- Details
- Category: ศาสนา
- Published: Tuesday, 09 December 2014 11:07
- Hits: 4751
วันที่ 09 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8777 ข่าวสดรายวัน
แห่ไหว้พระปางพยาบาล-ช่วยหายป่วย สมภารชี้ ความเชื่อ เฉพาะคน
ปางพยาบาล - ชาวบ้านจำนวนมากแห่กราบไหว้พระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธ วัดน้ำริดเหนือ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ หลังข่าวแพร่สะพัดว่ามีผู้มากราบอธิษฐานขอพรให้หายป่วยจากโรคต่างๆ แล้วเป็นจริง
ชาวบ้านแห่ขอพรพระพุทธรูปปางพยาบาล ภายในหอสวดมนต์ วัดน้ำริดเหนือ ต.น้ำริด อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ เชื่อว่าสามารถบันดาลให้โรคภัยหายได้ ผู้สร้างชี้เป็นพระพุทธรูป 1 ใน 80 ปาง ตามพุทธประวัติ ด้านเจ้าอาวาสเผย เคยถูกรถชน กระดูกขาหัก 4 ท่อน หมอแนะนำให้สึกเพราะจะเดินไม่ได้ แต่อธิษฐานจิตสุดท้ายหายกลับมาเดินได้อีกครั้ง สำนักพุทธชี้การสร้างพระพุทธรูป เพื่อความสวยงามทางศิลปะ สามารถทำได้ แต่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสม เห็นแล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธา
เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณหอสวดมนต์ วัดน้ำริดเหนือ ต.น้ำริด อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ มีชาวบ้านจากในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง ต่างพากันสวมใส่เสื้อขาว นำพระพุทธรูปประจำวันเกิดและผ้าไตรจีวร มา กราบไหว้พระประธานปางพยาบาล หรือพระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธ โดยตั้งจิตอธิษฐานและขอพรให้หายจากโรคร้าย อาทิ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาตและโรคทั่วไปที่ชาวบ้านเป็น เมื่อหายแล้วจึงนำเอาพระประจำวันเกิด ขนาดหน้าตักกว้าง 9 นิ้ว 5 นิ้ว 3 นิ้ว และขนาดเล็กหรือผ้าไตร หรือทั้ง 2 อย่างมาถวาย เพื่อเป็นพุทธบูชา
สำหรับ พระประธานปางพยาบาลองค์นี้ มีชื่อเรียกว่า "พระพยาบาล" มีความสูงประมาณ 160 ซ.ม. หน้าตักกว้างประมาณ 180 ซ.ม. พระอิริยาบถนั่งชันพระชานุ (เข่า) เบื้องขวา ประคองพระภิกษุอาพาธด้วยพระหัตถ์ขวา ให้นอนที่พระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ซ้ายประคองมือซ้ายพระภิกษุอาพาธ พระพักตร์เพ่งมองยังพระภิกษุอาพาธที่กำลังเศร้าหมองในลักษณะเมตตาสงสาร เป็นพระพุทธรูป 1 ใน 80 ปางตามพุทธประวัติ
ด้านนายประสิทธิ์ เอี่ยมงิ้วงาม อายุ 67 ปี ชาวบ้าน ต.งิ้วงาม กล่าวว่า อดีตเคยป่วยด้วยโรคอัมพฤกษ์ทั้งแขนและขา พออายุครบ 20 ปี จึงบวชที่วัดน้ำริดเหนือแห่งนี้ ระหว่างบวชได้เดินทางไปสำนักสงฆ์จิตตภาวัน (ปัจจุบันเป็นจิตตภาวันมหาวิทยาลัย จ.ชลบุรี) เพื่อเรียนปรมัตถธรรม รูปธรรมและนามธรรม จิต เจตสิก รูปและนิพพาน ระหว่างเรียนพบพระพุทธรูปปางพยาบาล เป็นหนึ่งในปางตามพุทธประวัติเกี่ยวกับพระที่ป่วยอาพาธ จึงอธิษฐานอยากให้หายขาดจากโรคร้าย พร้อมวาดรูปเหมือนเอากลับมา
นายประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า เมื่อกลับถึงวัดจึงขึ้นรูปด้วยปูนปั้นใช้เวลา 4 เดือนจึงเสร็จ ก่อนจะปิดทองจนทั่วองค์พระ ปรากฏว่าโรคอัมพฤกษ์ที่เกิดกับแขนขาได้หายเป็นปลิดทิ้งอย่างอัศจรรย์ ชาวบ้านทราบข่าวก็ต่างพากันมากราบไหว้ขอพร มีหลายรายหายจากโรคร้าย จึงร่วมกันสร้างหอสวดมนต์ให้ ทุกวันนี้มีชาวบ้านจากต่างถิ่นทราบข่าวเดินทางมา กราบไหว้ขอพรอยู่ตลอด เมื่อหายแล้วจะนำพระพุทธรูปปางประจำวันเกิด หรือผ้าไตรจีวรมาถวายเป็นพุทธบูชา
