- Details
- Category: ศาสนา
- Published: Tuesday, 24 February 2015 13:09
- Hits: 2683
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8854 ข่าวสดรายวัน
คน-พระ-ฆราวาส ป่วนหมด บิ๊กตู่ขอสงบได้มั้ย วันนี้องค์กรพุทธยื่นนายก-ยุติแตกแยก พุทธอิสระเดินสายไล่บี้'มส.-ธัมมชโย'มหาจุฬาฯท้าสอบ-แจงใช้งบโปร่งใส
'บิ๊กตู่'ปวดหัว วอนทั้งพระ-ฆราวาสสงบๆ บ้างได้มั้ย ประเทศวุ่นไป หมดแล้วเครือข่ายพระพุทธศาสนานัดเข้าทำเนียบวันนี้ ยื่นร้องนายกฯทบทวนตั้งกก.ปฏิรูปศาสนาของสปช. เพราะสุ่มเสี่ยงสร้างความแตกแยกขณะที่พุทธอิสระเดินสายทั้งวัน เข้าสภายื่นไพบูลย์-สปช.-เทียนฉาย ต่อด้วยทำเนียบร้องหัวหน้าคสช.ผ่านปนัดดา แล้วไปดีเอสไอ ให้สอบรูดมหาเถรฯ-วัดปากน้ำภาษีเจริญ-ธัมมชโย-วัดพระธรรมกาย-มหาวิทยาลัยสงฆ์ ตรวจให้หมดทั้งเงิน ที่ดิน ของบริจาค จี้ยึดทรัพย์เจ้าอาวาสพระธรรมกาย และให้รื้อคดีธัมมชโยขึ้นมาสอบใหม่เป็นคดีพิเศษ มหาจุฬาฯแจงการใช้เงินของมหาวิทยาลัยสงฆ์ โต้คำพูดลอยๆ พุทธอิสระ เช่นเดียวกับผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำฯ ระบุเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อยพูดไม่ครบ พูดไม่หมดในวันยกพวกบุกมาถามเรื่องมติมหาเถรฯ
'บิ๊กตู่'ขอพระ-ฆราวาสสงบ
เมื่อวันที่ 23 ก.พ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์ถึงการดำเนินการกับปัญหาความเห็นต่างต่อมติมหาเถรสมาคม (มส.) ในการลงโทษพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ว่า เดี๋ยวกำลังดำเนินการกันอยู่ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ดูแลอยู่
"เอาให้มันสงบๆ กันซะบ้างไม่ได้หรือ ทั้งคน ทั้งพระ ทั้งฆราวาส วุ่นไปหมดเลยประเทศไทย" นายกฯ กล่าว
พุทธอิสระยื่น'ไพบูลย์'ลุย
เวลา 09.00 น.ที่รัฐสภา พระสุวิทย์ ธีรธัมโม หรือพุทธอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นคร ปฐม เข้ายื่นหนังสือถึงนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สปช.ขอให้ตรวจสอบทรัพย์สินเส้นทางเงินของกรรมการ มส.ทุกรูป รวมถึงเส้นทางเงินและทรัพย์สินของวัดพระธรรมกาย พระเทพญาณมหามุนี หรือ หลวงพ่อธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ทรัพย์สินของเจ้าคณะพระสังฆาธิการทุกวัดอย่างละเอียด และทรัพย์สินของวัดพระธรรมกาย รวมถึงขอให้ตรวจสอบการเบิกจ่ายงบประมาณ การใช้งบของมส. มหาวิทยาลัยสงฆ์ ทั้งของธรรมยุตและมหานิกายอย่างละเอียด ตรวจสอบทรัพย์สินของ คนใกล้ชิดเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส และเจ้าคณะทุกระดับชั้นอย่างละเอียด ไม่เว้นแม้แต่วัดอ้อน้อย และขอให้รื้อฟื้นคดีของวัดพระธรรมกายขึ้นมาพิจารณาใหม่ รวมถึงขอให้จัดตั้งองค์คณะพิทักษ์คุ้มครองพระพุทธศาสนาบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย
พระสุวิทย์ กล่าวว่า เห็นความอ่อนแอการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องตามหลักธรรมวินัย มติอัปยศที่แสดงออกมาจากมส. ทำให้สังคมคลางแคลงใจ มส.แต่ละรูปพรรษามากแล้ว โดยเฉพาะวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ อายุจะ 90 แล้ว การทำงานอาจไม่ทันเกมฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายผู้ละเมิดพระธรรมวินัย เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา อาตมาไปวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เห็นพระรูปหล่อด้วยทองคำน้ำหนัก 1 ตัน เป็นรูปหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ที่วัดพระธรรมกายมอบให้สมเด็จวัดปากน้ำ เนื่องในงานวันเกิด จึงอยากให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินนี้ว่าได้มาก่อนเกิดคดีหรือหลังคดี หากได้มาหลังคดีก็เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และเป็นการนำมาซึ่งการวินิจฉัยว่าธัมมชโยไม่ผิดหรือไม่
