ.หลายฉบับ ต้องว่ากันตามกระบวนการดังกล่าว จะผิดหรือถูกเราไม่ควรไปยุ่งในส่วนนั้น ให้เป็นเรื่องของการปกครองคณะสงฆ์ ซึ่งบางอย่างมีการตัดสินไปแล้ว สิ่งที่เราทำได้คือต้องดูแลด้านกฎหมาย เรื่องคดีอาญา คดีทุจริต หรือกฎหมายการเงิน โดยกรณีดังกล่าวตนสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบการทุจริตในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ว่ามีส่วนโยงใยกับใคร อย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะเร่งรัดเรื่องคดีความการทุจริตในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ได้เร่งรัด ต้องตรวจสอบตามกระบวนการ ทำไมต้องเร่งรัดทุกอย่าง ไม่ทันใจหรืออย่างไร แล้วเรื่องพวกนี้รัฐบาลที่ผ่านมาได้ดำเนินการอย่างไรบ้าง โกงตั้งแต่สมัยใด ทำไมไม่ไปเร่งรัดเขาแบบนี้บ้าง เห็นชื่นชมกันดี ครั้งหน้าขอให้เร่งรัดรัฐบาลใหม่แบบนี้ด้วย และหวังว่าคงได้รัฐบาลใหม่ที่ดี เพราะหากไม่ดีจะเลือกกันมาทำไม
เรื่องของพระต้องให้พระแก้ไข
"อย่าให้ไปก้าวล่วงกันมากนักเลย เดี๋ยวมันจะเกิดปัญหา ทุกคนเป็นไทยพุทธ หลายคนนับถือทางโน้นบ้างทางนี้บ้าง ขึ้นอยู่กับความเชื่อ แต่หากมีคำสอนผิดคำสอนถูก ผมจะให้กระทรวงวัฒนธรรมไปทบทวนว่าคำสอนไหนถูกหรือผิด และต้องให้คณะสงฆ์พิจารณากันด้วย อะไรเป็นเรื่องของพระก็ต้องให้ พระแก้ไข เพราะไม่ใช่มีแค่เรื่องพระอย่างเดียว แต่ยังมีกลุ่มคนที่นับถือศรัทธาอีกเป็นล้านๆ คน เราจึงไม่อยากให้ประชาชนมาขัดแย้งกันด้วยเรื่องศาสนา" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เมื่อถามว่าพระผู้ใหญ่บางรูปยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แล้วมาแสดงออกต่อทางสาธารณะ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องฟังอย่างมีสติ การนับถือพระนั้น ไม่มีใครบังคับได้ หากคิดว่าองค์ใดไม่ดี ไม่น่าศรัทธา เราก็ไม่เคารพ ก็ปล่อยท่านไป ท่านมีองค์กรของท่าน หากไม่ดูแลองค์กรก็จะเสียหายเอง หากเราจะไปก้าวก่ายทุกเรื่องคงไม่ได้ จะเสียหายเพราะมีคนกราบไหว้กันอยู่
ฮึ่มอย่าปลุกปั่นทำผิดกฎหมาย
