- Details
- Category: ศาสนา
- Published: Saturday, 21 February 2015 12:32
- Hits: 3724
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8851 ข่าวสดรายวัน
ธัมมชโย พ้นข้อหา มติมส.ชี้! คืนที่แล้ว-จบแล้ว ไม่ต้อง'ปาราชิก'ย้ำอย่ารื้อฟื้นอีก ไพบูลย์สวนทันที ขู่สอบ'มหาเถรฯ''พุทธอิสระ'หนุน ผ่าตัดองค์กรสงฆ์
มหาเถรฯ- สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานประชุมมหาเถรสมาคม(มส.) ก่อนมีมติว่าพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ยังไม่ปาราชิก เมื่อวันที่ 20 ก.พ. |
มติที่ประชุมมส.ชี้แล้วระบุ'พระธัมมชโย'ไม่ต้องปาราชิก เพราะไม่ได้ละเมิดพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชเมื่อปี 2542 และโอนที่ดินที่ได้รับบริจาคในนามส่วนตัวให้วัดทั้งหมดแล้ว เมื่อสอบสวนก็ ไม่พบว่ามีเจตนาจะยักยอก อีกทั้งคนที่ยื่น ฟ้องร้องคดีก็ถอนฟ้อง อัยการก็สั่งยุติคดี จนกระทั่งคณะสงฆ์คืนตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายให้ และเลื่อนสมณศักดิ์ให้เมื่อปี 2549 ด้านเครือข่ายกปปส.-พุทธอิสระยื่นอีก ส่งหนังสือถึง'บิ๊กตู่'ผ่านคณะกรรมการปฏิรูปพุทธศาสนา พร้อมหนุนผ่าตัดมหาเถรสมาคม ด้านสปช.'ไพบูลย์'โต้พระเถระ อ้างพระลิขิตเขียนชัดเจน ไม่ผิดได้อย่างไร ขู่ตรวจสอบมติมส.
ความคืบหน้ากรณีที่คณะกรรมาธิการการศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อวันที่ 17 ก.พ. เชิญผู้แทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เข้าชี้แจงในที่ประชุม ตาม พระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งมีพระลิขิต ลงวันที่ 26 เมษายน 2542 ชี้ว่าพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และประธานมูลนิธิธรรมกาย ต้องอาบัติปาราชิก พ้นจากความเป็นสมณะ ซึ่งมหาเถรสมาคม ได้นัดประชุมเพื่อพิจารณากรณีดังกล่าว
ที่หน้าวัดพระธรรมกาย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ผู้สื่อข่าวรายงานว่าทางวัด ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปภายในบริเวณวัด เมื่อสอบถามไปที่ประชาสัมพันธ์ของวัด พระธรรมกาย โดยวัดพระธรรมกายยังไม่ให้สัมภาษณ์ทุกกรณี เพียงแต่ส่งหนังสือชี้แจง ข้อกล่าวหาต่างๆ ยุติแล้ว ลงนามพระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กรวัดพระธรรมกาย และห้ามสื่อมวลชนทุกสำนักเข้าไปในวัด โดยมี รปภ.คุมเข้มทางเข้าประตูหน้าวัด
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 20 ก.พ. ที่อาคารสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม มีการประชุมมหาเถรสมาคม(มส.) ครั้งที่ 5/2558 โดยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน มีวาระที่สำคัญในการประชุมครั้งนี้ คือ กรณีที่คณะกรรมาธิการการศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อวันที่ 17 ก.พ. เชิญผู้แทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เข้าชี้แจงในที่ประชุม ตามพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งมีพระลิขิต ลงวันที่ 26 เมษายน 2542 ชี้ว่าพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และประธานมูลนิธิธรรมกาย ต้องอาบัติปาราชิก พ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ
ทั้งนี้ พระพรหมเมธี (จำนงค์ ธัมมจารี) กรรมการและโฆษกมหาเถรฯ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติรับทราบกรณีนายสมเกียรติ ธงศรี ผอ.สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม (มส.) ผู้แทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ไปชี้แจงกรณีพระเทพญาณมหามุนี ละเมิดพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในปี 2542 หรือไม่ จากนั้น มหาเถรฯ พิจารณาถึงเจตนาของพระเทพญาณมหามุนี ใน 2 กรณี ดังนี้ 1.ฝ่าฝืนพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมมหาเถรฯ ได้ยกมติมหาเถรสมาคมในปี 2549 ขึ้นมาพิจารณาแล้ว พบว่าพระเทพญาณมหามุนียอมรับและปฏิบัติตามพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชในการคืนที่ดินทุกประการ
