- Details
- Category: ศาสนา
- Published: Monday, 23 February 2015 12:32
- Hits: 2910
รองมจร.ถล่มชุดไพบูลย์ ยื่นบิ๊กตู่ยุบ ซัดสุดโต่ง-ป่วนศาสนา นั่งแถลงในนาม'สนพ.'ตั้งข้อสังเกตปฏิรูป 3 ปม พุทธะอิสระทำไม่เหมาะ สปช.ลั่นตรวจสอบมส. บี้เคลียร์เงิน'ธรรมกาย'
'ไพบูลย์'ย้ำมติ มส.ขัดพระลิขิตพระสังฆราชปี 42 เล็งสอบมติยืนยันธัมมชโยไม่ปาราชิก คำสั่งให้ยุติเรื่อง'ผิดปกติ'
@'ไพบูลย์'เล็งสอบมติมส.
การประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ มีมติยืนยันว่าพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ไม่ต้องอาบัติปาราชิก กรณีโอนทรัพย์สินวัดพระธรรมกายไปเป็นของตัวเอง โดยอ้างเหตุผลว่ามีการคืนทรัพย์สินทั้งหมดแก่วัดเรียบร้อยแล้ว ก่อให้เกิดกระแสความไม่เห็นด้วยจากบุคคลหลายฝ่าย เนื่องจากเห็นว่ามติ มส.ขัดต่อพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช เรื่องการปาราชิกของพระธัมมชโย เมื่อปี 2542 ขณะเดียวกันมีแนวคิดให้มีการตรวจสอบการดำเนินการของ มส.ด้วย โดยเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา หรือคณะกรรมการปฏิรูปศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า มติ มส. ถือว่ามีความเห็นต่างกับคณะกรรมการปฏิรูปศาสนา จากเดิมเคยมีความคิดว่าจะเข้าหารือกับ มส.เพื่อหาแนวทางการปฏิรูปร่วมกัน ตอนนี้กลายเป็นว่าคณะกรรมการปฏิรูปศาสนาก็อยู่ในฐานะต้องตรวจสอบ มส.ด้วย
@ ชี้ให้ยุติเรื่อง'ผิดปกติ'
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ มส.ส่งมติและเอกสารรายละเอียดทั้งหมดของเมื่อปี 2549 ที่อ้างว่าพระธัมมชโยไม่ต้องปาราชิกและไม่ขัดต่อพระลิขิตพระสังฆราช และมติของการประชุมครั้งที่ 5/2558 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ให้เรื่องทั้งหมดถือเป็นอันยุติ มายังคณะกรรมการปฏิรูปศาสนาเพื่อนำไปใช้ศึกษาวิเคราะห์ต่อไปด้วย เพราะมติของ มส. เมื่อปี 2549 ถือว่าขัดต่อพระลิขิตของพระสังฆราช เมื่อปี 2542 ที่ชี้ว่าพระธัมมชโยผิดพระธรรมวินัย ต้องปาราชิก
"มติล่าสุดของ มส.ก็ถือว่ามีความผิดปกติ โดยเฉพาะที่บอกว่าให้เรื่องเป็นอันยุติ อย่าวิจารณ์เนื่องจากผ่านไปแล้ว" นายไพบูลย์กล่าว
@ เล็งสอบเงินวัดพระธรรมกายซ้ำ
ส่วนกรณีพระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดี ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เรียกร้องให้คณะกรรมการปฏิรูปศาสนาตรวจสอบพระสุเทพ ปภากโร พระพุทธะอิสระ และสันติอโศก และเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยุบคณะกรรมการดังกล่าว เนื่องจากนำบุคคลที่มีความคิดสุดโต่งทางการเมืองมาทำหน้าที่นั้น
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ทำหน้าที่ไปตามที่ สปช.ให้อำนาจหน้าที่ไว้ และจะทำหน้าที่ต่อไป โดยในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ เวลา 09.00 น. จะเชิญตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มาชี้แจงเรื่องการเงินของวัดพระธรรมกาย
"การปฏิรูปศาสนาไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเคยขึ้นเวที กปปส.หรืออุดมการณ์ทางการเมือง แต่ต้องดำเนินการเพราะเป็นไปตามการเรียกร้องของประชาชน น่าแปลกใจว่าเมื่อหยิบเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมกายมาพิจารณา ก็มีปฏิกิริยาตามมามากมาย ข้อเรียกร้องให้ยุบกรรมการชุดนี้ทิ้งก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน เหมือนกรณีพระพุทธะอิสระนำประชาชนเข้าพบพระพรหมโมลี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ กรรมการ มส. ถือเป็นแนวทางของพระพุทธะอิสระ ส่วนเราก็ศึกษาวิเคราะห์กิจการศาสนาในภาพรวมและเฉพาะกรณี โดยเริ่มจากธัมมชโยต่อไป" นายไพบูลย์กล่าว
@ ถกค้านกก.ปฏิรูปศาสนา
ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ พระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์ ตัวแทนสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) ร่วมหารือเพื่อต่อต้านการปฏิรูปพระพุทธศาสนาของ สปช.
