- Details
- Category: ศาสนา
- Published: Friday, 20 February 2015 09:59
- Hits: 3195
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8850 ข่าวสดรายวัน
สปช.ชี้'ปาราชิก'ธัมมชโย มหาเถรฯถกด่วน พิจารณาตามพระลิขิตสังฆราช สมเด็จญาณสังวรระบุไว้ปี 42 บิ๊กตู่-พศ.รอรับจัดการต่อ'ธรรมกาย'แจง-จบนานแล้ว
มหาเถรฯนัดถกวันนี้ คลี่ปมร้อนพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราชให้'ธัมมชโย' เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ปาราชิก ตั้งแต่ปี 2542 รัฐบาล-พศ.รอผลที่ประชุมมส. ก่อนพิจารณาดำเนินการต่อ 'ไพบูลย์ นิติตะวัน'โชว์ลีลาประธานกรรมการปฏิรูปศาสนา สปช.ดักคอพระผู้ใหญ่ให้จัดการตามพระลิขิต ชี้นอกจากปาราชิกตั้งแต่ 16 ปีก่อนแล้ว ปัจจุบันยังเกี่ยวข้องกับเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นที่ผู้บริหารยักยอกกว่าหมื่นล้านจนถูกดำเนินคดี ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯตั้งข้อสังเกตสปช.ตั้งกรรมการปฏิรูปศาสนา แต่ไม่มีพระสงฆ์เข้าไปมีส่วนร่วม
เมื่อวันที่ 19 ก.พ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวถึงกรณีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ระบุว่า พระเทพญาณมหามุนี หรือธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ต้องปาราชิกขาดจากความเป็นภิกษุตามพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ว่า ต้องดูว่ามติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าอย่างไร ขณะนี้ต้องรอคณะกรรมการของพศ.พิจารณาเสนอเรื่องขึ้นมา และไม่จำเป็นต้องเร่งถาม เพราะมีขั้นตอนดำเนินการอยู่แล้ว
"สื่อก็มาถามให้ผมเร่งไปถามเรื่องนั้นเรื่องนี้ เร่งกันเข้ามา สุมไฟกันเข้าไปทุกๆ เรื่อง ปัญหาเต็มไปหมด ไปถามรัฐบาลก่อนหน้าผมบ้างว่าทำไมถึงไม่ทำมติที่ออกมาตั้งแต่เมื่อไร ตั้งแต่ปี 2542 ใช่หรือไม่ เป็นรัฐบาลชุดไหน ไปถามดูว่าทำไมถึงไม่ทำ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาโดยรับเรื่องมาทั้งหมดเดี๋ยวก็คงค่อยดำเนินการไปทีละขั้นตอน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ด้านนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ กำกับดูแลพศ. กล่าวถึงการหยิบยกพระลิขิตของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2542 ให้พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ต้องปาราชิก พ้นจากความเป็นสมณะ และมอบสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัดทันทีว่า พระลิขิตทั้ง 6 ฉบับ ยังไม่ได้ถึงพศ. ต้องอธิบายว่าพระลิขิตทั้งหมดนั้น มหาเถรสมาคม (มส.) เคยพิจารณาแล้วตั้งแต่ปี 2542 แต่ตนเห็นเพียงพระลิขิตฉบับที่ 3 ที่พูดเรื่องปาราชิก แต่ยังไม่เห็นผลการประชุมของมส.ในเรื่องนี้ ซึ่งวันที่ 20 ก.พ.นี้ มส.จะประชุมโดยพิจารณาเรื่องพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช เกี่ยวกับวัดพระธรรมกายและเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายด้วย จึงขอให้รอฟังผลการประชุมออกมาก่อนว่าเป็นอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อมส.ได้ข้อสรุปจะส่งเรื่องมาให้รัฐบาลดำเนินการใช่หรือไม่ นาย สุวพันธุ์กล่าวว่า ขอชี้แจงว่าเดิมทีเรื่องนี้มี 2 ประเด็น คือ เรื่องที่ดินที่มีการฟ้องร้อง ซึ่งต่อมาอัยการสูงสุดถอนฟ้องเมื่อปี 2549 และอีกเรื่องเป็นผลมาจากการฟ้องว่าการนำที่ดินไปนั้นต้องปาราชิกหรือไม่ แต่ยังไม่มีมติชัดเจน จากมส.ออกมา ทั้งนี้โทษปาราชิกถือว่าเป็นโทษขั้นประหารชีวิตสำหรับพระสงฆ์ เมื่อต้องโทษไม่สามารถกลับมาบวชเป็นพระได้อีก ฆราวาสไม่มีอำนาจชี้โทษได้ เพราะเป็นเรื่องของคณะสงฆ์เป็นผู้ชี้ความผิดต่างๆ ทั้งนี้ หากมส.ประชุมกันแล้วเรื่องจะมาถึงตนหรือไม่ยังไม่ทราบ เพราะอำนาจไม่ใช่ตนพิจารณาโทษ แต่เป็นเรื่องของพระที่จะชี้โทษ ยกตัวอย่างพระกระทำผิดและถูกจับ ตำรวจต้องนิมนต์ไปให้พระสังฆาธิการดำเนินการสึก เป็นต้น