"ขอให้คณะกรรมการปฏิรูปฯ พิจารณา เพราะสมควรแล้วที่ศาสนจักรจะต้องปฏิรูป และขอให้สำนักงานปปง. ตรวจสอบเส้นทางการใช้งบประมาณของมหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 แห่งด้วยคือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหามกุฏราชวิทยาลัย เพราะได้ข่าวว่าเบิกใช้งบหลวงเหมาเครื่องบินไปดูงานลาสเวกัส สหรัฐ หรือปารีส ฝรั่งเศส" พระสุวิทย์กล่าว
ด้านนายไพบูลย์กล่าวว่า ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปฯ เรื่องนี้เป็นประโยชน์จะนำไปศึกษาวิเคราะห์ เพื่อกำหนดแนวทางต่อไป เราพร้อมน้อมรับเพื่อนำสู่ที่ประชุม
เข้าห้อง'เทียนฉาย'คุยกันยาว
ต่อมาเวลา 10.00 น.พระสุวิทย์เข้าหารือกับนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ที่ห้องทำงาน นาน 45 นาที จากนั้นพระสุวิทย์แถลงว่า จากที่ได้หารือกับนายเทียนฉาย มีความเห็นตรงกันว่าจะต้องปฏิรูปศาสนา โดยเฉพาะการทำงานของมส. ซึ่งต้องมีบุคลากรเข้าไปช่วยเหลือการทำงาน ในการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว โดยเฉพาะคดีเกี่ยวกับความมั่นคงทางพุทธศาสนา เช่น กรณีวัดพระธรรมกาย เป็นต้น เนื่องจากอดีตที่ผ่านมาหลายคดีที่มส.ตรวจสอบโดยเข้าถึงข้อมูลได้ยากและล่าช้า เช่น คดีภาวนาพุทโธ ยันตระ และเณรคำ
เมื่อถามว่าการออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ถูกมองว่าขัดต่อกฎอัยการศึก พระสุวิทย์กล่าวว่า ไม่ได้ขัดกฎอัยการศึก เพราะขออนุญาตก่อนแล้ว และทุกครั้งที่จะทำอะไรก็ขออนุญาตก่อนตลอด
เดินสายทำเนียบยื่น'ปนัดดา'
จากนั้นพระสุวิทย์เดินทางไปที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ นายกฯและหัวหน้าคสช. ผ่านม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯ และปลัดสำนักนายกฯ ขอให้ตรวจสอบทรัพย์สินกรรมการมส.ทุกรูป, ตรวจสอบเส้นทางการเงินของมส.และวัดพระธรรมกาย รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องอย่างละเอียด, ตรวจสอบการเบิกจ่ายและใช้งบของมส. และมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งของธรรมยุตและมหานิกายทุกแห่ง, ตรวจสอบทรัพย์สินของวัดพระธรรมกายทั้งหมด, ตรวจสอบมติที่ประชุมมส.ที่ไม่พิจารณากรณีอาบัติปาราชิกของ พระธัมมชโย และขอให้ตั้งองค์คณะพิทักษ์พระธรรมวินัยบรรจุในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากม.ล.ปนัดดาส่งเรื่องให้นายกฯ เชื่อว่า นายกฯรออยู่ เพราะเป็นเรื่องที่สังคมสนใจ
"ลูกผู้ชายชาติทหารมองตากันไม่น่าจะแปลกอะไรมาก พอจะรู้ใจว่าน่าจะมีใจและปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมืองและศาสนา อย่างกรณีวัดพระธรรมกายดูคำให้สัมภาษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ จะเห็นได้ว่าจะผลักดันให้ชัดเจนมากขึ้น แต่บังเอิญมติมส.กลับออกมาในทางที่ยากจะคาดเดา" พระสุวิทย์กล่าว
ด้านม.ล.ปนัดดากล่าวว่า จะดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอน โดยมีวิธีปฏิบัติของทางราชการอยู่แล้ว ทุกเรื่องที่ร้องเรียนมาสำนักปลัดสำนักนายกฯจะสรุปและนำเสนอต่อนายกฯทุกเรื่อง
ร้องดีเอสไอรื้อคดีธัมมชโย