พระเมธีธรรมาจารย์กล่าวว่า สนพ.พร้อมองค์กรชาวพุทธจะร่วมกันแสดงจุดยืน กรณีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.มีคำสั่งที่ 8/2558 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ประเด็นดังกล่าวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของผู้คนในสังคมจำนวนมาก โดยเฉพาะพระสงฆ์ในสังฆมณฑล และเกิดคำถามว่า ในภาวะบ้านเมืองเป็นแบบนี้ รัฐต้องการเห็นคณะสงฆ์เดินไปในทิศทางแบบไหน และพระพุทธศาสนาจะคงอยู่ในสังคมไทยต่อไปหรือไม่
@ ชี้ 3 ปมกก.ปฏิรูปฯไม่เหมาะ
พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าวว่า จากคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปดังกล่าว ขอตั้งข้อสังเกตใน 3 เรื่อง คือ 1.ทำไมต้องตั้งคณะกรรมการปฏิรูป หากเกิดจากการวินิจฉัยว่าพระพุทธศาสนาในไทยปกครองกันเองล้วนเกิดปัญหามากมาย รวมถึง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารกิจการพระพุทธศาสนา ถือเป็นสมมุติฐานที่ผิด 2.สมมุติฐานแบบนี้ทำให้เกิดความเสียหายต่อพระพุทธศาสนา คณะบุคคลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการปฏิรูป จำนวน 16 คน ล้วนเป็นผู้ที่มีความสุดโต่งทางการเมืองและศาสนา หลายคนมีวาระที่จะเข้ามาจัดการกับพระศาสนา หลายคนขึ้นเวทีทางการเมือง คนเหล่านี้เมื่อมีอำนาจจะเข้ามาบริหารกิจการคณะสงฆ์
3.คณะสงฆ์ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน ไม่มีรัฐบาลไหนที่คิดตั้งญาติโยมมาดำเนินการเรื่องพระศาสนา ขอยืนยันว่าพระสงฆ์ไม่ได้กลัว และไม่ได้วิตกเรื่องนี้ เพียงแต่บุคคลที่เข้ามา ควรมาด้วยสัมมาทิฐิ ไม่ใช่มิจฉาทิฐิ และควรจะเข้ามาในช่องทางที่ถูกต้องดีงาม ถ้าจะแก้ไขเรื่องใดๆ ของสงฆ์ ควรปรึกษาพระสงฆ์ และปรึกษาสมเด็จพระสังฆราช พระสงฆ์ยินดีเดินไปสู่สิ่งที่เรียกว่าการปฏิรูปพระศาสนา พระสงฆ์เคยทำเรื่องเหล่านี้มาก่อน โดยร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับมหาคณิสสร ได้เสนอไปหลายรัฐบาลแล้ว จนถึงขณะนี้ยังอยู่ในคณะกรรมการกฤษฎีกา
@ ร้อง'บิ๊กตู่'มีคำสั่งยุบ
"ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ อาตมา และตัวแทน สนพ.และองค์กรชาวพุทธ จะเดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล และนายเทียนฉายที่รัฐสภา เดิมมีผู้สนใจจะร่วมเดินทางไปจำนวนมาก แต่เกรงว่าจะมีปัญหาเนื่องจากกฎอัยการศึกยังมีผลบังคับใช้อยู่ ฉะนั้น จะมีเฉพาะตัวแทนจำนวนไม่มาก โดยจะเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ และนายเทียนฉาย ยกเลิกคณะกรรมการปฏิรูปชุดดังกล่าว" พระเมธีธรรมาจารย์กล่าว
นายเมธาพันธ์ โพธิธีรโรจน์ เลขาธิการ สนพ.กล่าวว่า การที่พระพุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ปลุกปั่นผ่านสื่อออนไลน์ หรือปลุกระดมคนไปชุมนุมที่วัดปากน้ำ อยากฝากถามรัฐบาลว่า เป็นการละเมิดกฎอัยการศึกหรือไม่ ขณะเดียวกันมีการส่งทหารที่มีอาวุธครบมือไปอารักขาพระพุทธะอิสระภายในวัดปากน้ำ ซึ่งเป็นวัดที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชจำพรรษาอยู่ อยากถามว่าเป็นการไม่เคารพประมุขสงฆ์ การกระทำนี้ถูกต้องหรือไม่ และอย่าให้เกิด 2 มาตรฐาน