พระพรหมเมธีกล่าวต่อว่า 2.มีเจตนาฉ้อโกงหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาแล้ว พบว่าพระเทพญาณมหามุนี ทยอยคืนทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่วัดพระธรรมกาย ขณะเดียวกัน คณะกรรมการฝ่ายสงฆ์ ซึ่งประกอบด้วยเจ้าคณะปกครอง ได้ดำเนินการสอบสวนความผิดโดยได้ผลสรุปออกมาว่า ไม่มีเจตนาฉ้อโกง ไม่ผิดพระวินัย ไม่ถือเป็นความผิด ถือเป็นอันยุติ ประเด็นที่ 3 เมื่อไม่มีเจตนาฉ้อโกง ไม่ได้ฝ่าฝืนพระลิขิต ไม่ถือว่ามีความผิด และพ้นมลทิน รวมทั้งยึดตามมติมส.ปี พ.ศ. 2549 โดยได้คืนตำแหน่งเจ้าอาวาส และได้ขอพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ให้ ดังนั้น สถานภาพปัจจุบันของพระเทพญาณมหามุนียังคงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดและดำรงสมณศักดิ์เช่นเดิม
โฆษกมหาเถรฯ กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่มีนายสมพร เทพสิทธา และนายมาณพ พลไพรินทร์ เป็นฝ่ายโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาว่าพระเทพญาณมหามุนี ยักยอกทรัพย์ของวัดพระธรรมกาย ต่อมา นายมาณพ หนึ่งในโจทก์ร่วมฟ้องได้ถอนฟ้อง อัยการได้พิจารณาแล้ว จึงได้ถอนฟ้องคดีดังกล่าว ถือว่าพระเทพญาณมหามุนี ได้พ้นมลทินแล้ว
"จากกรณีปัญหาดังกล่าว อยากจะวิงวอนให้พุทธศาสนิกชนพิจารณารับข่าวสารจากสื่อที่มีความรวดเร็ว อาจมีข้อผิดพลาดได้ โดยเฉพาะขณะนี้ รัฐบาลเน้นสร้างความปรองดองของคนในชาติ จึงไม่อยากให้นำเรื่องที่ยุติลงแล้วมาพูดซ้ำ ซึ่งมหาเถรฯไม่รู้ว่าพิจารณาอย่างไร อย่างไรก็ตาม มหาเถรฯ ถือเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ โดยเมื่อมีปัญหาของคณะสงฆ์เกิดขึ้น ก็ได้พิจารณาตามกระบวนการปกครองสงฆ์ สำหรับ พระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชในปี 2542 ถือเป็นข้อแนะนำของคณะสงฆ์ทั้งประเทศควรยึดถือปฏิบัติ" โฆษกมหาเถรฯ กล่าว
พระพรหมเมธี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมมหาเถรฯ ยังมีมติตั้งคณะทำงานติดตามข่าวสารขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วย พระพรหมเมธี, พระพรหมบัณฑิต, พระพรหมสิทธิ, พระธรรมบัณฑิต, นายจำนง สวมประคำ อดีตเลขาธิการวุฒิสภา และนายพิสิฐ เจริญสุข อดีตข้าราชการกรมการศาสนา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประจิณ ฐานังกรณ์ ประธานกลุ่มธรรมาธิปไตย ได้มายื่นหนังสือถึง ผอ.สำนักพุทธฯ ผ่านทางฝ่ายสารบัญ เพื่อติดตามกรณี เคยยื่นให้มีการตรวจสอบเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย อวดอุตริมนุสธรรม เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2542 โดยกล่าวว่า ตนต้องการมาติดตามเรื่องดังกล่าว เพราะเห็นว่า มหาเถรฯ มีการพิจารณาเรื่องของวัดพระธรรมกาย ซึ่งตนเคยยื่นเรื่องร้องเรียนไว้เช่นกัน แต่เรื่องกลับเงียบหาย จึงมายื่นเรื่องทวงถามความคืบหน้าอีกครั้ง
วันเดียวกัน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวถึง มติมหาเถรฯที่เห็นธัมมชโยไม่ปาราชิก โดยระบุไม่ขัดกับพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชว่าเป็นเรื่องไม่จริง จะไม่ขัดได้อย่างไร เพราะพระลิขิตฉบับที่ 3 ออกเมื่อวันที่ 10 พ.ค.2542 ระบุชัดถึงอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ซึ่ง 2 ฉบับก่อนหน้านี้ไม่มีการระบุชื่อ และมติมหาเถรฯ ที่ออกเมื่อ 10 พ.ค. 2542 ก็เห็นพ้อง ดังนั้น จะบอกว่ามติมหาเถรฯ ปี 2549 ไม่ขัดกับพระลิขิตได้อย่างไร
นายไพบูลย์กล่าวต่อว่าเรื่องนี้ต้องตรวจสอบมติดังกล่าวให้ชัดเจนเพื่อความถูกต้อง เพราะการปาราชิกใน 2 ข้อ เกี่ยวกับการบิดเบือนคำสอนทางศาสนาก็ถือว่าปาราชิกแล้ว ส่วนเรื่องทรัพย์ที่ได้มานั้นแม้จะบอกว่าคืนก็ไม่ใช่เหตุให้ไม่ปาราชิก ซึ่งทางพระธรรมวินัยเมื่อปาราชิกแล้วไม่ต้องลาสิกขาก็ถือว่าปาราชิกแล้ว ตนต้องตรวจสอบเรื่องนี้ให้ชัดเจน เพื่อความถูกต้องตามหลักพุทธศาสนาว่าทำไมมติมหาเถรฯจึงออกมาอย่างนี้
เมื่อเวลา 13.00 น. ที่รัฐสภา นายมหัศจักร โสดี และนายธนิสร์ ศรีกลิ่นดี เป็นตัวแทนของพุทธอิสระ วัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ได้ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องขอให้ปฏิรูปศาสนจักร เพื่อให้เป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง ผ่านนายไพบูลย์ นิติตะวัน สปช. ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สปช.