เวลา 13.30 น.พระสุวิทย์เดินทางไปที่ดีเอสไอ เข้าพบนางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีดีเอสไอ เพื่อหารือแนวทางและความเป็นไปได้ในการรื้อฟื้นคดีพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และประธานมูลนิธิธรรมกาย กรณียักยอกเงินวัดกว่า 1,200 ล้านบาท ซึ่งอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว หากสามารถรื้อฟื้นคดีขึ้นมาสอบสวนใหม่ได้ ขอให้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ นอกจากนี้ยังขอกล่าวโทษร้องทุกข์เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรณีรับพระพุทธรูปทองคำน้ำหนัก 1 ตัน อาตมาจะยื่นต่อสำนักงานป.ป.ช. เพื่อให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของมส. ทั้งกรณีรับพระทองคำ และการใช้งบจำนวนมากเดินทางไปต่างประเทศ
พระสุวิทย์ กล่าวอีกว่า อาตมาทวงถามความคืบหน้าคดีที่ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ 2 คดี คือ 1.คดีรถหรูเลี่ยงภาษีที่พบว่าพระในมส.หลายรูปมีพฤติการณ์ครอบครองรถหรูราคามากกว่า 5 ล้านบาทขึ้นไปจำนวนหลายคัน และยังเชื่อมโยงถึงพระครูปลัด สิทธิวัฒน์ หรือหลวงพี่น้ำฝน และ 2.ติดตามความคืบหน้าคดียักยอกเงินสหกรณ์เครดิต ยูเนี่ยน คลองจั่น จำกัด ซึ่งส่วนหนึ่งนำไปบริจาคให้วัดพระธรรมกาย
นางสุวณากล่าวว่า เบื้องต้นจะตั้งคณะทำงานสืบสวนข้อเท็จจริงตามที่หลวงปู่พุทธอิสระยื่นร้องการรื้อฟื้นคดี โดยจะเร่งดำเนินการโดยเร็ว ส่วนคดีสหกรณ์ฯคลองจั่นและคดีรถหรูอยู่ระหว่างการสอบสวน
สปช.เรียกปปง.แจงเงินสหกรณ์
เวลา 13.00 น. ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สปช. แถลงภายหลังประชุมกรณีพระธัมมชโยเกี่ยวข้องกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น โดยเชิญผู้แทนจากสำนักงานปปง.มาชี้แจงว่า ที่ประชุมได้รับข้อมูลว่า นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์ฯ กระทำความผิดฉ้อโกงประชาชน และยังสั่งจ่ายเช็คให้กับพระธัมมชโย โดยแบ่งเช็คออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.สั่งจ่ายเช็คให้พระธัมมชโย 8 ฉบับ เป็นเงินทั้งสิ้น 348.78 ล้านบาท จากนั้นพระธัมมชโยสั่งจ่ายเข้าไปยังมูลนิธิอุบาสิกาจัน 2.สั่งจ่ายเช็คให้กับวัดพระธรรมกาย 6 ฉบับ เป็นเงิน 436 ล้านบาท นำเงินเป็นค่าก่อสร้างและสิ่งปลูกสร้างของวัด และ 3.จ่ายให้กับผู้ช่วยของพระธัมมชโย หรือพระปลัดวิจารณ์ 119.02 ล้านบาท ถอนออกมาเป็นเงินสดทั้งหมด ซึ่งตรวจสอบไม่ได้ รวมทั้งสิ้น 903.8 ล้านบาท อีกทั้งยังไม่รวมถึงการสั่งจ่ายไปยังรายบุคคลหรือบัญชีอื่น เพื่อซื้อที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ
นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ได้ฝากปปง.พิจารณาว่าเหตุใดจึงไม่อายัดบัญชีพระธัมมชโย ที่มีเงินถึง 300 กว่าล้านบาท ซึ่งอาจจะมีเงินมากกว่านั้น กรรมการเห็นว่าควรยึดบัญชีทรัพย์สินทั้งหมดของพระธัมมชโย ส่วนที่ปปง.ระบุว่าไม่สามารถบังคับคดีในส่วน ของที่ดินวัดได้ เพราะเป็นที่ธรณีสงฆ์นั้น กรรมการสอบถามว่าปปง.ทราบหรือไม่ว่า ที่ดินของวัดที่เป็นที่ธรณีสงฆ์มีเพียง 196 ไร่ แต่ที่ดินอีกกว่า 1,000 ไร่ อยู่ในนามมูลนิธิธรรมกาย และมูลนิธิอื่นๆ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นที่ธรณีสงฆ์ จึงสามารถบังคับคดีได้ ส่วนเงินของพระปลัดวิจารณ์ ทางกรรมการเห็นว่าปปง.ต้องดำเนินคดีและแจ้งต่อดีเอสไอ
บี้สอบเงินวัด-แหล่งฟอกเงิน
นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า การประชุมครั้งต่อไปวันที่ 3 มี.ค.จะเชิญผู้แทนดีเอสไอ และกรมที่ดิน ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง มาให้ข้อมูล โดยจะให้กรมที่ดินตรวจสอบที่ดินที่อยู่ในส่วนของมูลนิธิว่ามีที่มาถูกต้องหรือไม่ ตลอดจนขอสำเนาเช็คสั่งจ่ายทั้งหมดของวัดพระธรรมกายมาตรวจสอบ จะรวบรวมข้อมูลส่งพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมี.ค.
"คณะกรรมการทำตามกรอบอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย โดยเฉพาะเรื่องวัดพระธรรมกาย เงินบริจาคจากประชาชน จะต้องจัดการให้ชัดเจนว่าเป็นสาธารณสมบัติ เป็นเงินของแผ่นดิน ต้องโอนเป็นของวัดพระธรรมกายทั้งหมด กรรมการบางคนเป็นห่วงว่า จะต้องตรวจสอบเงินภายในวัด เนื่องจากอาจเป็นแหล่งฟอกเงินได้ ซึ่งไม่มีการเสียภาษี และไม่สามารถตรวจสอบได้" นายไพบูลย์กล่าว
ยัน"ธัมมชโย"ปาราชิกแล้ว
นายไพบูลย์ กล่าวถึงมติมส.วันที่ 20 ก.พ. ที่ระบุพระธัมมชโยไม่ปาราชิกว่า ที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับมติมส. เพราะเป็นการยกเลิกพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช ทั้ง 3 ฉบับ รวมทั้งมติมส. ฉบับที่ 193/42 โดยเห็นว่าเป็นมติที่เป็นปัญหา แม้จะเป็นอำนาจของมส. แต่ต้องชอบด้วยกฎหมายและพระธรรมวินัย จะขัดหรือแย้งต่อพระธรรมวินัยไม่ได้ เพราะเมื่อปาราชิกไปแล้วก็ถือว่าจบ ไม่สามารถกลับมาเป็นพระได้อีก จึงอยากเรียกร้องทุกส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช และรับรองโดย มติมส. ฉบับที่ 193/42 ต่อไป
"เพราะเมื่อในอดีตพระธัมมชโยไม่ยอมคืนทรัพย์สินให้กับวัด ถือว่าต้องอาบัติปาราชิกไปแล้วโดยอัตโนมัติ ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับผู้ที่ไม่ได้เป็นพระ แต่ปลอมเป็นพระ โดยนำผ้ากาสาวพัสตร์ไปครอง ทำความเศร้าหมองให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สงฆ์ในพระพุทธศาสนา กรณีนี้จึงไม่ มีการใช้คำว่า "ถ้า" อย่างที่โฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแถลง" นายไพบูลย์กล่าว
เมื่อถามว่า กรณีดังกล่าวกำลังลุกลามบานปลายเพราะอีกฝ่ายก็ออกมา นายไพบูลย์กล่าวว่า เราไม่ได้มองว่าฝ่ายไหน แต่กรรมการมีหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ สาเหตุของปัญหา เพื่อนำไปสู่การปฏิรูป ส่วนผู้ที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ย่อมเป็นสิทธิแสดงความคิดเห็น ซึ่งเรายินดีเปิดรับฟังทุกความคิด เพื่อประกอบการพิจารณา โดยอนาคตจะจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นของสังคมโดยรวม
ต่อข้อถามว่าจะยื่นเพื่อให้พระธัมมชโยปาราชิกอีกครั้งหรือไม่ นายไพบูลย์กล่าวว่า เชื่อว่าจะมีผู้ยื่น จึงขอฝากพุทธศาสนิกชนที่ห่วงใยพระพุทธศาสนา เมื่อได้รับทราบเรื่องดังกล่าวและเห็นว่าเป็นการกระทำที่ขัดพระธรรมวินัยและกฎหมายก็ให้ดำเนินการต่อไป ส่วนที่มีการร้องให้ยุบคณะกรรมการชุดนี้ เนื่อง จากปฏิบัติหน้าที่ไม่เหมาะสมนั้น เป็นเพียงความเห็นของส่วนบุคคล เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่ไม่สามารถทำให้การทำหน้าที่ของคณะกรรมการยุติลงได้
วัดปากน้ำชี้พุทธอิสระพูดไม่หมด
วันเดียวกัน พระพรหมโมลี (สุชาติ ธัมมรตโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรรมการมส. เปิดเผยว่า ขอยืนยันว่าไม่มีคนของวัดปากน้ำภาษีเจริญ โทร.หาพระพุทธอิสระ โดยเฉพาะการเสนอตำแหน่งให้เพื่อแลกกับหยุดการเคลื่อนไหว ยืนยันว่าวัดปาก น้ำฯไม่ทำเช่นนั้นอย่างแน่นอน ขณะเดียวกันมีการกล่าวพาดพิงในการหารือเมื่อวันที่ 21 ก.พ.หลายเรื่อง แต่พระพุทธอิสระไม่พูดให้สังคมได้ทราบบ้างว่า อาตมาและพระพุทธอิสระพูดคุยถึงเรื่องความคิดเห็นสองฝ่ายอาจจะมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือปรารถนาดีต่อพระพุทธศาสนา มีพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน มีหลักพระธรรมวินัยหลักเดียวกัน
