- Details
- Category: ศาสนา
- Published: Sunday, 22 February 2015 13:19
- Hits: 6398
สปช.เปิดศึกธรรมกาย ลุยมหาเถร 'ไพบูลย์'ชี้มติขัดพระลิขิต ให้'ธัมมชโย'พ้นปาราชิก พุทธะอิสระบุกวัดปากน้ำ ถวายเข่งสังฆทานประชด จี้นายกปฏิรูปวงการสงฆ์
ค้านมติ'ธัมมชโย'ไม่ปาราชิก'พุทธอิสร'บุกวัดปากน้ำชวนประชาชนคว่ำบาตรเลิกไหว้ กก.จี้'บิ๊กตู่'ยกเครื่อง แนะดึงฆราวาสร่วมดูแลคณะสงฆ์ ดัน มส.ขึ้นหิ้ง
จากกรณีที่ประชุมกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) มีมติยืนยันว่าพระเทพญาณมหามุนี หรือ พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ไม่อาบัติปาราชิกพ้นจากความเป็นสมณะ เนื่องจากไม่ได้ฝืนพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ปี 2542 และได้ปฏิบัติตามพระลิขิต ไม่มีเจตนาฉ้อโกงทรัพย์สินวัดพระธรรมกายต่อมาได้มีทยอยคืนทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่วัดพระธรรมกายแล้ว อีกทั้งผลการสอบสวนความผิดที่ตั้งโดยเจ้าคณะผู้ปกครองสรุปผลออกมาว่าไม่ผิดพระธรรมวินัย ฉะนั้น จึงไม่ถือเป็นความผิดและพ้นมลทิน อีกทั้งในปี 2549 มส.ยังได้คืนตำแหน่งเจ้าอาวาส และได้ขอพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์แก่พระธัมมชโย
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระพุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม พร้อมด้วยลูกศิษย์ กว่า 200 คน ได้เดินทางมาที่วัดปากน้ำ โดยมีทหารและตำรวจ คอยรักษาความปลอดภัย บริเวณทางเข้าวัด มีพระพรหมโมลี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เป็นผู้แทนสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ในฐานะประธาน มส. และนายสมเกียรติ ธงศรี ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการ มส. มาต้อนรับ พร้อมชี้แจงประเด็นต่างๆ ณ ศาลาริมคลองภายในบริเวณวัด ทั้งนี้ ภายหลัง พระพุทธะอิสระหารือกับพระพรหมโมลี ได้มอบเข่งสังฆทานสีน้ำเงินฝากไปให้กรรมการ มส. ภายในเข่งมีดอกไม้จันทน์ สากกะเบือ รองเท้า เสื้อผ้า เงิน 1,000 บาท เป็นต้น
พระพุทธะอิสระ กล่าวภายหลังว่า ที่มาวัดปากน้ำเพื่อถาม 4 เรื่อง คือ 1.มติ มส.ยึดเอามติสำคัญกว่าพระธรรมวินัยใช่หรือไม่ 2.ลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชถือเป็นกฎหมาย ถ้าไม่ปฏิบัติตาม ถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่ 3.มส.วินิจฉัยพระธัมมชโยว่าไม่อาบัติปาราชิก ในฐานะที่ยักยอกทรัพย์แล้วคืนทรัพย์ ถือว่าใช้เป็นบรรทัดฐานในการปกครองคณะสงฆ์ต่อไปใช่หรือไม่ และ 4.เมื่อสมเด็จพระสังฆราชลงลิขิตว่าธัมมชโยปาราชิก แต่ปรากฏว่า มติ มส.ระบุว่าไม่ปาราชิก เมื่อไม่เป็นความจริง สมเด็จพระสังฆราชต้องอาบัติสังฆาทิเสส หรือไม่ เพราะเป็นคู่โจทก์ โดยพระพรหมโมลี ให้คำตอบว่าที่ลงมติดังกล่าว เพราะลิขิตพระสังฆราชมีคำว่า ถ้า แสดงว่าไม่แน่นอนเลยวินิจฉัยตามนั้น และเมื่อถามว่าเคยเรียกพระธัมมชโยมาสอบไหม ได้คำตอบว่า ไม่เคย แค่ได้รับรายงานตามลำดับชั้นเท่านั้นแล้วนำมาวินิจฉัย
