- Details
- Category: ศาสนา
- Published: Sunday, 12 October 2014 23:42
- Hits: 8222
วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8719 ข่าวสดรายวัน
พระธรรมธีรราชมหามุนี สานต่อพระเกจิวัดระฆังฯ
คอลัมน์ มงคลข่าวสดเอ่ยถึงชื่อ'วัดระฆังโฆสิตารามวรมหา วิหาร'ย่อมนึกถึงนาม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) พระอริยสงฆ์เรืองวิทยาคม อดีตเจ้าอาวาส และวัตถุมงคลพระสมเด็จวัดระฆังฯ ที่ได้รับการยกย่องขนานนามจากบรรดาเซียนพระให้เป็น 1 ใน 5 เบญจภาคี
เวลาล่วงเลยมาจนถึงทุกวันนี้ ศรัทธาที่มีต่อวัดระฆังฯ ยังมิได้ลดลงแต่ประการใด
ด้วยวัดระฆังฯ ได้ปรากฏนาม 'พระธรรมธีรราชมหามุนี'(เที่ยง อัคคธัมโม) เจ้าอารามผู้ครองวัดรูปปัจจุบัน พระเถระชั้นผู้ใหญ่ ที่เป็นพระนักปราชญ์ พระนักเทศน์ และพระนักพัฒนา รวมทั้งมีหน้าที่เป็นเจ้าคณะภาค 11 รับผิดชอบดูแลกิจการคณะสงฆ์ในพื้นที่เขตปกครองอีสานตอนล่าง 4 จังหวัด ประกอบด้วย นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และสุรินทร์
ปัจจุบัน สิริอายุ 79 พรรษา 56
มีนามเดิมว่า เที่ยง ชูกระโทก เกิดเมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2478 ที่บ้านดอนชมพู ต.บิง อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา
ในวัยเยาว์ เป็นเด็กที่ซุกซนเที่ยวเล่นสนุกสนานไปวันๆ จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนประชาบาลวัดดอนชมพู
แม้จะมีนิสัยเกเรตามประสาเด็กวัยรุ่นเลือดร้อน แต่อีกด้านหนึ่งด้วยมีจิตใจใฝ่ธรรม จึงให้ความสนใจในพระพุทธศาสนา จึงได้มาบวชเป็นสามเณร ที่วัดสมอราย ต.หนองจะบก อ.เมือง จ.นครราชสีมา มีพระครูพรหมวิหารี เป็นพระอุปัชฌาย์
อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะบวชเป็นสามเณรแล้วก็ตาม แต่ท่านก็ยังมิได้ละทิ้งอุปนิสัยความเป็นเลือดนักสู้ เวลามีคนมาข่มเหงรังแก ท่านมักจะต่อสู้อย่างไม่หวาดหวั่นพรั่นพรึง แต่ด้วยความที่มีร่างกายเป็นคนตัวเล็ก มักจะเอาชนะคู่ต่อสู้ไม่ได้
กระทั่ง เจ้าอารามวัดสมอราย เห็นท่าไม่ดี เกรงว่าจะไม่เอาดีทางด้านการศึกษาธรรม จึงตัดสินใจนำตัวส่งไปฝากเรียนที่วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ
แม้จะได้มีโอกาสมาศึกษาพระปริยัติธรรมถึงเมืองหลวง แต่มิได้ทำให้ความเลือดร้อนตามประสาวัยหนุ่มลดน้อยลงแต่อย่างใด
กระทั่งวันหนึ่งได้มีโอกาสท่องคาถาชินบัญชร เกิดความปีติสุขจิตใจเป็นสมาธิยิ่ง จนมีคนมาบอกเล่าให้ฟังว่าผู้ใดได้สวดภาวนาพระคาถาชินบัญชรนี้ เป็นประจำอยู่สม่ำเสมอ จะทำให้เกิดความสิริมงคลสมบูรณ์พูนผล ศัตรูหมู่พาลไม่กลํ้ากราย ไปทางใด ย่อมเกิดเมตตามหานิยม
จึงตั้งจิตอธิษฐานจะขอท่องคาถาชินบัญชรให้สำเร็จทุกถ้วนความ หากทำได้จะขอเลิกนิสัยเกเร จะตั้งใจเรียนศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างจริงจัง เพื่อตอบแทนพระคุณบุพการีและสืบทอดพระพุทธศาสนาตลอดไป