"ความเห็นเบื้องต้นอาจจะตรงกันบ้างไม่ตรงกันบ้าง แต่ทุกคนมีเจตนายกย่องเชิดชูพระพุทธศาสนา ซึ่งอาตมายังบอกไปว่าความเห็นส่วนตัวส่วนบุคคลอยู่แค่เพียงชั่วคราว ความเห็นของพระพุทธอิสระ และความเห็นของมหาเถรฯอยู่ไม่ถึง 100 ปีก็ไปแล้ว แต่พระศาสนายังอยู่ถึงปัจจุบันมีหลักธรรมสั่งสอนให้อบรมแสดงว่าคนโบราณรักษาพระศาสนา รักษาคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ได้นำคำสอนของบุคคลหนึ่งมาเอ่ยมาอ้าง ที่เราได้เรียนหลักคำสอนทุกวันนี้ ก็เพราะเราร่วมกันรักษาพระพุทธศาสนา" ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กล่าว
มจร.แจงใช้งบมหา'ลัยสงฆ์
ขณะที่พระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) กล่าวว่า มหาจุฬาฯจัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.มหาวิทยาลัย พ.ศ.2540 เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ รายได้มหาวิทยาลัยมาจาก 3 ส่วน ได้แก่ 1.รัฐจัดสรรให้ 2.ผู้มีจิตศรัทธา และ 3.รายได้อื่นๆ เช่น ค่าเทอม เป็นต้น ซึ่งเมื่อรัฐจัดสรรงบมาให้แล้ว ทางมหาวิทยาลัยจะถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ตรวจสอบทั้งส่วนกลางและวิทยาเขตอย่างละเอียดทุกปี สตง.ไม่ตรวจเฉพาะงบอุดหนุนของรัฐ แต่ยังตรวจรายได้อื่นๆ ของมหาวิทยาลัยด้วย ไม่ว่าจะเป็นใบอนุโมทนาบัตรเงินบริจาค มอบไปที่ไหนบ้าง ใครบริจาคบ้าง ตู้บริจาคของมหาวิทยาลัยก็ต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบ
พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าวต่อว่า เรื่องที่มหาวิทยาลัยใช้งบไปต่างประเทศนั้น มหาวิทยาลัยมีสถาบันสมทบในต่างประเทศถึง 7 แห่ง อาทิ ศรีลังกา ฮังการี สิงคโปร์ เกาหลี เป็นต้น โดยแต่ละปีผู้ที่จบปริญญาตรีจากสถาบันสมทบ จะต้องมารับปริญญาในประเทศไทย ในส่วนของผู้บริหาร อาจารย์และนักวิชาการของมหาวิทยาลัย ก็ต้องเดินทางไปประชุมร่วมกับสถาบันสมทบในต่างประเทศ ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยมีความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ ต้องมีการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการกับมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ มหา วิทยาลัยก็มีสมาคมวิสาขบูชานานาชาติ มีสมาชิกทั่วโลก ก็ต้องแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่องด้วย อาตมามองว่าการไปแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาทางวิชาการ
"เวลาผู้บริหาร อาจารย์ เดินทางไปแลกเปลี่ยนทางวิชาการ นอกจากจะมีงบของมหาวิทยาลัยแล้ว ยังมีเจ้าภาพร่วมสมทบด้วย ซึ่งพุทธอิสระไม่ทราบในเรื่องนี้ การที่พูดออกมาก็เพื่อให้สังคมมองมหาวิทยาลัยในภาพลบเท่านั้นเอง" พระเมธีธรรมาจารย์กล่าว
พศ.โต้ข่าวไม่จริงประชุมมส.