"มส.คงไม่หยิบยกเรื่องนี้มาพิจารณาใหม่อีก คิดว่าจบแล้วเพราะ มส.นำมาพิจารณาแล้ว 2 รอบ มส.เอานิกายเป็นใหญ่ไม่ได้เอาพระธรรมวินัยเป็นใหญ่ เลยใช้วิธีตัดสินพวกมากลากไป รักษาพวกตัวเองเอาไว้ สมควรที่ต้องปรับปรุงได้แล้ว โดยมีกลุ่มบุคลากรขึ้นมาช่วยทำงาน ส่วน มส.ขึ้นไปนั่งแท่นให้คนกราบไหว้ก็พอ ไม่เช่นนั้นกิจการของคณะสงฆ์จะไม่พัฒนา" พระพุทธะอิสระกล่าว และว่า เคยเสนอนายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าควรตั้งกรรมการที่ชำนาญเฉพาะด้าน เช่น การบริหารการปกครอง ตุลาการ การศึกษา การสาธารณูปโภค มาเป็นกรรมการร่วมกับคณะสงฆ์ในการปกครองและบริหารสังฆมณฑล ส่วน มส.ขยับมาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา
เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย กล่าวอีกว่า อยากให้นำความผิดพลาดจากการทำงานของ มส.ในคดีธรรมกายมาเป็นต้นแบบเพราะมีศาลไหนในโลกที่ไม่เรียกจำเลยมาถามแล้วบอกว่าไม่ผิด โดยเชื่อเพียงพยานเอกสารเฉยๆ ซึ่งตนเคยจะฟ้องศาลปกครองแต่ไม่มีการรับเรื่องฟ้องโดยอ้างว่ามีสถาบันตุลาการสงฆ์อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม อยากขอเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันคว่ำบาตรกรรมการ มส.ด้วยการอย่าคุย อย่าไหว้ อย่าให้ข้าวให้น้ำ อย่ามอง อย่านิมนต์ อย่าเทิดทูนบูชา จนกว่าจะเปลี่ยนพฤติกรรม หันมาใส่ใจพระธรรมวินัยมากกว่าพวกพ้องและนิกายอื่น
ด้าน พระเทพวิสุทธิกวี (เกษม สญฺญโต) เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรณีสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ไม่สามารถยึดทรัพย์กว่า 700 ล้านบาทที่นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด มอบให้วัดธรรมกายกลับคืนมาได้ เนื่องจากกฎหมายระบุว่าเงินที่นำไปสร้างศาสนสถาน ยึดไม่ได้นั้น มองว่ากฎหมายดีอยู่แล้ว เพียงแต่ผู้ปฏิบัติจะซื่อตรงและซื่อสัตย์หรือไม่ ปัจจุบันการเมืองกับเรื่องธุรกิจเข้ามาแทรกแซงศาสนามาก ฉะนั้น ต้องตามไปดูบริบทเบื้องลึกถึงกรณีที่เกิดขึ้น เชื่อว่าต้องเจอต้นตอ
นายสมชาย สุรชาตรี โฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวถึงกรณีที่นายประจิณ ฐานังกรณ์ ยื่นหนังสือถึง มส.เพื่อฟ้องร้องพระธัมมชโย กรณีคำสอนบิดเบือนและอวดอุตริ ว่า เรื่องอวดอุตรินั้น มส.สมัยนั้นเคยส่งเจ้าหน้าที่แฝงตัวเข้าไปวัดธรรมกายทุกวันอาทิตย์หลายครั้ง เพื่อไปตรวจสอบแต่ไม่พบว่าพระธัมมชโยสอนบิดเบือนตามที่มีคนอ้าง พระธัมมชโยจึงพ้นข้อกล่าวหา ส่วนจะหยิบยกเรื่องนี้หารือในที่ประชุม มส.อีกหรือไม่นั้นคงขึ้นอยู่กับ ผอ.พศ.