เมื่อถามว่าคณะสงฆ์ได้ชี้แจงหรือไม่ว่าเพราะเหตุใดจึงทิ้งเรื่องนี้ไว้เป็นเวลานาน ทั้งที่ได้รับพระลิขิตหลายฉบับก่อนหน้านั้น รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ขอเวลาศึกษาและเรียบเรียงเนื้อหามติของมส.ในแต่ละครั้งนับตั้งแต่ปี 2542 อย่างละเอียดก่อนว่าแต่ละเรื่องเป็นอย่างไร จากนั้นจะมาชี้แจงให้เข้าใจ หากพูดก่อนอาจไม่ถูกต้องเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ
ต่อข้อถามกรณีวัดพระธรรมกายรับเงินจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นที่ผู้บริหารถูกดำเนินคดีถือว่ามีความผิดหรือไม่ นาย สุวพันธุ์กล่าวว่า ตนพูดไม่ได้เพราะไม่เห็นเรื่องทั้งหมด คิดว่าเจ้าของคดีคือสหกรณ์เครดิต ยูเนี่ยนคลองจั่นคงดำเนินการอยู่ ฉะนั้นต้องดูว่าในทางสงฆ์มีความผิดอย่างไร เมื่อถามว่ารัฐบาลต้องเข้าไปดูที่มาที่ไปของทรัพย์สินจากการบริจาคเงินหรือไม่ นาย สุวพันธุ์กล่าวว่า ฝ่ายรัฐบาลมีวิธีการอยู่แล้ว
"ฝ่ายอาณาจักรมีหน้าที่อำนวยความสะดวก ส่งเสริมและปกป้องพุทธศาสนา อะไรที่ทำให้พระพุทธศาสนาเสียหายเราต้องปกป้องแก้ไข และส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความศรัทธาและเชื่อถือ ขอให้รอดูผลประชุมก่อน ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวมหาเถรฯ เคยพิจารณาและระบุว่ายังเป็นคดีความอยู่ก็ขอให้ทางคดีสิ้นสุดกัน แต่ทางคดีมีการถอนฟ้องเสียก่อน ยืนยันว่ารัฐบาลจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดทั้งการส่งเสริมและปกป้องพระพุทธศาสนา ทุกอย่างควรมีข้อยุติแต่บอกตอนนี้ไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไร บางเรื่องต้องให้มหาเถรฯประชุม ผมเข้าใจว่าพระผู้ใหญ่ท่านอยากปกป้องไม่ให้พระพุทธศาสนาเสื่อมเสีย ซึ่งผมยังเชื่อมั่นในพระผู้ใหญ่" นายสุวพันธุ์กล่าว
เมื่อถามว่า เรื่องนี้ควรยุติโดยเร็วหรือไม่ หากปล่อยเนิ่นนานจะยิ่งเกิดความเสื่อม รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า โทษปาราชิกเป็นเรื่องสำคัญ การวินิจฉัยพระรูปใดไม่ว่าจะชื่ออะไรก็แล้วแต่ต้องพิจารณาให้ดี และอย่าเพิ่งถามถึงขั้นว่าต้องมีการสังคายนาเพราะอย่างนั้นแปลว่าทุกอย่างไม่ดีทั้งหมด ซึ่งส่วนดียังมีมากอยู่ เมื่อถามถึงข้อกังวลว่าอาจมีพระผู้ใหญ่บางรูปช่วยเหลือให้พ้นโทษ นาย สุวพันธุ์กล่าวว่า พระผู้ใหญ่ก็น่าจะฟังเสียงญาติโยมบ้าง เมื่อถามย้ำว่าเกรงจะเจอตอในเรื่องนี้หรือไม่ รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ไม่มีหรอก เรื่องนี้ตรงไปตรงมา
ที่วัดปากน้ำภาษีเจริญ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ กรรมการมส. ในฐานะ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช กล่าวถึงกรณีมีผู้แทนพศ. เข้าชี้แจงที่ประชุมคณะกรรมาธิการการศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งมีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน โดยระบุว่าตามลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ลงวันที่ 26 เม.ย. 2542 ชี้ชัด พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และประธานมูลนิธิธรรมกาย ต้องอาบัติปาราชิก พ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ ว่า เรื่องดังกล่าวจะมีการหารือในที่ประชุมมส. ซึ่งจะพิจารณากันอีกครั้ง
นายพนม ศรศิลป์ ผอ.สำนักงานพศ. กล่าวว่า ในการประชุมมส.วันศุกร์ที่ 20 ก.พ.นี้ จะนำเรื่องที่ สปช.แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ซึ่งมีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน และมีกรรมการรวมทั้งหมด 16 คน รายงานให้ที่ประชุมมส.รับทราบ นอกจากนี้ ทราบว่าที่ประชุมมส.จะหยิบยกเรื่องพระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี 2542 มาพิจารณาด้วย ซึ่งคงต้องรอดูว่ามส.จะมีแนวทางในเรื่องดังกล่าวอย่างไร
ขณะที่พระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ผอ.สำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย ทำหนังสือชี้แจงว่า จากกรณีข่าวที่ปรากฏในสื่อต่างๆ นั้น ทางวัดธรรมกายขอยืนยันว่า ข้อกล่าวหาต่างๆ ยุติแล้ว จึงเจริญพรมาเพื่อทราบ และโปรดเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องแก่สาธารณชนด้วย