ด้านนายพนม ศรศิลป์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในฐานะเลขาธิการมหาเถรสมาคม (มส.) กล่าวว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวออกไปว่าการประชุมมส.เมื่อวันที่ 20 ก.พ.นั้น มส.มีมติว่า เหตุการณ์ของวัดพระธรรมกาย เมื่อปี 2542 ซึ่งในขณะนั้นพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธัมมชโย) หรือหลวงพ่อธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ดำรงสมณศักดิ์ที่พระราชภาวนาวิสุทธิ์ ไม่ได้มีความผิดถึงขั้นต้องอาบัติปาราชิก ตนขอชี้แจงว่าตนเข้าประชุมมส.ในวันดังกล่าวด้วยในฐานะเลขาธิการมส. และยืนยันว่ามส.ไม่ได้มีมติเกี่ยวกับพระเทพญาณมหามุนี ทั้งมส.ยังไม่ได้พิจารณาด้วยว่าปาราชิก หรือไม่ปาราชิก มีแต่เพียงนำผลการชี้แจงที่นายสมเกียรติ ธงศรี ผอ.สำนักเลขาธิการมส.ที่นำมติมส. ปี 2549 เกี่ยวกับกรณีวัดพระธรรมกายที่นำไปชี้แจงยังคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สปช. มารายงานมส.รับทราบเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีผู้เผยแพร่ข้อความผ่านสื่อออนไลน์ว่าการประชุมมส.วันที่ 20 ก.พ. เปิดให้กรรม การมส.โหวตว่าพระเทพญาณมหามุนี ปาราชิกหรือไม่ ขอยืนยันว่าการประชุมในวันดังกล่าวไม่ได้เปิดให้โหวตแต่อย่างใด ทั้งนี้จะสรุปข้อเท็จจริงทั้งหมดรายงานนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ กำกับดูแลพศ.ต่อไป
เครือข่ายชาวพุทธนัดยื่น'บิ๊กตู่'
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 24 ก.พ.ที่มีการประชุมครม. ทางเครือข่ายชาวพุทธ ประกอบด้วยพระสงฆ์ สามเณร และฆราวาสจะไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงพล.อ.ประยุทธ์ นายกฯและหัวหน้าคสช. และยื่นถึงนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. เพื่อขอให้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สปช. เนื่องจากเห็นว่าคณะกรรมการทั้ง 16 คนนั้น บางคนมีเป้าหมายทางศาสนา หลายคนมีเงื่อนไขการจัดการศาสนา บางคนเคยขึ้นเวทีการเมือง คณะกรรมการส่วนใหญ่มีความสุดโต่งทางการเมือง นำความขัดแย้งมาสู่สังคม ขณะเดียวกันการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปฯ เป็นการมองปัญหาอย่างเดียว แต่ไม่เคยพูดถึงคุณงามความดีของพระสงฆ์ ทั้งที่การปฏิรูปควรต้องปรึกษาคณะสงฆ์ด้วย และหากต้องการปฏิรูป ขอให้คณะกรรมการปฏิรูปฯเข้ามาแบบมีสัมมาทิฐิ เข้ามาแบบดีงาม มีความเคารพพระสงฆ์ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปพระพุทธศาสนาอย่างงดงามยั่งยืนและควรปรึกษาคณะสงฆ์ด้วย
นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลเคารพและปกป้องดูแลสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ด้วย
พระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ มจร. ในฐานะที่ปรึกษาสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า องค์กรพุทธ และสนพ. จะส่งผู้แทน 30-40 คน ไปยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ที่ทำเนียบรัฐบาล บริเวณประตู 4 ในวันอังคารที่ 24 ก.พ. เวลา 08.30 น.โดยสาระสำคัญของหนังสือที่จะ ยื่นถึงนายกฯ เพื่อขอให้ทบทวนหรือยกเลิกการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ที่มีเนื้อหากระทบกระเทือนสถาบันสงฆ์ อันจะทำให้พระพุทธศาสนาเกิดความแตกแยก