ด้านนายไพบูลย์กล่าวถึงกรณีที่ประชุม มส.มีว่า พระธัมมชโยไม่ปาราชิก เพราะไม่ได้ฝ่าฝืนพระลิขิตสังฆราช และคืนทรัพย์สินให้วัดไปแล้ว ว่ามติ มส.ดังกล่าวเป็นมติที่จะต้องถูกตรวจสอบ เพราะขัดและแย้งกับพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช ปี 2542 ที่รับรองโดยมติของ มส.เอง ทั้งนี้ คิดว่ามติ มส.ล่าสุดมีปัญหาแน่ และที่ผ่านมากรรมการใน มส.หลายรูปถูกร้องเรียนว่า มีลักษณะทับซ้อนกับการใช้ดุลพินิจในเรื่องพระธัมมชโย
"มติที่ออกมาแล้วอ้างว่าไม่ขัดกับพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชนั้นยังไงก็ขัดพระลิขิตแน่ ส่วนที่บอกว่าพระธัมมชโยคืนทรัพย์สินให้วัดไปหมดแล้วไม่มีเจตนาถือไว้จึงไม่ต้องปาราชิก เป็นคนละเรื่องกัน เพราะการเอาทรัพย์สินที่เป็นของวัดมาใส่ชื่อตัวเอง ต้องถือว่าขาดจากความเป็นพระ" นายไพบูลย์กล่าว และว่า ในขั้นตอนการตรวจสอบ มส.นั้นเป็นการตรวจสอบในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนการตรวจสอบพระธัมมชโยจะดูพฤติกรรมการรับเงินจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น และตรวจสอบการกระทำที่เข้าข่ายกระทำปาราชิก
วันเดียวกันที่ห้องประชุมริมน้ำ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวถึงกรณีของวัดพระธรรมกายตอนหนึ่งในงานเสวนาเรื่อง "ศาสนากับการเมือง ชาตินี้เราคงแยกกันไม่ได้" ว่า ควรเคารพสติปัญญาของคนธรรมดา อย่ารังเกียจธรรมกายหรือสันติอโศก หากใครไม่ชอบไม่นับถือก็ไม่ต้องเดินทางไปที่วัดดังกล่าว ต้องปล่อยให้คนเลือกสิ่งที่จะนับถือด้วยตนเอง เลือกสิ่งที่คิดว่าดีสำหรับตน ส่วนหากจะมองว่าธรรมกายไม่เป็นไปตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า คิดว่าในสมัยพุทธกาลพระอรหันต์แต่ละรูปก็ไม่ได้จดจำสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนได้ทั้งหมด หรืออาจจำได้ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นต้องปล่อยให้ประชาชนคิดเอาเองว่าจะนับถือใคร โดยต้องปล่อยให้สำนักต่างๆ มีการแข่งขันกันเพื่อให้สังคมมีของดี และหากสามารถนำเสนอทางเลือกที่สอดคล้องกับโลกในยุคปัจจุบันก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย และไม่จำเป็นต้องสนใจ มส.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นักคิดนักเขียนอาวุโสได้โพสต์ข้อความเฟซบุ๊กแฟนเพจ Sulak Sivaraksa ระบุว่า ในเมื่อลายพระหัตถ์สมเด็จพระสังฆราชชี้ชัดว่าบุคคลผู้นี้ต้องอทินนาทานปาราชิก แล้วกรรมการ มส.ซึ่งอ้างว่าเคารพสมเด็จพระสังฆบิดร กลับไม่ทำตามมติสมเด็จพระสังฆราช โดยที่อ้างว่าคืนเงินให้แล้ว เป็นอันหมดมลทิน นั้นเป็นเรื่องตะแบงพระวินัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่วัดพระธรรมกาย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ยังมีประชาชนในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดจำนวนมากสวมชุดขาวเดินทางมาทำบุญกันอย่างต่อเนื่องในวันหยุด โดยเฉพาะบริเวณหอฉัน ภายในวัดมีการถวายภัตตาหาร และนั่งฟังธรรมะกันตามปกติ
นางกาญจนา มาดกาด ชาวบ้าน จ.ปทุมธานี กล่าวว่า ไม่ได้รู้สึกอะไรกรณีข่าวของวัดพระธรรมกาย ยังมาทำบุญตามปกติ ซึ่งตนและญาติพี่น้องมาทำบุญที่วัดแห่งนี้เป็นประจำ 10 กว่าปีแล้ว รู้สึกว่ามาทำบุญแล้วสบายใจ