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกรณีมีกลุ่มพระสงฆ์ยื่นหนังสือให้ยุบกรรมการปฏิรูปศาสนาของสปช.ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการปฏิรูป แต่เป็นเรื่องที่สปช.คิดขึ้นมา ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ สปช.มีหน้าที่ปฏิรูปจะปฏิรูปอะไรก็เรื่องของเขา แต่ตนยังไม่อนุมัติอะไรเลย ใครพูดอะไรออกมา อย่าไปฟังมากนัก ขออย่าเอาเรื่องอื่นมาพันกัน เรื่องทุจริตสอบต่อไป ไม่ใช่มีเรื่องทุจริตแล้วศาสนาต้องล่มลงสลายไป หากทุกอย่างสลายไปหมดให้ตนมาฟื้นทุกอย่างจะทำไหวหรือไม่ เพราะคนก็จะแห่กันออกมาต่อสู้ทุกเรื่อง แล้วบอกว่าคสช.ต้องทำให้ได้หมดทุกเรื่อง ทำไมท่านไม่รู้จักลดราวาศอกกันบ้าง
ต่อข้อถามว่าเกรงว่าเรื่องพระจะกลายเป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อย่ามาถามแบบนี้ พูดไปแล้วว่าอย่าให้ประชาชนเดือดร้อน อย่ามาถูกปลุกปั่นเดินขบวน หรือทำอะไรผิดกฎหมาย เมื่อถามว่ากฎอัยการศึกจะควบคุมรวมถึงพระสงฆ์ด้วยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า "ไม่รู้ คำถามนี้ไม่เกิดประโยชน์จะคุมพระ คุมเจ้า คุมบ้าคุมบออะไร"
"บิ๊กป้อม"โต้วุ่นโยงพุทธอิสระ
ขณะที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นายกฯ และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องดังกล่าวต้องว่ากันตามกฎหมายและทาง มส. เราอย่าไปยุ่งกับท่าน เพราะเราไม่ได้เป็นคนบริหาร
เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่าผู้ใหญ่ในรัฐบาลเป็นลูกศิษย์พระพุทธอิสระหลายคน อาจเกิดความไม่เป็นกลางได้ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ไม่มีครับ ในรัฐบาลไม่มี ให้เป็นเรื่องของพระ ผมไม่อยากพูดมาก และให้เป็นเรื่องของกฎหมายและมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นอย่างไรก็ต้องว่ากันไป ส่วนที่เกรงว่าเรื่องของพระจะกลายเป็นเรื่องการเมืองก็คงต้องไปคุยกับพระดูมั้ง ผมไม่ค่อยถนัดด้วย"
เมื่อถามว่าเครือข่ายชาวพุทธขู่เคลื่อนไหวจะผิดกฎอัยการศึกหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าว ว่า "จะเคลื่อนไหวไม่ได้ ต้องเรียนว่าท่านต้องคุยกัน ท่านเป็นพระ แต่ทั้งนี้เชื่อว่าการเคลื่อนไหวของพระคงไม่ทำจนถึงขั้นผิดกฎอัยการศึก อย่าเพิ่งถามก้าวหน้า ส่วนที่เกรงว่าหลวงปู่พุทธอิสระออกมาแล้วลูกศิษย์จะออกมาเคลื่อนไหวด้วยนั้น จะเคลื่อนไหวไม่ได้ พระต้องไปคุยกับพระ ลูกศิษย์จะไปยุ่งได้อย่างไร ตามความคิดของผมเป็นเรื่องของพระ กฎหมายและมหาเถรสมาคมที่จะต้องไปคุยกันที่ทำให้สงบๆ และขอให้รัฐบาลได้ทำงาน"
"วิษณุ"เรียกหารือพศ.-มส.