นายมหัศจักร อ้างว่า เมื่อมีการปฏิรูปประเทศแล้ว เห็นควรจะต้องปฏิรูปกฎมหาเถรสมาคม องค์คณะการปกครองสังฆมณฑล และบทลงโทษให้สาสม เหมาะแก่ความผิดของพวกอลัชชีที่เข้ามาปู้ยี่ปู้ยำพระธรรมวินัย การปฏิรูปครั้งนี้ต้องเอาคนไม่ละอายมาติดคุกให้ได้ จึงจะเป็นคุณูปการแก่ศาสนจักรอย่างแท้จริง นอกจากนี้ เนื้อหายังระบุว่า มหาเถรสมาคมครองอำนาจ รวบอำนาจ แต่ไม่รู้จักใช้อำนาจเพื่อความสุขสงบเรียบร้อยของสังฆมณฑล กรรมการมหาเถรสมาคมแต่ละรูปทำงานไม่ได้จริงอย่างที่มีภาระหน้าที่รับผิดชอบ แต่ละรูปล้วนมีตำแหน่งบริหารมากกว่าหนึ่ง จึงทำให้งานที่ควรจะได้รับการบริหารอย่างจริงจัง เพื่อความเจริญงอกงามของคณะสงฆ์ แต่เมื่อกรรมการมหาเถรสมาคมทุกรูปล้วนมีหลายตำแหน่งที่ต้องเข้าไปดูแลรับผิดชอบ จะเอาเวลาที่ไหนเข้าไปบริหารงานบางอย่างจริงจัง
ที่สำนักคดีอาญาพิเศษ 3 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สมาชิกสหกรณ์เครดิต ยูเนี่ยน คลองจั่น นำโดยนายธรรมนูญ อัตโชติ แกนนำชมรมฟื้นฟูสหกรณ์ พร้อม ผู้เสียหาย 25 คน เข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนดีเอสไอชุดใหม่
นายธรรมนูญ กล่าวว่า ผู้เสียหายสมาชิกสหกรณ์ฯคลองจั่นที่รวมกลุ่มกันในนามของชมรมฟื้นฟูสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนฯ มีกว่า 2,000 คน มีความเสียหายกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดจะให้การกับดีเอสไอ โดยมีความเชื่อมั่นมากขึ้นกับพนักงานสอบสวนชุดใหม่ อย่างไรก็ตาม สมาชิกยังไม่ไว้ใจ ในกลุ่มผู้บริหารสหกรณ์ชุดปัจจุบัน ที่มีกรรมการชุดเก่าร่วมอยู่ด้วย จึงต้องการให้ ดีเอสไอตรวจสอบแผนฟื้นฟูของสหกรณ์ฯควบคู่ไปด้วย
ด้านพ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ 3 กล่าวว่า หลังจากพนักงานสอบสวนชุดใหม่ได้รับมอบสำนวนทั้งหมดแล้ว จึงเรียกสอบผู้เสียหาย โดยประเด็นสอบปากคำวันเดียวกันนี้ จะสอบถึงความเสียหายที่ได้รับ และพฤติการณ์ อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ตนได้ให้พนักงานสอบสวนชุดเก่าเข้ามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการของคดีสหกรณ์ฯคลองจั่นที่ผ่านมาให้ชุดใหม่ได้ทราบ และในวันที่ 27 ก.พ.นี้ จะให้พนักงานสอบสวนมารายงานความคืบหน้าการติดตามคดีดังกล่าวด้วย
พ.ต.ท.สมบูรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการดูแลผู้เสียหายนั้น เนื่องจากคดีที่ 63 พนักงานสอบสวนยังไม่ได้ยึดทรัพย์สิน ส่วนกรณีที่ไปตรวจสอบบ้านของนายสถาพร วัฒนาศิริ นุกุล เจ้าของบริษัท เอส.ดับบลิว.โฮลดิ้งกรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด เป็นการขยายผลจากคดีที่ 146 ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ชุดติดตามทรัพย์สินไปสืบหาทรัพย์สินที่เหลือต่อไป ทั้งนี้ หากสมาชิกสหกรณ์ฯทราบว่า นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์ฯคลองจั่น มีทรัพย์สินซุกซ่อนที่ไหนก็ให้แจ้งมายัง ดีเอสไอได้ เพื่อจะได้นำทรัพย์สินเหล่านั้นมาเฉลี่ย หรือบรรเทาความเสียหายให้กับสมาชิก