ตั้งแต่นั้นมาจึงมุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรม สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ ที่สำนักเรียนวัดระฆังโฆสิตาราม
เมื่ออายุครบบวช เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2501 ณ วัดบ้านดอนชมพู ต.บิง อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา มีพระครูพินิจยติกรรม วัดใหม่สุนทร อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา เป็นพระอุปัชฌาย์
ในช่วงนั้น กลับไปอยู่จำพรรษาที่วัดบ้านเกิดเป็นเวลา 2 ปี กระทั่งหวนกลับมาที่วัดระฆังฯ เพื่อศึกษาภาษาบาลี
พ.ศ.2514 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม
ท่านได้สร้างผลงานเป็นคุณูปการมากมายหลากหลายด้าน ทั้งด้านงานปกครองคณะสงฆ์ การศึกษาพระปริยัติธรรม การสาธารณ ประโยชน์ ด้านการพัฒนา และอื่นๆ อีกมากมาย
ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2507 เป็นเลขานุการเจ้าสำนักเรียนวัดระฆังโฆสิตาราม พ.ศ.2515 เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆัง โฆสิตาราม พ.ศ.2517 เป็นรองเจ้าคณะภาค 11
พ.ศ.2519 เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2536 เป็นเจ้าคณะภาค 11
พ.ศ.2550 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม
ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2516 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระศรีวิสุทธิโสภณ พ.ศ.2526 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชวิสุทธิเวที
พ.ศ.2538 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพวิสุทธิเมธี
พ.ศ.2551 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมธีรราชมหามุนี
เจ้าคุณเที่ยงมีความสามารถในการเขียนกวีธรรมสาธกหรือกลอนธรรมะจำนวนมากมาย อาทิ บทกลอนเพื่อชีวิต ทำดีเริ่มต้นที่ตนก่อน เป็นต้น
นอกจากเป็นพระนักปกครองแล้ว ยังเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งวัดระฆังฯ มักได้รับนิมนต์ให้ร่วมพิธีพุทธาภิเษกและอธิษฐานจิตปลุกเสกวัตถุมงคลชื่อดังอยู่เป็นประจำ
เกียรติคุณด้านมงคลปูชนียวัตถุที่สร้างชื่อให้กับเจ้าคุณเที่ยง คือ พระสมเด็จเนื้อดินและพระปิดตาเนื้อดิน สร้างจากเนื้อดินหุ่นหรือดินไทย ที่เหลือจากพิธีการสร้างหล่อรูปเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) จึงนำดินนั้นมาสร้างเป็นพระเครื่องเนื้อดินมีลักษณะสีดำเกรียม เมื่อปี พ.ศ.2500
มีหลักธรรมคำสอนง่ายๆ เช่น
"การสวดมนต์ไหว้พระ ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ทำให้จิตใจเกิดความสงบ เมื่อเกิดความสงบแล้ว สมาธิและปัญญาจะเกิดตามมา คนเราขอเพียงมีสมาธิและปัญญา การทำงานให้สำเร็จ ย่อมไม่ใช่เรื่องยาก"
ทุกวันนี้ ในวัย 79 ปี ยังคงมุ่งมั่นปฏิบัติศาสนกิจอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยมิรู้เหน็ดเหนื่อย
รับภารธุระงานคณะสงฆ์ ขณะเดียวกันก็สานต่อพุทธาคมสายวัดระฆังฯอันสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) เสกสรรค์ไว้