เมื่อเวลา 18.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์อีกครั้งภายหลังหารือกับรองผอ.พศ. และผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับผลประชุมของมส.เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ว่า พศ.นำเอกสารต่างๆ พร้อมเล่าที่มาของเรื่องดังกล่าวให้ทราบ การประชุมมส.วันนั้น ที่ประชุมไม่ได้มีมติเกี่ยวกับพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ต่างจากที่ปรากฏเป็นข่าว และการประชุมดังกล่าวเนื่องจากสปช.เชิญผู้แทนพศ.ไปชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องวัดพระธรรมกาย และนำเรื่องกลับมารายงานให้มส.รับทราบว่าสปช.ถามอะไร และได้ตอบอะไรไปบ้าง ตนเดาว่าอาจมีกรรมการบางคนอภิปรายว่ามีความผิดหรือไม่มีก็เป็นได้ แต่ที่ประชุมมีมติเพียงรับทราบการรายงานต่อสปช. และการตั้งกรรมการเพื่อตรวจสอบและรวบรวมเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวและนำกลับมารายงานให้มส.ทราบเท่านั้น
นายวิษณุกล่าวอีกว่า ส่วนที่มีข่าวว่ามติมส.ระบุว่าไม่มีความผิดนั้น ตนสอบถามแล้วไม่มีคำว่าปาราชิกหรือไม่ปาราชิกปรากฏในมติของมส. จึงแนะนำให้ปรึกษากันในกรรมการมส.ว่าจะชี้แจงอย่างไร ทราบว่าในการประชุมมส.ครั้งต่อไปจะนำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุมเพื่อให้รับรองมติ จากนั้นจะแถลงให้ทราบต่อไป รัฐบาลขอย้ำว่าเรื่องใดที่กล่าวหาว่าผิดพระธรรมวินัย ปาราชิกหรือไม่เป็นเรื่องของคณะสงฆ์จัดการกันเอง ถ้าเรื่องใดถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมายทางโลก เจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะเข้าไปจัดการในจุดๆ นั้น
"วันนี้ต้องแยกให้ออก แต่เราเอาทุกเรื่องมาปนกันทำให้มหาเถรฯ ถูกกล่าวหาโดยไม่เป็นธรรม เพราะไม่มีโอกาสออกมาแก้ตัวตอนนี้ แต่ต่อไปจะชี้แจงอย่างไรก็ว่ากันไป วันนี้เอาทุกอย่างมารวมกันตั้งแต่เรื่องที่ดิน การปาราชิก เรื่องสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เรื่องยกเครื่องมหาเถรฯ จนถึงการยุบกรรมการปฏิรูปศาสนา ต้องแยกเป็นเรื่องๆ ส่วนเรื่องที่ดินเป็นเรื่องก้ำกึ่งระหว่างบ้านเมือง กับพระธรรมวินัยต้องแยกจากกัน และได้มอบให้ไปดูว่าถวายใครบ้าง เพราะความผิดในแต่ ละเรื่องโทษก็หนักเบาไม่เหมือนกันทั้งทางบ้าน เมืองและในทางพระ มีลำดับโทษไม่เหมือนกัน ทั้งผมและรัฐบาลวินิจฉัยไม่ได้ว่า การกระทำนั้นผิดพระธรรมวินัย หากผิดว่าเข้าข่ายไหน คนที่วินิจฉัยคือพระ" นายวิษณุกล่าว
เห็นพระลิขิตและมีคำตอบแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีมีข้อสงสัยระหว่างพระลิขิตกับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช นายวิษณุกล่าวว่า ตนได้เห็นพระลิขิตทั้ง 5 ฉบับ และมีคำตอบแล้วแต่ไม่อยากพูดอะไรในตอนนี้ ขอตรวจสอบให้ชัดเจนก่อน