ด้านพระอธิการจรัญ สันตมโน เจ้าอาวาสวัดน้ำริดเหนือกล่าวว่า เดิมเป็นพระลูกวัด บวชพรรษาแรกประสบอุบัติเหตุถูกรถชนขาข้างขวาหัก 4 ท่อน ตั้งแต่หน้าแข้งจนถึงสะโพก มีน้ำเหลืองไหลออกมาจากแผลตลอด แพทย์โรงพยาบาลอุตรดิตถ์และโรงพยาบาลสงฆ์ในกรุงเทพฯ ทำการรักษาชี้แนะให้สึกจากพระแล้วอยู่บ้าน เหตุเพราะภายใน 3 เดือนจะเดินไม่ได้ จะทำให้พระรูปอื่นเดือดร้อน เมื่อเดินกลับถึงวัดจึงคิดว่าไหนๆ ก็จะสึกแล้ว จึงขอพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่ภายในวัด จึงได้ตั้งจิตอธิษฐานต่อพระพุทธรูปปางพยาบาลว่าก่อนสึกจากพระขอพัฒนาวัดแห่งนี้ โดยพัฒนาพื้นที่รอบวัดบริเวณที่สกปรกรกรุงรังและเป็นป่า เพียงแค่เดือนเศษน้ำเหลืองที่ไหลออกมากลับไม่มี ขาที่หัก 4 ท่อนและคาดว่าจะเดินไม่ได้ก็หายเป็นปกติ ทุกวันนี้มีเพียงการทรงตัวระหว่างเดินเท่านั้นที่ไม่เหมือนคนทั่วไป
เจ้าอาวาสวัดน้ำริดเหนือกล่าวอีกว่า บวชอยู่ 4 ปี จนได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ทุกวันนี้มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงดี ทั้งนี้การอธิษฐานขอพรจากพระปางพยาบาล ถือเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ไม่อยากให้หลงงมงาย จะทำอะไรก็แล้วแต่ หากมีจิตใจ แน่วแน่และกำลังใจดี จิตใจและกำลังใจที่เข้มแข็งนั้น จะเป็นส่วนช่วยทำให้อาการเจ็บไข้ได้ป่วยหายไวขึ้น
ด้านนายสมชาย สุรชาตรี โฆษกประจำสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีพระพุทธรูปปางพยาบาลภิกษุอาพาธว่า การสร้างพระพุทธรูปปางที่แตกต่างไปจากแบบที่เป็นทางการ เพื่อความสวยงามทางศิลปะ สามารถทำได้ แต่ต้องให้มีความเหมาะสมต่อสมณสารูปแห่งพระพุทธรูป คือมีความสำรวมและงดงามตามหลักทางพระพุทธศาสนา ต้องคำนึงถึงความเหมาะสม ชาวพุทธเห็นแล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธาเป็นสำคัญ
พระพุทธรูปปางต่างๆ กำหนดตามพุทธจริยา 3 ประการ คือ 1.พุทธจริยาในขณะที่ทรงบำเพ็ญเพียร นับแต่เสด็จออกผนวช จนถึงเวลาตรัสรู้และเวลาเสวยวิมุติสุข เป็นเวลา 6 ปี ล้วนแต่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พระองค์โดยเฉพาะ เรียกว่า'อัตถจริยา'2.พุทธจริยาที่ทรงบำเพ็ญเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พระประยูรญาติ เรียกว่า'ญาตัตถจริยา' และ 3.พุทธจริยาที่ทรงบำเพ็ญเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่มหาชนทั่วไป เรียกว่า'โลกัตถจริยา'
ทั้งนี้ ชาวพุทธมีคติความเชื่อในการสร้างพระพุทธรูป สำหรับเป็นการทำสักการบูชาแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ในระยะหลัง พบว่ามีการสร้างพระพุทธรูปปางพิสดารแปลกประหลาดมากมาย อาทิ ปางเหยียบโลก ปางตะเบ๊ะ ปางถือบันได เป็นต้น ตรงนี้ผู้จัดสร้างคงต้องระมัดระวังด้วย แม้วัตถุประสงค์ในการจัดสร้างจะดีเพียงใด แต่การสร้างพระพุทธรูปที่แปลกพิสดารในหลายครั้งกลายเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ขัดต่อความรู้สึกหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
"การจัดระเบียบการสร้างพระพุทธรูปให้ตรงตามเกณฑ์พุทธลักษณะ รวมทั้งผู้สร้างควรคำนึงถึงความเหมาะสม อย่าสร้างให้ผิดเพี้ยน สร้างเอามันเอาความสะใจเป็นที่ตั้ง โดยขอให้ใช้วิจารณญาณหรือจิตสำนึก ตรองดูว่ารูปแบบที่จะจัดสร้างนี้มีความเหมาะสมหรือไม่เพียงใด" โฆษกสำนักพุทธฯ กล่าว
ส่วนทางด้านนายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร (ศก.) ให้สัมภาษณ์ว่า ตั้งแต่ทำงานมายังไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งเป็นไปได้ว่าทางวัดอาจสร้างประติมากรรมขึ้นมาใหม่ หรืออาจเป็นไปได้เช่นกันอีกว่า มีพุทธศาสนิกชนสร้างถวาย ทั้งนี้คงต้องชี้แจงว่า พระพุทธรูปที่ปรากฏอยู่นั้น มีทั้งหมด 108 ปาง ซึ่งทุกปางจะมีพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวแสดงท่าทาง ที่ตีออกมาเป็นความหมายต่างๆ เช่น ปางห้ามญาติ เป็นต้น ในส่วนของกรณีนี้ถึงประเทศไทยจะไม่มีกฎหมายห้ามการสร้างพระพุทธรูปบางใหม่ แต่คงต้องดูเจตนาอีกครั้ง ว่าต้องการแสดงหรือสื่อความหมายประการใด