ด้านนายเสถียร วิพรมหา นายก สนพ.กล่าวว่า จากการตรวจสอบรายชื่อคณะกรรมการปฏิรูปพบว่ามี 1 คนที่เป็นผู้ที่อยู่ภายใต้การดำเนินกิจการของสงฆ์ และอีก 1 คน เป็นเลขานุการของพระพุทธะอิสระ ขณะที่กรรมการส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการเมืองที่อยู่ในฝ่ายเดียวกับพระพุทธะอิสระ ทั้งที่เจตนาบอกว่าต้องการปฏิรูปคณะสงฆ์ แต่กลับมีการตั้งกรรมการปฏิรูปที่มาจากฝ่ายสงฆ์เพียงคนเดียว จึงขอคัดค้านการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปชุดนี้
@ ทำบุญวัดพระธรรมกายยังคึกคัก
ที่วัดพระธรรมกาย ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้ายังคงมีประชาชนจำนวนมากเดินทางมาทำบุญ พร้อมทั้งนั่งฟังธรรม และนั่งสมาธิตามปกติ ที่บริเวณหอฉัน โดยเฉพาะที่พุทธสมาคม สถานปฏิบัติธรรม มีประชาชนทยอยเข้าร่วมฟังธรรมหลายร้อยคน ในขณะช่วงพักกลางวันปรากฏว่ามีการตั้งกลุ่มพูดคุยถึงเรื่องวัดพระธรรมกายที่ตกเป็นข่าวอยู่ขณะนี้
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามชาวบ้านรายหนึ่ง ได้รับคำตอบว่า เรื่องราวทั้งหมดยุติลงแล้วตั้งแต่ 10 ปีก่อน มั่นใจว่ามีกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มคนต้องการล้มล้างพุทธศาสนา จึงนำเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นอีก ทั้งนี้ ในช่วงพระสุเทพ ปภากโร หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขึ้นเวที กปปส. ก็เคยประกาศว่าจะต้องมีการเช็กบิลกับวัดพระธรรมกายจึงมั่นใจว่าเป็นเรื่องของการเมืองอย่างแน่นอน
@ ธรรมกายจัดทำบุญใหญ่เชียงราย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันเดียวกันนี้ที่บริเวณด่านพรมแดนไทย-พม่า ด้าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย วัดพระธรรมกายจัดโครงการตักบาตรพระ 10,000 รูป น้อมถวายเป็นพุทธบูชา ช่วยเหลือคณะสงฆ์ ทหาร ตำรวจ ครู และชาวบ้านในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยพิธีตักบาตรนี้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ก่อนพิธีตักบาตรมีการแจกจ่ายเอกสารประชาสัมพันธ์ว่าการตักบาตรเป็นส่วนหนึ่งของโครงการตักบาตรพระ 2 ล้านรูปใน 77 จังหวัดทั่วประเทศของพระธัมมชโย เอกสารยังระบุว่าที่ผ่านมาสามารถนำข้าวสารอาหารแห้ง เครื่องอุปโภคบริโภคไปมอบให้พื้นที่ 4 จังหวัดดังกล่าวกว่า 4,500 ตัน
ทั้งนี้ บรรยากาศการตักบาตรในปีนี้ไม่คึกคักเหมือนปีที่ผ่านมา เพราะจำนวนคนน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็เต็มบริเวณหน้าด่านพรมแดนจนต้องมีการปิดช่องทางจราจรชั่วคราว เป็นที่น่าสังเกตว่าการตักบาตรมีการจัดระดับผู้ที่ไปร่วมทำบุญ เช่น ระดับวีไอพีจะมีโต๊ะจัดวางอาหารสำหรับตักบาตร และระดับชาวบ้านปูเสื่อ โดยโต๊ะระดับวีไอพีไม่ต้องต่อคิวตักบาตรเหมือนคนทั่วไป แต่ต้องมีค่าใช้จ่ายต่อคนหรือองค์กรละ 25,000 บาท สำหรับชาวบ้านระดับรองลงมาคือการเช่าพื้นที่วางโต๊ะ โต๊ะละ 3,000 บาท ส่วนคนที่นั่งกับพื้นมีค่าปูเสื่อจำนวน 1,000 บาท และมีการถวายปัจจัยอย่างน้อยให้รูปละ 500 บาทด้วย