ด้านนายสมชาย สุรชาตรี ผู้ตรวจราชการและโฆษกพศ. เปิดเผยว่า ที่ประชุมมส.ไม่ได้หารือกรณีพระธัมมชโย สมควรต้องปาราชิกหรือไม่ มีแต่เพียงการรับทราบตามที่พศ. รายงานคณะกรรมการพิทักษ์พระพุทธศาสนา สปช. แล้วลำดับเหตุการณ์ ท่านก็บอกว่าไปเขียนใหม่ให้มันดี ตามปกติการประชุมมส. ไม่มีการลงมติเรื่องต่างๆ ด้วยเสียงข้างมากข้างน้อย เหมือนสภาผู้แทน โดยเมื่อสงฆ์มีมติ จะให้ผอ.สำนักงานพศ. ในฐานะเลขาธิการมส.นำผลการประชุมมาเผยแพร่ ส่วนที่มีข่าวว่ามีมติว่าพระธัมมชโยไม่ต้องปาราชิกนั้น ไม่ทราบว่าออกมาได้อย่างไร บอกได้เพียงว่าการประชุมครั้งนั้นยังไม่มีมติใดๆ ออกมา
ผู้สื่อข่าวถามว่าการคืนเงินของพระธัมมชโยเกิดขึ้นหลังจากสมเด็จพระสังฆราชมีพระลิขิตออกมาแล้ว ถือว่าผิดปาราชิกหรือไม่ นายสมชายกล่าวว่า เมื่อก่อนยังไม่มีระเบียบว่าด้วยการถือครองที่ดินสำหรับพระ พอมีพระลิขิตออกมา ก็นำเข้าที่ประชุม ตอนนั้นยังไม่เป็นสำนักงานพศ. ยังเป็นกรมศาสนาได้ไปร่างกฎหมายออกมา ส่วนกรณีที่มีพระลิขิตออกมาก่อนที่จะมีการคืนทรัพย์ โดยทรัพย์ที่ว่านั้นปรากฏว่าเป็นชื่อของพระธัมมชโยไม่ใช่ชื่อของวัด ถามว่าผิดไหม ก็คงไม่ผิด ถ้าทรัพย์นั้นเป็นชื่อของพระ มีสิทธิ์ถือครองได้ แต่ถ้าลาสิกขา หรือมรณภาพโดยที่ไม่มีการทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์นั้นจะตกเป็นทรัพย์สินของวัดโดยทันที แต่ถ้ามีญาติโยมมอบที่ดินให้วัดแล้วหนีไปแล้วโอนเป็นชื่อตัวเองแบบนั้นถือว่าปาราชิกทันที ถือว่าเจตนาลักทรัพย์
"ที่พูดคนมักมองว่าพูดเป็นเหมือนโฆษกวัดพระธรรมกาย แต่ไม่ใช่ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ พูดได้ตามพยานหลักฐานที่มี จะพูดไปมาก กว่าที่มีไม่ได้" นายสมชายกล่าว
พศ.แจงรายละเอียดพระลิขิต
เมื่อถามว่ามีการตรวจสอบหรือไม่ว่าการโอนทรัพย์สินของพระธัมมชโยเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ หรือเพราะมีพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช นายสมชายกล่าวว่า บริสุทธิ์แน่นอน เพราะเขียนเจตนา คือในหนังสือ เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2542 ปีเดียวกับที่มีพระลิขิต โดยในหนังสือเขียนว่าแสดงเจตนาต้องการโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นของสงฆ์ การมีหนังสือแสดงเจตนาถือว่าทำด้วยใจบริสุทธิ์ ไม่มีใครบังคับ
เมื่อถามว่าการมีหนังสือยินยอมเกิดขึ้นก่อน หรือหลังจากที่มีพระลิขิต นายสมชายกล่าวว่า ยินยอมหลังที่มีพระลิขิต เพราะพระลิขิตออกมาวันที่ 26 เม.ย. 2542 ที่จริงพระธัมมชโยไม่ต้องโอนก็ได้ เพราะทรัพย์สินดังกล่าวเป็นชื่อของเขาในปี 2542 มีพระลิขิตออกมา 3 ฉบับหลังวันที่ 9 พ.ค. 2542 แต่พระลิขิตที่ออกมาก่อนหน้านั้นไม่มีการรับรอง ไม่มีการเซ็นรับรองสำเนาเลยไม่ได้ดู เอามาดูแค่พระลิขิตที่ออกเมื่อวันที่ 26 เม.