วันเดียวกัน พระเทพวิสุทธิกวี (เกษม สัญญโต) เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นเอกสารการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สปช. ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน และไม่มีพระสงฆ์เป็นที่ปรึกษาหรือเป็นคณะกรรมการ ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาฯ จะรอดูว่าคณะกรรมการชุดนี้จะดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับการพิทักษ์พระพุทธศาสนา รวมถึงการปรับโครงสร้างคณะสงฆ์ รอให้ทำงานก่อน หากทำงานแล้วเกิดผลกระทบต่อคณะสงฆ์ก็ต้องมีแนวทางดำเนินการต่อไป
ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน กล่าวว่า คณะกรรมการจะศึกษาเกี่ยวกับกิจการศึกษาทั้งในภาพรวมและเฉพาะกรณี ตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 เพื่อให้มีความทันสมัยและสอดคล้องต่อพระธรรมวินัย การศึกษาเฉพาะกรณีประเด็นแรกที่ให้ความสำคัญคือ ผลักดันกรณีพระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ที่ระบุให้พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ปาราชิกไปแล้ว ได้มีผลบังคับปฏิบัติจริง ด้วยการให้มส.ที่ต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ผลักดันให้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพราะพระธัมมชโยที่ต้องพ้นจากความเป็นพระไปแล้ว ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน ที่ตรวจพบว่าได้รับเช็ค 15 ฉบับ รวมเป็นเงิน 714 ล้านบาท จากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่ผู้บริหารทุจริตยักยอกเงินไป 13,000 ล้านบาท ทั้งนี้คณะกรรมการเชิญตัวแทนสำนักงานปปง. มาชี้แจงเรื่องการเงินของวัดพระธรรมกายในวันที่ 23 ก.พ. เวลา 09.00 น.
นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ส่วนภาพรวมของกิจการศาสนา เบื้องต้นจะศึกษาภาพรวมเกี่ยวกับวัดที่เจ้าอาวาสมีอำนาจเด็ดขาดอยู่ฝ่ายเดียว ไม่สอดคล้องต่อพระธรรมวินัยที่ระบุให้คณะสงฆ์ต้องมีส่วนร่วมด้วย อีกทั้งวัดยังถือเป็นสาธารณสมบัติร่วมกันของทุกคนในสังคม จึงเห็นควรให้วัดจำเป็นต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินตลอดจนรายรับรายจ่ายด้วย
พ.ต.ท.สมบูรณ์ สารสิทธิ์ ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ 3 กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กล่าวถึงความคืบหน้าคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ว่า พนักงานสอบสวนได้วางแผนการทำงานเพื่อไม่ให้คดีเกิดความล่าช้า โดยแบ่งชุดทำงานรับผิดชอบเฉพาะเรื่อง เช่น ชุดติดตามร่องรอยทางการเงิน เช็ค 878 ฉบับ, ชุดตรวจสอบทางบัญชี, ชุดติดตามคืนทรัพย์สิน เป็นต้น ซึ่งประชุมติดตามความคืบหน้างานทุกวันศุกร์ ทั้งนี้จากการประชุมล่าสุด เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเช็คแต่ละฉบับว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้างจากจำนวนเช็ค 878 ฉบับ ตอนนี้รู้แล้วว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง หลังจากนี้จะเรียกผู้รับเช็คดังกล่าวมา สอบปากคำ ทั้งนี้พนักงานสอบสวนได้ขอข้อมูลจากธนาคารเกี่ยวกับเส้นทางการเงินเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ
พ.ต.ท.สมบูรณ์ กล่าวต่อว่า ส่วนคดีที่ 64/2557 ซึ่งเป็นคดียักยอกทรัพย์ประชาชน 27 ล้านบาทนั้น คาดว่าจะใช้เวลาสอบปากคำ 1 เดือน และจะส่งฟ้องต่อศาลได้ ตนเชื่อว่า นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์ฯคลองจั่น ยังอยู่ในประเทศไทย และยังสามารถติดต่อได้ เนื่องจากที่ผ่านมาทุกครั้งที่มีการเรียกให้มารายงานตัว นายศุภชัยมารายงานตัวตามนัด วันที่ 20 ก.พ.นี้ เวลา 09.30 น. ผู้เสียหายจำนวน 25 คน จะเข้าให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนเพิ่มเติม ส่วนกรณีที่นายศุภชัยโอนเงินให้กับวัดธรรมกายประมาณ 600 ล้านนั้น พนักงานสอบสวนดำเนินการตรวจสอบเส้นทางการเงิน โดยจะเรียกผู้รับเช็คมาสอบสวนว่านำเงินที่ได้มาไปทำอะไรบ้าง