ด้านพ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวะกุล ชุดตรวจสอบร่องรอยการเงินในคดีสหกรณ์ฯคลองจั่น กล่าวว่า จากการตรวจสอบเช็คสั่งจ่ายเงิน 878 ฉบับ พบว่า มีบัญชีปลายทางมากกว่า 64 บัญชี แต่ต้องรอหลักฐานจากทางธนาคาร ซึ่งคาดว่า ภายในสัปดาห์หน้าจะได้เอกสารความเคลื่อนไหวทางการเงินจากทางธนาคารมาตรวจสอบ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนชุดเก่าได้เรียกผู้เกี่ยวข้องบางคนมาสอบปากคำแล้ว โดยในส่วนของพนักงานสอบสวนชุดใหม่ จะต้องขอเวลาตรวจสอบก่อน
เมื่อถามถึงกรณีที่มีการสั่งจ่ายเช็คให้กับวัดพระธรรมกาย พ.ต.ท.ปกรณ์กล่าวว่า พนักงานสอบสวนชุดเก่าได้เรียกตัวแทนของวัดพระธรรมกายเข้ามาสอบปากคำแล้ว ส่วนพนักงานสอบสวนชุดใหม่จะดำเนินการตรวจสอบเส้นทางการเงินก่อน ว่า จะมีความเกี่ยวข้องกับใครบ้าง และมากน้อยแค่ไหน หากพบมีความเกี่ยวข้องก็จะเรียกเข้ามาสอบปากคำอีก ทั้งนี้ เช็คที่นายศุภชัยมีการสั่งจ่ายให้กับวัดพระธรรมกายนั้น พบว่ามีการสั่งจ่ายให้กับทั้งในนามบุคคลและวัดพระธรรมกาย
ที่ร.1 พัน 2 รอ. ถ.แจ้งวัฒนะ พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการสำนักงานปปง. กล่าวถึงการตรวจสอบติดตามธุรกรรมทางการเงินจากเช็คที่นายศุภชัย ที่สั่งจ่ายเงินออกไป 878 ฉบับ มูลค่ากว่า 11,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนดังกล่าวสั่งจ่ายให้วัดพระธรรมกายกว่า 700 ล้านบาท ว่า ในส่วนของปปง. ถือว่า การตรวจสอบธุรกรรมเช็คสั่งจ่ายวัดพระธรรมกายเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งพบว่ามีการสั่งจ่ายเช็คโดยนายศุภชัยออกไปจริงหลายครั้ง ครั้งละกว่า 100 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้เชิญตัวแทนวัดพระธรรมกายมาให้ปากคำแล้ว ซึ่งพบเงินทั้งหมดถูกนำไปสร้างศาสนสถาน โดยวัดพระธรรมกายนำเอกสารใบเสร็จต่างๆ มายืนยัน ขณะที่ปปง.เรียกดูเอกสารความเคลื่อนไหวทางการเงิน หรือสเตตเมนต์จากธนาคารเพื่อตรวจสอบ พบว่าเส้นทางการเงินถูกนำออกไปใช้ก่อสร้างดังกล่าวจริง ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดว่าที่ธรณีสงฆ์เป็นที่ต้องห้ามยึด จึงทำให้ปปง.ไม่สามารถยึดได้
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีนำประเด็นปปง.ยึดรถหรู ลัมโบร์กินี ของนายปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ หรือบอย ปกรณ์ นักแสดงชื่อดัง มาเปรียบเทียบกับกรณีวัดพระธรรมกายที่ไม่สามารถนำทรัพย์มาคืนได้ พ.ต.อ.สีหนาทกล่าวว่า ตนยอมรับว่ากรณีของนายปกรณ์ และวัดพระธรรมกายถือเป็นทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดเหมือนกันทั้งสองกรณี แต่เนื่องจากกรณีวัดพระธรรมกายมีกฎหมายกำหนดชัดว่าที่ธรณีสงฆ์ห้ามยึด ปปง.จึงไม่สามารถดำเนินการได้