ย.เท่านั้น โดยพระลิขิตวันที่ 26 เม.ย. 2542 นั้น เขียนถึงเรื่องของคำสอนของวัดพระธรรมกายที่บิดเบือนจากคำสอนของพระพุทธเจ้า และพูดถึงเรื่องการโอนที่ดิน แต่ก็มีวรรคสองที่เขียนว่า "ไม่คิดที่จะให้มีโทษ แต่ถ้าถือแล้วเจตนาไม่คืน ถือว่ามีเจตนาเป็นปาราชิก" พระลิขิตนั้นเป็นของจริง เพราะมีพระเลขาฯ ลงนาม และมีลายเซ็นของสมเด็จพระสังฆราช และมีคนรับรองสำเนา คนรับรองสำเนาคือพระเลขาฯ พระสังฆราช ทั้งนี้ตามหลักฐานพบว่าที่ดินของวัดมีทั้งประชาชนบริจาคให้ และมีส่วนที่วัดซื้อมาเพื่อขยายพื้นที่วัดโดยใช้เงินของวัดซื้อ
ต้องแยกพระลิขิตกับพระบัญชา
นายสมชายกล่าวว่า มส.เคยประชุมโดยได้ยกหนังสือของพระธัมมชโยเข้าที่ประชุม มีมติออกมาว่าให้กรมการศาสนาและเจ้าคณะภาค 1 ไปดำเนินการตามที่พระธัมมชโยมีเจตนา และได้มอบให้ไปดำเนินการเรื่องอื่นๆ อีก อาจจะเป็นเรื่องการบิดเบือนคำสอนของพระพุทธศาสนา และระหว่างที่จะดำเนินการตามมติดังกล่าวของมส. มีคนไปฟ้องร้องคดีอาญา และเมื่อมีการดำเนินคดีทางโลกแล้ว คดีทางพระสงฆ์ต้องหยุดลงทันที ตอนนี้มีคนตีความว่าพระลิขิตคือคำสั่งหรือเปล่า จริงๆ แล้วถ้าสมเด็จพระสังฆราชมีคำสั่งจะเรียกว่า พระบัญชา ส่วนพระลิขิตนั้นคือหนังสือที่ส่งถึงหน่วยงานต่างๆ ทั่วไป แต่ก็ยังมีคนตีความว่า จดหมายของสมเด็จพระสังฆราชต้องทำตามไม่ใช่หรือ อย่าลืมว่าสมเด็จพระสังฆราชเป็นส่วนหนึ่งในกรรมการของมส. เมื่อมีพระลิขิตออกมาถึงกรมการศาสนา กรมศาสนาก็นำเข้าสู่มส.อยู่ดี มส.ต้องมีหน้าที่พิจารณาว่าดำริเรื่องอะไร และเป็นคำสั่งหรือไม่ ส่วนเรื่องที่บอกว่าอย่างนี้พระธัมมชโยก็ปาราชิกแล้ว เรื่องนี้ต้องดูกันที่เจตนา
ต่อข้อถามว่าหากเป็นพระบัญชาของสมเด็จ พระสังฆราช แสดงว่าไม่ว่าเรื่องอะไรต้องมีผลทันทีใช่หรือไม่ นายสมชายกล่าวว่า มีผลทันที และต้องดูด้วยว่าเรื่องนั้นเข้าตามกฎนิคหกรรม หรือกฎที่ใช้ลงโทษพระสงฆ์ หากสงฆ์กระทำความผิดหรือไม่ นอกจากนั้นต้องดูเรื่องอื่นๆ เช่น คำสอนที่เคยเป็นประเด็นว่า นิพพานเป็นอนัตตา เพราะมีคนร้องเข้ามา แต่เรื่องแบบนี้พิสูจน์ได้ยาก และเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เหมือนการอวดอุตริ
เมื่อถามถึงข้อสังเกตว่าการรื้อคดีพระธัมมชโยขึ้นมาเป็นการลดความน่าเชื่อถือ เจ้าอาวาส วัดปากน้ำ เพื่อไม่ให้ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช นายสมชายกล่าวว่า เรื่องนี้อยู่นอกเหนือความคิดเห็นของตน เป็นเรื่องที่ทุกคนคิดไปได้ โดยส่วนตัวแล้วมองว่าตามหลักในการจะเป็นพระสังฆราช คณะสงฆ์ได้เขียนกฎหมายไว้ว่าให้ มส.เสนอสมเด็จพระราชาคณะ ที่มีความอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เวลา 00:01 น. ข่าวสดออนไลน์
เป้าหมาย ปฏิรูป เป้า 'มหาเถรสมาคม' ของ พุทธอิสระ
การเดินสายของ พระสุวิทย์ ธีรธัมโม จากวัดอ้อน้อย นครปฐม มายังทำเนียบรัฐบาล ตรงไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ แล้วปิดท้ายด้วยการพบ นายไพบูลย์ นิติตะวัน
จิต 1 ใจเดียวก็เพื่อการปฏิรูป “พุทธศาสนา”
สะท้อนให้เห็นว่า “กัมมันต์” ในตัวตนของ พระสุวิทย์ ธีรธัมโม ยังคงแข็งแกร่งและมั่นคงอยู่อย่างไม่แปรเปลี่ยน
เหมือนกับเป้าใหญ่จะอยู่ที่ พระธัมมชโย แต่เอาจริงๆ กลับไม่ใช่
ลองติดตามกระบวนการของ พระสุวิทย์ ธีรธัมโมอย่างเกาะตามทุกกระเบียดนิ้วว่ายังคงอยู่ที่การปฏิรูปพุทธศาสนา
นั่นก็คือ “มหาเถรสมาคม”
เท่ากับเป็นการกระหน่ำเข้าไปยังองค์กรอันถือว่าเป็น “อำนาจรัฐ” แห่งพระพุทธศาสนาราชอาณาจักรไทย
เพราะ “มหาเถรสมาคม” คือ “รัฐบาลสงฆ์”
.................................................
ไม่ว่าเรื่องในทางโลก ไม่ว่าเรื่องในทางธรรม จักเห็นได้ว่าเข็มมุ่งของ พระสุวิทย์ ธีรธัมโม มีความมั่นคง มีความเด็ดเดี่ยว
เรื่องในทางโลกสามารถมองผ่านได้ในปี 2556 ต่อเนื่องปี 2557
เมื่อ พระสุวิทย์ ธีรธัมโม ยกกำลังมาจากวัดอ้อน้อย นครปฐม ร่วมเป็นพันธมิตรกปปส.ที่นำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และพรรคประชาธิปัตย์
ปักหลักอยู่ “แจ้งวัฒนะ” อย่างยืดเยื้อ ยาวนาน
เป้าหมายในทางยุทธศาสตร์ คือ โค่นรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป้าหมาย 1 ในทางยุทธวิธีอันโดดเด่น คือ การสกัดขัดขวางการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 มิให้เกิดขึ้นได้ สถานการณ์ตัวอย่างคือสถานการณ์ปะทะที่แยกหลักสี่
นั่นคือการมุ่งโค่นและทำลายอำนาจ “รัฐบาล”
.........................................................
รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นรูปธรรมอันยืนยันว่าปฏิบัติการของกปปส.และ พระสุวิทย์ ธีรธัมโม ประสบความสำเร็จ
ปรปักษ์ทาง “การเมือง” ถูกโค่นและกำลังถูกบดขยี้ ทำลาย
จากยุทธศาสตร์ทางการเมือง มาถึงบัดนี้ พระสุวิทย์ ธีรธัมโม และพันธมิตรในแนวร่วมก็พัฒนาไปสู่ยุทธศาสตร์ทางการพระศาสนา
กระหน่ำเข้าใส่ “มหาเถรสมาคม” อย่างรุนแรง
อาศัยกรณีของ พระธัมมชโย กรณีของวัดพระธรรมกาย เป็นเส้นทางผ่าน จุดหมายปลายทางคือสั่นคลอนเสถียรภาพและสถานะแห่ง “มหาเถรสมาคม”
โดยได้รับความร่วมมือจากส่วนหนึ่งของสปช.อย่างเอาการเอางาน
............................................................
การเคลื่อนไหวที่ พระสุวิทย์ ธีรธัมโม ร่วมกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จบแล้วอย่างงดงาม
เป็นความงดงามเมื่อทหารขับรถถัง ลากปืนออกมายึดอำนาจโค่น “รัฐบาล” ลงราบคาบ แต่ความงดงามนี้จะต่อยอดให้กับการโค่นล้มอำนาจ “มหาเถรสมาคม” ในทางพระศาสนาหรือไม่
ต้องถามใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกครั้งหนึ่ง....